มะแว้งนก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นและข้อมูลงานวิจัย

มะแว้งนก งานวิจัยและสรรพคุณ 27 ข้อ

ชื่อสมุนไพร มะแว้งนก
ชื่อสมุนไพร/ชื่อท้องถิ่น หญ้าต้อมต๊อก (ภาคเหนือ), ทุมขัน (ภาคอีสาน), แว้งนก, ข่าอม, ประจาม (ภาคใต้), สะกรอตะ (กะเหรี่ยง), โอเตียมกุย, หลงขุย, ขู่ขุย (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum nigrum Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Solanum americanum Mill.
ชื่อสามัญ Black nightshade, Glossy nightshade, Common nightshade, Deadly nightshade
วงศ์ SOLANACEAE
 

ถิ่นกำเนิดมะแว้งนก

สำหรับถิ่นดั้งเดิมของมะแว้งนกนั้นยังไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดแต่มะแว้งนกอยู่ในวงศ์มะเขือสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพันธุ์มะเขือป่าที่กลายพันธุ์อยู่ในเขตร้อนของทวีปเอเชียได้แก่ ภูมิภาคเอเชียใต้ถึงตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในประเทศไทยสามารถพบมะแว้งนกได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยสามารถพบได้ตามสถานที่รกร้างว่างเปล่า ตามสองข้างถนน และตามสวนไร่นาทั่วไป นอกจากนี้มะแว้งนก ยังถูกจัดเป็นวัชพืชชนิดหนึ่งอีกด้วย

ประโยชน์และสรรพคุณมะแว้งนก

  1. ใช้บำรุงร่างกาย
  2. ช่วยบำรุงกำลัง
  3. แก้ไอ
  4. แก้เจ็บคอ
  5. ใช้ดับพิษร้อนถอนพิษไข้
  6. ช่วยประสานเลือดให้เย็น
  7. แก้ไอ เพราะร้อนในปอด
  8. แก้หลอดลมอักเสบ
  9. ช่วยขับเสมหะ
  10. แก้หอบ
  11. แก้จุกเสียดแน่น
  12. แก้ท้องมาน
  13. แก้ฝีในท้อง
  14. ช่วยขับปัสสาวะ
  15. แก้ตกขาว
  16. แก้ฝีหนองผดผื่นเรื้อรัง
  17. ใช้ช่วยเจริญอาหาร
  18. แก้ไข้
  19. ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
  20. แก้ท้องเสีย
  21. ช่วยขับปัสสาวะ
  22. แก้อาการอ่อนเพลีย
  23. รักษาเลือดออกตามไรฟัน
  24. รักษาโรคความดันโลหิตสูง
  25. แก้โรคไขข้ออักเสบ
  26. แก้บวมน้ำ
  27. ช่วยรักษาแผล

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ 

ใช้ดับพิษร้อนถอนพิษไข้ ประสะเลือดให้เย็น แก้ไข้หวัดตัวร้อน ไข้หวัดแดด ขับเสมหะ แก้ไอหอบ แก้จุกเสียด ขับปัสสาวะ แก้บวม แก้ตกขาว โดยใช้ต้นสด 35 กรัม นำมาต้มกับน้ำใส่น้ำตาลแดงเล็กน้อยดื่ม ใช้แก้ฝีในท้อง ท้องมาน จะใช้ต้นสด 500 กรัม นำมาต้มกับน้ำแบ่งดื่มวันละ 2 ครั้ง ใช้แก้หลอดลมอักเสบ โดยใช้ต้นสดของมะแว้งนก 35 กรัม กิ๊กแก้ 10 กรัม และชะเอมเทศ 3 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม ติดต่อกัน 10 วัน ใช้บำรุงร่างกาย แก้อาการอ่อนเพลีย แก้ไอ แก้เจ็บคอ โดยใช้รากแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ทำให้เจริญอาหาร แก้ไข้ แก้ไอ แก้ท้องเสีย ขับปัสสาวะ โดยใช้ผลสุกมารับประทานสด ใช้รักษาโรคไขข้ออักเสบ แก้บวมน้ำ ขับปัสสาวะ โดยนำใบสดมาต้มน้ำดื่ม ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง ใช้มะแว้งนก 1 ตำลึง ต้มน้ำดื่ม แก้ไอเพราะปอดร้อน ใช้มะแว้งนก 1 ตำลึง ต้มกับเต้าหู้ดื่ม แก้เจ็บคอ ใช้มะแว้งนก 1 ตำลึง ต้มน้ำรับประทาน หรือต้มพร้อมโทงเทง 1 ตำลึง ตำเอานำใส่น้ำตาลแดงดื่ม


ลักษณะทั่วไปของมะแว้งนก

มะแว้งนก จัดเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก อายุ 1 ปี สูงประมาณ 0.3-1 เมตร ลำต้นมีลักษณะตั้งตรงกลมมน หรือ เป็นเหลี่ยมสัน 4 มุม และมีขนปกคลุมเล็กน้อย ส่วนรากแตกรากฝอยมากมีลักษณะกลมยาวเป็นสีเหลืองอ่อน

           ใบ เป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับ รูปรีแคบ รูปไข่ หรือ รูปไข่แกมขอบขนาน มีขนประปรายแผ่นใบกว้าง 1.6-4 เซนติเมตร ยาว 2.5-9 เซนติเมตร โคนใบเฉียง หรือ รูปลิ่มปลายใบแหลมขอบใบหยักมน หรือ เป็นซี่ฟันเล็กน้อย ที่ผิวใบด้านบน และด้านล่างพบขนประปรายและมีก้านใบยาว 0.4-1 เซนติเมตร

           ดอก ออกเป็นช่อแบบซี่ร่มมีก้านช่อดอกยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร เหนือซอกใบใน 1 ช่อดอก มีดอกย่อยขนาดเล็กประมาณ 4-10 ดอก ดอกมีลักษณะรูประฆังกลีบดอกสีขาว มี 5 กลีบ ขนาดกว้าง 5 มิลลิเมตร ใจกลางดอกมีเกสรเพศผู้สีเหลือง 5 อัน และมีกลีบเลี้ยงขนาดเล็กมากส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 2.5 มิลลิเมตร มีขนปกคลุมเล็กน้อย

           ผล เป็นรูปทรงกลมมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.4-0.8 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียวอ่อนผิวเป็นมัน ผลแก่สีม่วงดำ หรือ สีดำ มีก้านผลยาว 0.5-0.7 เซนติเมตร ด้านในผลมีเมล็ดรูปร่างค่อนข้างกลม มีขนาดประมาณ 1 เซนติเมตรหลายเมล็ด

มะแว้งนก

มะแว้นนก

การขยายพันธุ์มะแว้งนก

มะแว้งนกสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด ซึ่งการขยายพันธุ์มะแว้ง นกส่วนมากจะเป็นการขยายโดยธรรมชาติ มากกว่าการปลูกโดยมนุษย์ เนื่องจากในปัจจุบันมะแว้งนกไม่ค่อยถูกนำมาใช้ประโยชน์ อีกทั้งยังถูกจัดให้เป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง เนื่องจากสามารถเติบโต การขยายพันธุ์ได้เร็วจนควบคุมยาก สำหรับวิธีการเพาะเมล็ด และวิธีการปลูกมะแว้งนก สามารถทำได้เช่นเดียวกับการเพาะเมล็ด มะเขือเปราะ และมะเขือขื่น ซึ่งได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้

องค์ประกอบทางเคมีมะแว้งนก

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของมะแว้งนก ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น carotene, saccaropine, hyperoside, tomatidenol, Quercetin-3-o-rhamnosyl-1-beta-galactoside, sitosterol, diosgenin, salanocapsine, adipic acid, stigmasterol, tigogenin, uttronin A,B,utroside A,B นอกจากนี้ยังพบสารกลุ่มอัลคาลอยด์ที่มีพิษหลายชนิดเช่น Solanin, solamargine, solasonine, solavilline, solanidine, solasolamine เป็นต้น

โครงสร้างมะแว้นนก 

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะแว้งนก

มีผลการศึกษาทางเภสัชวิทยาของสารต่างๆ ที่แยกได้จากมะแว้งนกรวมถึงสารสกัดที่สกัดได้จากส่วนต่างๆ ของมะแว้งนกระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีการทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารในกลุ่ม steroidal saponins ซึ่งแยกได้จากผลมะแว้ง solanum nigrum L. (Eurppean Black Nightshade) ในเซลล์ Macropages ชนิด Raw 264.7 ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบด้วย lipopolysaccarige พบว่าสาร solanigroside Y1 สามารถยับยั้งการสร้าง nitric oxide โดยมีค่าความเข้มข้นที่สามารถยับยั้งได้ 50% เท่ากับ 9.7 ไมโครโมลาร์ นอกจากนี้ salonigroside Y1 และสารอื่นๆ ที่แยกได้ ยังมีฤทธิ์การยับยั้งการสร้าง interleukin-6 และ IL-1beta ได้อย่างชัดเจน จากผลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ากลุ่ม steroidal saponins จากผลมะแว้งนกมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และบังมีผลการศึกษาของสารสกัด solamagine ของมะแว้งนกจากการเติบโตของเซลล์มะเร็งตับ human hepatoma SMMC-7721 และ HepG2 ในหลอดทดลอง ผลการทดสอบพบว่า สารสกัด solamargine มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโต และกระตุ้นให้เกิดการตายของเซลล์มะเร็งทั้งสองชนิด โดยมีผลยับยั้งวัฐจักรของเซลล์ ให้หยุดอยู่ที่ระยะ G2/M Phase นอกจากนี้ยังมีผลกระตุ้นให้แสดงออกของเอนไซม์ caspase 3 อีกด้วย จากการทดสอบจึงแสดงให้เห็นว่าสารสกัด solamargine จากมะแว้งนก สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งตับได้ ส่วนสารสกัดจากส่วนเหนือดิน ของมะแว้งนก ด้วยแอลกอฮอลล์พบว่ามีฤทธิ์ลดการหลั่งกรด และเอนไซม์เปปซีน ซึ่งช่วยป้องกันการเกิดโรคกระเพาะอาหารในสัตว์ทดลอง อีกทั้งยังมีการทดสอบน้ำที่ต้มจากมะแว้งนกพบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อได้หลายชนิด เช่น เชื่อ staphelo coccus เชื้อบิด เชื้อไทฟอยล์ และเชื้ออหิวาต์ที่พบในหมูอีกด้วย นอกจากนี้มะแว้งนกยังมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอีกหลายประการเช่น ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดและคอเรสเตอรอลในเลือด ฤทธิ์ลดการอักเสบ ลดความดันโลหิต เป็นต้น

การศึกษาทางพิษวิทยาของมะแว้งนก

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยของมะแว้งนก ระบุเอาไว้ว่า มีการทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดของมะแว้งนกโดยเมื่อฉีดสารสกัดจากทั้งต้นด้วย 50% เอทานอล เข้าช่องท้องของหนูถีบจักร พบว่าขนาดสูงสุดก่อนเกิดอาการเป็นพิษมีค่าเท่ากับ 1 กรัมต่อกิโลกรัม ส่วนทั้งต้นเมื่อให้หนูกินไม่มีพิษแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีรายงานระบุว่าส่วนที่เป็นพิษของมะแว้งนก คือ ผลดิบ ซึ่งมีสารที่ทำให้เป็นพิษ คือ solanine

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

การใช้มะแว้งนก โดยเฉพาะการรับประทานควรระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีรายงานระบุว่าส่วนที่เป็นพิษ คือ ผลดิบที่มี สาร solanine ซึ่งเมื่อรับประทานเข้าไปในขนาดที่มากแล้วอาจทำให้เกิดอาการเป็นพิษดังนี้ ความเป็นพิษของสาร solanine ในผลดิบของมะแว้งนกจะเกิดหลังจากกินพืชที่มีสารประเภทนี้แล้วหลายชั่วโมง โดยจะรู้สึกปวดแสบปวดร้อนที่ปาก และคอหอย แล้วจะคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และท้องร่วง เบื่ออาหาร อุณหภูมิในร่างกายขึ้นสูง ส่วนอาการอื่นๆ ที่พบคือปวดศีรษะ เหงื่อออก น้ำลายไหลได้มากกว่าปกติ หายใจขัดกล้ามเนื้อเปลี้ย อาการเป็นพิษในขั้นสุดท้าย คือ ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด เนื่องจากลำไส้เป็นแผล อุจจาระเป็นเลือดเนื่องจากไตชำรุด ชักกระตุก หมดสติ และอุณหภูมิร่างกายจะลดต่ำ 

เอกสารอ้างอิง มะแว้งนก
  1. วิทยา บุญวรพัฒน์. มะแว้งนก. หนังสือสารานุกรมสมุนไพร ไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 458.
  2. วินัย สมประสงค์ และคณะ. รวบรวม และศึกษาลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของพืชสกุลมะเขือ (aolanum L.) ในภาคเหนือ. วารสารวิทยาศาสตร์ปีที่ 20. ฉบับที่ 3. กันยายน-ธันวาคม 2545. หน้า 204-220.
  3. หญ้าต้อมต๊อก. ระบบวินิจฉัย และรักษาอาการอันเนื่องมาจากพืชพิษในประเทศไทย. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  4. มะแว้งนก. ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. หน้า 199.
  5. เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. หญ้าต้อมต๊อก. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. หน้า 161.
  6. ฤทธิ์ต้านการอักเสบจองสาระสำคัญจากผลมะแว้งนก. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. Driffield, A.C. 1998. Studies in Solanum and related genera (6). New infrageneric taxa for the genus Solanum L. (Solanaceae). Feddes Reportiorium 109 (5-6) : 407-427.
  8. Mohy-ud-dint, A., Khan, Z., Ahmad, M., Kashmiri, M.A., Chemotaxonomic value of alkaloids in Solanum nigrum complex, Pakistan Journal of Botany, 42(1): 653-660, 2010.
  9. Bonati, G. 1915. Solanacees. FI. Generale de L' Indo-Chine. 3 : 313-340.