พญามุตติ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นและข้อมูลงานวิจัย

พญามุตติ งานวิจัยและสรรพคุณ 15 ข้อ

ชื่อสมุนไพร พญามุตติ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักกาดนา, กาดนา, กาดน้ำ (ทั่วไป), หญ้างามหลวง (เชียงใหม่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Grangea maderaspatana L. Poir
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ C. maderaspatana L. wild., Grangea adansonii Cass., G. aegyptiaca Juss. Ex Jacq. DC., G. glandulosa Fayed G. gispida Humbert, G. shaeranthus K. Koch, G. strigosa Gand., Artemisia maderaspatana L., Cotula anthemoides Lour., Tanacetum aegyptiacum C. sphaeranthus Link.
วงศ์ COMPOSITAE-ASTERACEAE

ถิ่นกำเนิดพญามุตติ

พญามุตติ จัดเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปแอฟริกา แต่ในปัจจุบันพบว่ามีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณที่ชุ่มชื้นทั่วไป เช่นตามทุ่งนา ที่รกร้างว่างเปล่า ที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ บริเวณสองฝั่งคลอง หรือ ตามถนนหนทางทั่วไป และในปัจจุบันยังจัดเป็นวัชพืชชนิดหนึ่งอีกด้วย

ประโยชน์และสรรพคุณพญามุตติ

  1. ใช้บำรุงธาตุช่วยเจริญอาหาร
  2. แก้ท้องขึ้น
  3. แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
  4. ช่วยขับลมในลำไส้
  5. แก้ท้องร่วง
  6. ช่วยระงับประสาท
  7. ช่วยขับระดู
  8. แก้อีสุกอีใส
  9. แก้ปอดบวม
  10. แก้ไอ
  11. ช่วยชำระบาดแผล
  12. ช่วยฆ่าเชื้อโรค
  13. แก้เจ็บหู
  14. เป็นยาระบาย
  15. แก้ฮีสทีเรีย

 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้บำรุงธาตุ ช่วยให้เจริญอาหาร แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับลม แก้ท้องร่วง ขับระดู ระงับประสาท โดยใช้ทั้งต้นพญามุตติ มาตากให้แห้ง แล้วต้มกับน้ำดื่ม ใช้รักษาอาการไอ โดยใช้ใบมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้โรคอีสุกอีใสโดยนำทั้งต้น หรือ รากใช้ตำพอกทา ใช้รักษาอาการหูเจ็บโดยใช้น้ำคั้นจากใบหยอดหู ใช้รักษาบาดแผลโดยใช้ใบ หรือ ทั้งต้นมาตำพอกบริเวณที่เป็นแผล


ลักษณะทั่วไปของพญามุตติ

พญามุตติ จัดเป็นพืชล้มลุกฤดูเดียว สูง 10-30 เซนติเมตร ลำต้นเลื้อยไปตามพื้นดินแตกกิ่งก้านมากที่โคนต้นโดยมักจะชูยอดตั้งขึ้นลำต้นมีต่อม และขนนุ่มสีขาวปกคลุมอยู่ทั่ว

           ใบ ออกเป็นใบเดี่ยวแบบเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปใบพายกลับถึงรูปไข่กลับ กว้าง 1-5 เซนติเมตร ยาว 3.5-10 เซนติเมตร ปลายใบแหลม หรือ เป็นติ่งแหลม โคนใบสอบแคบเรียว ส่วนขอบใบจักรเว้าลึกไม่เป็นระเบียบข้างละประมาณ 3-4 หยัก แต่ละหยักนั้นค่อนข้างมน ส่วนแผ่นใบเป็นสีเขียวอ่อน เนื้อใบอวบ ผิวใบมีต่อ และมีขนนุ่มทั้งสองด้าน ไม่มีก้านใบ และมีส่วนเนื้อใบแผ่เป็นปีก

           ดอก เป็นช่อแบบช่อกระจุกรูปจาน ออกเดี่ยว หรือ คู่บริเวณปลายกิ่ง โดยจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.8-1 ซม. และมีใบประดับลักษณะปลายบาง ขอบจักรชายครุย ด้านนอกมีขนเรียง 2-3 วง ยาว 4-8 มม. ฐานดอกรูปครึ่งวงกลมส่วนดอกย่อยมีต่อมกระจาย โดยดอกเพศเมียจะอยู่วนอกมีสีเหลือง เรียง 2-6 วง กลีบดอกรูปเส้นด้ายยาวประมาณ 1 มม. จักตื้นๆ ดอกกลางเป็นดอกสมบูรณ์เพศ รูประฆังแคบ ยาวประมาณ 1.5 มม. ปลายแฉกตื้นๆ รูปไข่ 4-5 แฉก มีเกสรเพศผู้ 4-5 อัน ปลายอับเรณูมีรยางค์ ส่วนก้านเกสรเพศเมียแยกแขนง หรือ อาจไม่แยกก็ได้

           ผล เป็นแห้งแบน เม็ลดล่อน ส่วนเมล็ดรูปทรงกระบอกกลมยาว 2 มิลลิเมตร

  ต้นพญามุตติ

ต้นพญามุตติ

การขยายพันธุ์พญามุตติ

พญามุตติสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด สำหรับการขยายพันธุ์ในปัจจุบันโดยส่วนมากจะเป็นการขยายพันธุ์โดยธรรมชาติมากกว่าการนำมาปลูกโดยมนุษย์ เนื่องจากพญาสมมุตติสามารถได้ง่าย และรวดเร็วจึงทำให้ถูกจัดให้เป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง จึงไม่นิยมนำมาปลูกไว้ตามสถานที่ต่างๆ ส่วนวิธีการเพาะเมล็ดพญามุตติ นันสามารถทำได้เช่นเดียวกับการเพราะเมล็ดพืชล้มลุกชนิดอื่นๆที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้

องค์ประกอบทางเคมีพญามุตติ

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัด และน้ำมันหอมระเหยจากส่วนต่างๆ ของพญามุตติ ระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ต่างๆ หลายชนิดอาทิเช่น มีรายงานระบุว่าสารสกัดจากทั้งต้นของพญามุตติ พบสารในกลุ่ม sesquiterpene lactones เช่น frullanolide, -7-hydroxy-frullanolide และ +-grangolide ส่วนสารสกัดอะซิโตนพบสาร 8hydroxy-13E-15yl-acetate,6-hydroxy-2,4,5-trimethoxyflavone,6-hydroxy-3,4,5-trimethoxyflavone,7,2,4-trimethoxyflavone อีกทั้งในน้ำมันหอมระเหยยังพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญได้แก่ a-humulene, edesmol, Beta-caryophyllene, a0copaene, geranyl acetate, Beta-myrcene,Z-a-farnesene, calarene เป็นต้น

โครงสร้างพญามุตติ

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของพญามุตติ

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาจากส่วนต่างๆ ของของพญามุตติ ระบุว่า สาร frullanolde,-7-hydroxy-frullanolide มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งในช่องปากชนิด KB เซลล์มะเร็งเต้านมชนิด MCF-7 และเซลล์มะเร็งปอดชนิด NCI-H187 ในหลอดทดลอง ส่วนสารสกัดแอลกอฮลล์จากทั้งต้น มีฤทธิ์ต้านเชื้อบิด ลดการบีบตัวของลำไส้ ลดความดันโลหิตกระตุ้นการบีบตัวของมดลูกในสัตว์ทดลอง

การศึกษาทางพิษวิทยาของพญามุตติ

มีรายงานผลการวิจัยจากสารสกัดแอลกอฮอลล์ของพญามุตติ ระบุว่ามีการทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดแอลกอฮอลล์จากทังต้นพญามุตติ พบว่ามีความเป็นพิษปานกลาง โดยมีค่าที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง LD50 เท่ากับ 681 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม  

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สตรีมีครรภ์ห้ามใช้พญามุตติ เป็นสมุนไพรเด็ดขาดเนื่องจากมีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของมดลูกซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้ ส่วนในการใช้พญามุตติในบุคคลทั่วไปที่สุขภาพดี ก็ควรใช้อย่างระมัดระวังโดยใช้ในขนาด และปริมาณที่พอเหมาะไม่ใช้ในปริมาณที่มาก หรือ ใช้ต่เนื่องกันเป็นระบะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
 

เอกสารอ้างอิง พญามุตติ
  1. สวนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันท์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม. กรุงเทพฯ. บริษัทประชาชน จำกัด. 2544.
  2. ดร. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. พญามุตติ. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพร ไทย ฉบับพิมพ์ครั้งที่5. หน้า 523-524.
  3. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ. สมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ. บริษัท สามเจริญพาณิชย์ (กรุงเทพฯ) จำกัด. 2549.
  4. ธาตรี ผดุงเจริญ,สุชาดา สุขหร่อง. พืชสมุนไพรออกเหลือง. โครงการอนุรักษ์พืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริพนะเทพราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) หน้า 42-43.
  5. นิจศิริ เรืองรังษี,ธวัชชัย มังคละคุปต์. สมุนไพรไทยเล่ม 1. กรุงเทพฯ: บริษัทฐานการพิมพ์จำกัด. 2547.
  6. พญามุตติ. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/mail.php?action=viewpage&pid=191
  7. Two new bio-active flavones from Grangea maderaspatana(Artemisia maderaspatana) R L. V.; Sudhakar, D.; Rao, C. V. / Asian Journal of Chemistry 2009 Vol. 21 No. 2 pp
  8. Chen Y and L. Brouillet. 2011. Asteraceae. In Flora of china Vol. 20-21: 552.
  9. Free radical Scavenging Activity of Grangea maderaspatana Poir./Veena Patel, Sangita macognosy Magazine,2009;Vol 5, No 20: pp 381-387.
  10. Chemical composition and acetylcholinesterase inhibitory activity of Artemisia maderaspatana essential oil Jyotshna, Nidhi Srivastava, Bhuwanendra Singh, Debabrata Chanda & Karuna Shanker / Journal Pharmaceutical Biology, Volume 53, 2015, Issue 11