สลัดไดป่า ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

สลัดไดป่า งานวิจัยและสรรพคุณ 19 ข้อ


ชื่อสมุนไพร สลัดไดป่า
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น สลัดได (ภาคกลาง), เดี๊ยะผา, เดี๊ยะยา, หงอนงู (ภาคเหนือ), กระลำพัก (โคราช), ทูดุแกละ (กะเหรี่ยง), ป้าหวางเปียน, หั่วยานเล่อ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Euphorbia antiguorum Linn.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Euphorbia mayuranathanii Croizat, titymalus antoquorus
ชื่อสามัญ Triangular spurge
, Malayan spurgetree, Milkbush
วงศ์ EUPHORBIACEAE


ถิ่นกำเนิดสลัดไดป่า

สลัดไดป่า เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปเอเชีย บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ในแถบประเทศอินเดีย ศรีลังกา เนปาล บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น โดยจัดเป็นพืชพวกเดียวกันกับกระบองเพชร สำหรับในประเทศไทยพบได้ทั่วไป ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศแต่จะพบน้อยในภาคกลาง โดยส่วนมากจะพบสลัดไดป่าในบริเวณป่าดิบแล้ง หาดทรายริมทะเลและบนภูเขาหินปูนหรือที่แห้งแล้วบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล จนถึง 800 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณสลัดไดป่า

  • บำรุงหัวใจ
  • บำรุงตับ
  • บำรุงปอด
  • แก้ไข้
  • แก้พิษเสมหะ
  • แก้ธาตุพิการ
  • แก้โลหิต
  • ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิในท้อง
  • ฆ่าพยาธิผิวหนังต่างๆ (น้ำยาง)
  • ทากัดหูด (น้ำยาง)
  • ขับโลหิตเน่าร้าย
  • ใช้ถ่ายอุจจาระ
  • ใช่ถ่ายพิษ
  • ใช่ถ่ายหัวริดสีดวงลำไส้
  • รักษาริดสีดวงทวารหนัก
  • ใช้เป็นยาถ่ายอย่างแรง
  • แก้กระเพาะลำไส้อักเสบ
  • แก้ปวดบวม
  • ขับความชื้น

           ส่วนอีกด้านหนึ่งคือนำมาทำยาสมุนไพรโดยในตำรายาไทยและตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านได้ระบุถึงสรรพคุณสลัดไดป่า ได้ระบุว่ากระลำพัก (แก่นของสลัดไดป่าที่ยืนต้นตาย) มีรสขมกลิ่นหอม เป็นตัวยาสำคัญในการตั้งตำรับยาหอม

สลัดไดป่า

รูปแบบและขนาดวิธีใช้สลัดไดป่า

ใช้บำรุงหัวใจ ตับและปอด ใช้แก้ไข้แก้ธาตุพิการ แก้พิษโลหิตและเสมหะ โดยใช้กระลำพักมาต้มกินกับน้ำหรือใช้ฝน รับประทานกับน้ำอุ่นก็ได้ ใช้แก้กระเพาะลำไส้อักเสบ แก้ปวดบวม ขับพิษ ขับความชื้นโดยใช้ใบ ในด้านการเป็นไม้ประดับมีการนำต้นสลัดไดป่า มาปลูกเป็นรั้วบ้าน เพื่อช่วยป้องกันคนและสัตว์ หรือใช้ปลูกตามส่วนหย่อมหรือปลูกประดับตามอาคารสถานที่ทั่วไปเนื่องจากมีรูปร่างแปลกตาดูสวยงาม ส่วนน้ำยางมีความเป็นพิษสูงก่อนนำมาใช้ควรทำการฆ่าฤทธิ์ก่อนซึ่งมาเรียกกันว่า “การประสะยางสลัดได” ซึ่งทำโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น (ไม่แนะนำใช้ส่วนของยางเอง)


ลักษณะทั่วไปของสลัดไดป่า

สลัดไดป่า จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 3-8 เมตร ลำต้นทรงกระบอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 22 เซนติเมตร ลำต้นแก่มักตั้งตรง แตกกิ่งก้านมาก เป็นรูปสามเหลี่ยม อวบน้ำ มี 3 มุม บริเวณสันขอบเป็นหยักมีหนามสีดำออกเป็นคู่ตามร่องหยัก และมีเปลือกสีน้ำตาล ส่วนต้นที่ยังไม่แก่มักมีผิวเรียบ สีเขียวทุกส่วนมีน้ำยางสีขาว

           ใบ เป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับตามแนวสัน มีขนาดเล็กเป็นรูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนานอวบน้ำ กว้าง 1-2 เซนติเมตร ยาว 2-5 เซนติเมตร โคนใบมนเป็นรูปลิ่มปลายโค้งกว้างขอบใบเรียบ ออกดอกเป็นช่อสั้นๆ เป็นรูปถ้วยโดยจะอกเป็นกลุ่มตามแนวสันเหนือหนามหรือตามซอกใบซึ่งจะมีดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่ในช่อเดียวกันและดอกทั้ง 2 เพศจะไม่มีกลีบดอก แต่จะมีความยาวไม่เกิน 2 เซนติเมตร สีเหลือง 5 ใบ โดยในช่อหนึ่งจะมีดอกเพศเมียดอกเดียว และมีดอกเพศผู้หลายดอก

           ผล เป็นผลแห้งรูปเกือบทรงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4-7 มิลลิเมตร โดยผลจะมี 3 พู สีส้มอมสีเหลืองหรือสีน้ำตาลเข้มเมื่อผลแห้งจะแตกออกในผลมีเมล็ด รูปรีผิวเกลี้ยงสีน้ำตาลแกมเทา  

สลัดไดป่า

การขยายพันธุ์สลัดไดป่า

สลัดไดป่าเป็นพืชในกลุ่มกระบองเพชรที่สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำ แต่วิธีที่เป็นที่นิยมคือการปักชำโดยมีวิธีการดังนี้ ขึ้นแรกทำการขดหลุมลึก 15-20 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอกรองก้นหลุม 1 กำมือ โดยแต่ละหลุมควรห่างกัน 1 เมตร ขึ้นไป เมื่อเตรียมหลุมเรียบร้อยแล้วให้ตัดกิ่งสลัดไดป่า โดยควรตัดยาวประมาณ 30 เซนติเมตร จากนั้นฝังลงไปในก้นหลุมประมาณ 15 เซนติเมตร แล้วกลบดินให้แน่น แล้วจึงรดน้ำเพื่อให้สลัดไดป่างอกรากได้ดี ทั้งนี้สลัดไดป่าสามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล แต่หากปลูกฤดูแล้ง ควรรดน้ำในช่วงแรก


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของสลัดไดป่า ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด ดังนี้ ในน้ำยางพบสารกลุ่มเทอร์ปีนอยด์ ได้แก่ antiquol B,C,euphorbol, isohellianol, caoutchouc, camelliol, lemmaphtlla-7,21-dien-3beta-ol รวมทั้งสารพวก deoxyphorbol เช่น euphorbin และมี tetracyclic diterpene และ ester เช่น ingenol, 12-deoxyphorbal และสารกลุ่ม tricyclic diterpene ได้แก่ tinyatoxim และ huratoxin นอกจากนี้ยังพบสาร Beta-amyrin, cyclortenol,Beta-euphorbol อีกด้วย เป็นต้น ส่วนองค์ประกอบทางเคมีของกระลำพัก กระลำพักเป็นชื่อเรียกของยาที่ได้จากแก่นของสลัดไดป่าแก้ที่ยืนต้นตาย ทำให้แก่นเปลี่ยนเป็นเนื้อไม้แข็ง

โครงสร้างสลัดไดป่า  

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของสลัดไดป่า

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยา สารสกัดจากส่วนต่างๆ ของสลัดไดป่า ระบุว่ามีฤทธิ์ต่างๆ ดังนี้

           ฤทธิ์ต่อเซลล์มะเร็ง มีรายงานการทดสอบพบว่า น้ำยาจากต้นสลัดไดป่าเมื่อใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดสำหรับรักษาโรคมะเร็งทำให้การรักษามีประสิทธิภาพดีขึ้น เนื่องจากน้ำยางไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ และเมื่อให้ในขนาดมาตรฐานร่วมกับยาเคมีบำบัด ในเซลล์ไบโบรบลาสของตัวอ่อนของลูกไก่ พบว่าสามารถลดความเป็นพิษ ของยาเคมีบำบัดลงได้จึงอาจนำมาพัฒนาร่วมกับยาเคมีบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็ง นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสามารถเหนี่ยวนำทำให้เกิดกระบวนการ apoptosis (ขบวนการในการกำจัดเซลล์ผิดปกติ และเซลล์มะเร็งภายในร่างกาย) โดยสามารถกำจัดเซลล์มะเร็งปากมดลูก ในหลอดทดลองได้ โดยการกำจัดผ่านกระบวนการ apoptosis และยังมีการศึกษาวิจัยพรีคลินิกพบว่า กระลำพักมีสารกลุ่มไดเทอร์พีนอยด์บางชนิด เช่น Deoxyantiquorin มีพิษต่อเซลล์มะเร็งบางชนิดในหลอดทดลองและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ เช่น เซลล์มะเร็งเต้านม เซลล์มะเร็งปอดและปากมดลูก อีกด้วย

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและป้องกันเซลล์ตับถูกทำลาย มีการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดสลัดไดป่า จากส่วนเหนือดิน ช่วยป้องกันเซลล์ตับถูกทำลาย และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยการทดสอบฤทธิ์ต้านอนูมูลอิสระ hydroxyl และต้านอนุมูลอิสระ superoxide anion พบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในทั้ง 3 วิธีการทดสอบ ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ความเข้มข้น 20 40 60 80 100 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ ซึ่งในการศึกษาในหลอดทดลองพบว่าขนาดที่มีสารสกัดผลต่อประสิทธิภาพในการป้องกันเซลล์ตับถูกทำลายได้อย่างมีนัยสำคัญ เท่ากับ 125,250 mg/kg โดยสามารถลดระดับเอนไซม์ในซีรั่ม billrubin, cholerterol triglyceride และปฏิกิริยาการออกซิเดชั่นของไขมัน ในขณะที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระกลูต้าไธโอนในเนื้อเยื่อ โดยขึ้นกับขนาดสารสกัดที่ใช้ทดสอบ อีกทั้งฤทธิ์ป้องกันเซลล์ตับและต้านอนุมูลอิสระจากสารสกัดมีความสามารถเทียบเท่ากับสารมาตรฐาน silymarin,sodium metabisulphite ตามลำดับ จากการศึกษานี้ยืนยันผลขอการใช้ตามสรรพคุณแผนโบราณที่นำยาต้มของสลัดไดป่ามาใช้รักษาโรคดีซ่าน

           ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด มีรายงานการศึกษาวิจัยโดยเมื่อให้สารสกัดเอทานอลจากต้นสลัดไดป่าแก่สัตว์ทดลอง หลังจากนั้น 1 ชั่วโมงพบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง 30.11% นอกจากนี้สารสกัดเอทานอลและยามาตรฐาน glibencamide ยังแสดงฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ ที่เวลา 8 ชั่วโมง หลังจากได้รับการทดสอบโดยระดับน้ำตาลในเลือดลดลงเท่ากับ 69.22, 83.32% ตามลำดับ ส่วนสารสกัด petroleum ether และสารสกัดน้ำ มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ชั่วโมงที่ 4 หลังได้รับสารสกัด โดยระดับน้ำตาลในเลือดลดลงเท่ากับ 33.29%, 28.29% ตามลำดับ และหลังจากชั่วโมที่ 4 ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

           ฤทธิ์ต้านอักเสบและต้านการอักเสบของข้อ มีการศึกษาวิจัยของสลัดไดป่าด้วยน้ำ ด้วยแอลกอฮอลล์พบว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านการอักเสบขอข้อ โดยพบว่าสลัดไดป่ามีสารกลุ่ม triterpenoids ในลำต้นและมี diterpenoids ในน้ำยาง ซึ่ง triterpenoids หลายชนิดมีฤทธิ์ต้านการอักเสบโดยฤทธิ์ต้านการอักเสบของ triterpenoids มีหลายกลไก รวมทั้งการยับยั้งการทำงานของ lipoxygenase, cyclooxygenase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการเกิดการอักเสบอีกด้วย


การศึกษาทางพิษวิทยาของสลัดไดป่า

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยของสลัดไดป่า ระบุว่าส่นของน้ำยางมีพิษมากโดยสารที่พบเป็นสารในกลุ่ม tetracyclic diterpene ได้แก่ phorbol derivative ซึ่งหากถูกผิวหนังจะมีฤทธิ์ทำให้ปวด ผิวหนังอักเสบเป็นผื่นแดง บวมพองเป็นตุ่มน้ำ หากเข้าหรือสัมผัสตาจะทำให้เยื่อบุตาอักเสบ และตาบอดชั่วคราว หากรับประทานเข้าไปจะทำให้อาเจียนและถ่ายท้องอย่างรุนแรงเยื่อบุผนังกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ ม่านตาหด แต่หากรับมากอาจเกิดอาการสั่น และเสียชีวิตได้


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สตรีมีครรภ์และเด็กห้ามรับประทานสลัดไดป่าเป็นยาสมุนไพร สำหรับการใช้สลัดไดป่าเป็นยาสมุนไพรควรเตรียมโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ห้ามเตรียมยาด้วยตัวเอง เนื่องจากสลัดไดป่าเป็นพืชที่มีความเป็นพิษสูงหากเตรียมยาไม่ถูกวิธีอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ สำหรับการแก้พิษของสลัดไดป่า เบื้องต้นนั้นสามารถทำได้ดังนี้ หากรับประทานเข้าไปให้รีบอาเจียนแล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล เพื่อล้างท้อง


เอกสารอ้างอิง สลัดไดป่า
  1. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. สลัดได (Salad dai). หนังสือสมุนไพรไทย เล่มที่1. หน้า 290.
  2. วิทยา บุญวรพัฒน์. สลัดได (กระลำพัก). หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. หน้า 538.
  3. กระลำพัก. คู่มือการกำหนดพื้นที่ส่งเสริมการปลูกสมุนไพรเพื่อใช้ในทางเภสัชกรรมไทย เล่มที่ 1. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. กันยายน 2558. หน้า 22-23.
  4. สลัดไดป่า. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 108.
  5. สลัดไดป่า. ศูนย์ข้อมูลพืชพิษ. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. สลัดไดป่า . ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี(ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden’com/main.php?action=viewpage&pid=308
  7. Prasant Y, Kritika S, Anurag M. A Review on phytochemical, medicinal and pharmacological profile pf Euphorbia antiquorum IJPPR. 2015;4:56-67.