ตะลุมพุก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ตะลุมพุก งานวิจัยและสรรพคุณ 13 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ตะลุมพุก
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะคังขาว, กระลุมพุก, ลุมพุก (ภาคกลาง), มะข้าว, มะน้ำข้าว (ภาคเหนือ), ลมปุ๊ก (ภาคอีสาน), มะคัง (อุตรดิตก์), หนามแท่ง (ตาก)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Tamilnadia uliginosa (Retz.) Tirveng & Sastre
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์  Randia uliginosa (Retz) Poir. Catunaregam uliginosa (Retz) Sivarg Gardenia uliginosa Retz., Solena uliginosa (Retz) D.Dietr.
วงศ์ RUBIACEAE


ถิ่นกำเนิดตะลุมพุก

ตะลุมพุก จัดเป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยอีกชนิดหนึ่ง โดยมีเขตการกระจายพันธุ์ตั้งแต่อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยพบมากทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณป่าเบญจพรรณตามป่าเต็งรังที่ขึ้นริมน้ำ ที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 100-800 เมตร


ประโยชน์และสรรพคุณตะลุมพุก

  • ใช้แก้ท้องเสีย
  • แก้บิดมูกเลือด
  • แก้อติสาร
  • ช่วยบำรุงกำลัง
  • ช่วยบำรุงเลือด
  • แก้เมื่อย
  • ใช้แก้โรคบิด
  • ใช้รักษาฝี
  • รักษาแผลพุพอง
  • รักษาบาดแผลอักเสบ
  • รักษาโรคผิวหนัง
  • ขับปัสสาวะ
  • ขับขับน้ำดี

           ในอดีตมีการนำผลของตะลุมพุก มาทุบให้แหลก แล้วนำไปผสมของสีย้อมผ้า จะทำให้สีติดทนนาน ส่วนเนื้อไม้มีสีขาวปนสีน้ำตาลอ่อน มีความละเอียด สม่ำเสมอ นิยมนำมาใช้งานแกะสลัก ทำเครื่องใช้สอย หรือใช้ทำด้ามเครื่องมือต่างๆ ส่วนในปัจจุบันนิยมนำต้นตะลุมพุกมาปลูกไว้เป็นไม้ประดับ เพราะมีดอกสีขาวสวยแปลกตา มีกลิ่นหอม สามารถตัดแต่งได้ง่าย และยังสามารถปลูก เลี้ยงดูแลได้ง่าย อีกทั้งมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดีอีกด้วย

ตะลุมพุก

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ตะลุมพุก

ใช้แก้ท้องเสีย แก้บิดมูกเลือด แก้อติสาร ขับปัสสาวะและขับน้ำดี โดยใช้ผลหรือรากแห้งมาต้มน้ำดื่ม ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย โดยใช้แก่นตะลุมพุก กับแก่นมะคังแดงมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้บำรุงเลือดโดยใช้รากและแก่นต้มกับน้ำดื่ม ผลสุกใช้รักษาฝี แผลพุพอง บาดแผลอักเสบ และโรคผิวหนัง


ลักษณะทั่วไปของตะลุมพุก

ตะลุมพุก จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็ก สูง 5-10 เมตร ทรงพุ่งโปร่งลำต้นและตามปลายกิ่งก้านมีหนามแหลมยาว ออกตรงกันเป็นคู่ๆ เป็นปมขรุขระ ซึ่งหนามนี้จะพัฒนาเป็นกิ่งต่อไป กิ่งอ่อนมีเหลี่ยมมน เปลือกต้นมีสีน้ำตาลเข้ม เนื้อไม้สีขาวปนน้ำตาลอ่อนละเอียด สม่ำเสมอ

           ใบ ออกเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้าม มีลักษณะเป็นรูปไข่กลับ โคนใบสอบแหลม ปลายใบเรียบมน ส่วนขอบใบ ขนาดใบกว้าง 5-10 เซนติเมตร ยาว 8-14 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวอ่อน หลังใบเรียบรื่นเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบมีขนประปรายปกคลุม ผิวใบเรียบเนื้อใบบางและฉีกขาดง่าย มีก้านใบยาวไม่เกิน 1 เซนติเมตร และมีหูขนาดเล็กอยู่ระหว่างก้านใบ

           ดอก เป็นดอกเดี่ยวออกบริเวณซอกใบบริเวณปลายยอด ดอกมีสีขาวและมีกลิ่นหอม ลักษณะเป็นรูปทรงกลมใหญ่ มีขนาด 3-5 เซนติเมตร มีกลีบดอก 5-6 กลีบ กลีบดอกค่อนข้างหนา โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ปลายกลีบกลมมนแยกออกจากกัน มีเกสรเพศผู้จำนวน 5 อัน เกสรเพศเมีย 1 อัน

           ผล เป็นผลสด รูปไข่ กลมรี ยาว 4-6 เซนติเมตร ผิวผลเรียบ ผลดิบสีเขียว เมื่อสุกสีเหลือง เนื้อแข็ง แน่น ปลายผลมีกลีบเลียงติดอยู่ ภายในผลมีเมล็ดรูปทรงกลมจำนวนมาก แต่โคนส่วนมากเมล็ดมักฝ่อ

 ต้นตะลุมพุก

ตะลุมพุก

ผลตะลุมพุก

การขยายพันธุ์ตะลุมพุก

ตะลุมพุกสามารถขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง แต่วิธีที่นิยมในปัจจุบันคือการเพาะเมล็ดเนื่องจากการตอนกิ่งทำได้ยากเพราะตามลำต้นของตะลุมพุก มีหนามยาว สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่งสามารถทำได้เช่นเดียวกับการเพาะเมล็ดและการกิ่งไม้ยืนต้นทั่วไปตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของตะลุมพุก ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น สารสกัดจากรากพบ Diffusoside A, mussaenoside, scopoletin เป็นต้น ส่วนสารสกัดจากรากผลของตะลุมพุกบสารต่างๆ เช่น Quercrtin, Myricetin, Luteolin, Apigenin, Keampferol, Hyperoside, Isorhamnetin, Caffeic acid, Ferulic acid, Nonacosane, Vitexin, Rutin, Leuteolin-7-Glycoside เป็นต้น

 โครงสร้างตะลุมพุก

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของตะลุมพุก

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของตะลุมพุกระบุว่ามีฤทธิ์ต่างๆดังนี้

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีการศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบเฉียบพลันของสารสกัดจากผลโดยใช้วิธีเหนี่ยวนำให้อุ้งเท้าหนูอักเสบโดยใช้คาราจีแนน จากนั้นแยกหนูทดลองโดยสัตว์กลุ่มแรกทำหน้าที่เป็นกลุ่มควบคุมเชิงลบและให้ 0.75% CMC (5 มล./กก.) สัตว์กลุ่มที่สองมีผลเป็นบวกควบคุมซึ่งได้รับยาไดโคลฟีแนคโซเดียม (5 มก./กก.) ในขณะที่กลุ่ม 3,4,5 ให้สารสกัดผลตะลุมพุก หนึ่งชั่วโมงก่อนเริ่มการทดลองให้ผลขนาด 100 มก. (กลุ่มที่ 3) 200 มก. (กลุ่มที่ 4) และ 400 มก. (กลุ่มที่ 5) พบว่าสารสกัดทุกขนาดสามารถยับยั้งกี่อักเสบได้โดยหนูทดลองกลุ่มที่ได้สารสกัด 400 มก./กก. มีอัตราการอักเสบต่ำที่สุด  นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยฉบับอื่นๆ อีกหลายฉบับระบุว่าสารสกัดส่วนราก ของตะลุมพุก มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านเซลล์มะเร็ง และต้านแบคทีเรียได้อีกด้วย


การศึกษาทางพิษวิทยาของตะลุมพุก

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้ตะลุมพุกเป็นสมุนไพร ควรใช้ด้วยความระมัดระวังเช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมตามที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดและปริมาณที่มากจนเกินไปหรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้ตะลุมพุก เป็นสมุนไพรเพราะยังไม่มีรายงานด้านความปลอดภัยส่วนผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ หากจะต้องใช้ตะลุมพุกเป็นสมุนไพร ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง

เอกสารอ้างอิง ตะลุมพุก
  1. เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ และกาญจนา ดีวิเศษ. ผักพื้นบ้านภาคเหนือ พิมพ์ครั้งที่ 2. มูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนา ศูนย์พัฒนาการแพทย์แผนไทย จำกัด กรุงเทพฯ.
  2. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี ธวัชชัย มังคละคุปต์. ตะลุมพุก. หนังสือสมุนไพรเล่ม 1. หน้า 127.
  3. สมพร ภูติยานันท์. การตรวจสอบเอกลักษณ์พืชสมุนไพร พฤกษอนุกรมวิธาน. หจก. ตุลย์สตูดิโอกราฟฟิก 120 เชียงใหม่.
  4. ตะลุมพุก . ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage=48.
  5. Winter, C.A., Risely, E.A., Nuss, G.W., 1962. Carrageenan induced oedema in hind--paw rats-an oedema of the assay for anti- inflammatory drugs. Proc. Soc. Exp. Biol. 3,544-547.
  6. Agrawal S S, and Singh V K. Immunomodulators -A review of studies on Indian medicinal plants and synthetic peptides, Part-1, medicinal plants, Proc. Acad., 1999; 65: 179-204.
  7. Deepthy Mol MJ and Radhamony PM , 2012. Phytochemical and proximate studies of Tamilnadia and Sastre, fruits. Triveng uliginosa (Retz.), Journal of Pharmcy research,4(7): 3530-3532.
  8. Goldenberg,M.M,, Iise, A.C., 1977. Anti- inflammatory activity of EU-2972. Arch. Int. Pharmacodyn. 22 (, 153-161.
  9. Neerugatti, D., Battu, G. R., Jangiti, R.K., 2014. Anti-inflammatory effect of methanolic extract of Tamilnadia uliginosa (Retz.) roots. Int. J. Phytopharmacol.5(1), 34-37.
  10. Nadkarni A K and Nadkarni K Mat Popular Bombay. 1976; 1047-1048.