ดีปลากั้ง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ดีปลากั้ง งานวิจัยและสรรพคุณ 8 ข้อ


ชื่อสมุนไพร ดีปลากั้ง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น บีปลากั้ง, ดีปลาช่อน (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Phlogacanthus pulcherrimus T. Anderson
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cystacanthus pulcherrimus C.B.Clarke
วงศ์ ACANTHACEAE


ถิ่นกำเนิดดีปลากั้ง

ดีปลากั้งเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียเขตร้อน บริเวณภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทางตอนกลางจนถึงตอนใต้ ของจีน การกระจายในพม่า ไทย ลาว เวียดนาม ในจีนโดยจะพบตามป่าดิบแล้งใกล้ลำธาร ที่ระดับความสูงใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึง 200 เมตร สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ตามภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง

           ดีปลากั้ง จัดเป็นไม้ยืนต้น สูง 50-150 เซนติเมตร ลำต้นตั้งตรงสีน้ำตาล แตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น


ประโยชน์และสรรพคุณดีปลากั้ง

  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้ปัสสาวะขัด
  • ช่วยเจริญอาหาร
  • แก้เครียด
  • แก้เบาหวาน
  • แก้ปวดหลัง
  • บำรุงกำลัง
  • แก้ปวดเมื่อย

           ในภาคอีสานและภาคเหนือมีการใช้ ยอดอ่อนของดีปลากั้ง ใช้รับประทานเป็นผักแกล้มกับน้ำพริก และลาบโดยจะมีรสขมหวาน

ดีปลากั้ง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ดีปลากั้ง

ใช้บำรุงกำลัง แก้ปวดเมื่อยโดยใช้ใบดีปลากั้ง ตากแห้งบดเป็นผงใช้รับประทาน 1 ช้อนกาแฟ กับน้ำผึ้ง เช้า-เย็น ใช้เป็นยาบำรุง โดยใช้รากดีปลากั้ง รากตำยาน รากหัวเข่าคลอน รากไม้ด้ามขวานหัก รากไม้เอนอ้า ขนาดยาวประมาณนิ้วมือ อย่างละสามหรือห้าชิ้น ต้มกับน้ำดื่ม ใช้เพื่อแก้คลายเครียด ลดเบาหวาน ทำให้เจริญอาหาร โดยใช้ยอดอ่อนมารับประทานสดกับน้ำพริก หรือ ลาบ แก้ปัสสาวะขัด ขับปัสสาวะโดยใช้ลำต้นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ และแก้เบาหวาน โดยใช้ยอดและใบมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ปวดหลังโดยนำยอดมานึ่งรับประทาน


ลักษณะทั่วไปของดีปลากั้ง

ใบดีปลากั้ง เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่ม ขอบใบเรียบกว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 8-16 เซนติเมตร แผ่นใบด้านบนมีสีเขียวเข้มเป็นมันมีเส้นแขนงใบมองเห็นได้ชัดเจนส่วนล่างใบมีสีอ่อนกว่า และมีก้านใบยาวประมาณ 1-3 ซม.

           ดอก ออกเป็นช่อ แบบช่อเชิงลดโดยจะออกบริเวณปลายยอดเป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกเชื่อมกันเป็นรูปโคนโท มีสีม่วงอมแดงปลายแยกเป็น 5 แฉก ส่วนหลอดกลีบพองออกด้านเดียว และมีกลีบเลี้ยง มีสีเขียว รูประฆัง ยาว 5 มม.

           ผล เป็นแบบแคปซูล ยาว 2.5-3.5 เซนติเมตร เมื่อแห้งผลจะแตกส่วนเมล็ดจะเกิดที่ช่วงปลายของผล และจะมีที่ก้านตะขอดีดเมล็ด

ดีปลากั้ง

ใบดีปลากั้ง

การขยายพันธุ์ดีปลากั้ง

ดีปลากั้งจัดเป็นไม้ยืนต้นที่สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด การตอนกิ่งและการปีกชำโดยวิธีการ เพราะเมล็ดที่เริ่มจากการนำเมล็ดมาเพาะในกระบะขี้เถ้าแกลบประมาณ 45 วัน จากนั้นนำต้นกล้าที่ได้ไปเพาะ อีกครั้งในถุงเพาะชำโดยใช้ดิน 2 ส่วน ขี้เถ้าแกลบ 1 ส่วน เปลือกมะพร้าว 1 ส่วน เมื่อต้นกล้าเจริญเติบโตได้ 60 วัน จึงนำลงแปลงปลูก ส่วนการตอนกิ่งเริ่มจากการเลือกกิ่งที่แก่เต็มที่แล้วเปลือกชั้นนอกของต้นออก 5-10 ซม. จากนั้นทาน้ำยาเร่งราก แล้วห่อด้วยกากมะพร้าวผสมขุยมะพร้าว ห่อด้วยพลาสติกห่อให้เรียบร้อย รดน้ำแล้วรอรากงอก จึงสามารถนำไปปลูกได้ สำหรับการปักชำนำกิ่งที่มีข้อมาปักชำในกระบะ หรือถุงที่บรรจุขี้เถ้าแกลบ เมื่อกิ่งชำแตกรากและรากแข็งแรงดีแล้ว จึงนำลงแปลงปลูกต่อไป


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของดีปลากั้ง ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น สารสกัดจากส่วนเหนือดินพบสาร pulcherrimoside A-I, Phlogoside A, helioscopinolide A,17-gydroxydelioscopinolide A ส่วนสารสกัดจากใบพบสาร α-pinene, squalene, 2,4-Di-tert-butylphenol เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ใบดีปลากั้งยังมีปริมาณสารอาหารและแร่ธาตุหลายชนิด อาทิเช่น โปรตีน ไขมัน แคลเซียม โซเดียม โปแทสเซียม แมกนีเซียม โครเมียม และธาตุเหล็ก อีกด้วย

 โครงสร้างดีปลากั้ง

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของดีปลากั้ง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดดีปลากั้ง ระบุเอาไว้ดังนี้ มีรายงาการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดเมานอลจากใบดีปลากั้ง พบว่า มีปริมาณฟีนอลิกรวมเท่ากับ 27.55+-0.90 mgGAE/g นอกจากนี้ ยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเมื่อทดสอบด้วยวิธี DPPH และ ABTS เท่ากับ 24.02+-1.59 , 33.42+-3.10 mgTEAC/gextract ตามลำดับ โดยฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และปริมาณฟีนอลิกรวมของสารสกัดหยาบของใบดีปลากั้งที่สกัดด้วยตัวทำละลายที่แตกต่างกันได้แก่ ไดคลอโรธีเธน เอทธิล อะซีเตท เอ็น-บิวทานอล และน้ำ พบว่าสารสกัดที่มีปริมาณฟีนอลิกรวมมากที่สุด คือ EE 55.05+-3.40 mgGAE/g extract เมื่อทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH พบว่าสารสกัด DE ที่ความเข้มข้น >2000 ug/ml มีค่า IC50 = 8.25+-1.07 mgTEAC/g extract มีความต้านอนุมูลอิสระได้ดีที่สุด แต่เมื่อทดสอบด้วยวิธี ABTS พบว่า DE มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมากที่สุด ที่ความเข้มข้น >2000 ug/ml มีค่า IC50 =15.45+-1.76 mgTEAC/g extract  และยังมีการศึกษาฤทธิ์ทางยาของสมุนไพร ดีปลากั้งกับความสามารถในการยับยั้งจุลินทรีย์ 4 ชนิดคือ salmonella spp, E.coli, shigella spp และเชื้อ staphylococcus aurous พบว่าส่วนสารสกัดจากรากมีความสามารถในการยับยั้งจุลินทรีย์ทั้ง 4 ชนิด โดยใช้ความเข้มข้นที่แตกต่างกันคือ 95%, 75%, 50% และพบว่าสารสกัดจากใบและดอกไม่สามารถยับยั้งจุลินทรีย์ได้ อีกทั้งยังมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านมะเร็งเต้านมของสารสกัดเอทานอลจากใบดีปลากั้ง ต่อเซลล์มะเร็งเต้านม พบว่าสารสกัดดีปลากั้ง แสดงความเป็นพิษต่อเซลล์บนเซลล์ MCF-7 ในลักษณะที่ขึ้นกับขนาดยาโดยมีค่าความเข้มข้นในการยับยั้ง 50% ที่ 119.9+-12.1 และ 51.3+-4.7 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ที่ระยะฟักตัว 24 ชั่วโมง และ 48 ชั่วโมง ตามลำดับ นอกจากนี้ สารสกัดแสดงการตายของเซลล์ในลักษณะที่ขึ้นกับขนาดยาเมื่อใช้ที่ความเข้มข้น 50-100 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร และยับยั้งการก่อตัวของโคโลนีด้วยค่า Ic50 ที่ 26.0+-2.0 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม สารสกัดกระตุ้นการก่อตัวของ ROS ในลักษณะที่ขึ้นกับขนาดยาเมื่อใช้ที่ความเข้มข้น 50-100 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร และสารสกัดระงับการย้ายเซลล์ MCF-7 โดยมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญที่ 25 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร ซึ่งผลลัพธ์เหล่านี้บ่งชี้ว่าสารสกัดเอทานอลจากใบดีปลากั้ง มีฤทธิ์ต้านมะเร็งต่อเซลล์มะเร็งเต้านม MCF-7 ได้

           นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยฤทธิ์การยับยั้งการทำงานของเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดส โดยนำสารสกัดด้วยรำทั้ง 2 ชนิด ซึ่งเตรียมโดยใช้เครื่อง Water bath มาทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดส พบว่าสารสกัด PPSO มีความสามารถในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดสได้ดีที่สุด มีค่า IC50 เท่ากับ 0.237+-0.008 mg/mL รองลงมาคือ PPWB มีค่าเท่ากับ 0.3018+-0.082 mg/mL ซึ่งจะเห็นได้ว่าสารสกัดจากน้ำใบดีปลากั้ง ทั้ง2 ชนิดนี้ มีความสามารถในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์แอลฟากลูโคซิเดส ได้ดีกว่ามาตรฐาน Acarbose ซึ่งมีค่า เท่ากับ 1.0543+-0.11 mg/mL อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ


การศึกษาทางพิษวิทยาของดีปลากั้ง

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

มีรายงานข้อห้ามใช้ดีปลากั้ง ในตำรายาพื้นบ้านระบุว่า ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ น้ำตาลในเลือดต่ำ ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต และสตรีมีครรภ์ ไม่ควรรับประทานดีปลากั้ง นอกจากนี้ ห้ามใช้ดีปลากั้งกับผู้ป่วยที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือดเพราะอาจจะเสริมฤทธิ์ของยาซึ่งจะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น และไม่แนะนำให้รับประทานทุกวันหรือรับประทานต่อเนื่อง เพราะดีปลากั้งเป็นยารสเย็นซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อระบบย่อยอาหาร ที่ทำให้ท้องอืดง่าย มือเท้าเย็น และอ่อนเปรี้ยเพลียแรงได้
 

เอกสารอ้างอิง ดีปลากั้ง
  1. นันทวัน บุญยะประภัศร อรนุช โชคชัยเจริญพร 2541. สมุนไพร พื้นบ้าน เล่มที่ 1. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. 363-365.
  2. แก้วอุดมศิริ, ชาคร ถาพร สุภาพรม. พรรณไม้. อุบลราชธานี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. 2551.
  3. ปรีชา อุปโยคิน เสาวภา พรศิริพงษ์ วิชิต เปานิล พรอมจิต ศรลัมพ์ และพรทิพย์ อุศุภรัตน์ 2540. การประเมินผลการพัฒนาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อเป็นยา. กทม. พี เอลีฟวิ่ง 25-29.
  4. สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง องค์กรมหาชน. ดีปลากั้ง. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและถูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง กรุงเทพฯ 2558.
  5. วินัย สมประสงค์. วิทยาศาสตร์การเกษตร กลุ่มวิจัยพฤกษศาสตร์แบะพิพิธภัณฑ์พืช. กองคุ้มครองพันธุ์พืช. กรมวิชาการเกษตร. กลุ่มงานคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร. กรุงเทพฯ สถาบันการแพทย์แผนไทย. 2554.
  6. สถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. พืชอาหารกับสภาพยั่งยืนของนิเวศเกษตรในพื้นที่ศูนย์ภูฟ้าพัฒนา น่าน 2558.
  7. พิชิต โนนตูม,สมจินตนา ทั่วทิพย์, อำภา คนซื่อ. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และยับยั้งเอนไซม์แบะฟากลูโคซิเดสของสารสกัดใบดีปลากั้ง. วารสารวิทยาศาสตร์ มข. ปีที่ 47. ฉบับที่ 4 ตุลาคม-ธันวาคม 2562. หน้า 708-718.
  8. พิชิต โนนตูม. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ปละฟากลูโคซิเดสจากสารสกัดของใบดีปลากั้ง.วิทยานิพนธ์ ปริญญาวิทยา มหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์เพื่อสุขภาพ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. ปีการศึกษา 2562. 47 หน้า.
  9. ดีปลากั้ง. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=142.
  10. Lordkhem, P., Poeaim, S. and Charoenying, p. (2015) . Phytochemical screening, antioxidant and anticancer activities of Phlogacanthus pulcherrimus leaves. The 27th Annual Meeting of the Thai Society for Biotechnology and International Conference. November 17-20, Bangkok, Thailand. 568-74.
  11. Poeaim, S., Lordkhem, P., Charoenying, P. and Laipasu, P. (2016). Evaluation of antioxidant, cytotoxic activities and total phenolic content from leaf extracts of Phlogacanthus pulcherrimus. IAT: 12(7:1).1657-7.
  12. Songrungruangchok, s., songsak,T.and wongwwatthananukt, s. (2014). Evaluation of nutrient and mineral content of the leaves of phlogacanthus pulcherrimus cultivated in Thailand. BHST. 12(1): 22-26.