หว้า ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

หว้า งานวิจัยและสรรพคุณ 16 ข้อ

ชื่อสมุนไพร หว้า
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หว้าขี้แพะ, หว้าขี้นก, หว้าป่า (ทั่วไป), มะห้า, ห้า, มะเกี๋ยง (ภาคเหนือ), กรีแย (มลายู)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Syzygium cumini (L.) Skeels
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Syzygium jambolanum DC., Eugenia cumini Druce, Caryophyllus jambos stokes.
ชื่อสามัญ Jambolan plum, Black plum, Java plum, Indian black plum

ถิ่นกำเนิดหว้า

หว้าเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปเอเชียตั้งแต่อินเดียศรีลังกา เนปาล มังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย จากนั้นจึงได้มีการแพร่กระจายไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยถือได้ว่า หว้า เป็นพืชพื้นบ้านอีกชนิดหนึ่งที่สามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณป่าดิบชื้น และป่าผลัดใบ ทั่วไป

ประโยชน์และสรรพคุณหว้า

  1. แก้บิด
  2. แก้มูกเลือด
  3. ช่วยล้างแผล
  4. แก้โรคผิวหนัง
  5. แก้ปากเปื่อย
  6. แก้คอเปื่อย
  7. แก้ร้อนใน
  8. แก้น้ำลายเหนียว
  9. แก้ท้องร่วง
  10. แก้ปัสสาวะมาก
  11. แก้โรคปอด
  12. แก้หอบหืด
  13. แก้น้ำลายเหนียว
  14. เป็นยาอมยากวาด
  15. ช่วยถอนพิษแสลงใจ
  16. ช่วยลดน้ำตาลในเลือด

หว้า

รูปแบบและขนาดวิธีใช้หว้า

ใช้แก้บิดมูกเลือด โดยใช้ใบเปลือกต้นมาต้มกับน้ำ ใช้แก้ปากเปื่อย คอเปื่อย ร้อนใน น้ำลายเหนียว โดยใช้เปลือกต้นมาต้มน้ำอมกลั้วปาก หรือใช้ทำยากวาดคอก็ไก้ ใช้แก้ท้องร่วงโดยใช้ผลสุกมารับประทานสด ใช้แก้ท้องเสีย แก้หอบหืด โดยใช้ผลดิบมาต้มกับน้ำดื่ม  ใช้แก้ท้องร่วง แก้บิด แก้ปัสสาวะมาก ลดน้ำตาลในเลือด ถอนพิษแสลงใจ โดยนำเมล็ดแห้งมาบดเป็นผง กินกับน้ำอุ่น ใช้รักษาโรคปอดโดยนำผลหว้า ไปตากแห้งแล้วนำมาบดให้ละเอียด รับประทานเป็นประจำ ใช้รักษาโรคผิวหนังโดยนำใบ และเมล็ดหว้ามาตำให้แหลกแล้วทาบริเวณที่เป็น

ลักษณะทั่วไปของหว้า

หว้า จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ไม่ผลัดใบ สูง 10-35 เมตร ทรงพุ่มกลมรูปไข่ เปลือกต้นชั้นนอกเรียบ สีเทาอ่อน หลุดลอกเล็กน้อย ส่วนเปลือกด้านในมีสีแดง กิ่งอ่อนเป็นรูปสี่เหลี่ยม

           ใบ เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้าม เป็นรูปรี หรือ รูปไข่กลับ แผ่นใบมีสีเขียวหนา และเหนียวมีขนาดกว้าง 3-9 เซนติเมตร ยาว 8-15 เซนติเมตร โคนใบมนปลายใบเรียวแหลม มีจุดน้ำมันที่บริเวณขอบใบ และมีก้านใบยาว 0.5-3 เซนติเมตร มีเส้นใบ 19-30 คู่

           ดอก ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุก ยาว 5-10 เซนติเมตร บริเวณซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกย่อยมีสีเขียวอมเหลือง 30-40 ดอก ขนาดของดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-1.5 เซนติเมตร กลีบดอกมี 4 กลีบ เชื่อมเป็นถุงดอกตูมและหลุดเมื่อดอกบาน กลีบมีต่อมเป็นจุดๆ และมีเกสรตัวผู้จำนวนมาก

           ผล เป็นผลสดทรงกลมเป็นรูปรีกระสวยก้นผลบุ๋มผิวมัน ลักษณะฉ่ำน้ำ เมื่ออ่อนเป็นสีเขียว แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูเมื่อผลสุกจะเป็นสีม่วงดำ มีขนาดประมาณ 1-3 เซนติเมตร

หว้า

หว้า

การขยายพันธุ์หว้า

หว้า สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพราะเมล็ดซึ่งวิธีการเพาะเมล็ดของหว้าก็สามารถทำได้เช่นเดียวกับไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ส่วนวิธีการปลูกนั้นสามารถทำได้โดยเริ่มขุดดินให้มีความกว้างxยาวxลึก ประมาณ 50x50x50 ซม. ทิ้งระยะปลูกไว้ 10x10 เมตร แล้วนำดินมาคลุกเคล้าปุ๋ยคอก แล้วนำกลบก้นหลุมสักเล็กน้อยแล้วจึงนำต้นกล้าของหว้าที่เพาะได้ลงปลูก นำดินที่เหลือกลบ คลุมด้วยฟาง รดน้ำให้ชุ่ม และปักไม้ก้นหลุม

องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากการสกัดผลสุกของหว้า ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดอาทิเช่น gallic acid, resveratrol, tannin,betulinic acid, myricetin, oxalic acid, ellagic acid, isoquercetin, ferulic acid, malic acid, citric acid และสารกลุ่มแซนโทไซยานิน เช่น cyaniding, petunidin-3-o-glucoside และ malvidin นอกจากนี้ผลสุกของหว้ายังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

คุณค่าทางโภชนาการของลูกหว้า สุก (100กรัม)

พลังงาน

60

กิโลกรัม

คาร์โบไฮเดรต

14

กรัม

เส้นใย

0.6

กรัม

ไขมัน

0.23

กรัม

โปรตีน

0.995

กรัม

วิตามิน บี1

0.019

มิลลิกรัม

วิตามิน บี2

0.009

มิลลิกรัม

วิตามิน บี3

0.245

มิลลิกรัม

วิตามิน บี6

0.038

มิลลิกรัม

วิตามินซี

11.85

มิลลิกรัม

แคลเซียม

11.65

มิลลิกรัม

ธาตุเหล็ก

1.41

มิลลิกรัม

แมกนีเซียม

35

มิลลิกรัม

ฟอสฟอรัส

15.6

มิลลิกรัม

โพแทสเซียม

55

มิลลิกรัม

โซเดียม

26.2

มิลลิกรัม

 

โครงสร้างหว้า 

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของหว้า

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้

           มีรายงานผลการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิระของสารสกัดลูกหว้า โดยวิเคราะห์ค่า IC50 พบว่า มีค่าเท่ากับ 85.22+-4.35 ug/ml แสดงให้เห็นว่าสารสกัดลูกหว้ามีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระที่สูงซึ่งฤทฺธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดลูกหว้าส่วนหนึ่งเกิดจากสารในกลุ่มประกอบฟีนอลิก ตัวอย่างเช่น แอนโทไซยานิน กรดแอลลาจิก ไอโซเควอร์เซทิน แทนนิน กรดแกลลิก เป็นต้น และเมื่อทำการวิเคราะห์สารประกอบฟีนอลิกทั้งหมดขอสารสกัดลูกหว้า พบว่ามีค่าเทียบเท่ากับสารมาตรฐาน กรดแกลลิกเท่ากับ 18.50+-1.84 mg gallic acid equivalent/g extract ซึ่งมากกว่าผลไม้บางชนิด เช่น ส้มโอ สับปะรด กล้วยน้ำว้า มะละกอ และแคนตาลูป นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดลูกหว้ามีความสามารถในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อสิว P.acnes และ S.aureus โดยพบว่า สารสกัดลูกหว้าที่ความเข้มข้น 10 และ 50 mg/ml สามารถยับยั้ง P.acnes ให้เส้นผ่านศูนย์กลางโซนยับยั้ง เท่ากับ 7.5+-0.50 และ 9.50+-0.50 mm ตามลำดับ อีกทั้งยังพบว่าสารสกัดน้ำจากลูกหว้ามีฤทธิ์ต้านเชื้อ Streptococcus mutans และ Candida albicans และสามารถยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส ซึ่งเป็นเอนไซม์หลักในการสร้างเม็ดสีเมลานิน และยังมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดได้ เช่น Escherichia coli และ staphylococcus aureus ได้อีกด้วย

           และมีการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งระบุว่าใบหว้า มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย ใช้ในการเสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่เหงือกและฟัน และมีรายงานการใช้ใบในการรักษาโรคเบาหวาน รักษาอาการเป็นไข้ โรคกระเพาะ ช่วยห้ามเลือด รักษาโรคผิวหนัง ส่วนสารสกัดจากใบหว้าช่วยลด radiation-induced DNA damage ใน cultured human peripheral blood อีกทั้งมีรายงานพบสารประกอบที่พบในหว้าได้แก่ triterpenoids acrtyl oleanolic acid, ellagic acid, Kaempferol, isoquercetin, Quercetin และ myricetin ในส่วนของผลลูกหว้ามีรายงานวิจัยระบุว่ามีองค์ประกอบของวิตามินซี gallic acid แทนนิน แอนโทไซยานิน ต่อมามีรายงานการวิจัยพบว่าสารประกอบเหล่านี้มีคุณสมบัติในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จึงได้ทำการทดสอบความสามารถในการเป็นสารอนุมูลอิสระของสารสกัดเปลือกลูกหว้า พบว่าความสามารถในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระโดยวิธี DPPH มีค่า IC50 เท่ากับ 168 ug/ml และรายงานค่า Ascorbic acid equivalents เป็น 0.170 mg/ml น้ำหนักเปลือกแห้งและ ค่า Gallic acid equivalents เป็น 0.047 mg/mg น้ำหนักเปลือกแห้ง อีกทั้งยังได้ทำการศึกษาคุณสมบัติทางเคมี ความเสถียร และประสิทธิภาพการเป็น สารต้านอนุมูลอิสระของเปลือกผลหว้าพบว่า มีปริมาณสารประกอบแอนโทไซยานินในระดับสูง อีกทั้งองค์ประกอบทางเคมี (anthocyanins) ที่พบยังแสดงลักษณะของการเป็นวัตถุที่มีความเสถียรอีกด้วย

           ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด มีการศึกษาวิจัยสมุนไพรพื้นบ้านอินเดียชนิดต่างๆ 30 ชนิด ที่มีการใช้เพื่อลดน้ำตาลในเลือด ซึ่งศึกษาโดยใช้สารสกัดเอทานอล 95% ทำให้แห้ง นำมาศึกษาฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดในหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดโรคเบาหวานด้วย alloxan เป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยใช้สารสกัดขนาด 250 มก./กก. 1 ครั้ง 2 ครั้ง 3 ครั้งต่อวัน จนกว่าระดับน้ำตาลในเลือดจะลดลงถึงระดับจากมากไปน้อย ดังนี้ ตำลึง Tragia involucrate, Gymnema ประดู่ ลูกซัด (Trigonella foenum-graecum L.) มะรุม หว้า ชิงช้าชาลี Swertia chirayita มะระขี้นก (Bitter Gourd) มะเดื่อชุมพร Ficus benghalensus พังพวยฝรั่ง Premna integrifolia หมามุ่ย (Cowitch) สมอพิเภSesbenia aegyptiaca สะเดา Dendrocalamus hamiltonii ขิง (Ginger) มะตูม Cinnamomum tamala บวบขม (Trichosanthes cucumerina Linn.) กะเพรา ซึ่งจากการศึกษาวิจัยนี้พบว่าหว้า มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของหนูทดลองได้

การศึกษาทางพิษวิทยาของหว้า

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้ผลหว้าสุก รับประทานเป็นผลไม้ควรรับประทานแต่พอดีหากรับประทานเข้าไปมากอาจทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ ส่วนการใช้ส่วนต่างๆ ของหว้าเป็นสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ ควรใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดและปริมาณที่มากจนเกินไปหรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนใช้หว้าเป็นสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง หว้า
  1. ขวัญฤทัย คำฝาเชื้อ. 2551. พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยง ที่ตำบลบ้านจันทร์และแจ่มหลวง อำเภอแม่แจ่ม. จังหวัดเชียงใหม่ วิทยานิพนธ์ วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียใหม่ 271 หน้า.
  2. กิติพงศ์ อัศตรกุล. และนฤมล หิมะสุทธิเดช. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและฤทธิ์การยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียของสารสกัดจากหัวหอมและการประยุกต์ใช้ในน้ำผักและผลไม้. วารสารเทคโนโลยีการอาหาร มหาวิทยาลัยสยาม 71-83.
  3. นิตยา เขียวอ่อน. การศึกษาสารต้านอนุมูลอิสระในลูกหว้า. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต. สาขาวิชาเคมีศึกษา ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยศิลปากร. ปีการศึกษา 2550. 116 หน้า.
  4. เปรียบเทียบสมุนไพรลดน้ำตาลในเลือดในหนูขาวที่เป็นเบาหวานจาก alloxan . ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. สุภานี ฟ้ารุ่งสาง และอนุศรา พิพัฒน์พิทยาสกุล. การพัฒนาเจลจากผลหว้าเพื่อใช้รักษาแผลในปาก. มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเภสัชศาสตร์.
  6. มนตรา ศรีษะแย้ม และคณะ. ฤทธิ์ทางชีวภาพ ปริมาณสารประกอบฟีนอลิก และวิตามินซีจากสารสกัดลูกหว้า. วารสาร PSRU of science and Technology ปีที่ 7. ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2565. หน้า 103-113.
  7. Martinez, S. B., and M. J. Del Valle. "Storag stability and sensory quality of duhat (Syzygium cumini Linn.) anthocyanins as food colorant." UP Home Economic Journal. 9 (1981)
  8. enkateswarlu, G. "On the nature of the colouring matter of the jambul fruit (Eugenia jambolana)." Journal of Indian Chemical Society. 29 (1952): 434-437.
  9. Jagetia, G. C., and M. S. Baliga. "'Syzygium cumini (Jamun) reduces the radiation-induced DNA damage in the cultured human peripheral blood lymphocytes: preliminary study." Toxicology Letters. 132 (2002): 19-25.
  10. Sari, P., Wjaya, C.H., Sqjuthi, D., & Supratman, U. (2012). Color gctivity of jambolan (Syzygium cumin) fruit anthocyanins in a beverage copigmented anthocyanins. Food Chem, 132, 1908-1914.
  11. Bhandary, M. J., K. R, Chandrasekhar, and K. M. Kaveriappa. "Medical ethnobotany Siddis of Uttara Kannada district. Karmataka, India." Joulnal of Ethn (1995): 149-158.
  12. Rastogi, R.M., and B. N. Mehrotra. Compendium of Indian Medicinal Plants. New Delhi: Publication and Information Directorate,1990 388-389.
  13. Neelwarne, B et al. 'Chemical nature, stability and bioefficacies of anthocyanins from fruit peel of syzygium cumini Skeels." Food Chemistry. 105 (2007): 619-627.
  14. Rastogi, R.M., and B. N. Mehrotra. Compendium of Indian Medicinal Plants. New Delhi: Publication and Information Directorate,1990 388-389.
  15. Warrier, P.K. et al. Indian Medicinal Plants: a compendium of500 species 2rd ed. Kottallal: Orient 1995.
  16. De, B., A. Banerjee, and N. Dasgupta. ''In vitro study of antioxidant activity of Syzygium cumini fruit." Food Chemistry. 90 (2005) : 727-733.
  17. Benherlal, P.S., & Arumughan, C. (2007). Chemical composition and in vitro antioxidant studies on Syzygium cumini fruit. J Sci Food Agric, 87, 2560-2569.