เหียง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

เหียง งานวิจัยและสรรพคุณ 12 ข้อ

ชื่อสมุนไพร เหียง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ยางเหียง (จันทบุรี, ราชบุรี), สะแบง (อุตรดิต), ตะแบง (ภาคตะวันออก), เหียงหลวง, เหียงโยน (ประจวบคีรีขันธ์), ตาด (พิษณุโลก, จันทบุรี), ซาด, ชาด (ชัยภูมิ), คราด (นตรพนม), กุง (มลายู), ตะลาอ่ออามือ, สาละอองโว (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Dipterocarpus obtusifolius Teijsm. Ex Mig.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์  Diperocarpus punctulatus Pierre.
ชื่อสามัญ  Hairy keruing
วงศ์ DIPTEROCARPACEAE

ถิ่นกำเนิดของเหียง

เหียงจัดเป็นพืชในวงศ์ยางนา (Dipterocarpaceae) ที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชียบริเวณภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยมีเขตการกระจายพันธุ์ในอินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว เวียดนาม และกัมพูชา เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศแต่จะพบมากในภาคเหนือและภาคอีสานบริเวณ ป่าเต็งรัง ป่าสนเขา ป่าชายหาด ป่าแดง และตามป่าเบญจพรรณ ที่ระดับความสูงระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 100-1,000 เมตร

ประโยชน์และสรรพคุณเหียง

  1. แก้ปวดฟัน ฟันโยกคลอน
  2. เป็นยาตัดลูก (ทำให้ไม่มีบุตร)
  3. ช่วยขับเสมหะ
  4. ช่วยขับปัสสาวะ
  5. รักษาแผลในทางเดินปัสสาวะ
  6. แก้ตกขาว
  7. ช่วยคุมกำเนิด
  8. ช่วยสมานแผล
  9. แก้หนอง
  10. ช่วยรักษาใช้ทาแผลภายนอก
  11. แก้ท้องเสีย
  12. แก้บิด

          ในอดีตมีการนำเหียงมาใช้ประโยชน์ เช่น กลีบของดอกเหียงสามารถนำมารับประทานเป็นผักชนิดหนึ่ง มีรสเปรี้ยวเล็กน้อย จะใช้จิ้มกับน้ำพริกรับประทาน ใบแก่ มีการนำมาใช้ห่อของ ห่ออาหาร ต่อยาสูบ แทนใบกล้วย และยังสามารถนำมาเย็บเป็นตับใช้มุงหลังคากั้นเป็นฝาผนังได้เหมือนใบพลวงยางไม้หรือน้ำมันจากต้นสามารถใช้ยาแนวเรือเครื่องจักรสวน ยาไม้ ทำไต้ ทาไม้ได้ ส่วนเนื้อไม้มีสีน้ำตาลอ่อนปนแดงมีความแข็งสามารถเลื้อยผ่าไสกบตบแต่งๆได้ง่าย นำมาใช้ในงานก่อสร้างที่อยู่อาศัย เครื่องมือ หรือเครื่องใช้สอย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้เหียง

ใช้ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ แก้ตกขาว ใช้คุมกำเนิด โดยใช้ยางของต้นเหียงมาผสมกับน้ำร้อนหรือนำลงต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้บิด แก้ท้องเสีย โดยใช้เปลือกต้นตากแห้งมาต้มน้ำดื่ม ใช้แก้ปวดฟัน ฟันผุ ฟันโยกคลอน โดยใช้ใบมาต้มกับน้ำมาผวมเกลืออม ใช้สมานแผล แก้ฝี แก้หนอง โดยใช้น้ำยางมาทาบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของเหียง

เหียงจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางผลัดใบสูง 8-30 เมตร เรือนยอดเล็ก แตกกิ่งก้านน้อย ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นหนาสีน้ำตาลหรือเทา แตกเป็นสะเก็ดหนาหรือเป็นร่องลึก ตามยาว เนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลแดง กิ่งอ่อนเป็นขนสีขาวปกคลุม

          ใบ เป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับ ใบเป็นรูปไข่ขนาดใหญ่กว้าง 10-18 เซนติเมตร ยาว 15-30 เซนติเมตร โคนใบมนหรือหยักเว้าตื้น ฐานเป็นรูปหัวใจ ปลายใบมน ขอบใบเรียบเป็นหยักคลื่นตามเส้นใบ เนื้อใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ใบอ่อนเป็นขนยาวแหลมผิวใบด้านบนมีสีเขียวเข้ม ท้องใบมีสีอ่อนกว่าแต่ทั้งด้านบนและท้องใบจะมีขนเล็กน้อย ใบมีเส้นข้างประมาณ 10-18 คู่ และมีก้านใบยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร มีขนขึ้นหนาแน่น

          ดอก ออกเป็นช่อโดยจะออกรวมเป็นช่อเดียว บริเวณซอกใบใกล้ใบกิ่งโดยจะออกกลุ่มละ 3-7 ดอก มีแกนก้านรูปซิกแซก มีขนขึ้นหนาแน่น มีก้านช่อดอกยาว 2-5 เซนติเมตร สำหรับดอกย่อยมีเส้นผ่านศูนย์กลางดอก 4-5 เซนติเมตร ขนาดกลีบกว้าง 0.5-1 เซนติเมตร ยาว 4.8-5 เซนติเมตร มี 5 กลีบ เป็นสีชมพูสด กลีบดออกรูปกรวย โคนกลีบชิดกันปลายบิดเวียนเป็นรูปกังหัน

           ผล เป็นผลแห้งแบบผนังชั้นแข็ง มีลักษณะกลมเกลี้ยงและแข็ง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5-3 เซนติเมตร เมื่ออ่อนจะมีสีเขียวนวล และมีขนปกคลุม แต่เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเป็นมัน เรียบเกลั้ยงและมีปีกที่พัฒนามาจากกลีบเลี้ยงของดอก 5 ปีก โดยจะแบ่งเป็นปีกยาวลักษณะเป็นรูปขอบขนาน 2 ปีก ซึ่งมีขนาดกว้าง 2.3 เซนติเมตร และยาว 13 เซนติเมตร ส่วนอีก 3 ปีกเล็ก มีขนาดยาว 1-1.5 เซนติเมตร มีหยักลึกติดอยู่รอบๆ ผลโดยเมื่อปีกยังอ่อนจะมีสีแดงสดแต่เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาล ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด

ดอกเหียง

เหียง

การขยายพันธุ์เหียง

เหียงจัดเป็นไม้ยืนต้นที่มีความสูงชิดหนึ่ง ดังนั้นการขยายพันธุ์จึงทำได้โดยการเพาะเมล็ดโดยมีวิธีการดังนี้ นำเมล็ดแก่ของเหียงมาผ่านการปฏิบัติทำให้เมล็ดงอกได้เร็ว เช่น แช่น้ำร้อน การขลิปตัดหรือแช่กรดแล้ว จากนั้นรดน้ำให้ชุ่มแล้วกรดเมล็ดลงให้จมต่ำกว่าผิวดินประมาณ 3-5 มิลลิเมตร วิธีการวางเมล็ดคือวางนอนราบหรือวางเมล็ดก่อน กดลงให้จมดิน จากนั้นรอให้ต้นกล้าออกและมีใบจริง 1-2 คู่ จึงนำไปปลูกต่อไป สำหรับหารปลูกหลังจากขุดหลุมเตรียมปลูกแล้วให้ใช้มีดกรีดถุงมืออก แล้ววางต้นไม้ลงในหลุมที่ขุดให้ระดับรอยต่อระหว่างลำต้นระหว่างต้นกับรากอยู่เสมอกับระดับขอบหลุม แล้วกลบหลุมด้วยดินที่ผสมที่เตรียมไว้สำหรับปลูกหรือใช้ดินที่ขุดขึ้น จากหลุมที่เป็นดินร่วนปนทราย หรือดินที่มีความร่วนซุย เมื่อกลบหลุมเสร็จแล้วใช้เท้าเหยียบดินให้แน่นพอประมาณ นำเศษใบไม้หญ้าหรือฟางมาคลุมรอบโคนต้นเพื่อรักษาความชุ่มชื้นและป้องกันการกัดเซาะของน้ำในขณะรดน้ำต้นไม้ หาไม้หลักซึ่งมีความสูงมากกว่าต้นไม้พอประมาณมาปักข้างๆ ผูกเชือกยึดกับต้นไม้อย่างหลวมๆ เพื่อช่วยให้การทรงตัวของต้นไม้เมื่อปลูกเสร็จรดน้ำให้ชุ่มและถ้าเป็นไปได้ควรรดน้ำวันละครั้ง จนต้นไม้ตั้งตัวได้

องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดจากส่วน ใบ เปลือกต้น และลำต้น ของเหียงระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น Daphneresinol, +-neo-oilxil, methyl gallate, bergenin, Asiatic acid, blumenol A เป็นต้น และสารสกัดจากลำต้นของ เหียงพบสารกลุ่ม ไตรเทอร์ปีน 5 ชนิด ได้แก่ 3-oxo-20-hydroxy-30α-methyl,17α-epoxy-28-norlupane,3-oxo-20-hydroxy-30β-methyl-17α-28-norlupan-3,20 dioxo-28,29-17α-pl,27-demethyl-20-dammar-23-ene-20-ol-3,25-dione, 3-epi-cecropic acid

Sesquiterpenes ได้แก่ Caryophrllene humulene

           กลุ่ม Triterpene ได้แก่ Butulinic acid Hedraginic acid dryobolanonoloic acid dryobalanolide

           กลุ่ม oilgostibenoid ได้แก่ leavifonol, amppelopsin E, diptoinnodesin A

           กลุ่ม Curmarin ได้แก่ Scopoletin, bergrnin

           นอกจากนี้สารสกัดจากเปลือกต้นของเหียงยังพบสารกลุ่มต่างๆ อีกเช่น กลุ่ม Resveratol ได้แก่ Bergenin, malavsianol A, lavifinol, ampelopsin E  และกลุ่ม Phytosterol ได้แก่ β-sitosterol

โครงสร้างเหียง 

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของเหียง

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากส่วนต่างๆ ของเหียงในต่างประเทศระบุว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้ มีการต้านไวรัสเอดส์ ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย ฤทธิ์ต้านเชื้อรา มีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ และมีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งอีกด้วย

การศึกษาทางพิษวิทยาของเหียง

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สตรีมีครรภ์ ไม่ควรใช้เหียงเป็นยาสมุนไพรเนื่องจากในตำรายาไทยและตำรายาพื้นบ้านได้ระบุถึงสรรพคุณของเหียงว่ามีฤทธิ์เป็นยาคุมกำเนิด ซึ่งหากนำมาใช้ในสตรีมีครรภ์อาจทำให้เกิดอาการแท้งบุตรได้ สำหรับบุคคลกลุ่มอื่นก็ควรระมัดระวังในการใช้เหียงมาใช้เป็นสมุนไพรเช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดและปริมาณที่มากจนเกินไปหรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
 

เอกสารอ้างอิง เหียง
  1. พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. เหียง. หนังสือสมุนไพรในอุทธยานแห่งชาติภาคเหนือ. หน้า 194.
  2. สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช. 2552. ฐานข้อมูลพืชสำนักหอพรรณไม้. กรุงเทพฯ: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.
  3. วิทยา ปองอมรกุล และเบญจพร ภูกาบหิน. 2561. รายงานโครวการพฤกษศาสตร์พื้นบ้านและภาคเหนือตอนบน. มณฑล นอแสงศรี และคณะ. 2557. พรรณไม้ อช. ถ้ำปลา-น้ำตกผาเสือ.
  4. ศิรินทิพย์ ชัยมงคล. การผลิตกล้าไม้ยางนา ยางพลวง และยางเหียง เชิงคุณภาพ. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการป่าไม้ สำนักบริหารและพัฒนาวิชาการป่าไม้ สำนักบริหารและพัฒนาการวิชาการ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 2564. 79 หน้า.
  5. หน่วยวิจัยกสนฟื้นฟูป่า. 2549. ปลูกให้เป็นป่า แนวคิดและแนวปฏิบัติสำหรับการฟื้นฟูป่าเขตร้อน. เชียงใหม่ : ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
  6. เหียง. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=136
  7.     Fernandes ES, Passos GF, Medeiros R, da Cunha FM, Ferreira J, Campos MM, et al. Anti-infammatory effects of compounds essential oil alpha-humulene and (-)-trans-caryophyllene isolated from the Cordia verbenacea. 2007;569(3):228-36.
  8. Akter R, Uddin SJ, Grice ID, Tiralongo E. Cytotoxic activity screening of Bangladeshi medicinal plant extracts. J Nat Med 2014;68(1):246-52.
  9. Chowdhury AR, Mandal S, Mittra B, Sharma S, Mukhopadhyay s, Majumder HK. Betulinic acid, a potent inhibitor of eukaryotic topoisomerase I: identification of the inhibitory step, the major functional group responsible and development of more potent derivatives. Med Sci Monit 2002;8(7):254-65.
  10. Gupta AS, Dev S. Studies in sesquiterpenes-XLVI: Sesquiterpenes from the oleoresin of Dipterocarpus pilosus:1979;10:885-9.
  11. Tani MUS. Patent No. 7,638,146. Washington, DC: US Patent and Trademark Office; 2009.