ตับเต่าต้น ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ตับเต่าต้น งานวิจัยและสรรพคุณ 19 ข้อ


ชื่อสมุนไพร ตับเต่าต้น
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ตับเต่า, เฮื้อนกวาง, มะไฟผี, มะโกป่า (ภาคเหนือ), ตับเต่าใหญ่, เฮื้อนกวง, แฮกวาง, มะมัง, มะเมี้ยง, กากะลา (ภาคอีสาน), เรื้อนกวาง, ชิ้นกวาง, ลิ้นกวาง (ปราจีนบุรี), มะพลับคอ, ตับเต่าหลวง (ราชบุรี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Diospyros ehrelioides Wall. Ex G. Don
วงศ์ EBENACEAE


ถิ่นกำเนิดตับเต่าต้น

ตับเต่าต้นเป็นพืชในวงศ์มะพลับ (EBENACEAE) ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิเช่น พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ในป่าเบญจพรรณ ป่าโปร่ง และป่าเต็งรังทั่วไป ที่มีความสูง 100-450 เมตร จากระดับน้ำทะเลซึ่งจะพบได้เกือบทุกภาคของประเทศยกเว้นทางภาคใต้


ประโยชน์และสรรพคุณตับเต่าต้น

  • ใช้ดับพิษร้อน
  • แก้ไข้
  • แก้ร้อนใน
  • แก้พิษไข้
  • แก้พิษทั้งปวง
  • แก้อาเจียนเป็นเลือด
  • แก้ถ่ายเป็นเลือด
  • แก้วัณโรค
  • รักษาแผลเรื้อรัง
  • ใช้บำรุงปอด
  • ใช้บำรุงเลือด
  • ดับพิษร้อน
  • แก้ร้อนใน
  • บำรุงน้ำนม
  • ใช้แก้ท้องร่วง
  • รักษาโรครำมะนาด
  • แก้ผิดสำแดง
  • รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ
  • รักษาโรคมะเร็งในตับ

           คนไทยในอดีตได้มีการนำตับเต่าต้น มาใช้ประโยชน์ หลากหลายอย่างเช่น ลำต้นที่มีอายุมากและมีขนาดใหญ่ มีการนำเนื้อไม้มาใช้สร้างบ้านเรือน ทำเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ส่วนกิ่งสดนำมาทุบใช้สีฟันแทนแปรงสีฟัน ทำให้เหงือกและฟันทน กิ่งแห้งนำมาใช้ทำฟืนหุงต้ม ผล หรือ ลูกตับเต่าต้นนำมาใช้ทำเป็นสีย้อมผ้า หรือ นำมาตำผสมกับน้ำใช้เป็นยาเบื่อปลา ส่วนเยื่อไม้และเปลือกสามารถนำมาทำเป็นเยื่อกระดาษได้อีกด้วย

ตับเต่าต้น

รูปแบบและขนาดวิธีการใช้ตับเต่าต้น

  • ใช้แก้ผิดสำแดง โดยนำเปลือกต้น ผสมกับลำต้นเฉียงพร้านางแอ และลำต้นหนามแทน นำมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้รักษาโรคทางเดินปัสสาวะ โดยนำเปลือกต้นตับเต่าต้น ผสมกับรากขี้เหล็ก รากสลอด และรากหญ้าเรงชอน นำมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้รักษาโรคมะเร็งในตับ โดยใช้เปลือกต้นและใบตับเต่าต้น ผสมกับลำต้นตับเต่าเครือ ใบหรือรากกล้วยเต่า และผักบุ้งร้วมทั้งต้น นำมาบดให้เป็นผงละเอียด ละลายกับน้ำร้อนดื่ม
  • ใช้บำรุงน้ำนม บำรุงเลือด ให้สตรีหลังคลอดโดยใช้แก่นตับเต่าต้น 2 กำมือ นำมาต้มดื่มวันละ 3-4 ครั้ง ตลอดช่วงที่อยู่ไฟ
  • ใช้แก้อาเจียนเป็นเลือดและถ่ายเป็นเลือด โดยนำรากตับเต่าต้น ใช้ผสมกับรากโคลงเคลงขน และหญ้าชันกาดทั้งต้น นำมาต้มกับน้ำดื่ม


ลักษณะทั่วไปของตับเต่าต้น

ตับเต่าต้น จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ทรงพุ่มเป็นรูปกรวยโปร่ง ต้นสูงประมาณประมาณ 10-15 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลปนเทาหรือสีเทาอมขาว ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีน้ำตาลอมแดง ใบออกเป็นใบเดี่ยวมีสีเขียว แบบออกเรียงสลับ มีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน รูปวงรี หรือ รูปไข่กว้างประมาณ 7-23 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-28 เซนติเมตร โคนใบกลมหยักคล้ายรูปหัวใจ ปลายใบกลมหรือมน เนื้อใบหนาเกลี้ยง ด้านล่างผิวใบมีขนขึ้นปกคลุมเล็กน้อย มีเส้นแขนงใบมีประมาณ 6-12 คู่  และมีก้านใบยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ส่วนใบอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดง ดอกเป็นแบบแยกเพศต่างต้นโดยดอกเพศผู้จะออกเป็นช่อหรือออกเป็นกระจุก บริเวณกิ่งเหนือง่ามใบ ซึ่งในหนึ่งช่อจะมีดอกย่อยประมาณ 3 ดอก โดยจะมีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ 4 กลีบ กลีบดอกสีขาวเป็นรูปไข่ ยาว 0.3-0.5 เซนติเมตร ปลายแฉกลึกลงไป 1 ใน 3 ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นรูประฆัง ยาว 0.2-0.3 เซนติเมตร กลีบแฉกลึกลงไป 1 ใน 3 มีขนด้านนอก โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย มีก้านดอกยาวประมาณ 0.3 เซนติเมตร และมีเกสรเพศผู้มีประมาณ 20-30 อัน สำหรับดอกเพศเมียจะออกเป็นดอกเดี่ยวหรืออาจจะออกเป็นช่อกระจุกสั้นๆ ช่อละ 3-5 ดอก มีลักษณะคล้ายดอกเพศผู้ แต่จะมีขนาดใหญ่กว่า ผลออกเป็นผลสด รูปไข่ หรือ รูปกลมป้อม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ผลมีสีเขียวอมเหลืองเมื่อแก่แห้งเป็นสีดำและไม่แตก โดยผลจะมีกลีบเลี้ยงติดคงทน กลีบเลี้ยงมีขนด้านดอก ปลายกลีบแฉกเกินกึ่งหนึ่งเกือบจรดโคน กลีบพับงอเล็กน้อย มีก้านผลยาวประมาณ 1 เซนติเมตร

 ดอกตับเต่าต้น

ตับเต่าต้น

การขยายพันธุ์ตับเต่าต้น

ตับเต่าต้น สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด ซึ่งโดยส่วนมากแล้วจะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติมากกว่าการนำมาเพาะปลูกเอง สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปลูกตับเต่าต้น สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับวิธีการเพาะเมล็ดและการปลูกไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีสารสกัดจำตับเต่าต้น ระบุว่า มีการศึกษาสารสกัดชั้นไดคลอโรมีเธนและเมทานอลจากผลของตับเต่าต้น พบว่าสามารถแยกสารกลุ่ม napthoquinone ใหม่ 2 ตัว คือ isodispyrin และ isodispyrol A  และสารกลุ่ม deoxypreussomerin คือ palmarumycin JC1 และ palmarumycin JC2 เป็นต้น

โครงสร้างตับเต่าต้น

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของตับเต่าต้น

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารออกฤทธิ์สำคัญบางชนิดที่สกัดได้จากสารสกัดชั้นไดคลอโรมีเทน และเมทานอลจากผลของตับเต่าต้นระบุว่า สาร isodispyrol A มีฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย (Plasmodium falciparum) โดยมีค่า IC50 2.7 mg/mL มีฤทธิ์ต้านเชื้อจลุชีพ (Mycobacterium tuberculosis H37Ra) โดยมีค่า MIC 50 mg/mL และมีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งเต้านม (breast cancer; BC) โดยมีค่า IC50 12.3 mg/mL เป็นต้นส่วนสาร palmarumycin JC2  แสดงฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย โดยมีค่า IC50 4.5 mg/mL ฤทธิ์ต้านเชื้อรา Candida albicans (ATCC 90028) โดยมีค่า IC50 12.5 mg/mL และเชื้อจุลชีพ (M. tuberculosis H37Ra) โดยมีค่า MIC 6.25 mg/mL และมีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งตับ (small cell lung cancer; NCI-H187) โดยมีค่า IC50 11.0 mg/mL อีกด้วย


การศึกษาทางพิษวิทยาของตับเต่าต้น

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้ตับเต่าต้นเป็นสมุนไพร ควรระมัดระวังในการใช้ เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยการใช้ในขนาดและปริมาณที่พอเหมาะที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์และผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนใช้ตับเต่าต้น เป็นยาสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง ตับเต่าต้น
  1. ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ตับเต่าต้น”. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. หน้า 92.
  2. ประไพรัตน์ สีพลไกร,รัตนาภรณ์ ตรัยสถิตย์. สรรพคุณทางยา สารเมแทบอไลต์ทุติยภูมิและฤทธิ์ทางชีวภาพของพืชสมุนไพรไทยบำรุงน้ำนมบางชนิด. วารสารวิทยาศาสตร์บูรพา ปีที่ 25. ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2563.หน้า 1287-1288
  3. บุษบัน ศิริธัญญาลักษณ์ และผู้แต่งคนอื่นๆ. (2551) สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากผลของต้นลิ้นกวาง. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,:ม.ป.ท.
  4. Singh, G. (2010). Plant systematics an integrated approach. (3rd ed.). India: Science Publishers.
  5. Prajoubklang, A., Sirithunyalug, B., Charoenchai, P., Suvannakad, R., Sriubolmas, N., Piyamongkol, S., Kongsaeree, P., & Kittakoop, P. (2005). Bioactive deoxypreussomerins and dimeric naphthoquinones from Diospyros ehretioides fruits: Deoxypreussomerins may not be plant metabolites but may be from fungal epiphytes or endophytes. Chemistry & Biodiversity, 2(10), 1358-1367.