ผักหวานบ้าน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ผักหวานบ้าน งานวิจัยและสรรพคุณ 33 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ผักหวานบ้าน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ผักหวาน (ภาคกลาง), ผักหวานก้านตง, จ๊าผักหวาน, ผักหลน (ภาคเหนือ), ผักหวาน (ภาคอีสาน), มะยมป่า (ประจวบคีรีขันธ์), ผักหสานใต้ใบ, นานาเซียม (ภาคใต้), โถหลุ่ยกานีเต๊าะ, ตาเซเคาะ (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Sauropus androgynous(L.) Merr.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Sauropus albicans Blume.
ชื่อสามัญ Star gooseberry
วงศ์ EUPHOBIACEAE


ถิ่นกำเนิดผักหวานบ้าน

มีรายงานถึงถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของผักหวานบ้านระบุเอาไว้ว่า ถิ่นกำเนิดของผักหวานมีพื้นที่ครอบคลุมตั้งแต่ประเทศอินเดีย ศรีลังกา มาตลอดเอเลียตะวันอกเฉียงใต้ เช่น พม่า ไทย ลาว ไปจนถึงตอนใต้ของประเทศจีนดังนั้นจึงนับได้ว่าผักหวานบ้าน เป็นพืชท้องถิ่นดั้งเดิมชนิดหนึ่งของไทยอีกชนิดหนึ่ง สำหรับในประเทศไทยนั้นสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าละเมาะ ตามสวนไร่นา หรือ บริเวณที่รกร้างว่างเปล่า ที่เป็นที่ราบลุ่ม และมีความชื้นพอสมควร

ประโยชน์และสรรพคุณผักหวานบ้าน

  • ช่วยขับถ่ายได้ดี
  • ช่วยทำให้กระดูก
  • ช่วยทำฟันแข็งแรง
  • ช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้จากมลพิษทางอากาศ
  • ช่วยในการยืดหดของกล้ามเนื้อ
  • ใช้ปรุงเป็นยาเขียว
  • แก้ไข้
  • แก้ตาอักเสบ
  • รักษาแผลในจมูก
  • แก้แผลในปาก
  • แก้ฝักขาวในปากเด็กทารก
  • ใช้พอกรักษาแผลในจมูก
  • แก้โรคผิวหนังติดเชื้อ
  • แก้ตัวร้อน
  • ช่วยถอนพิษไข้
  • แก้ซาง
  • แก้ไอ
  • ช่วยเพิ่มการหลั่งน้ำนมของแม่ที่ไม่มีน้ำนมให้บุตร
  • แก้ปัสสาวะขัด
  • รักษาคางทูม
  • แก้ลม
  • แก้บวม
  • แก้โรคมะเร็งคุด
  • แก้ผิดเดือน
  • รักษาฝี แก้แผลฝี
  • แก้หัด
  • รักษาโรคมะเร็ง ที่มีอาการเจ็บ ร้อน ไหม้
  • ใช้เป็นยาขับโลหิต
  • รักษาโรคเลือดลม
  • แก้พิษซาง
  • แก้ขาง(อาการแสดงโทษของธาตุไฟ)
  • แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • บำรุงสุขภาพสำหรับหญิงหลังคลอด

           ผักหวานบ้านนับ เป็นผักที่คนไทยในอดีตนิยมปลูกไว้รับประทานตามบ้านเรือนโดยส่วนของผักหวานบ้านที่นำมาใช้กินเป็นผักก็ คือ ใบ และยอดอ่อน ใช้เป็นผักจิ้มที่นิยมลวกให้สุก หรือ นำไปแกง เช่น แกงเลียง แกงส้ม แกงกะทิสด แกงจืด นอกจากนั้นยังนำไปผัดน้ำมันหอยเป็นต้น และในปัจจุบันยังมีการนำผักหวานบานไปแปรรูปเป็นน้ำปั่นผักหวาน ชาผักหวาน หรือ เครื่องดื่มต้านอนุมูลอิสระต่างๆ อีกด้วย ผักหวานบ้านจะมีวิตามินเอเป็นพิเศษ คือ ใน 100กรัม มีวิตามินเอ สูงถึง 16,590 หน่วยสากล (I.U.)

ผักหวานบ้าน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ผักหวานบ้าน

ใช้แก้ไข้ โดยใช้ใบมาปรุงเป็นยาเขียว ลดไข้ แก้ไข้ ถอนพิษไข้ แก้ตัวร้อน แก้ไข้กลับ ไข้ซ้ำ แก้ซาง ผิดสำแดง แก้ลมมะเร็งคุดโดยใช้ใบมาต้มน้ำดื่ม ใช้รักษาโรคเลือดลมโดนใช้รากผักหวานบ้าน รากชุมเห็ดเทศ รากมะกอกเผือก แก่นจันทน์แดง รากมะกอกฟานซ้อม รากมะลืม แดง รากหญ้าขัด รากมะลืมดำ กระดูกหมาดำ แก่นจันทนา รากชะอม งาช้าง นำมาฝนกับน้ำข้าวจ้าว รับประทานหากเป็นมากให้นำมาทาด้วย ใช้ทาป้ายแผลในปาก แก้ฝ้าขาวในทารก โดยนำน้ำคั้นสดจากใบผักหวานบ้าน มาต้มใส่น้ำผึ้งและนำมาทาลิ้นและเหงือกของทารกที่เป็นฝ้าขาว ใช้แก้ไข้ แก้หัก ไข้อีสุกอีใส ใช้รากผักหวานบ้าน รากผักดีด รากมะแว้ง แก่นในของฝักข้าวโพดอย่างละเท่ากัน มาฝนกับน้ำดื่ม ใช้แก้ปัสสาวะขัด แก้ขัดเบา ช่วยขับปัสสาวะโดยนำรากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้รักษาหญิงคลอดบุตรและรกไม่เคลื่อน โดยใช้ใบในขนาด 30-40 กรัมต่อวัน นำมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้รักษามะเร็งที่มีอาการเจ็บ ร้อน ไหม้ร่วมด้วย ระบุให้ใช้รากผักหวานบ้าน ต้นคันทรง รากปอบ้าน และหัวถั่วพูมาฝนกับน้ำซาวข้าวให้พอข้น ใช้ทาบริเวณที่เป็น แก้ผิดเดือนโดยใช้รากผักหวานบ้าน รากชะอม ต้นมะแว้งต้น รากต้อยติ่ง และรากนางแย้ม นำมาฝนน้ำผสมกับข้าวจ้าว ดื่มใช้พอกรักษาฝี แก้แผลฝีโดยนำราก และใบนำมาตำให้ละเอียดพอกบริเวณที่เป็น นอกจากนี้ยังมีการใช้รากผักหวาน กับสมุนไพร อื่นในตำรับยามุตขึด (โรคสตรี) อาการบวมพอง ใช้ในคนไม่อยากอาหาร แก้พิษ ฝีไข้ เจ็บออกหู เป็นต้น


ลักษณะทั่วไปของผักหวานบ้าน

ผักหวานบ้าน จัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลางสูงประมาณ 2-3 เมตร ลำต้นกลม หรือ ค่อนข้างเป็นเหลี่ยมตั้งตรงมีความแข็ง แตกกิ่งก้านระนาบกับพื้นตั้งแต่ระดับล่างหรือเกือบปกดิน เปลือกต้นขรุขระสีน้ำตาล กิ่งอ่อนมีสีเขียวเข้มผิวเรียบ

           ใบ ออกเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน มีความกว้าง 2-5 เซนติเมตร มีความยาว 4-8 เซนติเมตร มีก้านใบยาว 2-4 มิลลิเมตร ใบมีสีเขียวเข้มปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ ลักษณะของแผ่นใบเรียบเกลี้ยงทั้งสองด้าน มีเส้นสีขาวตรงกลางใบหลังใบเป็นสีเขียวเข้มส่วนท้องใบเป็นสีเขียวอ่อน และมีเส้นแขนงใบ ข้างละ 5-7 เส้น

           ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบเรียงไปตามก้านใบโดยดอกเป็นดอกเดี่ยวขนาดเล็กแบบแยกเพศต้นเดียวกัน โดยมีใบปกอยู่ด้านบนซึ่งดอกจะมี 2 ชนิด ได้แก่ ทางตอนบนของกิ่งก้านจะเป็นดอกเพศเมีย ส่วนตอนล่างจะเป็นดอกเพศผู้ โดยดอกเพศเมียจะมีประมาณ 1-3 ดอกเท่านั้น ส่วนดอกเพศผู้จะมีจำนวนมาก ส่วนดอกเพศผู้จะมีกลีบเลี้ยง 6 กลีบ กลีบดอก 6 กลีบ ลักษณะเป็นจานแบนกลมลักษณะเป็นสีน้ำตาลแดง มีขนาดประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร และมีเกสรเพศผู้ 3 ก้านเชื่อมติดกันส่วนใบแยกเป็นแฉก 3 แฉก ส่วนดอกเพศเมียจะมีดอกเป็นสีเขียวอมเหลือง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบและมีกลีบเลี้ยง 6 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ ซ้อน เรียงเหลื่อมกันเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ และจะมีกลีบเลี้ยงเป็นสีแดงเข้ม หรือ สีเหลืองจุดประสีแดงเข้ม

           ผล เป็นผลเดี่ยวห้อยลงด้านล่างก้านใบ มีลักษณะกลมแป้นคล้ายผลมะยม ขนาดผลกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียวผลสุกหรือแก่จัดมีสีขาวสีชมพูหรือสีขาวอมเหลือง เปลือกผลเรียบและแบ่งเป็นพูเล็กๆ พอมองเห็น จำนวน 3 ร่องพูใหญ่ และจะแตกออกเมื่อแก่จัด ขั้วผลจะมีกลีบเลี้ยงสีแดงติดอยู่ และท้ายผลด้านล่างจะมีติ่งสีแดงขนาดเล็ก จำนวน 3 ติ่ง

           เมล็ด เป็นรูปครึ่งวงกลม มีขนาดกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร เปลือกเมล็ดหนาและแข็งเป็นสีน้ำตาลเข้ม

ผักหวานบ้าน

ดอกผักหวานบ้าน

การขยายพันธุ์ผักหวานบ้าน

การขยายพันธุ์ผักหวานบ้าน (Phak wan banสามารถทำได้ 2 วิธี คือ การเพาะเมล็ด และการปักชำกิ่ง แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การเพาะเมล็ดโดยมีวิธีการดังนี้ ก่อนอื่นต้องเก็บผักหวานบ้านที่แก่จัด (เมล็ดสีดำ) มาแกะเปลือก แยกเมล็ดออกแล้วนำเมล็ดมาผึ่งไว้ในที่ร่ม 3-5 วัน จนเมล็ดแห้ง แล้วจึงนำเมล็ดมาห่อรวมกันด้วยผ้า และเก็บไว้ในที่ร่มเพื่อให้เมล็ดพักตัว 1-2 เดือน จากนั้นทำแปลงเพาะโดยสร้างอิฐเป็นสี่เหลี่ยมกว้างประมาณ 1 เมตร สูงประมาณ 15-20 เซนติเมตร ส่วนความยาวให้คำนวณตามความเหมาะสม แล้วจึงนำวัสดุเพาะที่ใช้ผสมดินผสมกับแกลบดำ หรือ วัสดุอินทรีย์อื่นเทใส่ลงแปลงเพาะ นำเมล็ดหยอดเป็นแถวๆ ระยะห่างระหว่างหลุมและแถวประมาณ 3-5 เซนติเมตร รดน้ำชุ่มจากนั้นดูแลจนเมล็ดงอก ก่อนย้ายใส่ลงถุงเพาะชำดูแลต่อ สำหรับการเพาะในถุงเพาะชำ ให้หยอดเมล็ดถุงละ 1 เมล็ด ก่อนรดน้ำให้ชุ่ม และดูแลจนต้นกล้าสูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร จึงนำปลูกลงแปลงต่อ สำหรับการเตรียมหลุมปลูกให้ขุดหลุม กว้างประมาณ 30 เซนติเมตร ลึก 30 เซนติเมตร เว้นระยะห่างระหว่างหลุม 1-1.5 เมตร และแถว 1.5-2 เมตร แล้วตากหลุมทิ้งไว้ 3-5 วัน จากนั้นรองพื้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก ประมาณ 5-10 กำมือ/หลุม หรือ รองเพิ่มด้วยปุ๋ยสูตร 15-15-15 ประมาณ ครึ่งกำมือ 1กำมือ/หลุม พร้อมคลุกผสมหน้าดินให้เข้ากัน ส่วนการปลูกผักหวานบ้าน ควรปลูกในช่วงฤดูฝนถึงกลางฤดูฝน โดยใช้ต้นพันธุ์จากที่เพาะเอาไว้ที่แตกใบแล้ว 5-7 ใบ หรือมีความสูงของต้นกล้าประมาณ 20-30 เซนติเมตร นำปลูกลงหลุมที่เตรียมไว้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของผักหวานบ้าน ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ต่างๆ อาทิเช่น Decanoic acid, Neophytadiene, Solanesol, Squalene, Phytol, Quercetin, Haempferol, Linoleic acid, Palmitic acid, Papaverin, Oleic acid, Stearic acid, Tetradecanediol, 1-octadecyne, 1-hexadecyne, Adenosine, Uridine และสาร 3-o-beta-D-glucosyl-1-6-beta-D-glucosyl-kaempferol เป็นต้น นอกจากนี้ผักหวานบ้านยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

คุณค่าทางโภชนาการผักหวานบ้าน ใบ และยอดอ่อน (100 กรัม)

พลังงาน 39 กิโลแคลอรี่
ใยอาหาร 3.0 กรัม
โปรตีน 0.4 กรัม
ไขมัน 5.9 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 3.5 กรัม
แคลเซียม 11 มิลลิกรัม
วิตามิน A,RAE 0.04 ไมโครกรัม
วิตามิน B1 0.02 มิลลิกรัม
วิตามิน B3 0.8 มิลลิกรัม
วิตามิน ซี 6 มิลลิกรัม
เบต้าแคโรทีน 4823 มิลลิกรัม
วิตามิน อี 804 มิลลิกรัม

โครงสร้างผักหวานบ้าน

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของผักหวาน

มีรายงานผลการศึกษาทางเภสัชวิทยาของผักหวานบ้าน ระบุว่ามีฤทธิ์ต่างๆ ดังนี้

           ฤทธิ์ช่วยลดน้ำหนัก มีการศึกษาวิจัยโดยป้อนสาร 3-O - β -D-Glucosyl-(1→6)-β -D-glucosyl-kaempferol (GKK) ที่สกัดได้จากกิ่งอ่อน และใบของต้นผักหวานบ้าน ให้หนูปริมาณ 60 มก./กก. เป็นเวลา 28 วัน พบว่าหนูที่ได้รับสารดังกล่าวมีการกินอาหารน้อยลงถึง 15% เมื่อเปรียบเทียบกับหนูปกติ ทำให้หนูมีน้ำหนักน้อยลง ผลการลดน้ำหนักยังสามารถเห็นได้ในหนูที่ได้รับ GKK เพียง 6 มก./กก. นอกจากนี้ในหนูที่กินอาหารที่มีไขมันสูง เมื่อได้รับ GKK ทั้งสองความเข้มข้นจะทำให้ปริมาณเอนไซม์ Glutamate pyruvate transaminase ในเลือดลดลง และมีปริมาณไตรกลีเซอร์ไรด์รวมในเลือดน้อยกว่ากลุ่มควบคุมถึง 35-47 เปอร์เซ็นต์ และการตรวจผลข้างเคียงของ 3-O - β -D-Glucosyl-kaempferol ในปอดและตับของหนูทดลอง ก็ไม่พบความผิดปกติใดๆ และมีการศึกษาอีกฉบับหนึ่งพบว่า สารสกัดและลำต้นด้วยแอลกอฮอลล์มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ HIV-1 reverse transcriptase เล็กน้อย แต่ไม่มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งในหนูทดลอง และยังมีการศึกษาโดยการป้อนผักหวานบ้านให้แก่กระต่ายพบว่า สามารถเพิ่มการหลั่งน้ำนมได้ ส่วนในต่างประเทศมีรายงานการศึกษาวิจัยพบว่าผักหวานบ้านมีฤทธิ์ ต้านการอักเสบ ต้านเบาหวาน ต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง เพิ่มการผลิตน้ำนม และฤทธิ์ต้านจุลชีพ เป็นต้น


การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของผักหวานบ้าน

สำหรับข้อมูลการศึกษาวิจัยด้านพิษวิทยาขอผักหวานบ้านมีน้อยมากแต่จากการศึกษาค้นคว้าพบว่ามีรายงานถึงการแพ้ผักหวานอยู่ฉบับหนึ่งซึ่ง  เป็นรายงานฉบับแรกที่กล่าวถึงการเกิดภาวะอนาไฟแลคติกจากการรับประทานผักหวานบ้านในผู้ที่แพ้ยางพารา เป็นผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 47 ปี อาชีพพยาบาลที่มีประวัติแพ้ถุงมือยางมา 6 ปี โดยมีอาการเป็นผื่นลมพิษทุกครั้งที่ใช้ถุงมือยางมาเป็นเวลา 5 ปี และมีอาการคันตา น้ำตาไหล ตาแดง แต่จะไม่เจ็บตา มาเป็นเวลา 3 ปี และมีประวัติเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในตอนเป็นเด็ก และหายไปเมื่อโตขึ้น หลังจากผู้ป่วยรับประทานผักหวานบ้าน ไป 30 นาที เกิดอาการปากบวม ตาบวม คันตามตัว และมีผื่นลมพิษทั้งตัว แน่นหน้าอก และมีภาวะอนาไฟแลคติกช็อก หลังจากนั้นผู้ป่วยได้ลองรับประทานน้ำแกงต้มผักหวานบ้านอีกครั้งหลังรับประทานไป 20-30 นาที ก็มีอาการปากบวม ตาบวม และมีผื่นลมพิษขึ้นที่ตัว แต่ไม่มีภาวะอนาไฟแลคติกช็อก และจากการตรวจพิเศษทางห้องปฏิบัติการ พบว่าระดับอิมมูโนโกลบูลินอีต่อ ยางพาราในซีรั่มสูง (CAP class 3) ดังนั้นผู้ที่มีอาการแพ้ยางพาราควรระมัดระวังในการรับประทานผักหวานบ้าน


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการรับประทานผักหวานบ้านไม่ควรนำผักหวานบ้านมารับประทานสดๆ ในปริมาณที่มาก เนื่องจากมีสาร Papaverine ที่เป็นพิษต่อปอด ซึ่งจะทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ แก้ท้องผูกได้ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ามีเคสผู้ป่วยรายหนึ่งที่เป็นโรคเนื้อเยื่อปอดถูกทำลายชนิด Bronchiolitis obliterans SABO syndrome เนื่องจากรับประทานผักหวานเป็นจำนวนมากเพื่อต้องการลดน้ำหนัก ดังนั้นในการรับประทานผักหวานบ้าน ควรรับประทานแบบปรุงสุก และควรรับประทานแต่พอดี นอกจากนี้ผู้ที่แพ้พืชวงศ์พารา (Euphobiaceae) ควรระมัดระวังในการรับประทานหรือการใช้ผักหวานบ้านเป็นสมุนไพรเพราะเป็นพืชในวงศ์เดียวกัน

เอกสารอ้างอิง ผักหวานบ้าน
  1. “ผักหวานบ้าน”. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 191
  2. เดชา ศิริภัทร. ผักหวานบ้าน. คอลัมน์-พืช ผัก ผลไม้. นิตยาสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 242. มิถุนายน 2542.
  3. ผักหวานบ้าน. คู่มือการกำหนดพื้นที่ส่งเสริมการปลูกสมุนไพรเพื่อใช้ในทางเภสัชกรรมไทย เล่ม 1. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. กันยายน 2558. หน้า 99-101.
  4. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี,ธวัชชัย มังคละคุปต์. ผักหวานบ้าน (Phak wan ban). หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 182.
  5. สาร 3-o-beta-D-glucosyl-kaempferol จากผักหวานบ้านมีฤทธิ์ช่วยลดน้ำหนักในหนูทดลอง. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. การแพ้ผักหวานบ้าน แบบอนาไฟแลคติก (anaphylactic) ในผู้ป่วยที่แพ้ยางพารา. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. ผักหวานบ้าน. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=77.
  8. ผักหวานบ้าน(star gooseberry) สรรพคุณและการปลูกผักหวานบ้าน. พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.puchkaset.com
  9. Carta G, Murru E, Banni S, Manca C. Palmitic Acid: Physiological role, metabolism and nutritional implications. Front Physiol. 2017;8:902.
  10. Petrus A. Sauropus androgynus (L.) Merrill-A potentially nutritive functional leafy vegetable. Asian J Chem. 2013;25:9425–33.
  11. Carrillo Pérez C, Cavia Camarero MM, de la Torre SA. Antitumor effect of oleic acid; mechanisms of action. A review. Efecto antitumoral del ácido oleico; mecanismos de acción: revisión científica 2012;27:1860–1865.
  12. Awaludin A, Kartina K, Maulianawati D, Manalu W, Andriyanto A, Septiana R, et al. Short Communication: Phytochemical screening and toxicity of ethanol extract of Sauropus androgynus. Biodiversitas J Biol Divers. 2020.
  13. Kris-Etherton PM, Hecker KD, Bonanome A, Coval SM, Binkoski AE, Hilpert KF, et al. Bioactive compounds in foods: their role in the prevention of cardiovascular disease and cancer. Am J Med. 2002;113(Suppl 9B):71S-88S.
  14. Pan P, Lin S, Ou Y, Chen W, Chuang Y, Yen Y, et al. Stearic acid attenuates cholestasis-induced liver injury. Biochem Biophys Res Commun. 2010;391:1537–42.
  15. Arif T, Shetty GR. Therapeutic potential and traditional uses of Sauropus androgynous: a review. J Pharmacogn Phytochem. 2020;9:2131–7.
  16. Kuttinath S, Kh H, Rammohan R. Phytochemical screening, antioxidant, antimicrobial, and antibiofilm activity of Sauropus androgynus leaf extracts. Asian J Pharm Clin Res. 2019.
  17. Selvi A, Bhaskar S. Anti-inflammatory and analgesic activities of the Sauropus androgynus (L) Merr. (Euphorbiaceae) Plant in experimental animal models. Pharm Lett. 2012;4:782–5.
  18. McGaw LJ, Jäger AK, van Staden J. Antibacterial effects of fatty acids and related compounds from plants. South Afr J Bot. 2002;68:417–23.