จำปี ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

จำปี งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ

ชื่อสมุนไพร จำปี
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น จุมปี, จุ๋มปี๋ (ภาคเหนือ), ป๋ายหลานฮัว, แปะหลั่งฮัว (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Michelia alba DC.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Michelia longifolia var. recemosa Blume., Magnoliaxalba DC. Figlar.
ชื่อสามัญ White charmpaka, White jade orcild tree, White sandalwood
วงศ์ MAGNOLIACEAE

ถิ่นกำเนิดจำปี

มีการเชื่อกันว่าจำปีมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในเขตร้อนของทวีปเอเชียตะวันออก และตะวันออกเฉียงใต้ แต่บางตำรามีการระบุว่าอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย และทางภาคใต้ของไทยรวมไปถึงบริเวณจีนตอนใต้อีกด้วย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบจำปีได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทยตามบริเวณ บ้าน เรือน วัด สวนสาธารณะ และตามสถานที่ต่างๆ ทั่วไป นอกจากนี้คนไทยก็คงคุ้นเคยกับจำปีมานานแล้ว ดังเช่นได้ปรากฏชื่อจำปี ในวรรณคดี หลายเรื่องเช่น อิเหนา พระราชนิพนธ์ฉบับที่ 2 ลิลิตตะเลงพ่าย พระนิพนธ์ของพระมหาสมเด็จสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส และแห่พระอภัยมณีของสุนทรภู่ เป็นต้น อีกทั้งยังมีบันทึกในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอปรัดเล พ.ศ.2516 กล่าวถึงจำปีไว้ว่า จำปี: เป็นชื่อต้นไม้อย่างหนึ่ง ไปสู่โตนัก ดอกเหมือนจำปา สีขาว กลิ่นหอม ดีนัก. อีกด้วย

ประโยชน์และสรรพคุณจำปี

  1. แก้ไข้
  2. แก้ลม
  3. ช่วยบำรุงหัวใจ
  4. ช่วยบำรุงธาตุ
  5. ช่วยบำรุงโลหิต
  6. ช่วยบำรุงน้ำดี
  7. ช่วยขับเสมหะ
  8. บำรุงประสาท
  9. แก้ไอ
  10. แก้เบื่อเมา
  11. แก้อาเจียน
  12. แก้วิงเวียนศีรษะ
  13. ช่วยทำให้ผ่อนคลาย
  14. แก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง
  15. ช่วยขับระดูขาว
  16. ใช้บำรุงประจำเดือน
  17. รักษาต่อมลูกหมากอักเสบ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้บำรุงหัวใจ บำรุงธาตุ บำรุงประสาท บำรุงโลหิต บำรุงน้ำดี แก้ไข้ แก้ลม โดยนำดอกแห้งไปเข้ากับเครื่องยาชนิดอื่น เพื่อปรุงเป็นยาหอมใช้แก้เบื่อเมา ขับเสมหะ แก้ไอ แก้อาเจียน ลดไข้ โดยนำดอกจำปี ที่แห้งมาต้มน้ำดื่ม ใช้แก้ไอ ขับหลอดลมอักเสบ ต่อมลูกหมากอักเสบ ขับระดูขาว โดยใช้ใบแห้ง 10-15 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้วิงเวียนทำให้ผ่อนคลายโดยใช้ดอกสดมาสูดดมหรือใช้น้ำมันหอมระเหยจากดอกมาเจือจางก็ได้

ลักษณะทั่วไปของจำปี

จำปี จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 10-15 เมตร และบางที่อาจจะสูงได้ถึง 20 เมตร เรือนยอดรูปทรงกรวยทึบลำต้นตั้งตรงแตกกิ่งก้านมาก เปลือกลำต้นเมื่อยังเล็กมีสีเทา แต่เมื่อโตเต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีเทาอมน้ำตาล ผิวลำต้นแตกเป็นร่องตามแนวยาว กิ่งเปราะ หักง่าย

           ใบ เป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับ ใบมีรูปหอก โคนใบสอบ ปลายใบแหลม แผ่นใบและขอบใบเรียบ มีก้านใบยาว 1.5-2 ซม. ส่วนขนาดใบกว้างประมาณ 5-10 ซม. ยาวประมาณ 10-25 ซม. แผ่นใบมีสีเขียว มีเส้นกลางใบสีขาวนวล แผ่นใบค่อนข้างหนา และเหนียว

           ดอก เป็นดอกเดี่ยว ออกบริเวณปลายยอด (มุมของก้านใบ) มีลักษณะกลีบซ้อนกันอยู่ 8-12 กลีบ และยาวประมาณ 3-5 ซม. โดยแต่ละกลีบมีลักษณะรียาว มีสีขาวคล้ายกับงาช้าง และมีกลิ่นหอมจะเรียวกว่าดอกจำปา ส่วนตรงกลางดอกจะมีเกสรเป็นแท่งกลมเล็กๆ ซึ่งมีเกสรเพศผู้ยาวคล้าเม็ดข้าวสารมีจำนวนมากล้อมเป็นวงแน่น ส่วนเกสรตัวเมียเป็นแท่งกลมเล็ก ยอดแหลมคล้ายฝักข้าวโพดเล็กๆ

           ผล ออกเป็นผลกลุ่มโดยออกเป็นกระจุกแน่น 15-25 ผล/1ก้านผล ซึ่งผลมีลักษณะทรงกลม หรือ รูปไข่เปลือกผลเมื่อยังอ่อนมีสีเขียวอ่อน เปลือกผลค่อนข้างหนา มีปุ่มสีน้ำตาลกระจายทั่วเปลือกผล แต่เมื่อผลแก่จะมีสีเขียวอมน้ำตาล และเมื่อผลสุกจะมีสีแดง มีเมล็ดสีดำ 1-4 เมล็ด

จำปี
จำปี

การขยายพันธุ์จำปี

จำปี สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธีอาทิเช่น การใช้เมล็ด การทาบกิ่ง และการตอนกิ่ง แต่ส่วนมากจะนิยมใช้วิธีการตอนกิ่ง เพราะจะได้ต้นไม้ที่ไม่สูง และสามารถติดดอกได้เร็วกว่าการปลูกด้วยเมล็ด โดยมีวิธีการดังนี้  เริ่มจากกิ่งจำปีที่ใช้ตอนโดยควรเป็นกิ่งที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ขนาดเท่านิ้วก้อยหรือนิ้วหัวแม่มือจากนั้นใช้มีดกรีดควั่นกิ่งเป็นวงกลม 2 จุด ให้ห่างกันประมาณ 3 ซม. แล้วตัดเปลือกหุ้มออก จากนั้นใช้มีดขูดเยื่อหุ้มออกจนถึงแก่นไม้ แล้วนำถุงสำหรับตอนกิ่งที่บรรจุด้วยขุยมะพร้าว เปียกมาผ่าถุงออกเป็นร่องตามขวางแล้วจึงนำมาหุ้มรัดบริเวณควั่นกิ่ง แล้วมัดด้วยเชือกฟางให้แน่น หลังจากนั้นประมาณ 1-2 เดือน กิ่งจะแตกรากจนมีสีน้ำตาลจึงตัดกิ่งลงเพาะต่อในถุงเพาะชำจากนั้นอีกประมาณ 1 เดือน จึงนำลงปลูกในแปลงต่อไป

องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีในน้ำมันหอมระเหยจากส่วนต่างๆ ของจำปี ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น น้ำมันหอมระเหยจากดอกพบสาร Linalool, eugenol, Belemene, a-humulene, Nerolidol, Germacrene D, a-selinene, B-selinene, Cis-methyl isoeugrnol, T-muurolol, a-cadinol

           และน้ำมันหอมระเหยจากใบสดพบสาร Linalool, Caryophyllene oxide, Trans-b-ocimene, Trans-caryophyllene, B-elemene, a-humulene, Nerolidol, Germacrene D, a-selinene, B-selinene, Cis-ocimene, B-chemopodiol

 โครงสร้างจำปี

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของจำปี

มีผลการศึกษาวิจัยทาเภสัชวิทยาของจำปี ระบุว่ามีฤทธิ์ ต้านการเกิดออกซิเดชั่น และต้านเชื้อโปรโตซัว ชนิด Trypanosoma cruzi และยังมีการศึกษาสารสกัดจากใบของจำปีพบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และสามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ matrix matalloproteinases ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ย่อยสลายคอลลาเจนที่ทำให้เกิดความแก่ของผิวหนังจากแสง UVB ส่วนสารสกัดจากดอกจำปี พบว่ามีผลยับยั้งต่อเซลล์เพาะเลียงของกลุ่มเซลล์ที่พัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งเต้านม (breast cancel) อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยทดสอบการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งท่อน้ำดีโดยใช้สารสกัดหยาบจากจำปี และจำปาพบว่าสารสกัดหยาบจากต้นจำปี มีความสามารถในการยับยั้งการเจริญเติบโตขงเซลล์มะเร็งท่อน้ำดีชนิด RMCCA-1 ได้โดยเฉพาะสารสกัดจากตัวทำละลายเอทิลอะซิเตท มีความสามารถในการยับยั้งเซลล์มะเร็งท่อน้ำดีชนิด RMCCA-1 ได้ดีที่สุดเมื่อเทียบกับสารสกัดตัวอื่นๆ โดยพบว่ามี IC50 เท่ากับ13.55+-0.91 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร

การศึกษาทางพิษวิทยาของจำปี 

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้จำปี เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ โดยไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไปหรือใช้ต่อเนื่องกันมากจนเกินไปเพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับเดก สตรีมีครรภ์ รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังก่อนจะใช้จำปีเป็นสมุนไพร ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมอ

เอกสารอ้างอิง จำปี
  1. คณิตา เลขะกุล. ไม้ดอกไม้ประดับ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ พระบรมราชินีนาถ. พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพฯ บริษัท ด่านสุทธาการพิมพ์ จำกัด ;2536.
  2. ปิยะ เฉลิมกลิ่น และคณะ. 2546. หอมกลิ่นดอกไม้เมืองไทย. จัดพิมพ์โดยโครงการ BRT บริษัท จิรวัฒน์ เอ็กเพรส จำกัด กรุงเทพฯ. 336 หน้า.
  3. เดชา ศิริภัทร.จำปี ไม้ดอกในดวงใจคนไทยหลายๆ คน. คอลัมม์พืช ผัก ผลไม้. นิตยาสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 250. กุมภาพันธ์ 2543.
  4. ศรมน สุทิน และคณะ. คุณสมบัติ การต้านอนุมูลอิสระและการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งท่อน้ำดีของสารสกัดหยาบจากใบต้นจำปีและจำปา. วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ปีที่ 5. ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2562. หน้า 30-40.
  5. ปิยะ เฉลิมกลิ่น. 2545. แมกโนเลียเมืองไทย. กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์บ้านและสวน.
  6. ผศ.สุนทรี วิทยานารกไพศาล. จำปี. คอลัมม์อื่นๆ. นิตยาสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 46. กุมภาพันธ์ 2526.
  7. จำปีสรรพคุณและการปลูกจำปี. พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  8. Noysang C, Maringer A, Zeino M, Luanratana O, Fricker G, et al. Cytoxicity and inhibition of P-glycoprotein by selected medicinal plants from Thailand. J Ethnopharmacol. 2014;155;633-41.
  9. Tem samitinand. Thai plant Names. Revised Edition 2001. 810 p.
  10. Chiang HM, Chen HC, Lin TJ, Shih IC, Wen KC. Michellia alba extract attenuates UVB-induced expression of matrix metalloproteinase via MAP kinase pathway in human dermal fibroblasts. Food Chem Toxicol 2012;50:4260-69.