เครือประสงค์ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

เครือประสงค์ งานวิจัยและสรรพคุณ 16 ข้อ

ชื่อสมุนไพร เครือประสงค์
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เถาประสงค์, เครือไทสง, เถาไพสง (ภาคกลาง), เครือเขาขน, หยั่งสมุทรน้อย (ภาคเหนือ), จุกโรหินี, นวยนั้ง (ชุมพร), ตำยานฮากหอม (นครสวรรค์).
ชื่อวิทยาศาสตร์ Streptpcaulon Juventas (Lour.) Merr.
วงศ์ ASCLEPIADACEAE

ถิ่นกำเนิดเครือประสงค์

เครือประสงค์ เป็นพันธุ์พืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย บริเวณภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาทิ เช่น ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย เวียดนาม ลาว กัมพูชา พม่า รวมไปถึงทางจีนตอนใต้และอินเดียอีกด้วย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศบริเวณป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรังทั่วไป

ประโยชน์และสรรพคุณเครือประสงค์

  1. แก้ท้องเสีย
  2. แก้อ่อนเพลีย
  3. ใช่เป็นยาขับน้ำคาวปลาในสตรี
  4. ช่วยโลหิตเสียในสตรี
  5. แก้ไข้
  6. แก้ลมปลายไข้
  7. แก้ไอ
  8. แก้หอบหืดอย่างแรง
  9. ช่วยบำรุงกำลัง
  10. ช่วยบำรุงเลือด
  11. แก้อ่อนเพลีย
  12. แก้ปวดท้อง
  13. แก้โรคปอด
  14. แก้ฝีในปอด
  15. แก้ท้องเสีย
  16. ช่วยแก้โรคกระเพาะ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้บำรุงร่างกายโดยใช้รากเถาประสงค์ และรากตำยานอย่างละ 1 กำมือเท่ากัน นำมาต้มกับน้ำท่วมยา (ห้ามเคี่ยว) ใช้ดื่มตลอดวันใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้เพื่อโลหิต แก้ลมปลายไข้ แก้ท้องเสีย โดยใช้ทั้งต้นต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง โรคกระเพาะ โรคปอด ฝีในปอดโดยใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้หอบหืดโดยใช้รากหรือเถาประสงค์ผสมกับต้นโมกหลวง เถาย่านาง และรากส้มลม นำมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้บำรุงเป็นยาขับน้ำคาวปลา และโลหิตเสียของสตรีโดยใช้ทั้งต้นเข้ากับเครือยาอื่น

ลักษณะทั่วไปเครือประสงค์

เครือประสงค์ จัดเป็นไม้เถาเลื้อยพันเกาะต้นไม้อื่น ลำต้นขนาดเล็กสูง 1-7 เมตร แตกกิ่งก้านมาก เถามีขนละเอียดสีน้ำตาลแดง ปกคลุมทั่วไปแต่ตามกิ่งก้าน และปลายก้านจะมีขนนุ่มสีน้ำตาลแดงหนาแน่น มากกว่าตามเถาและมีน้ำยางสีขาวข้นมาก

           ใบ ออกเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม ใบเป็นรูปแกมไข่ขอบขนาน กว้าง 3-7 ซม. และยาว 7-15 ซม. โคนใบมน หรือ เป็นรูปหัวใจ ปลายใบแหลม และเป็นติ่งแหลม ขอบใบเรียบ หรือ เป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบมีขนละเอียดขึ้นหนาแน่นทั้งสองด้าน โดยด้านบนจะมีขนค่อนข้างสากกระจายทั่วไป ส่วนด้านล่างจะมีขนสีเหลืองนวลหนาแน่น เส้นใบมี 14-25 คู่ และมีก้านใบยาวประมาณ 0.7-1.2 ซม.

           ดอก ออกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง ยาวประมาณ 2-4 ซม. และมีก้านช่อดอกยาว 0.6-7 ซม. ส่วนดอกย่อยมีประมาณ 18-55 ดอก เป็นดอกขนาดเล็กสีม่วง ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร มีขนค่อนข้างสากขึ้นหนาแน่นใบประดับลักษณะเป็นรูปไข่ หรือ รูปคล้ายสามเหลี่ยม ปลายแหลม โคนตัด ขอบเรียบยาวประมาณ 1-2 มิลลิเมตร อย่างละ 2 อัน รองรับดอก และช่อดอก ส่วนกลีบดอกเป็นสีม่วงมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ขอบกลีบสีเขียวแกมเหลือง ด้านนอกเป็นสีเขียว ส่วนด้านในเป็นสีแดง และมีรยางค์เป็นรูปมงกุฎ 5 อัน หลอดกลีบเป็นรูปจานยาวแบน ยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็นแฉกแหลม หรือ ค่อนข้างกลม รูปสามเหลี่ยม ขอบเรียบ เกลี้ยง ขนาดกว้างประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร

           ผล ออกเป็นฝักคู่ ทรงกระบอก รูปขอบขนาน กว้าง 5-10 มิลลิเมตร ยาว 7-13 เซนติเมตร สีเขียวลายแดงมีขนเหลืองนวลขึ้นปกคลุมก้านผลยาว 4-8 มม. และผลจะแตกเมื่อแห้ง โดยในแต่ละผลจะมีเมลด 30-90 เมล็ด

           เมล็ด เป็นลักษณะรูปรี หรือ รูปไข่กลับ กว้าง 0.3-0.4 ซม. ยาว 1.0-1.2 ซม. โคนมน ปลายตัด มีขนปุยแบบเส้นไหมสีขาวยาว 2.5-5.5 ซม.

เครือประสงค์

เครือประสงค์

การขยายพันธุ์เครือประสงค์

เครือประสงค์ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด ทั้งนี้การขยายพันธุ์ของเครือประสงค์ส่วนมากจะเป็นการกระจายพันธุ์โดยธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการนำเครือประสงค์มาปลูกกันอย่างแพร่หลายแต่อย่างใด สำหรับวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปลูกเครือประสงค์ นั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการวิธีการเพาะเมล็ดและการปลูกพืชอื่นๆ ทั่วไป

องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยในต่างประเทศเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนรากของเครือประสงค์ ระบุว่าพบสารประเภทคาร์ดิโนไลด์ (cardeolindes) เฮมิเทอร์พีนอยด์ (Hemiterpenoids) ฟีนิลโพรพานอยด์ (Phenylpropanoids) และฟีนิลเอทานอยด์ (Phrnylethanoids) อาทิเช่น acovenosigenin A, Perilogenin 3-o-Beta-digitoxoside, peroplocymarin, periplogenin, digitoxigenin, digiyoxigenin sophoroside, echujin, periplogenin glucoside, corchorusoside C, sub-alpinoside, caffeic acid, 4,5-di-O-caffeoylquinic acid, 2-phenylethl rutinoside, 16-o-acetyl-hydroxyperiplogenin 2-o-Beta-d-digitoxopyranoside, 16-o-acetyl-hydroxyacovenosigenin, 1Beta,3Beta,14Beta-trihtdroxy-5beta-card-16,20,22-dienolide

 โครงสร้างเครือประสงค์

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของเครือประสงค์

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยของเครือประสงค์ ของต่างประเทศได้ระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากรากเครือประสงค์ เอาไว้ว่า มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) โดยมีฤทธิ์ทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเชิงคุณภาพวิเคราะห์ใช้วิธี TLC และการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเชิงปริมาณวิเคราะห์ใช้วิธี DPPH radical scavenging assay แล้วหาค่าความเข้มข้นที่สามารถยับยั้งอนุมูลอิสระได้ 50% เทียบกับสารต้านอนุมูลอิสระมาตรฐานวิตามินซี พบว่าสารสกัดหยาบเอทานอลของเถาประสงค์ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 4.35 ug/ml ในขณะที่วิตามินซี มีค่า IC50 เท่ากับ 2.61 ug/ml นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ตับ มะเร็งปอด มะเร็งไข่ โดยเฉพาะสารกลุ่มคาร์ดิโนไลด์ ยังมีฤทธิ์ต้านอักเสบและมีฤทธิ์สมานแผลอีกด้วย

การศึกษาทางพิษวิทยาของเครือประสงค์

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สำหรับการใช้เครือประสงค์ เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยใช้ในขนาดและปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไปหรือใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาวได้ สำหับเด็กและสตรีมีครรภ์ก่อนจะใช้เครือประสงค์เป็นสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้ทุกครั้ง

เอกสารอ้างอิง เครือประสงค์

1.”เถาประสงค์”. หนังสือสมุนไพร พื้นบ้านล้านนา ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 205.

2. สุวันนา จันคนา. การทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระอบเชยและเถาประสงค์. วารสารวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ ปีที่ 5. ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2553. หน้า 33-39.

3. เครือประสงค์. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/maun.php? Action=viewpage&pid=26.

4. Nguyen V. D., Doan T. N., “Medicinal Plants in Viet Nam,” World Health Organization Regional Office for Western Pacific, Manila, Institute of Materia Medica, Hanoi, Science and Technology, Hanoi,1998, pp. 380—381.

5.Anaya-Eugenio,G.D., Addo, E.M., Ezzone, N., Henkin, J.M., Ninh, T.N., Ren Y., et al. 2019. Caspase-Dependent Apoptosis in Prostate Cancer cell and Zebrafish by Corchorusoside C from Streptocaulon Juventas. J. Nat. Prod 82, 1645-1655.

6. Banskota A. H., Tezuka Y., Tran K. Q., Tanaka K., Saiki I., Kadota S., Chem. Pharm. Bull., 48, 496—504 (2000). See also references cited therein.

7.Ueda jun-ya, Tuzuka Yasuhiro, Banskota Arjun Hari, Tram Quan Le, Tram Qui Kim, Saiki Lkuo and Kadota Shigetoshi. 2003. Antiproliferative Activity of card ebolides isolated from Streptocualon junventas. Biological & pharma ceutical bulletin.26: 1431-1435.

8. Tezuka Y., Stampoulis P., Banskota A. H., Awale S., Tran K. Q., Saiki I., Kadota S., Chem. Pharm. Bull., 48, 1711—1719 (2000). See also references cited therein.

9.Nguyen M.C., Le D.T., Kamei K., and Dang T.P.T. 2017. Wound Healing Activity of Streptocaulon Juventas Root Ehtanolic Extract. Wound Repair Regen. 25 956-963.