รสสุคนธ์ ประโยชน์ดีๆ สรรพรคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

รสสุคนธ์ งานวิจัยและสรรพคุณ 14 ข้อ

ชื่อสมุนไพร รสสุคนธ์
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น รสสุคนธ์ขาว, มะตาดเครือ, สุคนธรส, เสาวรสผภาคกลาง, ลิ้นแรด, ลิ้นแฮด (ภาคอีสาน), ย่านป๊อด, กะป๊ด, ป๊ด (ภาคใต้), อรคนธ์, ปดขน (นครศรีธรรมราช), เถากะปดใบเลื่อม (ประจวบคีรีขันธ์), บรคน, เถาอรคน (ตรัง), ปดน้ำมัน, ปะละลือแล็ง (ปัตตานี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Tetracera louruiri (Finet.& Gagnep.) Pierre ex Craib.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Tetracera sarmentosa var. loureiri Finet & Gagnep
วงศ์ Dilleniaceae


ถิ่นกำเนิดรสสุคนธ์

รสสุคนธ์จัดเป็นพืชพื้นบ้านของไทยอีกชนิดหนึ่ง พบขึ้นอยู่ในป่าตามธรรมชาติทั่วไป ทั้งในป่าละเมาะ ป่าผลัดใบ ป่าชื้นในภาคใต้ และตามชายฝั่งทะเล ซึ่งรสสุคนธ์ ยังเป็นพันธุ์ไม้ไทยที่คนไทยนิยม และรู้จักดีมานาน โดยได้ปรากฏในวรรณคดียุคต้นกรุงศรีอยุธยาหลายเรื่อง โดยเฉพาะของสุนทรภู่ที่นำมาตั้งชื่อตัวละครในเรื่องพระอภัยมณี (เสาวคนธ์) อีกด้วย และในปัจจุบันในประเทศไทยก็ยังสามารถพบเห็นรสสุคนธ์ได้ทั่วทุกภาคของประเทศ


ประโยชน์และสรรพคุณรสสุคนธ์

  • ช่วยบำรุงหัวใจ
  • แก้ลมวิงเวียน
  • แก้อ่อนเพลีย
  • ใช้รักษาโรคหิด
  • ใช้รักษาฝีหนอง
  • ใช้รักษาโรคหืด
  • แก้ฝี
  • แก้บวม
  • โรคผิวหนัง
  • แก้ตกเลือดภายในปอด
  • ใช้เป็นยาแก้ผื่นคัน
  • แก้แผลในปาก
  • ใช้ปรุงยาหอม
  • แก้สะอึก

           สำหรับดอกไม้ให้ความสวยงาม และให้กลิ่นหอม จึงนิยมปลูกประดับเป็นไม้เลื้อยคลุมซุ้ม เป็นร่มเงาหรือพันเลื้อยไม้ให้งดงาม เนื่องจากรสสุคนธ์เป็นไม้เถาที่ปลูกง่าย แข็งแรง ทนทานต้องการความชื้นน้อย และขึ้นได้ดีทั้งในร่มและกลางแดด อีกทั้งมีใบเขียวเข้มหนาทึบ เถาเหนียวแข็งแรง ออกดอกกลิ่นหอมได้ตลอดปีและให้กลิ่นหอมแรงในเวลากลางวันอีกด้วย และยังมีการนำเถารสสุคนธ์ ที่มีความเหนียวมาใช้ทำเป็นเชือกมัดหลังคา และขัดไม้ก่อสร้าง

           ส่วนใบแก่รสสุคนธ์มีความสากจึงมีการนำมารูดปลาไหล เพื่อให้เมือกในตัวปลาไหลหลุดออกได้ดีเช่นเดียวกับใบข่อยได้อีกด้วย


รูปแบบและขนาดวิธีใช้รสสุคนธ์

ใช้แก้ฝี แก้บวม โดยใช้รากลำต้น มาต้มน้ำดื่ม ใช้แก้ตกเลือดภายในปอดโดยใช้ราก หรือ ใบรสสุคนธ์ มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้บำรุงหัวใจ แก้ลมวิงเวียน แก้อ่อนเพลีย โดยใช้ดอกมาเข้ากับเครื่องยาอื่น  ปรุงเป็นยาหอมรับประทาน แก้แผลในปาก โดยใช้รากหรือใบมาต้มดับน้ำอมกลั้วปาก ใช้แก้ผดผื่นคัน โรคผิวหนัง มาตำให้แหลกแล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็น ใช้รักษาฝีหนอง โดยใช้น้ำเลี้ยงลำต้นมาทาบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของรสสุคนธ์

รสสุคนธ์ จัดเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ เถาสามารถเลื้อยได้ไกล 5-8 เมตร เปลือกเถาเมื่ออ่อนมีสีเขียวเมื่อแก่เป็นสีน้ำตาล เนื้อไม้แข็ง กิ่งอ่อนมีขน สีน้ำตาลปกคลุม แตกกิ่งเลื้อยทอดยาว มีใบรวมอยู่เฉพาะปลายยอด

           ใบ เป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับ เป็นรูปรี หรือ รูปขอบขนาน คล้ายลิ้นวัว ใบกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ที่โคนใบและปลายใบมนถึงแหลม มีขอบใบเป็นจักรห่างๆ เนื้อใบค่อนข้างหนา สีเขียวเข้ม ผิวใบด้านบนเห็นเป็นเส้นแขนงใบเป็นร่องชัดเจน ผิวใต้ท้องใบสากคาย มีก้านใบยาวประมาณ 0.6-1 เซนติเมตร

           ดอก ออกเป็นช่อตามซอกใบ และปลายกิ่งช่อดอกยาว 10-15 เซนติเมตร ประกอบด้วยดอกย่อยทรงกลมสีขาว มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ เป็นรูปโค้งและมีกลีบดอกบางๆ ร่วงง่าย 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้สีขาวคล้ายเส้นด้ายกระจายออกเป็นพุ่มกลม คล้ายดอกกระถิน  มีเส้นผ่านศูนย์กลางของดอกบานราว 0.8 เซนติเมตร และมีกลิ่นหอมแรงในเวลาเช้าถึงเย็น

           ผล เป็นรูปไข่เบี้ยว เมื่ออ่อนมีสีเขียวขนาด 0.7 เซนติเมตร มีจะงอยที่ส่วนปลาย เมื่อแก่จะแตกแนวเดียว ภายในมีเมล็ดสีดำรูปไข่ 1-2 เมล็ด และมีเยื่อหุ้มเมล็ด สีแดงสด

รสสุคนธ์

รสสุคนธ์ 

การขยายพันธุ์รสสุคนธ์

รสสุคนธ์ จัดเป็นไม้ป่าที่สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธีเช่น การเพาะเมล็ด การตอนและการทาบกิ่ง แต่วิธีที่นิยมในปัจจุบันคือการเพาะเมล็ด เนื่องจากรสสุคนธ์เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง วิธีการตอนและการทาบกิ่งจึงลำบากต้องใช้ผู้ที่มีความสามารถสูงจึงสามารถทำได้ส่วนวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปลูกรสสุคนธ์นั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ดและการปลูกไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้


องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานการศึกษาถึงองค์ประกอบทางเคมีของรสสุคนธ์ ในต่างประเทศระบุว่าสารออกฤทธิ์ที่สำคัญอาทิเช่น Quercetin, Rhamnocitrin, Betulin, Betulinic acid และ Beta-sitosterol เป็นต้น

 โครงสร้างรสสุคนธ์

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของรสสุคนธ์

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของรสสุคนธ์ พบว่า มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สำคัญดังนี้

           ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ α-glucosides, α-amylase และต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาวิจัยและการทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase ของสารสกัดเมทานอลจากใบรสสุคนธิ์ (Tetracera loureiri (Finet & Gagnep.) Pierre ex W. G. Craib) และส่วนสกัดที่แยกได้จากสารสกัด ได้แก่ ส่วนสกัดด้วยเฮกเซน ไดคลอโรมีเทน และน้ำ พบว่าสารสกัดเมทานอล และส่วนสกัดด้วยน้ำ ความเข้มข้น 50 มคก./มล. จะมีฤทธิ์ดีที่สุด รองลงมาคือ ส่วนสกัดด้วยไดคลอโรมีเทนและส่วนสกัดเฮกเซนจะมีฤทธิ์ต่ำสุด โดยค่าความเข้มข้นในการยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase ได้ร้อยละ 50 (IC50) ของสารสกัดเมทานอลและส่วนสกัดด้วยน้ำ มีค่าเท่ากับ 1.8 และ 1.1 มคก./มล. ตามลำดับ ขณะที่ยา acarbose ซึ่งเป็นตัวควบคุมบวก มีค่า IC50 129.6 มคก./มล. สารสกัดเมทานอลและและส่วนสกัดด้วยน้ำ มีผลดีที่สุดในการยับยั้งเอนไซม์ α-amylase เช่นกัน โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 40.8 และ 13.4 มคก./มล. ตามลำดับ ในการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี 2,2-diphenyl-1-picrylhydrazyl radical scavenging (DPPH) และ ferric reducing antioxidant power (FRAP) พบว่าสารสกัดเมทานอลและและส่วนสกัดด้วยน้ำ จะมีฤทธิ์ดีที่สุด โดยค่า IC50 สำหรับวิธี DPPH เท่ากับ 30.60±3.86 และ 10.61±2.32 มคก./มล. ตามลำดับ เปรียบเทียบกับสาร quercetin ที่มีค่า IC50 5.42±0.36 มคก./มล. และค่า IC50 สำหรับวิธี FRAP เท่ากับ 20.93±0.97 และ 12.45±2.11 มคก./มล. ตามลำดับ เปรียบเทียบกับ trolox (IC50 27.67±1.24 มคก./มล.) ขณะที่ส่วนสกัดด้วยเฮกเซนไม่มีฤทธิ์ จะเห็นว่าสารสกัดที่มีขั้วจากใบรสสุคนธ์มีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ α-glucosidase และ α-amylase ได้ รวมทั้งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

           ส่วนการศึกษาวิจัยในต่างประเทศระบุว่า รสสุคนธ์ มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง ต้านไวรัส HIV ต้านแบคทีเรีย ต้านอนุมูลอิสระ และมีฤทธิ์ปกป้องตับ เป็นต้น


การศึกษาทางพิษวิทยาของรสสุคนธ์

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้รสสุคนธ์ เป็นสมุนไพร เนื่องจากไม่มีขนาดการใช้ที่แน่ชัด และรายงานด้านความปลอดภัยรองรับ สำหรับผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ก็ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไปหรือใช้ต่อเนื่องกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง รสสุคนธ์
  1. มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล. 2548. สารานุกรมสมุนไพร เล่ม5 สมุนไพรพื้นบ้านอีสาน หน้า 159.
  2. เดชา ศิริรภัทร. รสสุคนธ์: บริสุทธิ์ หอมหวานปานสุคนธรส. คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้า. นิตยาสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 297.
  3. ดร. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. พจนานุกรมไม้ดอกไม้ประดับ 2542. หน้า 719.
  4. ฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ α-glucosides, α-amylase และต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดใบรสสุคนธ์.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล
  5. รสสุคนธ์ . ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http: www.phargarden.com/main.php? Action=viewpage&pid=104
  6. Wu , P.L .; Chuang , T.H .; He , C.X .; Wu , T.S. Cytotoxicity of phenylpropanoid esters from the stems of Hibiscus taiwanensis . Bioorg . Med . Chem . 2004 , 12 , 2193-2197.
  7. Uamporn Veesommai and Thaya Janjittikul. Plants materials in Tailand. Second Published in Thailand in 2001. 640 p.
  8. Jiang , C .; Luo , P .; Zhao , Y .; Hong , J .; Morris - Natschke , S.L .; Xu , J .; Chen , C.H .; Lee , K.H .; Gu , Q. Carolignans from the aerial parts of Euphorbia sikkimensis and their anti - HIV activity . J. Nat . Prod . 2016 , 79 , 578-583.
  9. Dan S, Dan SS 1980. Triterpenoids of Dillenianceae. J. Indian Chem. Sci. 50:760.
  10. Seo , C .; Lee , J.E .; Lee , J.A .; Ahn , E.K .; Kang , J.S .; Hyun , C.W .; Hong , S.S. Acylated triterpenoids , flavonoids , and lignans isolated from , the stems of Tetracera loureiri . Chem . Nat . Compd . 2019 , 55 , 386-389 .
  11. Hu , J.F .; Garo , E .; Goering , M.G .; Pasmore , M .; Yoo , H.D .; Esser , T .; Sestrich , J .; Cremin , P.A .; Hough , G.W .; Perrone , P .; et al . Bacterial biofilm inhibitors from Diospyros dendo . J. Nat . Prod . 2006 , 69 , 118-120 .