อะโวคาโด ประโยชน์ดีๆ สรรพรคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

อะโวคาโด งานวิจัยและสรรพคุณ 13 ข้อ

ชื่อสมุนไพร อะโวคาโด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ลูกเนย (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Persea Americana Mill.
ชื่อสามัญ Avocado
วงศ์ Lauraceae

 

ถิ่นกำเนิดอะโวคาโด

อะโวคาโดเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกากลาง แม็กซิโก กัวเตมาลา และหมู่เกาะเวสอินเดีย ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่าเป็นพืชพื้นเมืองของประเทศแม็กซิโก อะโวคาโด เข้ามาในทวีปเอเชียเป็นครั้งแรก ที่ประเทศฟิลิปปินส์ สำหรับในประเทศไทย มีการปลูกอะโวคาโดครั้งแรกที่จังหวัดน่าน โดยมิชชันนารีชาวสหรัฐอเมริกา จากนั้นจึงมีการแพร่ขยายไปทั่วประเทศ ปัจจุบันมีการกระจายปลูกหลายจังหวัดแต่ส่วนมากจะเป็นทางภาคเหนือ โดยสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมปลูก เช่น พันธุ์แฮส (hass) พันธุ์ปีเตอร์สัน (Peterson) พันธุ์อานาฮิม (anahim) พันธุ์ดุ๊ก (Duke) และพันธุ์พื้นเมืองเป็นต้น

ประโยชน์และสรรพคุณอะโวคาโด

  1. ช่วยปกป้องเซลล์ต่างๆ ในร่างกายไม่ให้ถูกทำลาย
  2. ช่วยลดริ้วรอบแห่งวัยได้
  3. ป้องกันการสะสมของไขมันในเส้นเลือด
  4. ลดโอกาสเสี่ยงของโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ
  5. ลดโอกาสเกิดโรคหัวใจวาย
  6. ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง
  7. ช่วยบำรุง และรักษาสายตาได้
  8. ช่วยลดน้ำหนัก
  9. ป้องกันการเกิดโรคเลือดออกตามไรฟัน
  10. ป้องกันปากนกกระจอก
  11. ช่วยในการขับถ่าย
  12. ช่วยบำรุงผิวพรรณ
  13. ช่วยบำรุงการงอกของเส้นผมได้

อะโวคาโด

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

สำหรับการใช้อะโวคาโด จะเป็นการใช้รับประทานผลสุกสดรูปแบบผลไม้ หรือ นำไปปรุงแต่งเป็นอาหารคาว หวานอื่นๆ ก็ได้ นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการนำอะโวคาโดมาสกัดเป็นน้ำมันอะโวคาโด เพื่อใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ อีกด้วย ซึ่งขนาดการใช้ก็ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่กำกับการใช้ยา ผลิตภัณฑ์และสารสกัด ของแต่ละประเทศจะมีกำหนดเกณฑ์ขึ้นมา


ลักษณะทั่วไปอะโวคาโด

อะโวคาโด จัดเป็นไม้ยืนต้นเนื้ออ่อน ต้นโตเต็มที่สูงได้ 6-18 เมตร กิ่งเปราะ ทรงต้นแตกต่างกันได้ตามสายพันธุ์ มีทั้งทรงต้นตรง ลำต้นอวบใหญ่ จนกระทั่งเป็นทรงพุ่มเตี้ย เปลือกของกิ่ง และลำต้น สีน้ำตาลอ่อน ขรุขระ มีร่องตามยาว ใบ เป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับ ใบยาว ปลายใบแหลมถึงแหลมป้าน กว้าง 5-18 เซนติเมตร ยาว 8-40 เซนติเมตร มีสีเขียวสด ด้านบนของใบมีสีเขียวเข้มเป็นมัน ด้านล่างสีจางกว่า ก้านใบยาว 3-8 เซนติเมตร ใบจะอยู่หนาแน่นที่ปลายของกิ่งฝอยมีใบเขียวตลอดปี ดอกออกเป็นช่อบริเวณปลายกิ่ง โดยใน 1 ช่อจะมีดอกย่อยจำนวนมาก แต่ละดอกมีขนาดเล็กสีเขียวอมเหลือง ก้านชูดอกสั้น ผล เป็นผลเดี่ยวหลายรูปทรงแตกต่างกันตามสายพันธ์ โดยพบตั่งแต่แบบทรงกลมรูปไข่ รูปแบบผลชมพู่ หรือ พินโบลิ่ง เปลือกเรียบ หรือ ขรุขระสีเขียว เขียวปนเหลือง หรือ เป็นสีม่วงเข้ม เนื้อในผลเหนียวข้นนุ่มมีสีเหลืองอ่อนจนสีเหลืองเข้ม มีเมล็ด 1 เมล็ด รูปกลมหรือรูปไข่กว้าง

อะโวคาโด

การขยายพันธุ์อะโวคาโด

อะโวคาโดเป็นพืชที่เติบโตได้ดีในพื้นที่ภาคเหนือที่มีอากาศหนาวเย็น และยังเป็นพืชที่ปลูกง่าย ดูแลง่าย สามารถปลูกแซมในสวนผลไม้ได้ ถ้าพันธุ์ที่ต้นเล็ก ทรงพุ่มเล็กจะปลูกโดยใช้ระยะปลูก 6 เมตร พันธุ์ที่ต้นใหญ่จะใช้ระยะปลูก 8 เมตร โดยเป็นพืชที่ชอบดินที่มีการระบายน้ำดี ไม่ชอบสภาพพื้นที่ที่มีน้ำขัง หรือ ชื้นแฉะ พื้นที่ปลูกเป็นที่โล่ง แดดดี ไม่อยู่ใต้ร่มไม้ หรือ เป็นที่ต่ำน้ำท่วมขัง หากเป็นที่ราบควรปลูกแบบยกแปลง ส่วนวิธีการขยายพันธุ์นั้นสามารถทำได้โดยการใช้เมล็ดลงปลูกหรือเพาะเมล็ดให้เป็นต้นกล้าก่อนแล้วค่อยลงปลูกก็ได้ ซึ่งในการปลูกควรเตรียมหลุมปลูก 80x80x80 เซนติเมตร (กว้างxยาวxลึก) เตรียมวัสดุผสมโดยใช้ดินผสมปุ๋ยคอก และวัสดุอื่นๆ เช่น ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ แกลบดำ คลุกเคล้าให้เข้ากัน อัตราส่วนดิน ปุ๋ยคอก วัสดุอื่นๆ 1:1:1 จากนั้นนำต้นอะโวคาโด ลงปลูกโดนให้โคนต้นอยู่ระดับดิน ไม่ลึกจนดินฝังโคนต้นหรือรากของต้นลอย กลบดินรอบโคนต้นให้แน่น รดน้ำให้ชุ่ม คลุมบริเวณโคนต้นด้วยวัสดุ เช่น ฟาง แกลบ เศษหญ้าแห้ง เพื่อรักษาความชื้นของดิน และควรค้ำต้นด้วยการใช้ไม้ปักค้ำเพื่อพยุงต้นกล้าแต่ให้ปักเฉียง 45 องศา เนื่องจากหากปักตรงชิดลำต้น ปลายไม้อาจบาดราก ทำให้เป็นแผลทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ลำต้นได้ โดยสายพันธุ์ที่นิยมปลูกในปัจจุบัน คือ พันธุ์แฮส พันธุ์อนาฮิม พันธุ์ปีเตอร์สัน พันธุ์บูธ 7 และพันธุ์บัคคาเนีย เป็นต้น

องค์ประกอบทางเคมี

อะโวคาโดเป็ยผลไม้ที่มีคุณค่าทางอาหารสูงโดยมีสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

           คุณค่าทางโภชนาการของอะโวคาโด (100 กรัม)

พลังงาน

160

กิโลแคลอรี่

น้ำ

73.23

กรัม

น้ำตาล

0.66

กรัม

เส้นใย

6.7

กรัม

ไขมัน

14.66

กรัม

กรดไขมันอิ่มตัว

2.13

กรัม

กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว

9.8

กรัม

กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน

1.82

กรัม

โปรตีน

2

กรัม

คาร์โบไฮเดรต

8.53

กรัม

วิตามิน เอ

7

ไมโครกรัม

เบตาแคโรทีน

42

ไมโครกรัม

ลูทีน และเซแซนทีน

217

ไมโครกรัม

วิตามิน บี1

0.067

มิลลิกรัม

วิตามิน บี2

0.13

มิลลิกรัม

วิตามิน บี 3

1.738

มิลลิกรัม

วิตามิน บี 5

1.389

มิลลิกรัม

วิตามิน บี 6

0.257

มิลลิกรัม

วิตามิน บี 9

81

ไมโครกรัม

วิตามิน ซี

10

มิลลิกรัม

วิตามิน อี

2.07

มิลลิกรัม

วิตามิน เค

21

มิลลิกรัม

แคลเซียม

12

มิลลิกรัม

เหล็ก

0.55

มิลลิกรัม

แมกนีเซียม

29

มิลลิกรัม

ฟอสฟอรัส

52

มิลลิกรัม

โพแทสเซียม

485

มิลลิกรัม

โซเดียม

7

มิลลิกรัม

แมงกานีส

0.142

มิลลิกรัม

สังกะสี

0.64

มิลลิกรัม

            นอกจากนี้ยังประกอบด้วยสารออกฤทธิ์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอื่นๆ อีก เช่น Beta-Cryptoxanthin, Lutein, Zeaxanthin, Stigmasterol, Camprsterol, Beta-Sitosterol, Beta-tocopherol, oleic acid, persenone AและB เป็นต้น

โครงสร้างอโวคาโด

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของอะโวคาโด

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของอะโวคาโดระบุถึงฤทธิ์ต่างๆดังนี้

           ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดการศึกษาทางคลินิกในอาสาสมัครสุขภาพดีพบว่าการบริโภคอะโวคาโด วันละครึ่งผล ช่วยลดระดับน้ำตาล อินซูลิน และ glucagon-like peptide-1 (GLP-1) โดยคาดว่าสาร D-mannoheptulose เป็นสารสําคัญในออกฤทธิ์ยับยั้งการทํางานของ hexokinase ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการสลายน้ำตาล (glycolysis) จึงเป็นผลให้ระดับน้ำตาลลดลง (7) การรับประทานอะโวคาโดสายพันธุ์แฮส วันละ ½ - 1 ผล (68 หรือ 136 ก.) พร้อมอาหารเช้า เป็นเวลา 4 สัปดาห์ มีผลลดระดับน้ำตาล และอินซูลินในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 และอาสาสมัครที่มีภาวะอ้วนอย่างนัยสําคัญเมื่อเทียบกับการรับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนสูง (high in complex carbohydrates low-fat diet: AHA-III) หรืออาหารควบคุมที่ให้พลังงานเท่ากัน (isocaloric diet)

           ฤทธิ์ลดไขมันในเลือดมีการศึกษาวิจัยโดยการปรับลดไขมัน และคาร์โบไฮเดรตในมื้ออาหารแล้วทดแทนด้วยการรับประทานอะโวคาโด ครั้งละ ½ -1 ผล หรือ การรับประทานน้ำมันอะโวคาโดร่วมในมื้ออาหาร สามารถลดระดับไขมันในร่างกาย โดยเฉพาะคอเลสเตอรอลชนิด LDL และไตรกลีเซอร์ไรด์การศึกษาในอาสาสมัครสุขภาพดี และอาสาสมัครที่มีระดับคอเลสเตอรอลสูง โดยให้อาสาสมัครรับประทานอะโวคาโด (ไม่ระบุขนาด) ร่วมกับอาหารมังสวิรัติ หรือ อาหารปกติให้ระดับพลังงานเท่ากัน พบว่าหลังการรับประทานอาหารร่วมกับอะโวคาโดช่วยให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิด LDL และไตรกลีเซอร์ไรด์ในอาสาสมัครลดลง (16-18) และอะโวคาโดยังให้ผลเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิด HDL ในอาสาสมัครกลุ่มคอเลสเตอรอลสูงที่รับประทานอาหารเช้าร่วมกับอะโวคาโด ½ - 1 ผล (68-136 ก.) (9) การศึกษาเปรียบเทียบผลของการบริโภคอาหารที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวสูง ( richmonounsaturated fat diet: RMF) ที่มีอะโวคาโดเป็นแหล่งไขมันหลัก (75% ของไขมันในมื้ออาหาร) เปรียบเทียบกับอาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัวต่ำ (low saturated fat diet: LSF) พบว่าหลังการรับประทาน 2 สัปดาห์ ระดับคอเลสเตอรอลชนิด LDL และไตรกลีเซอร์ไรด์ลดลงอย่างมีนัยสําคัญในทั้งสองกลุ่ม แต่การรับประทาน LSF มีผลลดระดับคอเลสเตอรอลชนิด HDL อย่างมีนัยสําคัญ ซึ่งไม่พบการเปลี่ยนแปลงนี้ในกลุ่มที่รับประทาน RMF และการรับประทานอะโวคาโดวันละ ½ - 1 ผล ให้ผลลดระดับคอเลสเตอรอลรวมได้ดีกว่าการรับประทานอาหารคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนสูง (ลดลง 8.2% และ 4.9% ตามลําดับ) และยังช่วยลดระดับของคอเลสเตอรอลชนิด LDL, apolipoprotein B และไตรกลีเซอไรด์อย่างมีนัยสําคัญ

           อีกทั้งยังมีรายงานการศึกษาวิจัยทางคลินิกระบุว่าการรับประทานผลอะโวคาโด และน้ำมันอะโวคาโดซึ่งเป็นแหล่งไขมันที่มีปริมาณกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวสูง สามารถช่วยควบคุมระดับไขมันในร่างกาย ลดระดับคอเลสเตอรอล LDL cholesterol และไตรกลีเซอร์ไรด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจ และหลอดเลือด ควบคุมน้ำหนักตัวควบคุมความอยากอาหาร และลดระดับน้ำตาลได้

           ฤทธิ์ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ และหลอดเลือดมีรายงานการศึกษาวิจัยพบว่าอะโวคาโดมีฤทธิ์ลดระดับอนุภาคแอลดีแอล (LDL particle) และป้องกันการเกิดปฏิกริยาออกซิเดชันของ LDL ไปเป็น oxidized LDL (oxLDL) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว (atherosclerosis) ในอาสาสมัครที่รับประทานอาหารที่มีระดับไขมันปานกลางจากอะโวคาโดสายพันธุ์แฮส 1 ผล (136 ก.) นาน 5 สัปดาห์ มีผลทำให้ระดับคอเลสเตอรอลชนิด LDL และไขมันที่ไม่ใช่ไขมันดี (non-HDL cholesterol) ลดลง 13.5 และ 14.6 มก./ดล. ตามลำดับ ซึ่งลดลงมากกว่าการรับประทานอาหารไขมันต่ำหรืออาหารไขมันปานกลางจากน้ำมันเมล็ดทานตะวัน และน้ำมันคาโนล่า นอกจากนี้จำนวนของอนุภาคแอลดีแอล และแอลดีแอลขนาดเล็กที่มีความหนาแน่นสูง (small dense LDL cholesterol) ซึ่งเป็นกลุ่มไขมันที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคหลอดเลือดหัวใจมีความลดลง 80.1 นาโนโมล/ล. และ 4.1 มก./ดล ตามลำดับ

           นอกจากนี้อะโวคาโดยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และป้องกันความเสียหายของหลอดเลือดจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เมื่อให้อาสาสมัครรับประทานแฮมเบอร์เกอร์ที่มีอะโวคาโด ขนาด 68 ก. หรือแฮมเบอร์เกอร์ปกติ จากนั้นทำการประเมินความแข็งตัวของหลอดเลือดในเวลา 2 ชั่วโมง หลังการรับประทานด้วยเทคนิค applanation tonometry พบว่าการรับประทานแฮมเบอร์เกอร์ส่งให้ผลความยืดหยุ่นในการบีบหดของหลอดเลือดลดลงจาก 2.19±0.36 เหลือ 1.56±0.21 ม./วินาที ในขณะที่การรับประทานอะโวคาโดร่วมกับแฮมเบอร์เกอร์ ไม่พบการเปลี่ยนแปลงความสามารถในการบีบตัวของหลอดเลือด (ก่อน 2.17±0.57 และหลัง 2.08±0.51 ม./วินาที) และอะโวคาโดยังให้ผลลดระดับสารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบ เช่น interleukin-6 (IL-6), NF-kappa B, C-reactive protein ซึ่งเพิ่มขึ้นหลังการรับประทานอาหารไขมันสูงอีกด้วย

           อีกทั้งยังมีการศึกษาแบบไขว้สลับในอาสาสมัครที่มีภาวะอ้วน และน้ำหนักเกิน จำนวน 31 คน (ชาย 21 คน หญิง 18 คน) อายุ 25-60 ปี สลับให้รับประทานอาหารเช้า 3 แบบ คือ อาหารเช้าแบบควบคุม อาหารเช้าร่วมกับอะโวคาโดครึ่งผล (68 ก.) และอาหารเช้าร่วมกับอะโวคาโดเต็มผล (136 ก.) โดยเว้นระยะระหว่างการรับประทานอาหารเช้าแต่ละแบบครั้งละ 4 สัปดาห์ พบว่าระดับน้ำตาล และอินซูลินในเลือด และการขยายของเส้นผ่านศูนย์กลางของหลอดเลือด (flow mediated vasodilation) ในอาสาสมัครที่ได้รับอาหารเช้าร่วมกับอะโวคาโดทั้งสองขนาดลดลงอย่างนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยไม่พบความแตกต่างระหว่างการรับประทานอะโวคาโดครั้งละครึ่งผลกับเต็มผล อย่างไรก็ตามเฉพาะการรับประทานอะโวคาโดแบบเต็มผลเท่านั้นที่มีผลลดระดับไตรกลีเซอไรด์ เพิ่มคอเลสเตอรอลชนิด HDL และลดระดับ tumor necrosis factor-alpha ซึ่งเป็นไซโตคายน์ที่เกี่ยวข้องกระบวนการอักเสบของร่างกายอย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นว่าปรับลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตในมื้อให้อาหาร และทดแทนด้วยการให้อะโวคาโดซึ่งเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว ( MUFA, onounsaturated fat ) และไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน ( PUFA, Polyunsaturated fat ) ไฟเบอร์ วิตามิน และเกลือแร่ต่างๆ มีผลลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ซึ่งจะช่วยลดภาวะเสี่ยงหัวใจและเมตาบอลิกในผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนและน้ำหนักเกินได้

           ฤทธิ์ป้องกันแผลในกระเพาะอาหาร มีการศึกษาฤทธิ์ป้องกันแผลในกระเพาะอาหารของสารสกัดจากเมล็ดอะโวคาโด (Persea americana Mill.) โดยป้อนหนูเมาส์ด้วยสารสกัดเอธิลอะซีเตทจากเมล็ดอะโวคาโดขนาด 10, 35 และ 75 มก./กก.น้ำหนักตัว ก่อนเหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารด้วยการป้อนยาอินโดเมทาซิน (indomethacin) ขนาด 40 มก./กก.น้ำหนักตัว พบว่าสารสกัดจากเมล็ดอะโวคาโดลดการเกิดความเครียดออกซิเดชั่น (oxidative stress) โดยลดการออกซิเดชั่นของไขมัน (lipid peroxidation) ลง 90% และเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ superoxide dismutase ขึ้น 4.25 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาอินโดเมทาซินเพียงอย่างเดียว รวมถึงออกฤทธิ์ป้องกันการเกิด แผลและลดขนาดของแผลได้ 92% ซึ่งให้ผลดีกว่ากลุ่มควบคุมบวกที่ได้รับยารักษาโรคกระเพาะอาหารแลนโซพราโซล (lansoprazole) จากการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีพบว่าสำคัญในสารสกัดดังกล่าว คือ (−)-epicatechin และ (+)-catechin และสารประกอบฟีนอลิกอื่นๆ เช่น caffeoylquinic acid, flavonoids, phenylpropanoids และ tannins ซึ่งต่างมีส่วนช่วยในการยับยั้งกระบวนการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร

           นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ ของอะโวคาโด ระบุว่ามีฤทธิ์ป้องกันมะเร็ง ต้านอนุมูลอิสระ บำรุงและฟื้นฟูสายตา ป้องกันข้อเข่าเสื่อม และลดริ้วรอยบนใบหน้า เป็นต้น

การศึกษาทางพิษวิทยาของอะโวคาโด

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

อะโวคาโดเหมาะสำหรับหญิงตั้งครรภ์อย่างมาก เนื่องจากมีผลไม้ที่มีโฟเลตสูง ส่วนในเด็ก อะโวคาโด เป็นผลไม้ที่เหมาะสำหรับเด็กเช่นกัน เพราะอุดมไปด้วย DHA และกรดไขมันจำเป็นอีกหลายชนิด ขนาดที่แนะนำรับประทานเป็นประจำตามงานวิจัย คือ วันละ ½-1 ผล รวมถึงผู้ที่มีอาการแพ้ยางธรรมชาติ ก็อาจมีความเสี่ยงต่อการแพ้อะโวคาโดเช่นกัน อีกทั้งอะโวคาโดยังเป็นผลไม้ที่มีวิตามินเค สูง จึงควรระมัดระวังผู้ที่มีการใช้ยาวาร์ฟาริน เพราะอาจไปยับยั้งกลไกต้านการแข็งตัวของเลือดของยาได้ ส่วนการใช้น้ำมันอะโวคาโด หรือ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวจากอะโวคาโดทาผิวโดยตรง ไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 3 เดือน เนื่องจากอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้เล็กน้อย ซึ่งมีรายงานชิ้นหนึ่งซึ่งพบอาการคันตามผิวหนังในผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงินที่ใช้ครีมที่มีส่วนผสมของน้ำมันอะโวคาโด
 

เอกสารอ้างอิง อะโวคาโด
  1. ธิดารัตน์ จันทร์ดอน. ผลไม้เพื่อสุขภาพขากโครงการหลวง. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

  2. พิมพร ลีลาพรพิสิฐ อีมัลชั่นทางเครื่องสำอาง. ฉบับ 2. เชียงใหม่: ภาควิชาเทคโนโลยีเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2534.

  3. ฤทธิ์ป้องกันแผลในกระเพาะอาหารของอะโวคาโด. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

  4. กนกพร อะทะวงษา. ลดความเสี่ยงโรคอ้วนลงพุด้วยอะโวคาโด. บอกกล่าวเล่าเรื่องสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

  5. กาญจน์พิมล ฤทธิ์เดช. นฤพร สุตัณฑริบูลย์. แนวทางการพัฒนาเภสัชภัณฑ์รูปแบบกึ่งแข็ง. พิมพ์ครั้งที่ 1. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทยจำกัด 2546.

  6. การรับประทานอะโวคาโด ช่วยลดระดับตัวชี้วัดภาวะเสี่ยงหัวใจและเบตาบอลิกในผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนและน้ำหนักเกิน. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

  7. Dreher ML, Davenport AJ. Hass avocado composition and potential health effects. Crit Rev Food Sci Nutr. 2013;53(7):738-50.

  8. Kopec RE, Cooperstone JL, Schiweiggest RM, Young GS, Harrison EH, Francis DM, et al. Avocado consumption enhances human postprandial provitamin A absorption and conversation from a novel high Beta-carotene tomato sauce and from carrots. J Nutr 2014; 144 1158-66.

  9. Furlan CPB, Valle SC, Östman E, Maróstica MR, Tovar J. Inclusion of Hass avocado- oil improves postprandial metabolic responses to a hypercaloric- hyperlipidic meal in overweight subjects. J Funct Food. 2017;38(A):349-54.

  10. Sabaté J, Wien M, Haddad E. Post- ingestive effects of avocados in meals on satiety and gastric hormone blood levels. Human Health Nut. 2015;1:459–61.

  11. Wang L, Tao L, Hao L, Stanley TH, Huang KH, Lambert JD, et al. A moderate-fat diet with one avocado per day increases plasma antioxidants and decreases the oxidation of small, dense LDL in adults with overweight and obesity: a randomized controlled trial. J Nutr. 2020;150(2):276-84.

  12. Wells Ps, Holbrook AM, Crowther NR, Hirsh J. Interactions of warfarin with drugs and food. Ann Intern Med 1994;121:676-83.

  13. Colquhoun DM, Moores D, Somerset SM, Humphries JA. Comparison of the effects on lipoproteins and apolipoproteins of a diet high in monounsaturated fatty acids, enriched with avocado, and a high-carbohydrate diet. Am J Clin Nutr. 1992;56:671–7.

  14. . Rodriguez J, Crespo JF, Burks W, Rivas-Plata C, Fernandez-Anaya S, Vives R, et al. Randomized, double-blind, crossover challenge study in 53 subjects reporting adverse reactions to melon (Cucumis melo). J Allergy Clin Immunol. 2000;106(5):968-72.

  15. Lerman-Garber I, Ichazo-Cerro S, Zamora-González J, Cardoso-Saldaña G, Posadas-Romero C. Effect of a high monounsaturated fat diet enriched with avocado in NIDDM patients. Diabetes Care. 1994:017:311.

  16. Wang L, Bordi PL, Fleming JA, Hill AM, Kris-Etherton PM. Effect of a moderate fat diet with and without avocados on lipoprotein particle number, size and subclasses in overweight and obese adults: a randomized, controlled trial. J Am Heart Assoc. 2015;4:e001355.

  17. Comerfrod KB, Ayoob KT, Murray RD, Atkinson SA. The role of avocado in complementary and transitional feedind. Nrtrients 2016;8:E316

  18. Li Z, Wong A, Henning SM, Zhang Y, Jones A, Zerlin A, et al. Hass avocado modulates postprandial vascular reactivity and postprandial inflammatory responses to a hamburger meal in healthy volunteers. Food Funct. 2013;4(3):384-91.

  19. . Park E, Edirisinghe I, Burton-Freeman B. Avocado fruit on postprandial markers of cardio-metabolic risk: a randomized controlled dose response trial in overweight and obese men and women. Nutrients. 2018;10(9):1287.

  20. López LR, Frati Munari AC, Hernández Domínguez BC, Cervantes Montalvo S, Hernández Luna MH, Juárez C, et al. Monounsaturated fatty acid (avocado) rich diet for mild hypercholesterolemia. Arch Med Res. 1996;27(4):519-23.

  21. Blackman AC, Anvari S, Davis CM, Anagnostou A. Emerging triggers of food protein-induced enterocolitis syndrome: Lessons from a pediatric cohort of 74 children in the United States. Ann Allergy Asthma Immunol. 2019;122(4):407-11.