ปวยเล้ง ประโยชน์ดีๆ สรรพรคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

ปวยเล้ง งานวิจัยและสรรพคุณ 16 ข้อ


ชื่อสมุนไพร ปวยเล้ง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่ ป๋วยเล้ง, ผักขมฝรั่ง (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Splnacia oleracea Linn.
ชื่อสามัญ Spinach
วงศ์ CHEMOPODIACEAE


ถิ่นกำเนิดปวยเล้ง

ปวยเล้งเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียอีกชนิดหนึ่ง โดยมีหลักฐานทางพฤกษศาสตร์ระบุว่าปวยเล้ง มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในแถบเปอเซีย ในอดีต หรือ อิหร่านในปัจจุบัน ซึ่งคนท้องถิ่นเรียกว่า แอสปานัคห์ จากนั้นได้เริ่มแพร่เข้ามาในประเทศเนปาล และแพร่เข้าสู่ประเทศจีน โดยกษัตริย์แห่งเนปาล ได้นำปวยเล้งเข้ามาถวายแก่จักรพรรดิจีน ส่วนในยุโรปเมื่อชาวเปอร์เซียได้ยกทัพไปบุกสเปนในศตวรรษที่ 11 ก็ได้นำปวยเล้งเป็นเสบียงอาหารในยามสู้รบ ด้วยเหตุนี้ปวยเล้งจึงได้แพร่เข้ายุโรป ในช่วงศตวรรษที่ 14 ผ่านทางประเทศสเปน และได้แพร่กระจายไปทั่วโลกในปัจจุบัน ส่วนในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่พบว่านิยมปลูกกันมากในภาคเหนือและภาคกลาง

ประโยชน์และสรรพคุณปวยเล้ง

  • ช่วยบำรุงเลือด
  • ช่วยห้ามเลือด
  • รักษาอาการกำเดาออก
  • แก้อุจจาระเป็นเลือด
  • แก้ท้องผูก
  • ช่วยบำรุงสายตา
  • ช่วยบำรุงสมอง
  • บำรุงผิวพรรณให้ผุดผ่อง
  • บำรุงประสาท
  • แก้โรคมะเร็ง
  • รักษาโรคตามองไม่เห็นในเวลากลางคืน
  • แก้โรคซึมเศร้า
  • รักษาโลหิตจาง
  • แก้โรคสมองเสื่อม
  • ช่วยกระตุ้นความจำ
  • รักษาแผลในกระเพาะอาหาร

           ปวยเล้งถูกนำมาใช้ในด้านอาหารเป็นหลักมาตั้งแต่โบราณแล้ว โดยในอดีตชาวชาวอาหรับถึงกับให้สมญาผักปวยเล้งว่า “ราชาแห่งผัก” ซึ่งปวยเล้งสามารถนำมารับประทานได้ทั้งก้านใบ และดอก และยังเป็นผักที่มีคุณค่า ทางโภชนาการสูง นิยมรับประทานเป็นผักสด ผักลวก และใช้ประกอบอาหารหลายเมนู ทั้งนี้มีการศึกษาวิจัยในผักปวยเล้ง 600 กรัม มีโปรตีนถึง 12 กรัม ซึ่งเท่ากับไข่ 2 ฟอง สูงกว่าโปรตีนในผักกาดขาว 2 เท่า และมีแคโรทีน 17.76 มก. ซึ่งมากกว่าในหัวผักกาดขาว และมีวิตามินซี 174 มก. ซึ่งมากกว่าในหัวผักกาดขาว 2 เท่า สูงกว่าผักกาดขาว 1 เท่า โดยนักวิชาการเชื่อว่าผักปวยเล้งเป็นผักที่เหมาะสำหรับเด็ก และผู้ป่วยอีกด้วย นอกจากจะนำปวยเล้งมาเป็นอาหารแล้วในด้านสมุนไพรยังนำปวยเล้งมาเป็นสมุนไพร บำบัดรักษาโรค ต่างๆอีก โดยมีการระบุถึงสรรพคุณดังนี้

ปวยเล้ง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ปวยเล้ง

สำหรับรูปแบบการใช้ปวยเล้ง เป็นสมุนไพรนั้นก็มีรูปแบบการใช้รับประทาน เช่นเดียวกับการนำไปทำอาหาร โดยมีรูปแบบปละวิธีการใช้ที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาดังนี้

           ใช้รักษาโรคตามองไม่เห็นในเวลากลางคืน โดยใช้ผักปวยเล้ง 300 กรัม ตำให้แหลกคั้นเอาน้ำ ดื่มตอนเช้า และเย็นติดต่อกันระยะหนึ่ง แก้อาการท้องผูกไม่ถ่าย โดยใช้ผักปวยเล้ง 300 กรัม ลวกในน้ำเดือดแล้วคลุกกับน้ำมันงา กินเช้า และเย็น ใช้รักษาโลหิตจาง โดยนำผักปวยเล้งผัดกับตับหมูกินเป็นประจำ นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการนำปวยเล้งมาสกัดในรูปแบบผักปวยเล้งอัดเม็ด รวมถึง ผักรวม อัดเม็ด เพื่อนำมาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ดังนั้นทางองค์การอาหาร และยาจึงได้มีการกำหนดรูปแบบ และขนาดวิธีใช้เอาไว้ดังนี้  กำหนดให้ใช้ใบ บดผง หรือ สกัดด้วยน้ำ ให้มีปริมาณการบริโภค ไม่เกิน 800 ไมโครกรัม/วัน (คำนวณเป็นวิตามินA) และมีปริมาณอาหารไม่เกิน 25 กรัม/วัน

ลักษณะทั่วไปของปวยเล้ง

ปวยเล้ง จัดเป็นพืชล้มลุกฤดูเดียว สูงได้ถึงประมาณ 30-50 เซนติเมตร โดยเป็นพืชที่มีลำต้นสั้น ส่วนระบบรากประกอบด้วยรากแก้ว และแตกรากฝอยออกด้านข้าง โคนรากมักเป็นสีชมพูเช่นเดียวกับโคนต้น

           ใบ ออกเป็นใบเดียวเรียงสลับโดยจะออกเวียนล้อมรอบลำต้น ประกอบด้วยก้านใบเรียวยาว มีความยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร ลักษณะก้านใบด้านล่างบน ก้านใบด้านบนเว้าเป็นร่องตรงกลาง คล้ายก้านผักกาดส่วนแผ่นใบมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือฐานสามเหลี่ยมมีขนาดใหญ่สีเขียวเข้มค่อนข้างหนา และเป็นมัน ใต้แผ่นใบมีขนอ่อนขึ้นปกคลุม กว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร ยาว 8-15 เซนติเมตร แผ่นใบ และขอบใบมีทั้งชนิดขอบย่น และเรียบ

           ดอก ออกเป็นช่อตรงกลางลำต้น ทั้งดอกสมบูรณ์เพศ ดอกแยกเพศอยู่คนละต้น และดอกแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน ช่อดอกยาว 5-10 เซนติเมตร มีดอกย่อยสีเหลืองเขียวขนาด 3-4 มิลลิเมตร อยู่จำนวนมาก

           ผล เป็นรูปทรงกลม หรือ รูปไข่ขนาดเล็ก 5-10 มิลลิเมตร ส่วนด้านในมีเมล็ดจำนวนมาก ส่วนเมล็ดปวยเล้งจะมี 2 ลักษณะ คือ เมล็ดกลม ที่เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกมากในแถบฤดูหนาว และเมล็ดหนาม ที่เป็นพันธุ์ปลูกมากในประเทศอบอุ่น

ปวยเล้ง

การขยายพันธุ์ปวยเล้ง

ปวยเล้ง สามารถขยายพันธุ์โดยวิธีการใช้เมล็ด โดยมีวิธีการอยู่ 2 วิธี ขั้นตอนแรก แปลงปลูกจะต้องพรวนดินอย่างน้อย 1 ครั้ง และตากดินนาน 5-7 วัน จากนั้นไถยกร่อง กว้างประมาณ 1-1.5 เมตร ยาวตามขนาดของพื้นที่หรือตัดแบ่งความยาวออกตามความเหมาะสม

           การหว่านเมล็ด จากนั้นวิธีการปลูกใช้เมล็ดจะทำได้โดย 2 วิธี คือ การเพาะเมล็ด และการหยอดเมล็ดดังนี้ สำหรับการหว่านเมล็ดควรให้มีระยะห่าง 10-15 เซนติเมตร ก่อนคราดเกลี่ยกลบหน้าดิน แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

          อีกวิธีหนึ่ง คือ การหยอดเมล็ด โดยใช้ไม้ขีดรากเป็นร่องตื้นๆ ตามแนวยาวของแปลง ระยะห่างระหว่างร่อง 15-20 เซนติเมตร ก่อนหยอดเมล็ดเป็นจุดๆ ห่างกันแต่ละจุด 10-15 เซนติเมตร แล้วคราดเกลี่ยกลบร่อง แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

           หลังจากการปลูก 5-7 วันแรก ให้รดน้ำทุกวันเพียงพอชุ่ม หลังจากนั้นให้เว้นระยะการให้น้ำเป็นวันละครั้ง หรือ 3-4 ครั้ง/สัปดาห์ ส่วนการให้ปุ๋ยหลังการปลูก 10-15 วัน ใส่ปุ๋ยคอก 1 ถังเล็ก/2 ตารางเมตร หรือ ประมาณ 1.5-2.5 ตัน/ไร่ ร่วมกับปุ๋ยเคมีสูตร 16-8-8 อัตรา 1 กำมือ/2 ตารางเมตร หรือ ประมาณ 10-20 กิโลกรัม/ไร่


องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีปวยเล้ง ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด เช่น Spinacetin spinatoside-glucose hexuronglated methylennedioxy flavonoid, inositol glysorol, palmitic acid, hexadecatrienoic acid, linoleic acid, erucic acid, palmitolic acid, lutein และ neoxanthin เป็นต้น นอกจากนี้ปวยเล้งยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

คุณค่าทางโภชนาการของปวยเล้ง (100 กรัม)

พลังงาน 25 กิโลแคลอรี่
โปรตีน 2.6 กรัม
ไขมัน 0.9 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 1.6 กรัม
ใยอาหาร 0.7 กรัม
แคลเซียม 54 มิลลิกรัม
เหล็ก 0.1 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 60 มิลลิกรัม
วิตามิน A 0.05 มิลลิกรัม
วิตามิน B2 0.48 มิลลิกรัม
วิตามิน B3 0.4 มิลลิกรัม
วิตามิน C 15 มิลลิกรัม
วิตามิน B6 0.2 ไมโครกรัม
เบต้า-แคโรทีน 2520 ไมโครกรัม

โครงสร้างปวยเล็ง


การศึกษาทางเภสัชวิทยาของปวยเล้ง

มีรายงานผลการศึกษาเภสัชวิทยาของปวยเล้ง หลายฉบับได้ระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาเอาไว้ ดังนี้

           ฤทธิ์ต้านมะเร็ง มีการศึกษาวิจัยอย่างน้อย 13 ชนิด ในกลุ่ม methylenedioxyflavonoid glucuronides ที่มีคุณสมบัติต้านออกซิเดชัน และต้านมะเร็งในสารสกัดปวยเล้งที่มีฤทธิ์ชะลอในการแบ่งตัวของเซลล์ มะเร็งในหลอดอาหารในหลอดทดลอง และเมื่อทำการทดลองในหนูพบว่าสารสกัดปวยเล้ง ลดการเกิดมะเร็งผิวหนัง และยังมีการศึกษาวิจัยในประเทศ สหรัฐอเมริกา พบว่าสตรีที่กินปวยเล้งมีอัตราการเกิดมะเร็งเต้านมต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่กินปวยเล้ง

           นอกจากนี้ มีรายงานวารสารโภชนาการว่าสารนีโอแซนทิน กระตุ้นเซลล์อัณฑะให้ทำลายตนเอง และถูกระบบลำไส้เปลี่ยนเป็นสารใหม่ที่มีคุณสมบัติแบ่งตัวของเซลล์ มะเร็งอัณฑะอีกด้วย

            ฤทธิ์ต้านอนมูลอิสระและปกป้องสมอง มีรายงานจากวารสารการทดลองประสาทวิทยา มีรายงานว่าเมื่อกระตุ้นให้สมองขาดออกซิเจน ในหนูทดลองที่ได้รับผักปวยเล้ง ร้อยละ 2 ในอาหารเป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าบริเวณที่สมองถูกทำลาย มีขนาดเล็กกว่ากลุ่มได้รับอาหารธรรมดาครึ่งหนึ่ง โดยหนูเหล่านี้เพิ่มความสามารถในการเคลื่อนไหวได้หลังการทดลองดีกว่ากลุ่มควบคุม ซึ่งนักวิจัยเชื่อว่าสารออกซิเดชันในปวยเล้งเข้าไปต้านอนุมูลอิสระที่ถูกปลดปล่อยในเซลล์สมองหลังขาดออกซิเจน และลดความเสียหายของไลปิด โปรตีน และสารพันธุกรรมในเซลล์สมองอันเป็นเหตุให้สัตว์ ทดลองถึงแก่ความตายได้

            ฤทธิ์ลดความดันโลหิต  มีรายงานการศึกษาวิจัยฉบับหนึ่ง ได้ศึกษาสรรพคุณของปวยเล้ง ในคนสุขภาพดีจำนวน 27 คน โดยให้กลุ่มนี้บริโภคปวยเล้งติดต่อกัน 7 วัน พบว่าความดันโลหิตของคนกลุ่มนี้ลดลงอยู่ในระดับที่เหมาะสม


การศึกษาทางพิษวิทยาของปวยเล้ง

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรรวัง

ในการนำปวยเล้ง มาบริโภคควรระมัดระวังในการรับประทานเนื่องจาก ผักปวยเล้งมีสารออกซาเลตมราสามารถสะสมในร่างกาย และรบกวนการดูดซึมแคลเซียม ในร่างกายได้ ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับนิ่ว กรดยูริก และผู้ที่เป็นโรคเก๊าส์ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคแบบสดๆ และไม่ควรบริโภคในปริมาณมาก และควรบริโภคปวยเล้งร่วมกับผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ฝรั่ง พริกหวาน มะเขือเทศ เพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กจากปวยเล้งได้ดีขึ้น ส่วนการทำปวยเล้งผัดน้ำมันควรลวกผักในน้ำเดือดก่อนผัด เพราะความร้อนจะทำลายกรดออกซาลิกได้ถึง ร้อยละ 80
 

เอกสารอ้างอิง ปวยเล้ง
  1. วิทิต วัณนาวิมูล. ผักป๋วยเล้ง ธาตุเหล็กจากพืช. คอลัมน์อาหารสมุนไพร. นิตยาสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 96. เมษายน 2530.
  2. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่องรายชื่อพืชที่ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2560.
  3. รศ. ดร. สุธาทิพย์ ภมรประวัติ. ผักขม. คอลัมน์ เรื่องเด่นจากปก. นิตยาสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 333. มกราคม 2550.
  4. ปวยเล้ง /ป็วยเล้ง (Spinach) สรรพคุณการปลูกปวยเล้ง. พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com
  5. ประโยชน์ของปวยเล้ง ผักใบเขียวเพื่อสุขภาพ. พบแพทย์ดอทคอม (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.pobpad.com