ยาสูบ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

ยาสูบ งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ยาสูบ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ยาเส้น, ยาฉุน, ยาตั้ง (ทั่วไป), ยาขื่น (ภาคเหนือ), จะวั้ว (สุรินทร์, เขมร), ยาชุ, ยาชุล่ะ, เกร๊อะ, หร่าเหมาะ (กะเหรี่ยง), อิงเช้า, เยียนฉาว (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Nicotiana tabacum Linn.
ชื่อสามัญ Tobacco
วงศ์ Solanaceae

ถิ่นกำเนิดยาสูบ

ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของยาสูบนั้นตั้งอยู่ในเขตร้อนของทวีปอเมริกา โดยชาวอินเดียแดงเป็นผู้ที่ใช้ยาสูบ เป็นพวกแรกต่อมา ในปี ค.ศ.2492 คริสโตเฟอร์โคลัมบัส นักสำรวจอิตาลีเดินเรือจากสเปนเพื่อไปทวีปเอเชีย ซึ่งระหว่างทางเขาค้นพบแผ่นดินใหม่ (ทวีปอเมริกา) เขาบันทึกไว้ว่าเห็นชาวพื้นเมืองที่นั่นนิยมนำใบต้นยาสูบมาเผาและสูดควันเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ จากนั้น ค.ศ.1535 ชาร์ก การ์ดิเย่ร์ ล่องเรือมาสำรวจอเมริกา เขาทดลองสูดควันดูบ้างพบว่ารู้สึกปลอดโปร่งดี จึงนำกลับไปเผยแพร่ที่ยุโรปส่วนในทวีปเอเชียประเทศที่ปลูกยาสูบเป็นประเทศแรก คือ ฟิลิปปินส์ จากนั้นจึงแพร่หลายไปใน อินเดีย จีน หมู่เกาะชวา และบอร์เนียว สำหรับในประเทศไทยไม่มีหลักฐานว่า เริ่มปลูกเมื่อไหร่ และใครเป็นผู้นำเข้ามา มีเพียงบันทึกของมิชชันนารีที่เขาเข้ามาเมืองในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระบุว่าพบเห็นคนไทยสูบยากันทั่วไทย โดยชอบใช้ยาสูบอย่างฉุน ทั้งผู้ชาย และผู้หญิง อีกทั้งใบยาที่ใช้ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ได้จากกรุงมะนิลาบ้าง จากเมืองจีนบ้าง และที่ปลูกในประเทศไทยบ้าง

ประโยชน์และสรรพคุณยาสูบ

  • ใช้เป็นยาถอนพิษ
  • แก้หวัดคัดจมูก
  • ช่วยรักษาโรคผิวหนัง
  • ช่วยรักษาเหา
  • ใช้ระงับประสาท
  • เป็นยาระงับประสาท ทำให้นอนหลับ ทำให้ผอม
  • ทำให้อาเจียน
  • แก้หิด
  • ช่วยขับพยาธิในลำไส้
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้นิ่ว
  • แก้หอบหืด
  • ช่วยสมานบาดแผล
  • ช่วยขับเสมหะ
  • ใช้ห้ามเลือด
  • แก้ลมพิษ
  • ช่วยแก้พิษงู

           ยาสูบถูกนำมาใช้เป็นประโยชน์หลักๆ คือ นำมาใช้เป็นใบยาในการผลิตบุหรี่สูบ ซึ่งอาจจะนับได้ว่ามีโทษมากกว่าประโยชน์ ในทางการเกษตร ยังมีการนำใบยาสูบ มาใช้เป็นยาฆ่าแมลงที่มากัดกินผลผลิตทางการเกษตรอีกด้วย

 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยาสูบ

ใช้แก้หวัดคัดจมูก โดยใช้ใบยาอย่างฉุนจัดๆ ผสมกับปูนแดงและใบเนียม กวนใช้ทำเป็นยานัตถุ์ ใช้รักษาเหา โดยใช้ยาฉุนหรือยาตั้ง (ใบยาสูบ แก่ตากแห้ง) 1 หยิบมือ ผสมกับน้ำมันก๊าดประมาณ 1-4 ช้อนแกง ชโลมทั้งหน้า และยาเส้นลงบนผมทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง แล้วสระให้สะอาด ทำติดต่อกัน 3-4 วัน ใช้แก้หิดแก้โรคผิวหนัง โดยใช้ยางสีดำๆ ในกล้องยาสูบของจีนใส่แต้มแผล แก้หิดได้ดีมาก ใช้เคี่ยวกับน้ำมันทารักษาโรคผิวหนังต่างๆ ได้ด้วย ใช้เป็นยาถอนพิษ แก้ลมพิษ รักษาแผลน้ำร้อนลวกโดยใช้ยาเส้นหรือยาตั้ง 1 หยิบมือ คลุกกับน้ำมันมะพร้าว ใช้ระงับประสาทแก้หอบหืด ขับเสมหะ โดยใช้ใบมามวนสูบ ใช้แก้ฝีฝักบัวโดยใช้ใบสดแช่เหล้าอุ่นให้ร้อนแล้วนำมาปิดบริเวณที่เป็นส่วนในทางการเกษตรกรรม ใช้ทำเป็นยาฉีดแมลง และเพลี้ยต่างๆ โดยใช้นิโคติน 1 ส่วน สบู่อ่อน 20 ส่วน ในน้ำ 2,000 ส่วน ยานี้มีพิษ

ลักษณะทั่วไปของยาสูบ

ยาสูบ จัดเป็นไม้ล้มลุกที่มีอายุเพียงปีเดียว มีความสูงประมาณ 1-1.5 เมตร ลำต้นไม่แตกกิ่งก้านสาขา ตามลำต้น และยอดมีขนที่อ่อนนิ่มปกคลุมอยู่ และทุกส่วนของต้นมีต่อมน้ำยางเหนียว

           ใบ ออกเป็นแบบใบเดี่ยวเรียงสลับ ตามข้อของลำต้นใบมีสีเขียวขนาดใหญ่ และหนาเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 10-20 เซนติเมตร ยาว 30-60 เซนติเมตร ปลายใบมน โคนใบเรียวสอบ ท้องใบ และหลังใบมีขนปกคลุม ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย

          ดอก ออกเป็นช่อยาว โดยจะออกตรงปลายยอด มีดอกย่อยเป็นสีชมพูอ่อนปนขาว มีกลับดอก 5 กลีบ ซึ่งโคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายกลีบแหลมมีขนสีขาวปกคลุม มีกลีบเลี้ยงเป็นสีเขียว โคนเชื่อมติดกันปลายแยกเป็นแฉกแหลม โดนดอกจะบานจากส่วนล่างไปหาส่วนบน ตามลำดับ

           ผล เป็นผลแห้งคล้ายแคปซูลรูปขอบขนาน ผลอ่อนสีเขียวเมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาล และแตกออกด้านในมีเมล็ด ขนาดเล็กสีน้ำตาลจำนวนมาก

ยาสูบ 

ยาสูบ

การขยายพันธุ์ยาสูบ

ยาสูบสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ดโดย เริ่มต้นจากการเพาะต้นกล้าจากเมล็ดพันธุ์ โดยการเตรียมกินขึ้นแปลงขนาดความกว้าง 1 เมตร พรวนดินให้ร่วนซุย จากนั้นรดน้ำบนแปลงให้ชุ่ม หว่านเมล็ดยาสูบ ที่เตรียมไว้แล้วนำแกลบดิบ โรยหน้าแปลงทับเมล็ดยาสูบ รดน้ำให้ชุ่มทุกๆ วันวันละ 1-2 ครั้ง เช้า และเย็น จากนั้น 1 สัปดาห์ จะพบว่าเมล็ดเริ่มงอก จากนั้นหมั่นรดน้ำทุกเช้าเย็น จนต้นกล้ามีอายุครบ 45 วัน ซึ่งต้นกล้าจะยาว 10-15 เซนติเมตร จึงสามารถถอนต้นกล้าไปปลูกได้ สำหรับการปลูกให้นำต้นกล้าที่ได้จากแปลงเพาะลงปลูกโดยการใช้การขุดให้ได้หลุมพอสำหรับสอดต้นกล้าลงปลูก โดยการปลูกจะปลูกในระยะห่างระหว่างต้น 60X60 เซนติเมตร หลังปลูกรดน้ำให้ชุ่ม

องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของใบยาสูบ พบว่า มีสารออกฤทธิ์ต่างๆ อาทิเช่น สารอัลคาลอยด์ นิโคติน โดยมีอยู่ถึง 64% และอัลคาลอยด์จำพวก Phrodine ที่ลักษณะเป็น oily, volatile liquid ที่ไม่มีสีจนถึงมีสีเหลือง แต่ถ้าถูกอากาศอาจเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล มีกลิ่นเผ็ดร้อน เช่น nicotinic acid, oxynicotin, nicotirine, cotinine, myosmine และยังมีสารที่จะทำให้เกิดมีกลิ่นหอม มีชื่อว่า “nicotianin” หรือ “tobacco camphor” อีกด้วย

          นอกจากนี้เมื่อใบยาสูบถูกเผาไหม้ สารนิโคตินจะสลายและให้สารอื่นๆ ที่เป็นพิษต่อร่างกาย เช่น furfural, collidine และ hydrocyanin acid เป็นต้น นอกจากสารกลุ่มอัลคาลอยด์ที่ได้กล่าวมาแล้วในใบยาสูบยังมีสารอื่นๆอีกเช่น malic acid, rutin, quercetin oxalic acid, chlorogenic acid และ citric acid อีกด้วย

 โครงสร้างยาสูบ

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของยาสูบ

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของใบยาสูบ ส่วนมากแล้วจะเป็นการศึกษาวิจัยถึงโทษของใบยาสูบที่นำมาใช้ทำเป็นบุหรี่สูบ เช่น ใน ค.ศ.1950 แพทย์ชาวอังกฤษ และนักระบาดวิทยาชาวอังกฤษก็ทำการศึกษา และได้ข้อสรุปทางสถิติว่าบุหรี่เป็นสาเหตุของมะเร็งปอด และในปัจจุบันมีผลการศึกษาวิจัยระบุว่า ควันบุหรี่มีสารพิษ และสารก่อมะเร็งไม่ต่ำกว่า 42 ชนิด และเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคที่คุกคามชีวิตประชากรโลกอย่างน้อย 25 โรค โดยสารพิษที่สำคัญคือนิโคติน จากการศึกษาพบว่านิโคตินจะเข้าสู่กระแสเลือด และไปยังสมองเร็วมาก โดยใช้เวลาแค่ 6 วินาที จากนั้นมันจะไปจับกับตัวรับนิโคตินทำให้เกิดการหลั่งสารโดปามีน เป็นผลให้ผู้สูบมีอารมณ์เป็นสุขซึ่งมีกลไกเดียวกับเฮโรอีน โคเคน และยาบ้า เมื่อเลิกสูบบุหรี่อย่างเฉียบพลันจำทำให้เกิดอารมณ์หงุดหงิดเรียกว่าอาการถอนนิโคติน และหากทนไม่ได้ก็จะกลับไปสูบบุหรี่อีก นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์กำจัดลูกน้ำยุงลายของสารสกัดใบยาสูบโดยระบุไว้ว่า มีการศึกษาวิจัยประสิทธิภาพในการกำจัดลูกน้ำยุงลายของสารสกัดใบยาสูบ แบบเหลว และแบบผงพบว่าสกัดแบบเหลว และผงมีประสิทธิภาพในการกำจัดลูกน้ำยุงลายได้เฉลี่ยร้อยละ 100.0และ 96.0 ตามลำดับ ที่ความเข้มข้นร้อยละ (v/v) 3.00 โดยมีระยะเวลาออกฤทธิ์ 24 ชั่วโมง และต่ำสุดที่ความเข้มข้นร้อยละ (v/v) 1 ระยะเวลาออกฤทธิ์ 12 ชั่วโมง และสามารถกำจัดลูกน้ำยุงลายได้เฉลี่ยร้อยละ 17.3 และ 9.3 ตามลำดับสำหรับค่าความเข้มข้นเฉียบพลันที่ทำให้ลูกน้ำยุงลายระยะที่ 4 ตายร้อยละ 50 (LC50) สอดคล้องกับประสิทธิภาพในการกำจัดลูกน้ำยุงลายของสารสกัด โดยมีค่าสูงสุดในสารสกัดแบบผงที่ระยะเวลา 12 ชั่วโมง 3.31 % (w/v) และต่ำสุดในสารสกัดแบบเหลวที่ระยะเวลา 24 ชั่วโมง 1.10 % (v/v)

การศึกษาทางพิษวิทยาของยาสูบ

มีรายงานการศึกษาทางพิษวิทยาของใบยาสูบในฐานะบุหรี่มากมายดังนี้

           ในควันบุรี่ที่เกิดการเผาไหม้ และระเหยจะมีสาร นิโคตินทาร์คาร์บอนไดออกไซด์คาร์บอนมอนอกไซด์ แอมโมเนียม ไฮโดรเจนซัลไฟต์ ไฮโดรเจนไซยาไนด์ ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อปอด ถุงลม เยื่อบุกระเพาะ โดยนิโคตินจะทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง การบีบตัวของหลอดเลือด ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดได้ และสารทาร์จะทำให้เกิดมะเร็งปอดนอกจากนิโคตินแล้วบุหรี่ยังมีสารเคมีที่เป็นพิษอีกมากมาย เช่น 4-aminobiphenyl Nitrosamines, Hydrogen cyanide, Carbon monoxide และในควันบุหรี่ยับพบสาร Benzo-a-pyrene, Benzene, Acrolein, Polonium และสารตะกั่วนิโคตินจากบุหรี่จะเกิดผลกระทบต่อประสาทส่วนกลางภายใน 10 วินาที หากมีการเคี้ยวยาสูบ จะมีผลทำให้เกิดเส้นเลือดตีบ เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และหากกินเป็นเวลา 3-5 นาที จะทำให้เกิดผลต่อระบบประสาท CNS นอกจากนี้ยังทำให้เบื่ออาหาร และเป็นโรคถุงลมโป่งพอง ประสาทรับรู้รส และกลิ่นเสียไป ปอดจะถูกทำลายหากสูบเป็นเวลานาน และจะเป็นสาเหตุของโรคปอด โรคหลอดเลือด โรคมะเร็ง และโรคหัวใจได้สำหรับคนที่ติดบุหรี่มากเมื่อไม่ได้รับนิโคติน จะเกิดอาการกระสับกระส่าย สมาธิสั้น นอนไม่หลับ 20 นาที หลังจากการอดบุหรี่ ความดันโลหิตจะลดลง ชีพจรเต้นช้าลง แต่เมื่อผ่านไป 8 ชั่วโมง ระดับออกซิเจนในเลือดจะเพิ่มขึ้นจนถึงระดับปกติ แต่ในขณะเดียวกันระดับคาร์บอนมอนอกไซด์ก็จะลดลงด้วย และหลังจากหยุดสูบบุหรี่ 2 วัน ระบบความรู้สึก การรับรสและกลิ่นต่างๆ จะทำงานได้ดีขึ้น เมื่อผ่านไป 3 เดือน การเคลื่อนไหวของร่างกาย และการทำงานของปอดก็จะดีขึ้น

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้ยาสูบมา ทำเป็นบุหรี่นั้นนับว่าเป็นอันตรายต่อร่างกายในระยะยาวเนื่องจาก อาการต่างๆ จะเกิดช้า โดยอาจใช้ระยะเวลาเป็นสิบๆ ปี ทำให้หลายๆ คนไม่รู้สึกตระหนักถึงอันตรายของยาสูบโดยหากเสพเป็นระยะเวลานานจะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ หงุดหงิด มีอาการฉุนเฉียวง่าย ขาดสมาธิ และนอนไม่หลับ รวมถึงผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคมะเร็งต่างๆ เช่นมะเร็งช่องปาก กล่องเสียง เต้านม กระเพาะ ลำไส้ใหญ่ หลอดอาหาร หลอดไต ตับอ่อน ไต มดลูก และเม็ดเลือด และคนที่สูบบุหรี่จัดมักมีอายุสั้นเพราะป่วยด้วยโรคหลายโรค ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด หากมีการสูบบุหรี่ด้วยก็จะยิ่งมีโอกาสสูงในการเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยด้วยโรคเดียวกันนี้ถึง 3 เท่า

เอกสารอ้างอิง ยาสูบ
  1. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี,ธวัชชัย มังคละคุปต์. “ยาสูบ Ya sup”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพร ไทย เล่ม 1. หน้า 253.
  2. นพ.ธีรวัฒน์ บูรวัฒน์. มหันตภัยเงียบ. คอลัมม์เล่าสู่กันฟัง. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 270. มิถุนายน 2550.
  3. ขวัญฤทัย คำฝาเชื้อ 2551 พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยง ที่ตำบลบ้านจันทร์และแจ่มหลวง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 271 หน้า.
  4. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ยาสูบ ”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 658-660.
  5. วิภาวรรณ กิติวัชระเจริญ. (2548). ยาสูบพืชเศรษฐกิจของไทย. กลุ่มวิชาการ สถาบันวิจัยพืชไร่, กรมวิชาการเกษตร; กรุงเทพฯ.
  6. หิรัญวดี สุวิบูรณ์, สมพงศ์ หนิยุนุ, บุคอรี คงหนู. การศึกษาสารสกัดแบบเหลวและแบบผงจากใบยาสูบ (พันธุ์พื้นเมือง) ในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย (Aedes Asegypti Linn.). เอกสารประกอบการประชุมหาดใหญ่วิชาการระดับชาติและนานาชาติครั้งที่ 9. หน้า 823-829.
  7. ยาสูบ. กลุ่มยารักษาหิด จี๊ด. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีฯ (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_22.5.htm