ฝ้ายตุ่น ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

ฝ้ายตุ่น งานวิจัยและสรรพคุณ 19 ข้อ

ชื่อสามัญ ฝ้ายตุ่น
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ฝ้ายไทย, ฝ้ายหีบ, ฝ้ายขาว (ภาคกลาง), ฝ้ายดอก, ฝ้ายซัน (ภาคเหนือ), ฝ้ายเทศ (ภาคอีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Gossypium herbaceum Linn.
ชื่อสามัญ White cotton, cotton plant
วงศ์ MALVACEAE

ถิ่นกำเนิดฝ้ายตุ่น

ฝ้ายตุ่น เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเชียโดยถูกจัดเป็นพันธุ์พืชดั้งเดิมของทวีปเอเชียของบริเวณเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในแถบประเทศเอเชียตะวันออก แล้วจึงมีการกระจายพันธุ์ไปยังบริเวณอื่นในทวีปเอเชีย รวมถึงประเทศไทย โดยในประเทศไทยพบว่ามีการปลูก กันมากในบริเวณภาคเหนือ ของประเทศส่วนภาคอื่นๆ พบได้ ประปราย

ประโยชน์และสรรพคุณฝ้ายตุ่น

  1. เป็นยาบำรุงกำลัง
  2. แก้กษัยลม
  3. ช่วยขับเสมหะ
  4. แก้ตับอักเสบ
  5. แก้หลอดลมอักเสบ
  6. เป็นยาขับประจำเดือนของสตรี
  7. แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  8. ช่วยขับหรือแก้มุตกิดตกขาว
  9. ทำให้มดลูกบีบตัว
  10. แก้หอบ
  11. แก้บวม
  12. ใช้ห้ามเลือด
  13. เป็นยาบำรุงไต
  14. เป็นยาแก้ริดสีดวง
  15. ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ
  16. แก้กลากเกลื้อน
  17. แก้โรคผิวหนัง
  18. แก้ฝีหนองภายนอก
  19. รักษาผิวหนังให้ชุ่มชื้น

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ฝ้ายตุ่น

ใช้บำรุงกำลัง แก้กษัยลม แก้ไอ ขับเสมหะ แก้หอบ แก้บวม โดยใช้รากฝ้ายตุ่น แห้ง 15-35 กรัม มาต้มกับน้ำดื่มใช้แก้หลอดลมอักเสบ โดยใช้รากแห้ง 15 กรัม มาเข้ากับสมุนไพรอื่นๆ ในตำรายาแก้อักเสบ รับประทานวันละ 2-3 ครั้ง ติดต่อกัน 15 วัน ใช้เป็นยาขับโลหิตระดู ทำให้มดลูกบีบตัวอย่างแรง (สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทาน) โดยรับประทานเป็นยาต้ม 1 ใน 5 หรือ น้ำยาสกัดจากทิงเจอร์ ครั้งละ 2-4 ซีซี ใช้แก้ริดสีดวง แก้ถ่ายเป็นเลือด แก้ตกเลือด ตกขาว เพิ่มสมรรถภาพทางเพศโดยใช้เมล็ด 6-15 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ลดไขมันในเลือดโดยใช้น้ำมันจากเมล็ดผสม หรือ ปรุงในอาหาร หรือ ใช้บรรจุในแคปซูลรับประทาน เช้า-เย็น ใช้แก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน ฝีหนอง โดยใช้น้ำมันจากเมล็ดมาทาบริเวณที่เป็น

ลักษณะทั่วไปฝ้ายตุ่น

ฝ้ายตุ่น จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก อายุหลายปี มีลำต้นตั้งตรงสูงประมาณ 1-3 เมตร โดยลำต้นมีสีเขียวหรือน้ำตาล มีขนขึ้นปกคลุมแตกกิ่งก้านน้อยซึ่งจะแตกกิ่งเป็น 2 แบบ คือ กิ่งใบ และกิ่งดอก

           ใบ ออกเป็นใบเดี่ยว แบบเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กว้าง และเว้าเป็นแฉก 3-5 แฉก ปลายใบแหลม โคนใบเว้าเล็กน้อย ขอบใบเรียบ ผิวใบด้านบนมีขนปกคลุมส่วนด้านล่างมีขนรูปดาวใบมีขนาดกว้างประมาณ 8-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร มีก้านใบยาวประมาณ 2.5-8 เซนติเมตร

           ดอก ออกเป็นเดี่ยวบริเวณซอกใบ มีกลีบเลี้ยงรูปถ้วยแยกเป็น 5 แฉก และมีกลีบดอกสีเหลือง หรือ ขาวอมเหลืองขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5-7 เซนติเมตร กว้าง 2.5-3 เซนติเมตร ยาว 3-4 เซนติเมตร ก้านดอกยาว 1-2 เซนติเมตร มีขนคล้ายกำมะหยี่ ริ้วประดับเชื่อมติดที่ฐาน เป็นรูปสามเหลี่ยมกว้างยาว 2-3 เซนติเมตร ทั้งนี้เมื่อดอกบานเต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีชมพู ใจกลางดอกเป็นสีม่วงอ่อนๆ

           ผล หรือที่เรียกกันว่าสมอฝ้าย เป็นผลแห้ง มีลักษณะเป็นรูปวงกลม ผิวเรียบเมื่ออ่อนจะเป็นสีเขียว และจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำเมื่อแก่ และจะแตกได้ตามพูเป็น 3-4 ซีก ภายในเมล็ดขนาดเล็กสีดำ หรือ สีน้ำตาล จำนวนมากโดยเมล็ดมีลักษณะค่อนข้างกลมและแข็งยาวประมาณ 1 เซนติเมตร และมีขนปุยสีขาวหุ้มเมล็ดอยู่

ฝ้ายตุ่น

ฝ้ายตุ่น

ฝ้ายตุ่น

การขยายพันธุ์ฝ้ายตุ่น

ฝ้ายตุ่น สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ดโดยควรปลูกในช่วงฤดูฝนเพื่อง่ายต่อการจัดการเรื่องน้ำ ซึ่งสามารถทำได้โดยการขุดหลุมบนร่องที่เตรียมไว้เพื่อหยอดเมล็ด ในแต่ละแถวให้มีความลึกหลุม ประมาณ 10-15 ซม. มีระยะห่างระหว่างหลุมประมาณ 60-80 ซม. ใส่ปุ๋ยเคมีรองก้นหลุมประมาณ 1 หยิบ แล้วจึงหยอดเมล็ดหลุมละ 3-5 เมล็ด จากนั้นกลบดินแล้วหมั่นดูแลต้นกล้าเช่นเดียวกับพืชชนิดอื่นๆ

องค์ประกอบทางเคมีฝ้ายตุ่น

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบเคมีในเปลือกรากและเมล็ดของฝ้ายตุ่น ระบุว่าพบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิดเช่น Gossypetin, Accetovanilone, Berbacitrin, Asparagin, Cossypitrin, Quersimeritri, Kaempferol นอกจากนี้ส่วนอื่นๆยังพบสารออกฤทธิ์อีกเช่น  apocynin, glutamic acid, glycine, gossyptrin, aspartic acid,gossypol, palmitic acid, phytin, satirane, serine, thrconin, alamine, tocopherol, triacontane

 โครงสร้างฝ้ายตุ่น

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของฝ้ายตุ่น

มีรายงานการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของส่วนต่างๆ ของฝ้ายตุ่น ระบุไว้ว่า สารที่สกัดได้จากใบ กิ่ง และรากฝ้ายขาว มีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของมดลูกในหนูทดลอง และทำให้มดลูกของหนูทดลองมีกำลังการบีบแรงขึ้น ส่วนสารสกัดจากกิ่ง และรากฝ้ายขาว มีฤทธิ์ในการต่อต้านเชื้อ Coccus, Staphelo coccus, และเชื้อไวรัสที่ทำให้เป็นไข้หวัดได้ และมีเกี่ยวกับผลของฝ้ายในการลดไขมันในเลือดสูง ซึ่งได้ทำการทดลองกับหนูเพศผู้ที่ถูกกระตุ้นให้มีไขมันในเลือดสูง โดยทดลองเป็นระยะเวลา 5 สัปดาห์ โดยแบ่งหนูทดลองออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ให้น้ำมันข้าวโพดผสมน้ำมันเมล็ดฝ้ายในอัตราส่วน 1:1 ส่วนกลุ่มที่ 2 ทดลองเปรียบเทียบให้น้ำมันเมล็ดฝ้ายอย่างเดียว และกลุ่มที่ 3 ให้น้ำมันข้าวโพดอย่างเดียว ผลการทดลองพบว่า หนูกลุ่มที่ 1 และ 3 ไม่พบความแตกต่างของระดับไตรกลีเซอไรด์ แต่กลุ่มที่ 2 ที่ให้น้ำมันเมล็ดฝ้าย พบว่ามีผลทำให้คอเลสเตอรอลรวมต่ำลง เนื่องจากน้ำมันเมล็ดฝ้ายมีสารจำพวก saturated fatty acid ระดับต่ำกว่าน้ำมันข้าวโพด และยังมีการศึกษาทดลองในหนูขาว โดยการให้น้ำมันฝ้าย เปรียบเทียบกับหนูที่ให้น้ำมันมะกอก ในหนูขาวที่ถูกกระตุ้นให้มีไขมันในเลือดสูง และให้ Nicoticin acid 10 mg./rat.day ระยะเวลาทำการทดลองนาน 60 วัน ผลการทดลองพบว่า น้ำมันฝ้ายมีผลทำให้คอเลสเตอรอลลดลงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันมะกอก นอกจากนี้ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยอื่นๆระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของฝ้ายตุ่นว่า มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มการหลั่งของอินซูลิน ยับยั้งการสร้างอสุจิ ลดระดับฮอร์โมนเพศชาย คุมกำเนิด และขับปัสสาวะเป็นต้น

การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของฝ้ายตุ่น

มีรายงานการศึกษาทางพิษของน้ำมันเมล็ดฝ้ายตุ่น ดิบระบุว่า น้ำมันฝ้ายดิบในอาหาร 40% เมื่อนำมาให้หนูขาวทั้ง 2 เพศ กินติดต่อกัน 14 เดือน ไม่พบอาการเป็นพิษ

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สตรีมีครรภ์ห้ามใช้ฝ้ายตุ่น เป็นสมุนไพรสำหรับรับประทาน เนื่องจากมีข้อมูลการศึกษาวิจัยระบุว่ามีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของมดลูกอย่างแรง ซึ่งอาจทำให้เกิดการแท้งบุตรได้ และการใช้ฝ้ายตุ่นเป็นสมุนไพรในบุคคลที่มีภาวะเป็นปกติ ควรใช้ในขนาดปริมาณที่เหมาะสมที่ระบุไว้ในตำรายา ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกนไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้

เอกสารอ้างอิง ฝ้ายตุ่น
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ฝ้ายขาว”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 517-518.
  2. เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอกแฝก. “ฝ้าย”. หนังสือสมุนไพร ลดไขมันในเลือด 40 ชนิด. หน้า 128-129.
  3. วิทยา บุญวรพัฒน์. “ฝ้ายขาว”. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย หน้า 364.
  4. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “ฝ้าย (Fai)”. หนังสือสมุนไพรไทยเล่ม 1. หน้า 185.
  5. ฝ้ายตุ่น.กลุ่มยาขับประจำเดือน. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีฯ (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plant_data/herbs/herbs_26_5.htm
  6. ฝ้ายประโยชน์สรรพคุณ และการปลูกฝ้าย. พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com