พระจันทร์ครึ่งซีก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

พระจันทร์ครึ่งซีก งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ

ชื่อสมุนไพร พระจันทร์ครึ่งซีก
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น บัวครึ่งซีก (ภาคกลาง, ชัยนาท), ผักขี้ส้ม (สกลนคร), บ้านเปีอนเหลียน, ปัวปีไน้ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Lobelia chinensis Lour.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Lobelia radicans Thunb., Loblia caespitosa Blume, Dertmanna chinensis (Lour.) Kmtze
ชื่อสามัญ Chinese lobelia, Creeping lobelia
วงศ์ CAMPANULACEAE

 

ถิ่นกำเนิดพระจันทร์ครึ่งซีก

พระจันทร์ครึ่งซีก เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน โดยมักจะพบแพร่กระจายอยู่ทั่วไปในประเทศจีน จากนั้นจึงมีการกระจายพันธ์ไปยังบริเวณใกล้เคียง อาทิเช่น เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน เวียดนาม พม่า บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา ไทย และลาว เป็นต้น

            สำหรับประเทศไทย สามารถพบได้ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงภาคตะวันออก โดยจะพบกระจายอยู่ห่างบริเวณที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 100 -300 เมตร

ประโยชน์และโทษพระจันทร์ครึ่งซีก

  1. ใช้เป็นยาดับพิษร้อน
  2. ถอนพิษพิษไข้
  3. บำรุงปอด
  4. แก้หอบหืด
  5. บำรุงปอด
  6. แก้อาเจียนเป็นเลือด
  7. ช่วยขับปัสสาวะ
  8. แก้ปอดพิการอักเสบ
  9. แก้เจ็บคอ
  10. รักษาไส้ติ่งอักเสบ
  11. แก้ท้องเสีย
  12. แก้ดีซ่าน
  13. แก้ข้ออักเสบ
  14. แก้บวม
  15. แก้ฝี
  16. แก้กลากเกลื้อน
  17. แก้คัดจมูก

 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้พระจันทร์ครึ่งซีก

  • ใช้แก้ทอนซิลอักเสบ และคออักเสบ โดยใช้ต้นสดตำให้ละเอียด ปั้นเป็นก้อนขนาดไข่ไก่ ใส่ในถ้วย เติมเหล้าลงไป 90 มล. ผสมให้เข้ากัน คั้นเอาน้ำ แบ่งอม 3 ครั้งๆ ละ 10-20 นาที แล้วบ้วนทิ้ง
  • ใช้แก้ บิด โดยใช้ต้นสด 60 กรัม ต้มน้ำเติมน้ำตาลแดง (น้ำตาลอ้อย) กิน
  • ใช้แก้ ท้องเสีย โดยใช้ต้นสด 30 กรัม ต้มน้ำกิน
  • ใช้แก้ บวมน้ำ และท้องมาน โดยใช้ต้นสด 30-60 กรัม ต้มน้ำกิน
  • ใช้แก้ ดีซ่าน ขัดเบา บวมน้ำ โดยใช้ต้นพระจันทร์ครึ่งซีก สด 30 กรัม ผสมกับรากหญ้าคา 30 กรัม ต้มน้ำใส่น้ำตาลทราย แบ่งกิน 2 ครั้ง เช้าและเย็น
  • ใช้แก้อาเจียนเป็นเลือด โดยใช้ต้นสดตำผสมเหล้าเล็กน้อยกิน
  • ใช้แก้ เคล็ดขัดยอกบวมเจ็บ โดยใช้ต้นสด 60 กรัม น้ำ 180 มล. ต้มให้เหลือ 90 มล. กรองเอาน้ำเก็บไว้นำกากที่เหลือไปต้มอีกครั้งตามอัตราส่วนเดิม นำน้ำกรองครั้งที่สองรวมกับครั้งแรก แล้วเคี่ยวให้เหลือ 60 มล. เทใส่ขวดเก็บไว้ เวลาใช้เอาสำลีชุบน้ำยาปิดตรงบริเวณที่ปวดบวม
  • ใช้แก้ ฝี แผลเปื่อย ผิวหนังอักเสบ โดยใช้ต้นสดพอประมาณ ใส่เกลือเล็กน้อย ตำให้แหลก พอกบริเวณที่เป็น
  • ใช้แก้ เต้านมอักเสบ โดยใช้ต้นสดตำให้ละเอียด พอกบริเวณที่เป็น
  • ใช้แก้ ตาแดง โดยใช้ต้นสดจำนวนพอสมควรล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียด น้ำมาพอกบนหนังตา เอาผ้าก๊อซที่สะอาดปิด เปลี่ยนยาวันละ 2 ครั้ง
  • ใช้แก้พยาธิใบไม้ในตับ โดยใช้ต้นยาแห้ง 35 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทานวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 10 วัน
  • ใช้ ห้ามเลือด แก้ฝีตะมอย ฝีหนอง ดับพิษ แก้บวม โดยใช้ต้นสดตำพอกบริเวณที่เป็น

ลักษณะทั่วไปของพระจันทร์ครึ่งซีก

พระจันทร์ครึ่งซีก จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็กอายุหลายปีมีลักษณะคล้ายหญ้า โดยลำต้นมีสีเขียว หรือ สีแดงอมเขียว มีลักษณะเรียวเล็กและมีข้อ ผิวเรียบเป็นมัน ถ้าหักลำต้นจะมีน้ำยางขาวขุ่นเหมือนน้ำนมไหลซึมออกมา มักทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน ส่วนยอดชูขึ้น ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 5-20 เซนติเมตร และตามข้อของลำต้นจะมีใบ หรือ กิ่งออกสลับกัน และมีรากฝอยแตกออกมาตามข้อ ส่วนรากใต้ดินมีขนาดเล็กกลมสีเหลืองอ่อน ภายในเป็นสีขาว

           ใบออกเป็นใบเดี่ยวแบบเรียงสลับตามข้อของลำต้น ซึ่งใบมีลักษณะเป็นรูปรี รูปหอก หรือ รูปขอบขนาน กว้างประมาณ 0.2-0.6 ซม. และยาวประมาณ 1-2 ซม. โคนใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบหยักแบบตื้นๆ แผ่นใบเรียบมีสีเขียวเป็นมัน ไม่มีก้านใบ

           ดอกเป็นดอกเดี่ยว ตามซอกใบ ดอกเป็นสีม่วงอ่อน หรือ สีขาว มี 5 กลีบ โครนเชื่อกันเป็นหลอด รูป รียาว ปลายกลีบดอกแหลม แยกเป็น 5 กลีบ เรียงกันเป็นครึ่งวงกลม เรียงตัวกันอยู่เพียงด้านเดียว เมื่อดอกบานกลีบดอกจะแยกไปทางเดียวดูคล้ายเป็นดอกบัวครึ่งซีก หลอดดอกด้านนอกมีขนสีขาว มีเกสรเพศผู้ 5 อัน และมีเกสรเพศเมีย 1 อัน มีก้านดอกยาวประมาณ 1.2-3.5 เซนติเมตร และมีกลีบเลี้ยงสีเขียวอมม่วง 5 กลีบ

           ผลมีลักษณะเป็นผลแห้งขนาดเล็ก ยาวประมาณ 4-6 มม. และมักแตกออกเมื่อแห้ง ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก ส่วนเมล็ดมีลักษณะรีแบน

พระจันทร์ครึ่งซีก  พระจันทร์ครึ่งซีก 

พระจันทร์ครึ่งซีก

การขยายพันธ์พระจันทร์ครึ่งซีก

พระจันทร์ครึ่งซีก เป็นพืชล้มลุกคล้ายกับหญ้า สามารถขยายพันธุ์ได้ โดยการใช้เมล็ดและการแยกต้นปักชำ ซึ่งในธรรมชาติจะแพร่พันธุ์โดยเมล็ดจากผลแก่ที่แห้งแตกออก แต่สำหรับการขยายพันธุ์โดยมนุษย์นั้น ส่วนมากจะนิยมใช้วิธีการแยกต้นปักชำ เนื่องจากมีความสะดวกรวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า ทั้งนี้พระจันทร์ครึ่งซีก เป็นพืชที่ชอบดินร่วนซุยที่ระบายน้ำได้ดี อีกทั้งยังเป็นพืชที่ชอบความชื้นสูง โดยเฉพาะบริเวณที่ชื้นแฉะอีกด้วย

องค์ประกอบทางเคมี

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของพระจันทร์ครึ่งซีก ระบุว่า พบสารออกฤทธิ์ที่สำคัญหลายชนิด อาทิเช่น สารกลุ่ม Alkaloid ได้แก่ สาร Lobeline, Lobelanine และ Lobclanidine อีกทั้งยังพบสาร 6,7-dimethoxycoumarin, apigenin, fraxinol, luteolin, linarin,  5-hydroxy-7-methoxycoumarin, tomentin, 3'-hydroxygenkwanin, quercetin, luteolin 3',4'-dimethylether-7-O-beta-D-glucoside, isoferulic  acid , และ ethyl rosmarinate นอกจากนี้ยังมีรายงานพบว่าในส่วนรากและลำต้นของพระจันทร์ครึ่งซีกยังพบสารกลุ่ม flavone และ inulin อีกด้วย

โครงสร้างพระจันทร์ครึ่งซีก

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของพระจันทร์ครึ่งซีก

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของพระจันทร์ครึ่งซีก ระบุไว้ว่า พระจันทร์ครึ่งซีก มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ซึ่งมีการศึกษาวิจัย โดยการฉีดสารสกัดทางเข้าหลอดเลือดดำของสุนัขที่ถูกวางยาสลบ พบว่าจะมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ และในขณะเดียวกันก็ทำให้ความดันโลหิตลดลงด้วย แต่เมื่อกรอกสารสกัดเข้าทางลำไส้เล็กส่วนต้น จะมีฤทธิ์เฉพาะในการขับปัสสาวะ แต่ไม่ทำให้ความดันโลหิตลดลง และต้องใช้ในปริมาณเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าจึงจะมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต โดยฤทธิ์ในการขับปัสสาวะนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ เข้าเกี่ยวข้องด้วย ได้แก่ ต้นที่เก็บได้หลังการออกดอกจะมีฤทธิ์มากกว่าก่อนออกดอก, การต้มด้วยน้ำเดือดๆ หรือใช้ความร้อนสูง เช่น การอบที่อุณหภูมิ 150 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 24 ชั่วโมง จะทำให้ฤทธิ์ในการขับปัสสาวะถูกทำลายหมด, ถ้านำมาแช่ในน้ำที่มีอุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 48 ชั่วโมง สารละลายจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง รสเปรี้ยว และซึ่งไม่มีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ, ภายหลังการใช้ยานี้เป็นระยะเวลานาน ฤทธิ์ในการขับปัสสาวะจะค่อยๆ ลดลง เป็นต้น แต่สำหรับคนปกติแล้ว ถ้ากินยาต้มนี้จะมีผลทำให้ขับปัสสาวะและเมื่อฉีดสารละลายที่ได้จากการต้มเข้าช่องท้องของหนูทดลอง พบว่าจะทำให้ระยะเวลาที่เลือดแข็งตัวลดลง ซึ่งสรุปได้ว่า สามารถห้ามเลือดได้ 

           นอกจานี้ยังมีการนำสารสกัดที่ได้จากพระจันทร์ครึ่งซีกมาฉีดให้กับสุนัขที่ได้รับพิษงู พบว่าสามารถยับยั้งพิษงูได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังมีการศึกษาวิจับพบว่าพระจันทร์ครึ่งซีก ยังมีฤทธิ์ต่อต้านและยับยั้งเชื้อไทฟอยด์, เชื้อบิด, ในลำไส้ใหญ่ และเชื้อ Staphelo coccus ได้อีกด้วย

          ส่วนอีกการศึกษาหนึ่ง ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยทางคลินิกในผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อพยาธิใบไม้ในระยะท้าย ที่มีอาการตับแข็ งและท้องมาน (โดยใช้ร่วมกับยาที่มีพลวง พวก antimony potassium tartrate ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าพยาธิใบไม้) พบว่ามีฤทธิ์แตกต่างกันไป แต่ฤทธิ์ที่ตรงกันคือ มีการขับปัสสาวะเพิ่มขึ้น และบางรายอาจทำให้ถ่ายท้อง ซึ่งในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแบบนี้ มีจำนวนมากที่ขับปัสสาวะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ปัสสาวะเป็นปกติ ระยะเวลาออกฤทธิ์ขับปัสสาวะไม่แน่นอน แต่ส่วนใหญ่จะเริ่มเห็นผลใน 1-5 วัน ในช่วงที่รักษาด้วยยานี้พบว่า อาการท้องมานลดลง กินอาหารได้มากขึ้น การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น การทำงานของตับดีขึ้น  ซึ่งจากการใช้กับผู้ป่วย 100 ราย พบว่าได้ผล 69 ราย

การศึกษาทางพิษวิทยาลของพระจันทร์ครึ่งซีก

มีผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพิษวิทยาของพระจันทร์ครึ่งซีก พบว่าเมื่อให้สารสกัดพระจันทร์ครึ่งซีกโดยการกรอกเข้าไปในกระเพาะอาหารหนูขาว ค่าที่ทำให้หนูทดลองตายได้ครึ่งหนึ่ง (LD50) คือ 75.1 ± 13.1 กรัม/กก.(น้ำหนักตัว) ส่วนปริมาณของสารละลายที่ฉีดเข้าทางหลอดเลือดของหนูถีบจักรทดลอง แล้วทำให้หนูทดลองตายครึ่งหนึ่ง คือ 6.10 ± 0.26 กรัม/กก.(น้ำหนักตัว) และเมื่อฉีดสารสกัดพระจันทร์ครึ่งซีก เข้าทางช่องท้องของหนูขาวทดลองในปริมาณ 0.1-1.0 กรัมต่อ กก.น้ำหนักตัว วันละครั้งติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 เดือน พบว่าน้ำหนักตัวของหนูทดลอง และอัลบูมิน (albumin) ในปัสสาวะไม่เปลี่ยนแปลงแล้ว จึงทำการตรวจสอบทางพยาธิวิทยาของอวัยวะต่างๆ ของหนูทดลอง พบว่าส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนแปลง มีเพียงแค่ไตบางส่วนของหนูทดลองที่มีอาการบวมเล็กน้อย

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในทางการแพทย์จีนถือว่าพระจันทร์ครึ่งซีกเป็นสมุนไพร ที่มีความเป็นพิษเล็กน้อย โดยอาจมีผลข้างเคียง เช่น แสบร้อนกลางอก, อาเจียน, อาการสั่น, วิตกกังวล, อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น และปวดท้องอย่างรุนแรง เป็นต้น ดังนั้นในการใช้พระจันทร์ครึ่งซีกเป็นสมุนไพร จึงควรระมัดระวังในการใช้ โดยการใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ระบุไว้ในตำรับตำราต่างๆ และไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์คนที่มีภาวะม้ามพร่อง (มีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย อุจจาระหยาบเหลว) ไม่ควรใช้สมุนไพรชนิดนี้ อีกทั้งในการใช้พระจันทร์ครึ่งซีก เป็นสมุนไพรในลักษณะยาต้ม ควรใช้ยาสด และใหม่ ไม่ควรทิ้งยาต้มไว้เกิน 4 ชั่วโมง โดยเฉพาะในฤดูร้อน เพราะยาอาจจะเสื่อมคุณภาพได้ง่าย

เอกสารอ้างอิง พระจันทร์ครึ่งซีก
  1. วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม (1999). "พระจันทร์ครึ่งซีก". พจนานุกรมสมุนไพรไทย (5 ed.). กรุงเทพฯ: รวมสาส์น. หน้า. 533–535.
  2. ผศ.สุนทรี วิทยานารถไพศาล.พระจันทร์ครึ่งซีก.คอลัมน์อื่นๆ.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 37.พฤษภาคม 2525
  3. นิจศิริ เรืองรังษี; ธวัชชัย มังคละคุปต์ (2004). "พระจันทร์ครึ่งซีก (Phra Chan Khrueng Sik)". สมุนไพรไทย เล่ม 1. กรุงเทพฯ: บี เฮลท์ตี้. หน้า. 190.
  4. วิทยา บุญวรพัฒน์ (2011). "พระจันทร์ครึ่งซีก". สารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สมาคมศาสตร์การแพทย์แผนจีนในประเทศไทย. หน้า. 366.
  5. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “พระจันทร์ครึ่งซีก ”. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. หน้า 133.
  6. พระจันทร์ครึ่งซีก.กลุ่มยาแก้อาเจียน.สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีฯ (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_11_3.htm
  7. Han J, Zhang F, Li Z, Du G, Qin H (2009). "[Chemical constituents of Lobelia chinensis]". Zhongguo Zhong Yao Za Zhi . 34 (17): 2200–2.
  8.  Chen JX, Huang SH, Wang Y, Shao M, Ye WC (2010). "Studies on the chemical constituents from Lobelia chinensis". Zhong Yao Cai. 33 (11): 1721–4.