ว่านหางช้าง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

ว่านหางช้าง งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ

 

ชื่อสมุนไพร ว่านหางช้าง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ว่านแม่ยับ (ภาคเหนือ), ว่านพัดแม่ชี (ทั่วไป), เชื่อถัง (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Iris domestica (L.) Goldblatt&Mabb.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Belamcanda chinensis (L.) DC.
ชื่อสามัญ Leopard lilly, Blackberry lilly, Leopard flower
วงศ์ IRISDACEAE

ถิ่นกำเนิดว่านหางช้าง

ว่านหางช้างเป็นพรรณพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียโดยมีรายงานระบุว่า มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมบริเวณเอเชียตะวันออก จากนั้นจึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ ไปยังบริเวณใกล้เคียงได้แก่ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในปัจจุบันนี้สามารถพบว่านหางช้าง ได้เกือบทั่วโลก ในหลายประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ลาว กัมพูชา มาเลเซีย ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ เมียนมา สิงคโปร์ อังกฤษ และฝรั่งเศส

ประโยชน์และสพรรคุณว่านหางช้าง

  1. แก้เจ็บคอ
  2. แก้ไข้
  3. รักษาอาการไอ
  4. ช่วยขับเสมหะ
  5. รักษาคางทูม
  6. แก้ท้องมาน
  7. แก้ระดูพิการ
  8. แก้ผดผื่นคัน
  9. เป็นยาบำรุงธาตุ
  10. ช่วยทำให้เจริญอาหาร
  11. ใช้บำบัดโรคต่อมทอมซินอักเสบ
  12. เป็นยาระบาย
  13. รักษาฝีที่เต้านมบวมมีหนอง
  14. แก้หอบหืด
  15. ช่วยขับปัสสาวะ
  16. ช่วยขับลม
  17. แก้ประจำเดือนไม่ปกติ

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ว่านหางช้าง

ใช้แก้เจ็บคอ แก้ไข้ ขับเสมหะ โดยใช้รากหรือเหง้าสด 5-10 กรัม แห้ง 3-6 กรัม ต้มน้ำรับประทาน ใช้เป็นยาระบาย แก้ระดูพิการของสตรี โดยใช้ใบ 3 ใบ ปรุงในยาต้ม ใช้รักษาโรคคางหมู ด้วยการใช้เหง้าว่านหางช้าง สดประมาณ 10-15 กรัม นำไปต้มน้ำดื่มหลังอาหารครึ่งแก้ว วันละ 2 เวลา เช้า-เย็น ใช้รักษาอาการท้องมาน ด้วยการใช้เหง้าสดนำมาคั้นเอาแต่น้ำกินบ่อยๆ ใช้รักษาอาการผดผื่นคัน โดยใช้รากแห้งใส่น้ำต้มจนเดือดผสมเกลือแกงเล็กน้อย แล้วนำมาทาบริเวณที่เป็น วันละ 2 ครั้ง เช้า และเย็น ใช้รักษาฝีที่เต้านมบวมมีหนอง โดยใช้เหง้าแห้ง 1 เหง้า และรากดอกไม้จีนประมาณ 10 กรัม นำมาบดรวมกันให้เป็นผง แล้วใช้ผสมกับน้ำผึ้งกิน ส่วนในตำรายาจีนใช้รักษาอาการไอ หรือ อาการหอบหืด ด้วยการใช้เหง้าแห้งประมาณ 6 กรัม ขิง แห้ง 3 กรัม มั่วอึ้งแห้ง 3 กรัม โส่ยชินแห้ง 2 กรัม ปั้วแห่ (จี่) 10 กรัม โงวบี่จี้แห้ง 2 กรัม จี่อ้วงแห้ง 10 กรัม ค่วงตังฮวยแห้ง 6 กรัม และลูกพรุนจีน 4 ผล นำทั้งหมดมาต้มรวมกันแล้วเอาแต่น้ำที่ได้มากิน


ลักษณะทั่วไปว่านหางช้าง

ว่านหางช้าง จัดเป็นไม้ล้มลุกในวงศ์ว่านแม่ยับ และเป็นพืชที่มีอายุหลายปี ลำต้นเทียม มีความสูงประมาณ 0.6-1.5 เมตร ส่วนลำต้นจริงอยู่ใต้ดิน มีราก และยังมีเหง้าเลื้อยไปตามแนวขนานกับพื้นดิน ใบ เป็นใบเดี่ยวออกแทงขึ้นจากเหง้าใต้ดิน โดยมีลักษณะเป็นรูปดาบ ปลายเรียวแหลม โคนใบเป็นกาบ ขอบใบเรียบ เนื้อใบค่อนข้างหนา ความกว้างของใบประมาณ 2-4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตร และมักจะออกหนาแน่น ตรงโคนของลำต้นแล้วสลับซ้ายขวาในระนาบเดียวกัน ใบที่อยู่บนของลำต้นมีขนาดเล็กกว่าและเรียงห่างๆ ดอก ออกเป็นช่อตามปลายยอด มีแกนช่อแตกแขนงและจะมีดอกออกที่ปลายแขนง 6-12 ดอก ก้านดอกมีความยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร อาจตรง หรือ โค้งเล็กน้อย ส่วนกลีบดอกมีโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อยส่วนปลายแยกเป็นกลีบลักษณะรูปขอบขนาน 6 กลีบ ยาวประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร ซึ่งมักจะเรียงกันเป็น 2 ชั้น ชั้นละ 3 กลีบ โดยกลีบด้านในจะมีลักษณะเล็กกว่ากลีบชั้นนอกเล็กน้อย เมื่อดอกบานกลับดอกจะกางออก ด้านนอกมีสีเหลือง ส่วนด้านในและขอบกลีบมีสีส้ม มีจุดประสีแดงเข้มๆ กลีบชั้นนอกจะมีต่อมเป็นร่องยาว 1 ต่อม มีสีแดงเข้ม ดอกมีเกสรเพศผู้ 3 อัน อับเรณูเป็นรูปยาวแคบ มีรังไข่เป็นพู 3 พู รูปยาวปลายใหญ่กว่าโคนเลี้ยง ส่วนเกสรตัวเมียจะยาวโค้ง แต่จะสั้นกว่ากลีบดอก ผล มีลักษณะเป็นผงแห้ง มีลักษณะเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ เป็นพูลึก 3 พู เปลือกผลบาง ผลเมื่อแก่จะแตกอ้าออกเป็น 3 เสี่ยง ด้านในมีเมล็ดอยู่พูละ 3-8 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลม มีสีดำและผิวเป็นมัน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 5 มิลลิเมตร

ว่านหางช้าง

ว่านหางช้าง 

การขยายพันธุ์ว่านหางช้าง

ว่านหางช้างสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และการแยกหน่อ ส่วนวิธีการทำนั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกับการเพาะเมล็ด และแยกหน่อพืชล้มลุกอื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว ในบทความต่างๆ ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้มีเคล็ดลับในการดูแลและการปลูก คือ ว่านหางช้าง จะชอบดินที่มีของใบไม้ที่ผุเปื่อย และมีการระบายน้ำได้ดี และควรปลูกในที่ที่มีแดดและลมไม่แรงจัด และหากต้องการให้มีสีของดอกสด ก็ให้ใส่ปุ๋ยคอกลงไปอย่างสม่ำเสมอ

องค์ประกอบทางเคมี

มีผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีของว่านหางช้างระบุว่า ส่วนเหง้าที่มีการนำมาใช้เป็นสมุนไพร พบสาร tectoridin, iridin, tannin, tectorogenin, irigenin และ hispidulin เป็นต้น 

โครงสร้างว่านหางช้าง

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของว่านหางช้าง

มีผลการศึกษาวิจัยของว่านหางช้างระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่างๆ ดังนี้ สารสกัดจากเหง้าของว่านหางช้าง มีฤทธิ์ในการรักษาอาการอักเสบ และยังมีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ Hyalonidase จึงสามารถช่วยรักษาอาการบวมอักเสบของหนูทดลองได้ แต่ไม่สามารถช่วยป้องกันการอักเสบของหนูเล็กที่เกิดจากการฉายรังสีเอ็กซ์ในความเข้มสูงได้ และมีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำลายของกระต่าย นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและสารประกอบฟีนอลทั้งหมดของสารสกัดจากใบว่านหางช้าง โดยการสกัดใบว่านหางช้าง ด้วยตัวทำละลายเอทานอล และน้ำ จากการศึกษาปริมาณสารประกอบฟีนอลทั้งหมด ด้วยวิธี Folin-ciocalteu พบว่า มีค่าเท่ากับ 50.073+- 0.399 mg GAE/g และ 8.50+- 0.118 GAE/g ตามลำดับ เมื่อทดสอบฤทธิ์ต้านอนมูลอิสระโดยวิธี DPPH พบว่า สารสกัดใบว่านหางช้างในชั้นเอทานอลมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าในชั้นน้ำ โดยมีเปอร์เซ็น การยับยั้งเท่ากับ 80.41+- 0.264% และ 53.303 +- 2.802 % ตามลำดับ ส่วนการทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี ABTS พบว่า สารสกัดใบว่านหางช้างในชั้นเอทานอล และชั้นน้ำ มีฤทธิ์ในการต้านอนมูลอิสระคิดเป็น 41.416+- 0.035% และ 38.65+- 0.277% ตามลำดับ นอกจากนี้ยังทดสอบความสามารถในการรีดิวซ์ของสารต้านอนุมูลอิสระโดยวิธี FRAP พบว่าความสามรถในการรีดิวซ์ Fe3+ ไปเป็น Fe2+ ของสารสกัดใบว่านหางช้างในชั้นเอทานอลและในชั้นน้ำเท่ากับ 8,161.66+- 126.25 mg และ 7,037+- 124.00 mg ตามลำดับ อีกทั้งยังมีการระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ อีกเช่น ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ฤทธิ์ต้านเชื้อราและแบคทีเรีย รวมถึงฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ เป็นต้น

การศึกษาทางพิษวิทยาของว่างหางช้าง

มีผลการศึกษาวิจัยพิษวิทยาจากส่วนใบของว่านหางช้างระบุว่า มีการทดสอบความเป็นพิษโดยทดลองสารสกัด จากส่วนใบของว่านหางช้างด้วย เอทานอล (95%) เข้าทางช่องท้องหนูถีบจักรโดยใช้ขนาด 900 มก./กก. พบว่ามีพิษต่อเซลล์ colon 38 และยังมีการทดลองฉีดใบว่านหางช้างด้วยเอทานอล (50%) เข้าทางช่องท้องหนูถีบจักได้ค่า LD50 เท่ากับ 681 มก./กก. นอกจากนี้ยังมีการทดสอบสารสกัดใบว่านหางช้าง ด้วยเอทานอล (30%) กับเซลล์ CA-9KB โดยมีค่า ED50 เท่ากับ 60 มคก./มล. พบว่าไม่มีพิษ และเมื่อใช้สารสกัดเอทานอล (50%) ความเข้มข้น 25 มคก./มล. ทดสอบกับเซลล์ CK-9KB พบว่าไม่มีพิษเช่นกัน อีกทั้งการใช้สารสกัดเอทานอล ความเข้มข้น 50 มคก./มล. ทดสอบกับเซลล์ดังกล่าวก็พบว่า ไม่มีพิษ ด้านความเป็นพิษต่อตัวอ่อนเมื่อทดลองป้อนน้ำต้มว่านหางช้างกับหนูขาวเพศเมีย โดยให้ในขนาด 240 มก./ตัว พบว่าไม่มีผลด้านการฝังตัวของตัวอ่อน และไม่มีพิษต่อตัวอ่อนด้วย

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ถึงแม้ว่าจะมีผลการศึกษาด้านพิษวิทยาระบุว่าด้านความเป็นพิษของว่านหางช้าง นั้นค่อนข้างต่ำมาก แต่อย่างไรก็ตามการใช้ว่านหางช้างเป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคนั้น ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพร ชนิดอื่น โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสมที่ระบุไว้ในตำรับตำราต่างๆ และไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้

เอกสารอ้างอิง ว่านหางช้าง

⦁ ก่องกานดา ชยามฤต.ว่านหางช้าง .หนังสือสมุนไพรตอนที่ 6. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้.
⦁ ชยันต์ พิเชียรสุนทร ศุภชัย ติยวรนันท์ และวิเชียร จีรวงศ์. คู่มือเภสัชกรรมแผนไทยเล่ม 6 เภสัชกรรม. กทม. อัม 2555. หน้า 331-332.
⦁ สุวรรณี แสนทวีสุข, ดวงใจ จงตามกลาง, ทัศน์วรรณ สมจันทร์, ปิติพงษ์ โตบันลือภพ. ปริมาณสารฟิลอนิกทั้งหมดตวามความสามาถในการต้านอนมูลอิสระ และความสามารถในการยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ของสมุนไพรบางชนิด. วารสารแก่นเกษตรปีที่ 40. ฉบับพิเศษ 2. 2555. หน้า 480-483.
⦁ Arisawa M. Cell growth inhibition of KB cells by plant extracts. Natural Med 1994; 48(4):338-47.
⦁ Boonhong Soouthavong, Medicinal plants and Herbs in The Lao People’s Democratic Republic Vol. 1. National Library of Laos Cataloging in Publication Data (CIP), 2013.
⦁ Suffness M, Abbott B, Statz DW, Wonilowicz E, Spjut R. The utility of p388 leukemia compared to b16 melanoma and colon carcinoma38 for in vivo screening of plant extracts. Phytother Res 1988;2(2):89-97.
⦁ Nguyen Van Duong, Medicinal Plants of Vietnam, Cambodia and Laos. Library of Congress. 1993.
⦁ Shutt DA. Unpublished report on the effect of extract of Rubus species on pregnancy in rats. by Y.B. Hahn, Korean herb-drug institute, Seoul. Personal Communication 1977.
⦁ The Association of Southeast Asian Nations (ASEAN). Asean Task Force on Traditional medicine (ATFTM). Herbal Medicines Used in Primary Health Care in Asean, Department for Development of Thai Traditional and Alternative Medicine The Nippon Foundation. 2014.
⦁ Aswal BS, Bhakuni DS, Goel AK, Kar K, Mehrotra BN, Mukherjee KC. Screening of Indian plants for biological activity: part X. Indian J Exp Biol 1984;22(6):312-32.