มะไฟจีน ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

มะไฟจีน งานวิจัยและสรรพคุณ 16 ข้อ
 

ชื่อสมุนไพร มะไฟจีน
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ส้มมะไฟ, มะไฟ (เชียงใหม่), มะอมจ้วย (น่าน), อึ่งตั้ว, ฮวงพี้, อวลพี้ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Clausena lansium (Lour.) Skeels
ชื่อสามัญ Wampee, Wampi, Cookia
วงศ์  RUTACEAE

ถิ่นกำเนิดมะไฟจีน

มะไฟจีนมีถิ่นกำเนิดในภาคใต้ของประเทศจีน และเวียดนามจากนั้นมีการแพร่กระจายการปลูกไปยังเขตร้อน และเขตกึ่งร้อน โดยมีผู้นำมาปลูกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศรวมทั้งในอินเดีย ศรีลังกา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด ว่ามีการปลูกครั้งแรกเมื่อใดแต่สันนิษฐานว่า ชาวจีนเป็นผู้นำเมล็ดมะไฟมาปลูกในจังหวัดน่านเมื่อ 100 ปีมาแล้ว ในปัจจุบันจังหวัดน่านยังเป็นแหล่งปลูกมะไฟจีน แหล่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยปลูกกันมากในอำเภอปัว อำเภอเวียงสา และอำเภอเมือง

ประโยชน์และสรรพคุณมะไฟจีน

  • ใช้รักษาเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจ
  • ช่วยขับเสมหะ
  • รักษาโรคกระเพาะอาหาร
  • แก้ท้องอืด
  • แก้ร้อนใน
  • รักษาโรคผิวหนัง
  • แก้ไอ
  • แก้พิษร้อน
  • รักษาอาการหลอดลมอักเสบ
  • แก้รังแค
  • รักษาสีผม
  • ช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง
  • แก้อาหารไม่ย่อย
  • แก้หวัด
  • แก้อักเสบ
  • ใช้ถ่ายพยาธิ

           มะไฟจีนจัดเป็นผลไม้พื้นเมืองของภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดน่าน โดยมีการปลูกกันมากตามริมแม่น้ำน่าน ซึ่งนับว่าเป็นผลไม้ที่มีรสหวาน หรือ หวานอมเปรี้ยวนิยมนำไปรับประทานสด หรือ นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น ใช้ทำเป็นมะไฟ เชื่อมแห้ง แยม เยลลี่ ไวน์ หรือ ใช้ทำพาย เป็นต้น
 

รูปแบบและขนาดที่ควรใช้มะไฟจีน

ใช้แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ลดอาการไอ ละลายเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ แก้ร้อนใน โดยใช้มะไฟจีนสุกรับประทานสดๆ ใช้แก้ไอ แก้พิษร้อน โดยใช้ผลดิบนำมาตากแห้งรับประทาน ใช้รักษาอาการหลอมลมอักเสบ โดยใช้รากมะไฟจีน มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้รักษารังแค รักษาสีผลโดยใช้ใบมะไฟจีนมาต้มเคี่ยวกับน้ำแล้วนำมาสระผม

ลักษณะทั่วไปมะไฟจีน

มะไฟจีน จัดเป็นไม้ยืนต้น หรือ ไม้พุ่ม ไม่ผลัดใบ ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ทรงพุ่มสูง 10-20 เมตร กว้าง 6-8 เมตร เปลือกต้นมีรอยแตก สีน้ำตาลอมเทา ผิวขรุขระ ต้นรากแก้ว และระบบรากสานกันแน่น ใบมีขนาดใหญ่กว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตร ยาว 8-10 เซนติเมตร เป็นใบประกอบ (compound leaves) ใบสลับ ใบมี 7-9 ใบ ปลายช่อใบจะมีใบย่อยเพียงใบเดียว โดยปลายใบรูปหงอกมีสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบมีสีเขียวอ่อน ดอกออกเป็นช่อสีขาว มีดอกย่อยขนาดเล็กมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ของดอกเมื่อบานประมาณ 0.1 เซนติเมตร กลีบดอกมีชั้นเดียว จำนวน 5 กลีบ เป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีเกสรเพศผู้ 10 อัน ปลายยอดเกสรเพศเมียเป็นรอยหยัก ผลออกเป็นพวงที่บริเวณปลายกิ่ง หรือ ปลายยอด เป็นพวงเหมือนมะไฟ (Bermeae Grape: Baccaurea ramiflora) โดยใน 1 พวงจะมี 5-50 ผล รูปร่างมีทั้งกลม กลมรี ปลายผลแหลม มีขนาด 1.25-2 เซนติเมตร มีผลเรียบมีขนเล็กๆ มีกลิ่นเฉพาะตัว ผลอ่อนมีสีเขียวเมื่อแก่มีสีเหลือง และสุกเต็มที่จะเป็นสีน้ำตาล เนื้อผลมีสีขาวนวล หรือ ขาวขุ่นติดเปลือก รสหวานอมเปรี้ยวเมื่อสุกเต็มที่จะมีรสหวาน เมล็ดมีลักษณะทรงยาวรีค่อนข้างแบนสีเขียว และแต้มสีน้ำตาลตรงส่วนปลายเมล็ด ขนาดของเมล็ดกว้าง 0.3-0.5 เซนติเมตร ยาว 0.7-1 เซนติเมตร ในแต่ละผลมี 1-5 เมล็ด แล้วแต่สายพันธุ์

มะไฟจีน

มะไฟจีน

การขยายพันธุ์มะไฟจีน

มะไฟจีนสามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี อาทิเช่น เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง เสียบยอด เป็นต้น แต่วิธีที่เป็นที่นิยมกันในปัจจุบัน คือ การเสียบยอดจากต้นพันธุ์ซึ่งจะให้ผลผลิตที่เร็วกว่าการปลูกด้วยเมล็ด แต่ต้องเป็นกิ่งจากต้นแม่ที่มีอายุ 2-3 ปี ที่ยังไม่ติดผล เพราะกิ่งจากต้นแม่นี้จะสามารถแตกกิ่งย่อยได้มากขึ้น แต่หากใช้ต้นพันธุ์ที่มีอายุมาก และมีการติดผลหลายครั้งแล้วจะให้ผลผลิตน้อยกว่า เนื่องจากต้นจะไม่แตกกิ่งมากนอกจากนี้มะไฟจีน ยังชอบดินที่มีลักษณะร่วนปนทราย และสภาพอากาศเย็น ความชื้นสูงซึ่งมะไฟจีน จะเริ่มออกดอกเดือนธันวาคม และทยอยออกดอกไปเรื่อยๆ จนถึงเดือนกุมภาพันธุ์ผลจะเริ่มแก่ ไปจนถึงเดือนมิถุนายน หรือ ต้นเดือนสิงหาคม

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมี จากส่วนต่างๆ ของมะไฟจีนพบว่า ผลมะไฟจีนมีน้ำมันหอมระเหยกลุ่มของ limonene และกลุ่ม phellandrene เป็นองค์ประกอบได้แก้ sabenene, α-pineneและ 1-phellandrene ในใบมะไฟจีนพบ sesquiterpene มากที่สุด ส่วน monoterpene พบทั้งในเนื้อ ผิวเปลือก และเมล็ด อีกทั้งยังพบน้ำมันหอมระเหยชนิดอื่นๆ ได้แก่ β-bisabolene, β-caryophyllene และα-zingiberene ในใบพบ 3-xycrohexene-1-ol, cyclohexene, 1,4 clyclohexadiene และ 1-phellandrene ในเนื้อของผลในส่วนผิวเปลือกพบα-pinene และ 1-phellandrene ส่วนในเมล็ดพบ α-pinene, 1-phellandrene และ myrcene นอกจากนี้ยังพบ basabolol, methysantatol, ledol, 9-octadecenamide, fernesol, limonene, p-menth-1-en-4-ol, β-santatol,α-santatol,fernesol และ sinensol และยังพบ coumarins ชนิดอื่นๆ อีก ได้แก่ 3-benzyl-2H-chromen-2-one
           ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งระบุว่า ในมะไฟจีน พบสาร amides อีกชนิดหนึ่ง คือ N=methyl-N-Styrylcinamamide และพบ Phynylalanine ได้แก่ clausnain B พบสารกลุ่ม flavonoid ได้แก่ Bu-7 และพบ carbazole alkaloids, claulansines L-R จากลำต้น ของมะไฟจีน และพบ glycosides clausinosides A และ B และ carbozole alkaloids, clauseneline A, clauslamine A และ clauslamine B อีกด้วย

โครงสร้างมะไฟจีน

 การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะไฟจีน

มีผลการศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะไฟจีน ดังนี้
             ฤทธิ์ยับยั้งจุลินทรีย์ มีรายงานการวิจัยระบุว่าส่วนสกัดหยาบจากใบมะไฟจีนสามารถยับยั้งเชื้อ S. mutans โดยมีค่า MIC เท่ากับ 0.25 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร และสามารถฆ่าเชื้อได้ที่1 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร
           ส่วนการศึกษาฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์และต้านอักเสบของส่วนสกัดหยาบจากกิ่งมะไฟจีนด้วยวิธี disc diffusion ร่วมกับวิธี Elisa พบว่า สารแอลคาลอยด์กลุ่มไอบาโซลที่สกัดได้จากกิ่งมะไฟจีนทั้งหมด 12 ชนิด แต่มีดพียง 3 ชนิด คือ 3-formyl-6-methoxycarcazole, lansine และ glycosolidal ที่ความเข้มข้น 50 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร สามารถยับยั้งเชื้อ pprphtromonas gingivalis ทั้งยังพบว่า 3-formyl-6-methoxycarcazole มีฤทธิ์ต้านอักเสบอีกด้วย
            ฤทธิ์ต้านมะเร็ง มีการศึกษาวิจัยเมล็ดของมะไฟจีน พบว่า สารในกลุ่ม amides ได้แก่ clausinalansamide A และ clausinalansamide B ซึ่งพบว่ามีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งได้แก่ เซลล์มะเร็งปอด เซลล์มะเร็งผิวหนัง และเซลล์มะเร็งเต้านมในมนุษย์ และมีการศึกษาวิจัยในกลุ่ม coumarins ในมะไฟจีน ได้แก่ clausinalansamide A และ clausinalansamide B. isoscopolatin, imperatorin, heraclanin, heraclenol, indicolactonediol, wampetin และ xantotoxol ซึ่งพบว่าสารดังกล่าวมีความเป็นพิษต่อ เซลล์มะเร็งในช่องปาก เซลล์มะเร็งเต้านม และเซลล์มะเร็งปอด
              ส่วนอีกการศึกษาหนึ่งที่ศึกษาส่วนสกัดจากเปลือกของมะไฟจีนพบว่า มีฤทธิ์ในการยับยั้งเซลล์มะเร็งกร้ะพาะอาหาร เซลล์มะเร็งตับ และเซลล์มะเร็งปอดได้ดีกว่ายา cisplatin ที่ใช้รักษาเซลล์มะเร็ง นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ามะไฟจีนมีฤทธิ์ต้านไทรอยด์ (anti-trichomonal activity) ฤทธิ์ต้านโรคเบาหวาน (anti-diabetic activity) ฤทธิ์ต้านการอักเสบ (anti-inflamatory activity) ป้องกันตับ (hepatoprotective) ต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant antivity) อีกด้วย

การศึกษาทางพิษวิทยาของมะไฟจีน

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ถึงแม้ว่าจะมีการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาระบุถึงฤทธิ์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ แต่การศึกษาดังกล่าวเป็นเพียงการศึกษาในหลอดทดลอง และในสัตว์ทดลอง เท่านั้น ซึ่งยังไม่มีการศึกษาในมนุษย์รวมถึงยังไม่มีข้อมูลทางพิษวิทยา ดังนั้นในการใช้มะไฟจีนเป็นสมุนไพ ควรระมัดระวังในการใช้โดยใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสม ที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ  ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป และไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันนานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวได้


เอกสารอ้างอิง มะไฟจีน

⦁ เต็ม สมิตินันทน์. (2544) ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (พิมพ์ครั้งที่ 2) สวนพฤกษศาสตร์ป่าไม้สำนักวิชาการป่าไม้กรมป่าไม้.
⦁ พรรณผกา รัตนโกศล.(2552). มะไฟจีน ของฝาก…สมุนไพรที่มากคุณค่าทางอาหาร. น.ส.พ. กสิกร 84(4),83-89.
⦁ พัชนันท์ ทองศรีพันธุ์. ปรสิทธิ์ของส่วนสกัดจากมะไฟจีน ร่วมกับยาปฏิชีวนะต่อการยับยั้งแบคทีเรียแกรมลบฉวยโอกาสดื้อยา. วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยาศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา. มีนาคม 2561. 86 หน้า
⦁ มลิวรรณ์ กิจชัยเจริญ, สุภาวดี ศรีแย้ม, จิรรัตน์ กันทะขู้, บุษบา มะโนแสน. การพัฒนาด้านการแปรรูปมะไฟจีนของกลุ่มแปรรูปมะไฟจีน ตำบลท่าน้าว อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน. วารสารคุณภาพชุมชนและคุณภาพชีวิต ปีที่ 2. ฉบับที่ 3. กันยายน- ธันวาคม 2557. หน้า333-341.
⦁ พรรณผกา รัตนโกศล, สุรพงษ์ รัตน์โกศล และสมศักดิ์ ศรีสมบุญ.(2551). มะไฟจีน…สมุนไพร ชนิดใหม่.วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 39,3(พิเศษ), 465-468.
⦁ นพรัตน์ จันทร์ไชย. (2546). ศึกษาการใช้ประโยชน์และการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่ามะไฟจีน สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตน่าน.
มะไฟมะไฟจีน สรรพคุณและการปลูกมะไฟ. พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก ⦁ http://www.puechkaset.com
⦁ Luger, P., Weber, M., Thang, D. T., Luu, H. V., & Dung, N. X., (2009). N-Methyl-N- styrylcinnamamide (lansamide) from Clausena lansium in Vietnam. Acta Crystallographica Sect E structure Rep Online, 65(4), 2968957.
⦁ Du, Y., Liu, H., Li, C., Ma, J., Zhang, D., Li, L., Sun, H., Bao, X., & Zhang, D. (2015). Bioactive carbazole alkaloids from the stems of Clausena lansium. Fitoterapia, 103, 122-128.
⦁ Chokeprasert, P., Huang, T-C., Chen, H-H., Khotavivattana, S., & Oupadisskoon, C. (2005). Effect of Drying Conditions on Qualities of Dried Wampee [Clausena lansium (Lour.) Skeels]. Kasetsart Journal of Natural Science, 39, 416-423.
⦁ Wang, Y-S., He, H-P., Yang, J-H., Di, Y-T.,Tan, N-H., & Hao, X-J. (2009). Clausenain B, a Phenylalanine-rich cyclic octapeptide from Clausena anisum-olens. Journal of Brazilian Chemistry Society, 20(3), 478-481.
⦁ Pratheung C. 2006. Volatile components of the leaves, fruits and seeds of wampee[Clausena lansium (Lour.) Skeels]. Journal natural science. 39: 411-416.
⦁ Prasad, K. N., Xie, H., Hao, J., Yang, B., Qiu, S., Wei, X., Chen, F., & Jiang, Y. (2009). Antioxidant and anticancer activities of 8-hydroxypsoralen isolated from wampee [Clausena lansium (Lour.) Skeels]. peel. FoodChem, 4(73).
⦁ Chokeprasert, P., Charles, A. L., Sue, K-H., & Huang, T-C. (2007). Volatile components of the leaves, fruits and seeds of Wampee [Clausena lansium (Lour.) Skeels]. Journal of food Composition and Analysis, 20, 52-56.
⦁ Li, B-Y., Yuan, Y., Hu, J., Zhao, Q., Zhang, D., & Chen, N. (2011). Protective effect of Bu-7, a flavonoid extracted from Clausena lansium, against rotenone injury in PC12 cells. Acta Pharmacologica Sinica, 32, 1321-26.
⦁ Maneerat, W., Tha-in, S., Cheenpracha, S., Prawat, U., & Laphookhieo, S. (2011). New anmides from the seeds of Clausena lansium. Journal of Medicinal Plants Research, 5(13), 2812-15.
⦁ Zhao, J., Nan, P., & Zhong, Y. (2004). Chemical composition of the essential oils of Clausena lansium from Hainan Island, Chaina. Naturforsch, 59, 153-6.