ประยงค์ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

ประยงค์ งานวิจัยและสรรพคุณ 25 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ประยงค์
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ประยงค์บ้าน, ประยงค์ใบใหญ่ (ภาคกลาง), ขะยง, ยม, ขะยม (ภาคเหนือ), หอมไกล (ภาคใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Aglaia odorata Lour.
ชื่อสามัญ Chinese rice flower, Chinese perfume plant, Mock lemon
วงศ์ MELIACEAE


ถิ่นกำเนิดประยงค์

ประยงค์เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิเช่น ในประเทศไทย พม่า ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย รวมถึงในประเทศจีนตอนใต้ อินเดีย และศรีลังกา เป็นต้น โดยมักพบในบริเวณป่าดิบชื้น ป่าเบญจพรรณ หรือ ตามที่รกร้างว่างเปล่าริมแม่น้ำ ที่มีความสูง 10-700 เมตร จากระดับน้ำทะเลรวมถึงอาจพบตามชายทะเลที่มีชายฝั่งเป็นเลนได้อีกด้วย สำหรับในประเทศไทยพบได้ทั่วไปทุกภาคของประเทศ และยังมีหลักฐานของต้นประยงค์ในสมัยอยุธยา โดยปรากฏในวรรณคดีไทยสมัยอยุธยา เช่น ลิลิตรพระลอ ซึ่งเชื่อว่าแต่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ พ.ศ.2416 ยังได้อธิบายคำว่าประยงค์ ว่าประยงค์ เป็นชื่อต้นไม้อย่างย่อมอย่างหนึ่ง ใบคล้ายใบแก้ว มีดอก เป็นชาติไม้ป่า อีกด้วย

ประโยชน์และสรรพคุณประยงค์

  • ใช้นวดบรรเทาอาการปวดเมื่อย (น้ำมัน)
  • ใช้ในการทำให้อาเจียน
  • แก้ไข้
  • ใช่ถอนพิษเมาเบื่อ
  • ช่วยให้เจริญอาหาร
  • แก้อาเจียนอาหาร
  • แก้โรคท้องร่วง
  • รักษากามโรค
  • ใช้บำรุงหัวใจ
  • แก้ประจำเดือนมากกว่าปกติ
  • แก้ฟกช้ำ
  • รักษาฝีหนอง
  • ใช้ฟอกปอด
  • ช่วยเร่งการคลอด
  • แก้เวียนศีรษะ
  • ช่วยบรรเทาอาการไอ
  • ช่วยลดเสมหะ
  • ช่วยลดอาการอักเสบของลำคอ
  • แก้เมาค้าง
  • แก้ร้อนดับกระหาย
  • แก้อาเจียนเป็นเลือด
  • แก้แน่นหน้าอก
  • ใช่เป็นยาชูกำลัง (ราก)
  • ลดไข้ (ราก)
  • อาการคัน (ราก)

          เนื่องจากประยงค์เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยจึงถูกนำมาใช้ประโยชน์ต่างๆ ตั้งแต่ในอดีตแล้ว โดยถูกนำมาใช้ประโยชน์ ดอกประยงค์ มีกลิ่นหอมมาก จึงมีการนำมาอบเสื้อผ้าให้มีกลิ่นหอม ใช้ตากแห้งชงเป็นชา หรือใ ช้แต่งกลิ่นใบชา เช่น เดียวกับดอกมะลิเพื่อเพิ่มกลิ่นหอมของชา และยังมีการนำมาผสมในการหุงข้าวให้ข้าวมีกลิ่นหอม อีกด้วย

          นอกจากนี้ยังนิยมนำประยงค์ มาปลูกเป็นไม้ประดับตามอาคารตามบ้าน สวนสาธารณะต่างๆ หรือ ใช้ปลูกประดับรั้ว เนื่องจากเป็นไม้ที่มีทรงพุ่มสวยงาม และดอกมีกลิ่นหอมแรง กลิ่นลอยไปไกล ออกดอกให้ชมได้บ่อย และยังมีความแข็งแรงทนทาน ปลูกได้ง่าย และมีอายุยืนยาว อีกด้วย

ประยงค์   ประยงค์ 

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ประยงค์

ประยงค์ ใช้ช่วยเร่งการคลอด ฟอกปอด แก้อาการเมาค้าง แก้ไอ ทำให้หูตาสว่าง แก้ร้อนดับกระหาย อึดอัดแน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ ทำให้จิตใจปลอดโปร่ง โดยใช้ดอกมาตากแห้งใช้ 3-10 กรัม ต้มกับน้ำดื่ม หรือ ชงเป็นชาดื่มก็ได้ ใช้บำรุงหัวใจ แก้กามโรค ช่วยทำให้ประจำเดือนมาปกติ แก้อาการเมาค้าง ถอนพิษเบื่อเมา แก้อาการปวดศีรษะ ช่วยเจริญอาหาร โดยใช้ใบมาตากแห้ง แล้วใช้ 3-10 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม หรือ ชงเป็นชาดื่มก็ได้ ใช้แก้ปอดอักเสบ บรรเทาอาการไอ ลดเสมหะ ลดอาการอักเสบของลำคอ แก้โรคท้องร่วง โดยใช้เปลือก และแก่นลำต้นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาทำให้อาเจียนเมื่อมีอาการเมา หรือ เมาค้าง ช่วยลดไข้ ตัวร้อน ช่วยในการเจริญอาหาร และแก้อาเจียนเป็นเลือดโดยใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม

ลักษณะทั่วไปของประยงค์

ประยงค์ จัดเป็นไม้พุ่มกึ่งยืนต้นขนาดย่อมถึงขนาดใหญ่สูงประมาณ 4-7 เมตร ทรงพุ่มค่อนข้างกลมแตกกิ่งมากโดยกิ่งมีลักษณะเป็นกิ่งเรียบ หรือ แตกเป็นร่องยาวมีเกล็ดสีน้ำตาล หรือ สีเหลืองแก่ปกคลุม พบหนาแน่นบริเวณปลายยอดตาข้าง และกิ่งอ่อน
           ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกออกเรียงสลับแตกออกตามปลายกิ่ง มีใบย่อย 3-5 ใบ ใบมีลักษณะเป็นรูปรี หรือ รูปไข่กลับ กว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร ปลายใบมน โคนใบแหลม ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย ผิวใบเป็นสีเขียวเข้ม หลังใบและท้องใบเรียบ และมีก้านใบแผ่ออกเป็นปีก
           ดอก ออกเป็นช่อสั้นๆ ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร ในแต่ละช่อจะประกอบด้วยดอกย่อยเล็กๆ 10-20 ดอก เป็นดอกสมบูรณ์เพศ รูปร่างกลมเล็กคล้ายไข่ปลาสีเหลือง มีกลีบดอกสีเหลือง 5 กลีบ และกลีบรองกลีบสีเขียว 5 กลีบ ดอกย่อยมีกลิ่นหอมแรง
            ผล มีลักษณะรูปไข่ หรือ กลมรี ขนาดผลกว้าง 0.5-0.8 เซนติเมตร ยาว 1-1.5 เซนติเมตร เปลือกผลเรียบ ผลเป็นมัน ผลดิบมีสีเหลือง และค่อยเปลี่ยนเป็นสีส้ม หรือ ส้มแดง เมื่อสุกจัดจะเป็นสีแดงเข้ม
           เมล็ด มีลักษณะรูปไข่ เปลือกเมล็ดมีลักษณะสีน้ำตาล ทั้งนี้ 1 ผล จะมีเมล็ด 2 เมล็ด

ประยงค์

การขยายพันธุ์ประยงค์

ประยงค์สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยการเพาะเมล็ด การตอนกิ่งและการปักชำกิ่ง แต่วิธีที่นิยมคือการตอนและการปักชำกิ่งเพราะช่วยให้ได้ต้นพันธุ์ไม่สูง และต้นสามารถออกดอกได้หลังปลูก โดยการตอนกิ่งควรเลือก กิ่งที่จะนำมาตอนเป็นกิ่งสีน้ำตาล และเป็นกิ่งมีความอวบ ไม่ควรเลือกกิ่งแก่ที่มีความหยาบ แห้ง ส่วนวัสดุควรใช้ขุยมะพร้าวที่ได้จากการขยี้ แล้วจึงนำมาหมักด้วยน้ำนาน 1-2 วัน นำใส่ในถุงพลาสติก และรัดด้วยเชือกฟางก่อน ผ้าหุ้มบริเวณกิ่งตอน สำหรับการตอนประยงค์ จะใช้เวลาประมาณ 1.5-2 เดือน จึงจะเกิดราก และควรให้รากมีสีน้ำตาลก่อนค่อยตัดกิ่งลงปลูกลงดิน
          สำหรับการปักชำ กิ่งปักชำควรเลือกสีน้ำตาลที่มีความอวบ และตัดเป็นท่อนยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร ส่วนวัสดุที่ใช้ปักชำ ควรเป็นดินร่วนผสมกับวัสดุอินทรีย์ เช่น แกลบดำ โดยมีอัตราส่วน (ดิน: แกลบดำ) ที่ 1:2 โดยการปักชำจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน กิ่งประยงค์ ก็จะแทงยอดใหม่ และควรให้มีใบแล้ว 3-5 ใบ แล้วค่อยนำลงไปปลูก ทั้งนี้ทั้งการตอนกิ่ง และการปักชำประยงค์ ควรทำในฤดูฝน เนื่องจาก อากาศจะไม่ร้อน และมีน้ำฝนคอยให้น้ำตามธรรมชาติและหากต้องการให้ลำต้นเตี้ย และทรงพุ่มใหญ่หนา ควรทำการตัดแต่งกิ่งในทุกปี เพื่อให้ลำต้นแตกกิ่งมาก

องค์ประกอบทางเคมี

ประยงค์จัดเป็นพืชสมุนไพร ชนิดหนึ่งที่มีการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ อย่างกว้างขวาง โดยพบข้อมูลรายงานการวิจัยสารออกฤทธิ์สำคัญจากเกือบทุกส่วนของพืช ได้แก่ ใบ ดอก กิ่ง และราก ดังนี้ ในส่วนใบพบสาระสำคัญหลายกลุ่มด้วยกัน อาทิเช่น

  • สารกลุ่ม Flavagline เช่น desmethylrocaglamide, methylrocaglate, rocaglamide, rocaglaol, pyrimidone, aglaiastatin และ aglaxiflorin D
  • สารกลุ่ม bisamide เช่น odorine และ odorinol สารกลุ่ม odorineและodorinol
  • สารกลุ่ม dolabellane diterpenoid เช่น (1R,3E,7E,10S,11S,12R)-dolabella-3, 7-dien-10,18-diol, (1R,3S,7E,11S,12R)-d o l a b e l l a - 4, 7 - d i e n - 3 , 1 8 - d i o l ,(1R,7E,11S,12R)-18-hydroxydolabella-4, 7-dien-3-one
  • สารกลุ่ม Triterpenoid เช่น cyclodammarane, 21,25-cyclodammar-20-ene-3β,24α-diol, dammar-20, 25-diene-3β,24-diol, dammar-20-ene-3β, 24, 25-triol และ 24(R),25-dihtdroxydammar-20-en-3-one
  • สารกลุ่ม flavonoid เช่น narindenin trimetyl ether, 7, 4’-O-dimetylnaringenin,4’, 5, 7-trimethoxydihydroflavonol, 4’, 5, 7-trimethoxyflavan-3,4-diol, 4’, 5, 7-tri-O-metylhaempferol, flavokawain-A
  • สารกลุ่ม Lignan เช่น eudesmin และ syringaresinol 

           สำหรับในดอกประยงค์จะพบสารสำคัญส่วนใหญ่เป็นสารกลุ่ม Flavaglin เช่น N-butanoyldidesmetyl-rocaglamide, desmetylrocaglamide, didesmetylrocaglamide, C-3’-hydroxy demetylrocaglate สาระสำคัญที่พบในน้ำมันหอมระเหยจากดอกประยงค์ส่วนใหญ่เป็นสารในกลุ่ม Sesquiterpene เช่น δ-cadinene, germacrene D, α-humulen, ϒ-elemene, α-copaene, (E)-β-fernesene, β-elemene, caryophyllene, β-humulene, β-humulene-7-ol, α-cubebene, bicycloelemene, calamenene, calacorene, epi-cubebol, cubebol, caryophyllene epoxide, humuladienone, ledol, epi-cubenol, humulene epoxide l, humulene epoxide ll, T-cadinol, humulol, δ-cadinol, cadienenol, caryophyllenol และ humulenol
           อีกทั้งสาระสำคัญในกิ่งประยงค์  ส่วนใหญ่เป็นสารในกลุ่ม Flavagline เช่น C-1-O-acetyl-3’-hydroxyrocaglamide, C-3’-hydroxydemethylrocaglamide, C-3’-hydroxydidesmethylrocaglamide, C-3’-hydroxyrocaglamide, C-3’-hydroxymethyl rocaglate, C-3’-methoxyrocaglamide, C-1-oxime-C-3’-methoxymethylrocaglate, rocaglamide, desmethyl rocaglamide, 8-methoxy marigarin และ marigarin รวมทั้งมีรายงานพบสารกลุ่ม Coumarin คือ 7-hydroxy-6-methoxy-coumarin อีกด้วย นอกจากนี้ในส่วนเปลือกรากของประยงค์ยังพบว่ามีสาระสำคัญในกลุ่มของ Flavagline เช่น desmethyl rocaglamide, rocaglamide และ rocaglaol สารกลุ่ม flavonoid เช่น 5-hydroxy-4’,7-dimethoxydihydroflavone และ 2’-hydroxy-4,4’,6’-trimethoxychalcone สารกลุ่ม steroid เช่น β-sitosterol, และ 3-didroxycholest-5-en-24-one เป็นต้น

โครงสร้างประยงค์

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของประยงค์

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของประยงค์ ดังนี้
          ฤทธิ์ต้านไวรัส (Antiviral activity) มีการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของประยงค์ พบว่าประยงค์มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อไวรัสได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวรัสโรคเริมไทป์ (Herpes simplex virus type HSV-1) ซึ่งเป็นดีเอ็นเอไวรัสในวงศ์ Herpesviridae โดยพบว่าสารสกัดด้วยเอทานอลของประยงค์แสดงฤทธิ์ในการยับยั้งการสะสมของแผ่นคราบเชื้อไวรัส HSV-1 ได้มากกว่า 50% ที่ความเข้มข้น 100 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร และสารสกัดดังกล่าวยังมีประสิทธิภาพในการกำจัดรอยโรคจากการติดเชื้อไวรัส HSV-1 บริเวณผิวหนังของหนูทดลอง และลดอัตราการตายของหนูทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้มีการติดเชื้อไวรัส HSV-1 บริเวณผิวหนังได้อย่างมีนัยสำคัญ
         ฤทธิ์ต้านมะเร็ง (Anticancer activity) มีการศึกษาวิจัยทางด้านเภสัชวิทยาเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านมะเร็งของประยงค์พบว่าสารสกัดจากประยงค์ แสดงความเป็นพิษกับเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยฤทธิ์ในการยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนของสารกลุ่ม Flavagline 3 ชนิด ได้แก่ สาร Rocaglaol, Aglaiaastatin และ Pyrimidone ซึ่งสกัดแยกจากสกัดหยาบด้วยคลอโรฟอร์จากส่วนใบของประยงค์พบว่าสารเหล่านี้สามารถยับยั้งการกลายพันธุ์ของเซลล์ K-ras ซึ่งเป็นเซลล์ปกติที่เปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์มะเร็งได้ หากมีการกลายพันธุ์ (proto-oncogene) และเหนี่ยวนำให้เกิดการเจริญแบบปกติของเซลล์ K-ras และยังมีรายงานการศึกษากลไกลเกี่ยวกับความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ของสาร Aglaiastatin พบว่า สารดังกล่าวมีประสิทธิภาพสูงในการเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเกิดผ่านกลไกการยับยั้งวงจรการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งลำไส้ระยะก้าวหน้า ในขณะที่มีการแบ่งเซลล์แบบไมโทซีส (Mitosis) ระยะโพรเฟส (Prophase) และยังเหนี่ยวนำให้เกิดการตายของเซลล์ (Apoptosis) มะเร็งลำไส้ใหญ่อีกด้วย
           นอกจากนี้ ยังมีรายงานฤทธิ์ต้านมะเร็งของสารกลุ่มอื่นๆ ที่แยกจากประยงค์ เช่น สารกลุ่ม Bisamide ได้แก่ Odorin และ Odorinaol โดยพบว่าสารประกอบเหล่านี้ แสดงฤทธิ์ในการยับยั้งการเกิดมะเร็งผิวหนังของหนูทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดมะเร็งระยะที่ 1 และระยะที่ 2 โดยเคมีบางชนิดได้แก่ 7,12-dimethylbenz anthracene (DMBA), Peroxynitrite และ 12-O-tetradecanoylphorbol-13-acetate (TPA) โดยกระบวนการเกิดมะเร็งมี 3 ขั้นตอน คือ ระยะเริ่มกำหนด (initiation) ระยะส่งเสริม (Promotion) และระยะก้าวหน้า (Progression) จากรายงานการศึกษาสรุปได้ว่า Odorine และ Odorinol มีฤทธิ์ในการยับยั้งมะเร็งผิวหนัง ทั้งในระยะเริ่มกำหนดและระยะส่งเสริม

การศึกษาทางพิษวิทยาของประยงค์

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้ประยงค์เป็นสมุนไพร ในตำรายาไทยได้ระบุถึงข้อห้ามใช้ประยงค์เป็นสมุนไพร ในสตรีมีครรภ์ เนื่องจากอาจทำให้เกิดภาวะแท้งบุตรได้ ส่วนผู้มีร่างกายแข็งแรงก็ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่เหมาะสม โดยไม่ควรใช้มากเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ สำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังรวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้ประยงค์ เป็นยาสมุนไพร ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกครั้ง

เอกสารอ้างอิง ประยงค์

⦁ เต็ม สมิตินันทน์. (2544). ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544. กรุงเทพฯ: สวนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้.
⦁ พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ.ประยงค์ หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. หน้า 132.
⦁ นันทวัน บุญยะประภัศร; และ อรนุช โชคชัยเจริญพร. (2539). สมุนไพรไม้พื้นบ้าน 2. กรุงเทพฯ: ประชาชน.
⦁ พร้อมจิต ศรลัมภ์; รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล; วงศ์สถิต ฉั่วกุล; อาทร ริ้วไพบูลย์; สมภพ ประธานธุรารักษ์; จุฑามณี สุทธิสีสังข์; และคณะ. (2539). หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง.
⦁ ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. (ประยงค์ Prayong). หนังสือสมุนไพรไทยเล่ม 1. หน้า 169.
⦁ เดชา ศิริภัทร. (2545). ประยงค์ช่อน้อยลอยกลิ่นไกล. หมอชาวบ้าน. 23(273): 48-49.
⦁ นันทิยา จ้อยชะรัด, นันท์นภัส เพชรวรพันธ์, บุญหลง ตุ้ยสุข, รัตนาวดี ศรีนวล. พืชสมุนไพรไทย: ประยงค์ (Aglaia adorata Lour.) วารสารมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ปีที่ 5. ฉบับที่ 9 มกราคม-มิถุนายน 2556. หน้า 93-110.
⦁ วุฒิ วุฒิธรรมเวช. (2540). รวมหลักเภสัชกรรมไทย. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.
ประยงค์สรรพคุณ และการปลูกประยงค์. พืชเกษตรดอทคอม เว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก ⦁ http://www.puechkaset.com.
⦁ Nugroho BW; Edrada RA; Wray V; Witte L; Bringmann G; Gehling M; et al. (1999). An insecticidalrocaglamide derivatives and related compounds from Aglaia odorata (Meliaceae).Phytochemistry. 51: 367-376.
⦁ Inada A; Nishino H; Kuchide M; Takayasu J; Mukainaka T; Nobukuni Y; et al. (2001).Cancer chemopreventive activity of odorine and odorinol from Aglaia odorata. Biol PharmBull. 24(11): 1282-1285.
⦁ Hausott B; Greger H; and Marian B. (2004). Flavaglines: A group of efficient growth inhibitorsblock cell cycle progression and induce apoptosis in colorectal cancer cells. Int J Cancer.109: 933-940.
⦁ Prats SM; and Jimenez A. (2005). Essential oil: analysis by GC. 2nd ed. CRC Press.
⦁ Christophe Wiart. (2006). Medicinal Plants of Asia and the Pacific. USA: CRC Press.
⦁ Lipipun V; Kurokawa M; Suttisri R; Taweechotipatr P; Pramyothin P; Hattori M; et al. (2005).Efficacy of Thai medicinal plant extracts against herpes simplex virus type 1 infectionin vitro and in vivo. Antivir Res. 67: 107-119.
⦁ Cai XH; Wang YY; Zhao PJ; Li Y; and Luo XD. (2010). Dolabellane diterpenoids fromAglaia odorata. Phytochemistry. 71: 1020-1024.
⦁ Hayashi N; Lee KH; Hall IH; Mcphail AT; and Huang HC. (1982). Structure and stereochemistryof (-)-odorinol, an antileukemic diamide from Aglaia odorata. Phytochemistry. 21: 2371-2373.
⦁ Ishibashi F; Satasook C; Isman MB; and Towers GHN. (1993). Insecticidal 1H-cyclopentatetrahydro[b]benzofurans from Aglaia odorata. Phytochemistry. 32: 307-310.
⦁ Cai XH; Luo XD; Zhou J; and Hao XJ. (2005). Compound representatives of a new type oftriterpenoid from Aglaia odorata. Organic Lett. 7(14): 2877-2879.