ถั่วแดงหลวง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

ถั่วแดงหลวง งานวิจัยและสรรพคุณ 21 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ถั่วแดงหลวง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ถั่วแดง, ถั่งแดงใหญ่, ถั่วไตแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Phaseolus vulgaris Linn.
ชื่อสามัญ Kidney bean, Red kidney bean
วงศ์ LEGUMINOSAE

ถิ่นกำเนิดถั่วแดงหลวง

เดิมทีถั่วแดงหลวง เป็นพืชพื้นถิ่นของทวีปอเมริกาใต้ ที่มีถิ่นกำเนิดในบริเวณเทือกเขาแอนดีส จากนั้นการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังทวีปแอฟริกา ยุโรป ออสเตรเลีย และเอเชีย สำหรับในประเทศไทย ถั่วแดงหลวงถูกนำเข้ามาปลูกครั้งแรกโดยโครงการหลวง เมื่อปี พ.ศ.2514 โดยหม่อมเจ้าภีศเดช รัศนี เพื่อส่งเสริมให้ชาวเขาในภาคเหนือปลูกเป็นพืชทดแทน ฝิ่น  ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวต้องย้อนไปเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชการลที่ 9) ทรงเสด็จประพาสต้นบนดอยเมื่อปี พ.ศ.2512 เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นการปลูกฝิ่นของชาวเขา จึงมีรับสั่งให้หาพืชมาปลูกทดแทน โดยหม่อมเจ้าภีศเดช รัศนี ซึ่งตามเสด็จไปถวายงานได้เสนอว่าควรให้ชาวเขาทดลองปลูกถั่วแดง(Red kidney bean)

ประโยชน์และสรรพคุณถั่วแดงหลวง

  • ช่วยบำรุงหัวใจ เกี่ยวกับอาการใจสั่น
  • ช่วยในการบำรุงลำไส้
  • ช่วยบำรุงระบบประสาท
  • ช่วยลดอาการบวมน้ำ
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • ช่วยปรับสภาพเลือด
  • ช่วยขับพิษ
  • ช่วยกำจัดหนอง
  • ช่วยบรรเทาอาการปวด บวม
  • ช่วยบำบัดอาการประจำเดือนมาผิดปกติ
  • ช่วยบำรุงมดลูก
  • ช่วยกระตุ้นการขับถ่าย
  • ช่วยป้องกันอาการท้องผูก
  • รักษาอาการชาตามนิ้วมือ นิ้วเท้า
  • ช่วยบรรเทาอาการปวดตามข้อ
  • ช่วยลดคลอเรสเตอรอลในเลือด
  • ช่วยลดความดันโลหิต
  • ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
  • ช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้
  • ช่วยต้านอนุมูลอิสระ
  • ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเส้นเลือดในสมองปริแตก

          ถั่วแดงหลวง เป็นพืชที่เป็นแหล่งอาหารของมนุษย์มาช้านานแล้ว โดยการรับประทานจะเป็นการรับประทานในรูปแบบการปรุงสุกทั้งในประเภทอาหารคาว หรือ ของหวาน
          สำหรับในประเทศไทยส่วนใหญ่แล้วจะนำถั่วไปใช้ทำเป็นไส้ขนมต่างๆ และยังมีขนมเมนูถั่วแดง เช่น ถั่วแดงกวน น้ำถั่วแดง วุ้นถั่วแดงกวน เค้กชาเขียวถั่วแดง โดรายากิ ถั่วแดงอัดเม็ด ฯลฯ รวมถึงยังใช้ทำเป็น แป้งถั่วแดง ได้อีกด้วย อีกทั้งโปรตีนที่ได้จากถั่วแดงนั้นมีคุณค่าทางอาหารเทียบเท่ากับเนื้อสัตว์ อีกทั้งแถมยังไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพอีกด้วย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ถั่วแดงหลวง

สำหรับรูปแบบและขนาดที่เหมาะสมในการรับประทาน ใช้ถั่วแดงหลวงนั้น โดยส่วนมากแล้วการใช้ประโยชน์จากถั่วแดงหลวงนั้นจะเป็นการบริโภคทั้งในรูปแบบอาหารคาว หวาน หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากถั่วแดงหลวงมากกว่าการใช้ประโยชน์อย่างอื่น ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์ในการบริโภคถั่วแดงหลวง แต่อย่างใด มีเพียงแต่คำแนะนำว่า ควรบริโภคเพียงสัปดาห์ละ 2-3 ครั้งเท่านั้น

ลักษณะทั่วไปถั่วของแดงหลวง

ถั่วแดงหลวง จัดเป็นพืชล้มลุกฤดูเดียว ลำต้น มีลักษณะตั้งตรง สูงประมาณ 40-65 เซนติเมตร และแตกกิ่งแขนงออกเป็นทรงพุ่มเตี้ยๆ คล้ายกับลำต้นถั่วเหลือง ใบ เป็นใบประกอบ โดยจะออกเรียงกันตามข้อกิ่ง แต่ละใบมีก้านใบทรงกลม มีขอบโค้งงุ้ม และเป็นร่องตรงกลาง ถัดมาเป็นใบย่อย จำนวน 3 ใบ ซึ่งใบย่อยคู่แรกอยู่ตรงข้ามกัน ส่วนอีกใบอยู่ตรงกลาง ส่วนใบย่อยแต่ละใบเป็นรูปหอก มีขนาดไม่เท่ากัน กว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร ลักษณะโคนใบกว้าง ปลายใบแหลม แผ่นใบ และขอบใบเรียบ สีเขียวสด และมีขนปกคลุม แผ่นใบมีเส้นใบหลัก 3 เส้น ดอกเป็นช่อ เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ แผ่นกลีบดอกมีสีขาว หรือ สีชมพู ขึ้นกับสายพันธุ์ แผ่นกลีบ และขอบกลีบย่น ปลายกลีบโค้งมนและมีกลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อนใต้ฐานดอก 5 กลีบ ผล หรือ ฟักเป็นรูปทรงกระบอก เรียวยาว คล้ายฝักถั่วเหลือง กว้างประมาณ 1.2-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร ฝักอ่อนมีสีเขียว ฝักแก่มีสีน้ำตาลอ่อนหรือสีดำ เมล็ดเป็นรูปทรงคล้ายไต โดยในฝักหนึ่งจะมี 3-6 เมล็ด ขนาดเมล็ดกว้างประมาณ 0.4-0.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตร เมล็ดอ่อนมีสีขาว แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นสีเขียว และแก่เต็มที่เป็นสีแดง สีแดงเข้ม สีแดงชมพู ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์

ถั่วแดงหลวง 

ถั่วแดงหลวง

การขยายพันธุ์ถั่วแดงหลวง

ถั่วแดงหลวงสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด โดยมีวิธีการปลูกอยู่ 2 แบบ คือ การหว่านเมล็ดและการหยอดเมล็ด แต่วิธีที่เกษตรกรนิยมใช้คือวิธีการหว่าน เนื่องจากสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และค่าแรงได้มาก โดยมีวิธีการ คือ หว่านเมล็ดลงแปลงหลังไถพรวนครั้งที่ 2 จากนั้น ไถคราดเกลี่ยหน้าดินให้กลบเมล็ด ส่วนวิธีการปลูกแบบหยอดเมล็ดมีวิธีการ คือ ทำการหยอดเมล็ดเป็นแถว หลุมละ 2-3 เมล็ด โดยมีระยะห่างระหว่างหลุม และแถวประมาณ 80-100 เซนติเมตร
           ทั้งนี้ถั่วแดงหลวง จะสามารถเติบโตได้ในพื้นที่ที่มีระดับความสูง 800-1,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และมีอุณหภูมิในช่วง 19-23 ºC อีกทั้งยังเป็นพืชที่ชอบดินร่วนที่มีความอุดมสมบูรณ์ ระบายน้ำดี ดินไม่ชื้นแฉะหรือไม่มีน้ำขัง และเป็นกรดเล็กน้อย ดังนั้นการปลูกถั่วแดงหลวง จึงนิยมควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝนจนถึงเกือบปลายฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม-กันยายน ซึ่งจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ในช่วงกลางฤดูฝนจนถึงฤดูหนาว

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของเมล็ดถั่วแดงหลวง ระบุว่าพบสารสำคัญหลายชนิด อาทิเช่น galactosyl – sucrose, saponin, phytic acid, folic acid, anthocyanin, molybdenum, thiamine, purine และ phytohaemayglutinin เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการระบุถึงคุณค่าทางโภชนาการของถั่วแดง ดังนี้ 

คุณค่าทางโภชนาการของถั่วแดง (100 กรัม) 

พลังงาน 337 กิโลแคลอรี่

โครงสร้างถั่วแดงหลวง  

การศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของถั่วแดงหลวง

มีผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของถั่วแดงหลวง ระบุว่ามีฤทธิ์ต่างๆ ดังนี้
           ฤทธิ์ลดการโตผิดปกติของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ มีผลการศึกษาผลของสารสกัดด้วยอะซิโตน (70): น้ำ(29.5): กรดอะซิติก (0.5) จากถั่วแดง ในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจของหนูแรทและคนซึ่งถูกเหนี่ยวนำให้โตผิดปกติ (hypertrophy) ด้วย angiotensin II พบว่าเมื่อให้สารสกัดจากถั่วแดงเข้มข้น 25, 50 และ 100 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร สามารถลดการโตผิดปกติของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจของหนูได้ 18, 28 และ 36% ตามลำดับ และสารสกัดจากถั่วแดง เข้มข้น 12.5, 25 และ 50 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร สามารถลดการโตผิดปกติของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจของคนได้ 9, 17 และ 25% ตามลำดับ นอกจากนี้พบว่าสารสกัดจากถั่วแดงประกอบด้วย phenolic acid 13 ชนิด และ flavonoids 2 ชนิด และมีค่าการต้านอนุมูลอิสระเท่ากับ 105 ไมโครโมลโทรลอกซ์/กรัม ของสารสกัดจากถั่วแดง ซึ่งเมื่อทดสอบผลของสารสกัดถั่วแดงต่อการยับยั้งการสร้างอนุมูลอิสระในกลุ่มของ reactive oxygen species (ROS) จากการเหนี่ยวนำด้วย angiotensin II ในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจของหนูและคน พบว่าสารสกัดจากถั่วแดงเข้มข้น 100 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร สามารถยับยั้ง ROS ในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจของหนูได้ 33% และ สารสกัดจากถั่วแดงเข้มข้น 50 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร สามารถยับยั้ง ROS ในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจของคนได้ 22% แสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากถั่วแดงสามารถลดการโตผิดปกติของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจของหนูและคนซึ่งถูกเหนี่ยวนำด้วย angiotensin II โดยผ่านการลดการสร้างอนุมูลอิสระในเซลล์
           ฤทธิ์ขับสารพิษ มีการศึกษาวิจัยระบุว่าในถั่วแดงหลวงมีสารที่ชื่อ โมลิบดีนัม (Molybdenum) ซึ่งสารดังกล่าวนี้จะมีฤทธิ์ในการช่วยขับสารพิษในกลุ่มซัลไฟต์ (sulfites) ออกจากร่างกายได้ และก็ยังช่วยทำความสะอาดลำไส้และระบบทางเดินอาหาร ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งที่ลำไส้ได้อีกด้วย
           นอกจากนี้ถั่วแดงหลวงยังมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ อีกเช่น ฤทธิ์ลดความดันโลหิต ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ลดคลอเรสเตอรอลในเลือด และฤทธิ์บำรุงประสาทและสมอง เป็นต้น

การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของถั่วแดงหลวง

มีผลการศึกษาวิจัยความเป็นพิษของถั่วแดงหลวง ระบุว่าในเมล็ดถั่วแดงหลวงมีสาร phytohaemag gtutinin อยู่สามารถ (70,000 hau) ซึ่งเป็นสารเลคตินชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดพิษในมนุษย์ได้ แต่ทั้งนี้มีวิธีที่จะกำจัดสารชนิดนี้ ให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายได้ (200-400 hau) โดยต้องทำการแช่เมล็ดถั่ว 5 ชั่วโมง จากนั้นจึงนำไปปรุงด้วยความร้อนสูงอย่างน้อย 30 นาที

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ถั่วแดงหลวง ดิบมีสารชื่อ ไฟโตฮีแมกกลูตินิน (Phytohaemagglutinin) ซึ่งเป็นสารที่มีพิษ ที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วง อาเจียน หรือ ก่อให้เกิดอาการแพ้ ดังนั้นจึงไม่ควรกินถั่วแดงหลวงแบบดิบ และก่อนรับประทานถั่วแดงควรปรุงให้ถูกวิธี โดยแช่ถั่วแดงในน้ำอย่างน้อย 5 ชั่วโมง ก่อนนำไปปรุงให้สุกที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 30 นาที จึงมีความปลอดภัย
             ผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง ไม่ควรรับประทานถั่วแดงหลวง เพราะถั่วแดงเป็นอาหารที่โปรตีนและฟอสฟอรัส สูง ซึ่งไม่เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรัง ถั่วแดงหลวงมีสารพิวรีน (Purine) ในระดับปานกลาง ดังนั้นผู้ป่วยโรคเกาต์ควรรับประทานในปริมาณที่จำกัด เพราะสารดังกล่าวอาจเป็นตัวกระตุ้นทำให้อาการของข้ออักเสบกำเริบขึ้นได้

เอกสารอ้างอิง ถั่วแดงหลวง

⦁ สุมินทร์ สมุทคุปติ์.ถั่วแดงหลวง.วารสารกสิกรปีที่ 58.ฉบับที่ 6 พฤศจิกายน - ธันวาคม 2528.หน้า 479-483
⦁ สารสกัดจากถั่วแดงลดการโตผิดปกติของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจจากการเหนี่ยวนำด้วย angiotensin ∏.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.อาหารเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
⦁ ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย.2544.กองโภชนาการกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข
⦁ ถั่วแดง/ถั่วแดงหลวง ประโยชน์และสรรพคุณถั่วแดงหลวง.พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก ⦁ http://www.puechkaset.com