ตองแตก ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

ตองแตก งานวิจัยและสรรพคุณ 22 ข้อ

ชื่อสมุนไพร ตองแตก
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ทนดี, ถ่อนดี, เปล้าตองแตก (ภาคกลาง), ลองปอม, นางป้อม (เลย), ตองแต่ (ประจวบคีรีขันธ์), หญ้าบูเวอ, หญ้าโบเว่อ (ไทยใหญ่), โทะโคละ, พอบอเจ๊าะ (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Baliospermum monyanum (Willd.) Muell. Arg
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Baliospermum solanifolium (Burm.) Suresh
วงศ์ EUPHORBIACEAE


ถิ่นกำเนิดตองแตก

ตองแตก เป็นพรรณพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย อาทิเช่น ภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นพืชที่มีเขตการกระจายพันธุ์กว้างขวางซึ่งสามารถพบได้ใน อินเดีย ศรีลังกา ปากีสถาน บังกลาเทศ ลงมาจนถึงพม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม รวมถึงคาบสมุทรมาเลเซีย เช่น เกาะสุมาตรา บอเนียว ชวา สุราเวศรี มาลูกู เลสเซอร์ และเกาะซานดร้า ส่วนในประเทศไทยสามารถพบ พืชชนิดนี้ในป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และที่รกร้างทั่วไปที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลถึง 700 เมตร

ประโยชน์และสรรพคุณตองแตก

  1. ใช้เป็นยาถ่าย
  2. ใช่ถ่ายพิษพรรณดึก
  3. ช่วยถ่ายลม
  4. ช่วยถ่ายเสมหะเป็นพิษ
  5. แก้โรคริดสีดวงทวาร
  6. แก้โลหิตจาง
  7. แก้บวมน้ำ
  8. ช่วยขับปัสสาวะ
  9. แก้ดีซ่าน
  10. ช่วยถอนพิษไข้
  11. แก้จุกเสียด
  12. แก้ม้ามอักเสบ
  13. แก้ตับอักเสบ
  14. ช่วยถ่ายพยาธิ
  15. แก้หอบหืด
  16. แก้ฟกบวมช้ำ
  17. แก้โรคกระเพาะ
  18. รักษาโลหิตจาง
  19. ใช้ขับเหงื่อ
  20. แก้ปวดตามข้อ
  21. แก้ร้อนใน
  22. แก้ปวดฟัน

ตองแตก

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ตองแตก

ใช้ถ่ายเสมหะพิษ ขับเสมหะ ขับลม ถ่ายพิษพรรดึก ถ่ายพยาธิ แก้ริดสีดวงทวาร แก้ตับอักเสบ ดีซ่าน ม้ามอักเสบ รักษาโลหิตจาง ใช้เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ ถ่ายลมพิษ โดยใช้รากตองแตก 1 หยิบมือ ต้มกับน้ำ 1 ถ้วย แล้วดื่มแก้หอบหืด เป็นยาระบาย แก้โรคกระเพาะอาหาร ถอนพิษไข้ ถ่ายพยาธิ แก้ร้อนใน ขับเหงื่อ โดยใช้ใบตองแตก 2-4 ใบ มาต้มกับน้ำใส่เกลือเล็กน้อยดื่ม ใช้แก้ปวดฟันโดยใช้ผลตองแตก มาทาที่ฟันซี่ที่ปวด ใช้พอกแผลห้ามเลือด แก้ฟกช้ำโดยใช้ใบตำให้แหลกแล้วนำมาพอก หรือ ประคบบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปตองแตก

ตองแตก จัดเป็นไม้พุ่ม ขนาดเล็ก สูงได้ถึง 2 เมตร ต้นมักจะแตกแขนงจากราก หรือ โคนต้นลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร เปลือกต้นสีน้ำตาล ใบ เป็นใบเดี่ยวออกแบบเรียงสลับ ใบรูปหอก รูปไข่ หรือ รูปวงรีแกมขอบขนาน กว้าง 3-10 เซนติเมตร ยาว 8-12 เซนติเมตร ใบบริเวณโคนต้นมักมีขอบหยักเว้าเป็น 3-5 แฉก ปลายแฉกมน หรือ แหลม ใบมีขนแข็งเอนทั้งสองด้าน ฐานใบมน ขอบใบจักฟันเลื่อย หรือ หยักมน ดอก ออกเป็นช่อหรือช่อกระจะโปร่ง เล็กเรียว ออกตามซอกใบ และปลายกิ่งเป็นแบบดอกแยกเพศร่วมต้น โดยช่อดอกจะยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร ส่วนดอกย่อยดอกเพศผู้มีหลายดอกจะอยู่ด้านบนของช่อมีลักษณะกลม ก้านดอกเล็กเรียว ไม่มีกลีบดอกแต่มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปกลม หรือ รูปไข่ โคนเชื่อมติดกัน เกสรเพศผู้มี 10-12 อัน ส่วนดอกเพศเมียมักจะออกที่โคนช่อมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่ หรือ รูปสามเหลี่ยม ขอบจักร ด้านนอกมีขนนุ่มสั้น มีรังไข่เหนือวงกลีบ ลักษณะกลมมี 3 พู แต่ละพูมีออวุล 1 เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียแยกออกเป็น 2 แฉก ลักษณะม้วนออก เป็นแบบผลแห้ง รูปร่างกลม ผลเป็นสีเขียว มีลักษณะเป็นพู 3 พู ปลายผลเว้า หรือ บุ๋ม มีก้านเกสรเพศเมียติดอยู่ที่ปลายผล 2 อัน โคนผลกลมมีลักษณะเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.8-1.3 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงติดอยู่ที่ขั้วผล เมื่อแก่แล้วจะแตกออกตามยาวที่กลางพู แต่ละพูจะมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดเล็ก รูปไข่ หรือ รูปขอบขนานมีสีน้ำตาล เนื้อคล้ายหินอ่อน มีจุกขั้ว

ตองแตก

การขยายพันธุ์ตองแตก

ตองแตกสามารถขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และการปักชำ แต่วิธีที่นิยมในปัจจุบัน คือ การปักชำเพราะทำให้ขยายพันธุ์ได้เร็ว ไม่ยุ่งยาก ทำได้โดยการตัดกิ่งแก่ของตองแตก 8-10 นิ้ว ปักชำในถุงเพาะชำที่มีดินผสมกับขี้เถ้าแกลบเอาไว้ในเรือนเพาะชำ รดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ ประมาณ 3-4 สัปดาห์ จะออกต้นใหม่ เมื่อตองแตก ที่ชำในถุงเพาะชำ อายุประมาณ 3-6 เดือน ลำต้น และรากเจริญเติบโตได้ดีก็สามารถนำลงปลูกได้ในหลุมที่เตรียมไว้ สำหรับการเตรียมดิน และการปลูกมีวิธีการดังนี้ ขุดหลุมกว้าง 40 เซนติเมตร ยาว 40 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมักก็ได้ ระยะระหว่างหลุมให้ห่างกันประมาณ 1-5 เมตร จากนั้นจึงนำกล้าตอแตกปลูกลงไปแล้วกลบดินหลุมพูนโคนไม่ให้น้ำขัง ปักไม้ช่วยพยุงต้น และผูกเชือกรดน้ำให้ชุ่ม ทั้งนี้ตองแตกสามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล เนื่องจากเป็นพรรณไม้ที่ทนทานต่อความแห้งแล้ง และมีอายุอยู่ได้นาน แต่ส่วนมากแล้วจะนิยมปลูกในฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม มากกว่า

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนรากของตองแตก ที่มีการนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรพบว่ามีสาระสำคัญในกลุ่ม phorbol ester หลายชนิด เช่นสาร montanin, axillarenic acid, baliospermin, 12-deoxyphorbol-13-polmitate, 12-deoxy-5β-hydroxyphorbal-13-myristate และ 12-deoxy-16-hydroxyphorbol-13-palmitate ส่วนการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งพบว่าสารสกัดน้ำและแอลกอฮอล์จากรากของตองแตก ยังมีสาระสำคัญอีกหลายกลุ่มอาทิเช่น ไกลโคไซด์ (glycosides), ฟลาโวนอยด์ (flavonoids), แทนนิน (tannins), และไตรเทอร์พีนอยด์ (triterpenoids) เป็นต้น

โครงสร้างตองแตก

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของตองแตก

มีผลการศึกษาทางเภสัชวิทยาจากส่วนรากของตองแตกพบว่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้

           ฤทธิ์ต้านมะเร็ง มีการทดสอบฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว ของสารกลุ่ม phorbol esters 5 ชนิด ที่แยกได้จากรากตองแตก ได้แก่ montanin, baliospermin, 12-deoxyphorbol-13-palmitate, 12-deoxy-16-hydroxyphorbol-13-palmitate และ 12-deoxy-5β-hydroxyphorbol-13-myristate พบว่าสารทั้ง 5 ชนิด ให้ผลต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาว lymphocytic leukaemia P-388 ในหลอดทดลอง ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่าความเข้มข้นต่ำที่สุดในการยับยั้ง (ED50) เท่ากับ 0.06-3.4 µg/ml

           ฤทธิ์ปกป้องเซลล์ตับ มีการทดสอบฤทธิ์ปกป้องเซลล์ตับโดยใช้สารสกัด chloroform, alcohol และน้ำ จากรากตองแตก ทดสอบกับหนูทดลองที่ได้รับการกระตุ้นให้เซลล์ตับถูกทำลายด้วยการป้อนยาพาราเซตามอลทางปาก ขนาด 2 g/kg โดยให้สารสกัดกับหนูแรทเป็นเวลา 7 วัน ใช้ยา silmarin ขนาด 200 mg/kg เป็นสารมาตรฐาน จากการทดสอบพบว่าสารสกัด alcohol และน้ำ สามารถลดระดับเอนไซม์ตับ ได้แก่ serum enzyme aspartate aminotransferase (AST), alanine aminotransferase (ALT), alkaline phosphatase (ALP), γ-glutamyl transpeptidase และ lipid peroxidase ซึ่งแสดงถึงการลดการทำลายเซลล์ตับ และพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระที่ตับ ได้แก่ reduced glutathione (GSH) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาพาราเซตามอลเพียงอย่างเดียว ในขณะที่สารสกัด chloroform มีฤทธิ์ปกป้องเซลล์ตับได้ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับสารมาตรฐาน นอกจากนี้สารสกัด alcohol และน้ำ สามารถปกป้องเนื้อเยื่อตับจากการถูกทำลายโดยยาพาราเซตามอลได้ เมื่อเปรียบเทียบกับสารมาตรฐาน

           ฤทธิ์ต้านปรสิต มีการทดสอบฤทธิ์ต้านปรสิตโดยใช้สารสกัดน้ำ และ alcohol จากรากตองแตก ที่ความเข้มข้นตั้งแต่ 10-100 mg/ml ทดสอบกับพยาธิตัวกลม Ascardia galli และพยาธิไส้เดือน Pheretima posthuma พบว่าสารสกัดจากตัวทำละลายทั้งสองชนิดมีฤทธิ์ต้านปรสิตทั้งสองชนิดได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับความเข้มข้น 100 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร โดยทำให้ปรสิตสลบ (paralysis) และตาย โดยเปรียบเทียบกับยามาตรฐาน piperazine citrate (10 mg/ml)

           นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการศึกษาวิจัยพรีคลินิกพบว่า สารสกัดน้ำ และสารสกัดแอลกอฮอล์ของรากตองแตกที่ความเข้มข้น100 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร มีฤทธิ์ถ่ายพยาธิและกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ส่วนสารสกัดแอลกอฮอล์ของเนื้อเยื่อ (callus) ที่เพาะเลี้ยงจากใบตองแตก สามารถยับยั้งแบคทีเรียก่อโรคหลายชนิด เช่น Staphylococcus aureus, Pseudomonas aeruginosa, และ Klebsiella aerogenes อีกด้วย อีกทั้งยังมีการศึกษาวิจัยอีกหลายฉบับที่ระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ จากส่วนรากของตองแตก เช่น มีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย

การศึกษาวิจัยทางพิษวิทยาของตองแตก

ไม่มีข้อมูล


ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้ตองแตกเป็นยาสมุนไพร สำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ ตามสรรพคุณของตำรายาต่างๆ นั้น ควรระมัดระวังในการใช้สมุนไพรดังกล่าวเช่นเดียวกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ ด้วย โดยการใช้ควรใช้ในขนาด และปริมาณ ที่เหมาะสมที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาสมุนไพรไทย ต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ อีกทั้งในส่วนของเมล็ดที่มีการระบุถึงสรรพคุณว่า ใช้เป็นยาถ่ายอย่างแรงนั้น เนื่องจากภายในเมล็ดมีน้ำมันที่มีฤทธิ์กระตุ้นทำให้ลำไส้ที่ทำให้ถ่ายท้องอย่างรุนแรง (รุนแรงเท่ากับสลอด) ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ใช้เพียงลำพังเพราะอาจเกิดอาการขาดน้ำได้

เอกสารอ้างอิง ตองแตก
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ตองแตก”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 298-299.
  2. ตองแตก. ขอมูลการกำหนดพื้นที่ส่งเสริมการปลูกสมุนไพรเพื่อใช้ในทางเภสัชกรรมไทย เล่ม 1. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณะสุข. กันยายน 2558. หน้า 125-127.
  3. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. “ตองแตก (Tong Taek)”. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. หน้า 117.
  4. ธีระวัฒน์ บุญโสม, สุรพงษ์ เก็งทอง, ปันทพร สิริรัตนกูล, ณิชารีย์ ฤชาอุบล. ข้อกำหนดทางเภสัชเวทของใบ และรากตองแตก. วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยอิสเทิร์นเอเชีย ฉบับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปีที่ 13. ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2562. หน้า 200-212.
  5. ตองแตก. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid= 317
  6. Ogura,M., Koike,K., Cordell, et al. (1978). Potential anticancer agents VIII. Plan to medica, 33(2);128-143.
  7. Smitinan,T.(2001). Thai plant Name. Department of National Parks, Wildlife and plant conservation, Bangkok.
  8. Mali RG, Wadekar RR. Baliospermum montanum (Danti): Ethnobotany, phytochemistry and pharmacology- A review. International Journal of Green Pharmacy, 2008; 2(4):194-199.
  9. Johnson,M., Weaely,E.G., Hussain,M.Z.,& Selvan,N. (2010). In vivo and in vitro phytochemical and antibacterial efficacy of baliospermum montanum (Willd.). Mull Arg. Asian Pacific Journal of Tropical Medicine,3 (11), 894-897.
  10. Patil, K.S., Jalalpure, S.S., &Wadekar,R.R., (2009). Effect of Baliospermum montanum root extract on phagocytosis by human neutrophils. Indian journal of pharmaceutical sciences, 71(1);68.