กาฬพฤกษ์ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

กาฬพฤกษ์ งานวิจัยและสรรพคุณ 11 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กาฬพฤกษ์
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กาฬพฤกษ์ยอดแดง (ทั่วไป), เปลือกขม (ปราจีนบุรี), กาน (เขมร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia grandis L.f.
ชื่อสามัญ Pink shower, Horse cassia
วงศ์ LRGUMINOSAE- CAESALPINIOIDEAE

ถิ่นกำเนิดกาฬพฤกษ์

กาฬพฤกษ์ เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเขตร้อนของทวีปอเมริกา และอเมริกาใต้ โดยพบครั้งแรกในป่าดิบชื้นของอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ เช่น ป่าอเมซอน จากนั้นจึงได้แพร่กระจายไปยังเขตร้อนต่างๆ ทั่วโลกซึ่งส่วนมากจะเป็นการกระจายพันธุ์โดยมนุษย์ที่นำไปเพาะปลูกเป็นไม้ประดับโดยมีการบันทึกไว้ดังนี้ พบเปอร์โตริโกในปี พ.ศ.2424 มีชื่อพื้นถิ่นว่า canafistula cimarrona พบในเบอร์มิวดาในปี พ.ศ.2461 และในปี พ.ศ.2467 มีรายงานว่าพบในเซนต์โทมัส เซนต์ครอย คิวบา จาเมกา และทวีปอเมริกาเขตร้อน เป็นต้น ส่วนในทวีปเอเชียพบการปลูกอย่างแพร่หลายเป็นไม้ประดับในมาเลเซียประเทศเอเชียใต้ กัมพูชา และเวียดนามตอนใต้ สำหรับในประเทศไทยพบได้ในทุกภาคของประเทศ

ประโยชน์และสรรพคุณกาฬพฤกษ์

  1. ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ
  2. ใช้แก้พิษไข้
  3. เป็นยาทำให้อาเจียน
  4. เป็นยาถ่ายพิษไข้
  5. รักษาโรคทางเดินอาหาร
  6. แก้โรคโลหิตจาง
  7. แก้อาการปวดม้วน
  8. แก้โรคกระเพาะ
  9. รักษาโรคเลือด
  10. ใช้รักษาแผลติดเชื้อ
  11. ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

           มีการนำกาฬพฤกษ์ มาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ หลายด้านดังนี้ คนไทยในสมัยโบราณที่นิยมกินหมากจะใช้เนื้อในฝักของกาฬพฤกษ์มาใช้เคี้ยวกับหมาก ส่วนเปลือกไม้ และเนื้อไม้มีสารที่ให้ความฝาดจึงนิยมนำไปใช้ในการฟอกหนัง อีกทั้งดอกกาฬพฤกษ์มีลักษณะเป็นพวงสีส้มแดงสวยสะดุดตา มีกลิ่นหอมอ่อนๆ จึงนิยมนำไปปลูกเป็นไม้ประดับตามอาคารสถานที่ต่างๆ เช่น บ้าน สวนสาธารณะ วัด รวมถึงสถานที่ราชการต่างๆ อีกด้วย

กาฬพฤกษ์

รูปแบบและขนาดวิธีใช้กาฬพฤกษ์

กาฬพฤกษ์ ใช้เป็นยาแก้พิษไข้และใช้สำหรับเป็นยาระบายอ่อนๆ ระบายอุจจาระธาตุ แก้พรรดึก และระบายท้องเด็ก โดยใช้เนื้อในฝักมาต้มกับน้ำดื่ม หรือ บดเป็นผงชงกับน้ำดื่ม หรือ ปั้นเป็นยารูปกลอนรับประทานซึ่งสามารถรับประทานได้ถึงครั้งละ 8 กรัม โดยจะไม่ทำให้มีอาการปวดม้วน และไม่ไซ้ท้องใช้เป็นยาถ่ายพิษไข้ และไม่ทำให้อาเจียนโดยใช้เมล็ดมารับประทานสดๆ หรือ ใช้เปลือกนำมาต้มกับน้ำดื่ม

ลักษณะทั่วไปกาฬพฤกษ์

กาฬพฤกษ์ จัดเป็นพรรณไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่มีความสูง 10-20 เมตร โดยลำต้นมีพูพอนซึ่งลักษณะลำต้นคล้ายคลึงกับต้นคูน หรือ ต้นราชพฤกษ์ โดยจะแตกเป็นร่องลึกเปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลเข้มลึก เรือนยอดเป็นพุ่ม หรือ แผ่กว้าง ตามกิ่งอ่อน ใบอ่อน และช่อดอกจะมีขนนุ่มสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ แกนกลางใบประกอบยาว 15-30 ซม. ก้านใบประกอบยาว 2-3 ซม. มีใบย่อย 10-20 คู่ เรียงจากเล็กไปหาใหญ่ รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 1-2 ซม. ยาว 3-5 ซม. ปลายมนมีติ่ง หรือ หยักเว้าเล็กน้อย โคนเบี้ยว แผ่นใบด้านบนเกลี้ยงเป็นมัน หรือ มีขนประปราย ด้านล่างมีขนหนาแน่นเมื่อใบอ่อนเป็นสีแดงแต่เมื่อใบแก่จะเป็นสีเขียว ดอก ออกเป็นช่อแบบช่อกระจะโดยจะออกตามกิ่งพร้อมกับใบอ่อน ซึ่งช่อดอกจะยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร และมีก้านดอกยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร มีใบประดับรูปไข่ ใบแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ดอกกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับหรือค่อนข้างกลม มีขนาดกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร มีขนนุ่มส่วนกลีบดอกลักษณะเป็นรูปไข่กลับมีขนาดความกว้างประมาณ 8-10 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.2-1.5 เซนติเมตร มี 5 กลีบ เมื่อเริ่มบานจะมีสีแดงคล้ำแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูอมส้ม มีกลิ่นหอม ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน มีขนาดยาวไม่เท่ากัน รังไข่มีลักษณะเรียวโค้ง มีขนหนานุ่ม เกสรดอกเป็นสีเหลือง ผล ออกเป็นฝักค่อนข้างกลม เป็นรูปทรงกระบอก โคนและปลายสอบ เปลือกหนาแข็ง ขรุขระ ที่ขอบฝักเป็นสันตามแนวยาวทั้ง 2 ข้าง ขนาดกว้าง 0.8-1.2 ซม. ยาว 1.3-1.8 ซม. ฝักแก่แห้งไม่แตก เมล็ดเป็นรูปรีรูปไข่ หรือรูปขอบขนานในฝักจะมี 20-40 เมล็ด ซ้อนกันเป็นชิ้นมีสีเหลือง กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร มีรสขม และมีกลิ่นเหม็น

ฝักกาฬพฤกษ์

ต้นกาฬพฤกษ์ 

การขยายพันธุ์กาฬพฤกษ์

กาฬพฤกษ์ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด และการตอนกิ่ง แต่วิธีที่นิยมในปัจจุบัน คือ วิธีการเพาะเมล็ด โดยการตัดและทำแผลที่ปลายเมล็ด หรือ แช่น้ำกรดเข้มข้นประมาณ 4-5 นาที จากนั้นอีกประมาณ10 วัน เมล็ดจะงอกอีก แล้วจึงนำไปเพาะในถุงเพาะชำ และเมื่อระยะผ่านไปประมาณ 6 เดือน กล้าจะมีขนาดความสูงประมาณ 20 เซนติเมตร จึงสามารถย้ายปลูกได้ สำหรับวิธีการปลูกกาฬพฤกษ์ นั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการปลูกไม้ยืนต้นทั่วไป กาฬพฤกษ์เป็นพรรณไม้ที่ปลูกเลี้ยงง่ายมีความทนทานต่อสภาพอากาศร้อนได้ดี และไม่ต้องการน้ำมาก ดังนั้นจึงสามารถกระจายพันธุ์ได้ทุกพื้นที่ได้เป็นอย่างดี และในประเทศไทยก็ยังสามารถพบเห็นได้ทั่วไปทุกภูมิภาคอีกด้วย

องค์ประกอบทางเคมีกาฬพฤกษ์

มีผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของกาฬพฤกษ์ ดังนี้ ในต่างประเทศมีการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของราก กาฬพฤกษ์พบว่ามีสาร D-manitol, Vanilic acid และ Lupeol ส่วนเปลือกต้นพบสาร Moracin B, n-heptacosan-l-ol และ bis(2,3-dyhydroxypropyl) – tetracosandioate และในส่วนสารสกัดเมล็ดพบสาร O-anisic acid, pulmatin, chrysophanol และ (-)-epiafzelechin เป็นต้น

กาฬพฤกษ์

การศึกษาทางเภสัชวิทยากาฬพฤกษ์

มีผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดเนื้อในฝักของกาฬพฤกษ์ พบว่า แสดงฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดโดยมีขนาดยา 200 มก./กก. ซึ่งไม่มีความแตกต่างทางสถิติ กับยาไกลเบนคลาไมด์ที่ 25 มก./กก. นอกจากนี้ยังพบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และมีผลการยับยั้งเอนไซม์ α-glycosidase ที่ดีอีกด้วยส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งระบุว่า สารสกัดจากเมล็ดกาฬพฤกษ์มีฤทธิ์ ต้านมะเร็ง สารต้านอนุมูลอิสระ และต้านจุลชีพอาทิเช่น E. coli, B.subtillis และ S.aureus เป็นต้น

การศึกษาทางพิษวิทยากาฬพฤกษ์

มีการศึกษาทางพิษวิทยาจากสารสกัดเนื้อในฝักของกาฬพฤกษ์ ที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดพบว่ามีค่า LD50 (ค่าที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง) =>2000 กก./มก. และหลังจากการให้ยาอย่างต่อเนื่อง (1000มก./กก., 28 วัน) ค่าพารามิเตอร์ทางโลหิตวิทยา และชีวเคมีของสัตว์ทดลองก็ยังมีค่าเป็นปกติอีกด้วย

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้กาฬพฤกษ์ เป็นยาสมุนไพรบำบัดรักษาโรคตามสรรพคุณดังที่กล่าวมานั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกับการใช้สมุนไพร ชนิดอื่นๆ เนื่องจากเปลือก และเมล็ดทำให้อาเจียนได้ โดยหากรับประทานมากเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันนานจนเกินไป อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ ดังนั้นก่อนการใช้สมุนไพรชนิดนี้ทุกครั้งควรปรึกษาแพทย์ หรือ ได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง
 

เอกสารอ้างอิง กาฬพฤกษ์
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “กาลพฤกษ์”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 หน้า 62.
  2. ราชบัณฑิตยสถาน.2538. อนุกรมวิธานพืช อักษร ก. กรุงเทพมหานคร: เพื่อนพิมพ์.
  3. กาฬพฤกษ์. กลุ่มยาถ่าย. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โดยการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีฯ (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants.data/herbs/herbs_05.htm.
  4. Britton NL; Wilson P, 124. Scientific survey of Porto Rico and the Vergins islands, Volume V, Botany and Porto Rico and the Virgin Islands. New York academy of Sciences, New York.
  5. Luan, N., Tao, N.C., Hai Tien, V.T., Nghia, N.B., Dung, L.T., Tri, M.D., Han, N.N., & Phi Phung N.K. (2016). Natural compounds from seeds of Cassia grandis L.f. Vietnam Journal of Chemistry, 54(2), 256.
  6. Bello Espinosa D, 1881. [English title not available]. (Apuntes para la flora de Puerto Rico. Primera parte.) Anal. Soc. Espanola de Hist. Nat, 10:231-304.
  7. Smitinand T. and Larsen, K., eds. 1984. Flora of Thailand (Vol.4:1). Bankok: TISTR Press.
  8. Kumar S; Sane PV, 2003. Legumes of South Asia: A check-list. Richmond, UK:Royal Botanic Gardens, 536 pp.
  9. Britton NL, 1918. Flora of Burmuda. New York, USA: Charles Scribner’s Sons. 585 pp.