ไมริสทิซิน

ไมริสทิซิน

ชื่อสามัญ Myristicin, Methoxysafrol, 7-Allyl-5-methoxy-1, 3-benzodioxole

ประเภทและข้อแตกต่างสารไมริสทิซิน

สารไมริสทิซิน (Myristicin) จัดเป็นสารประกอบฟีนอล (Phenols) ในกลุ่มฟินิลโพรพานอยด์ (Phenylpropanoids) ที่สามารถได้จากพืชธรรมชาติ โดยมีสูตรทางเคมี คือ C11H12O3 มีมวลโมเลกุล 192.214 g./mol ซึ่งโครงสร้างทางเคมีของสารไมริสทิซิน (Myristicin) นี้จะมีลักษณะคล้ายกับสารประกอบแอมเฟตามีน (amphetamine) และยังสามารถออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทได้เหมือนกับสารประกอบ MDMA ได้อีกด้วย สำหรับประเภทของสารไมริสทิซิน (Myristicin) นั้นจากการศึกษาค้นคว้าพบว่ามีเพียงชนิดเดียวเท่านั้น

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาสารไมริสทิซิน

ไมริสทิซิน (Myristicin) เป็นสารในกลุ่มฟินิลโพรพานอยด์ (Phenylpropanoids) ที่สามารถพบได้ในธรรมชาติหลายชนิดโดยส่วนใหญ่พบในรูปแบบของน้ำมันระเหยง่าย (volatile oil) จากพืชต่างๆ เช่น จันทน์เทศ (Myristica fragrans Houtt) ขึ้นฉ่าย (Apium graveolens Linn.), ช้าพลู(ชะพลู) (Piper sarmentosum Roxb.), พาร์สลี (Retroselinum sativum Hoffm.), โป๊ยกั๊ก (Pimpinella anisum Linn), พริกไทย (Piper nigrum Linn), และ ดีปลี (Piper longum Linn) เป็นต้น

ปริมาณที่ควรได้รับสารไมริสทิซิน

สำหรับขนาดและปริมาณของไมริสทิซิน (Myristicin) ที่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยต่อวันนั้นจากการศึกษาค้นคว้าพบว่าในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนด ขนาดและปริมาณ หรือเกณฑ์ในการใช้สารดังกล่าว แต่อย่างใดอีกทั้งการใช้ประโยชน์จากสารดังกล่าวในปัจจุบันก็ยังเป็นการใช้ในรูปแบบน้ำมันระเหยง่ายจากพืชที่เป็นแหล่งของสารดังกล่าวมากกว่าการสกัดสารไมริสทิซินออกมาใช้เป็นสารเดี่ยว แต่ทั้งนี้ได้มีการศึกษาวิจัยถึงขนาดและความปลอดภัยในการใช้สารไมริสทิซินในสัตว์ทดลองพบว่า เมื่อให้สารไมริสทิซินทั้งการกรอกทางปากและฉีดใต้ผิวหนังแก่หนูถีบจักรจนถึงขนาด 10 มก. ไม่พบพิษเฉียบพลันแต่การบริโภค Myristicin ในอัตรา 4-5 กรัม/กิโลกรัม ทำให้แสดงอาการผิดปกติต้านระบบประสาทเกิดอารมณ์เคลิ้มฝัน ประสาทหลอน และเมื่อบริโภคสูงถึง 8 กรัม ทำให้เสียชีวิตได้

ประโยชน์และโทษสารไมริสทิซิน

การใช้ประโยชน์จากสารไมริสทิซิน (Myristicin) ในปัจจุบันนั้นจะเป็นการใช้ประโยชน์ในรูปแบบน้ำมันหอมระเหยและน้ำมันระเหยง่าย จากพืชที่เป็นแหล่งของสารดังกล่าวซึ่งจะมีปริมาณความเข้มข้นของสารไมริสทิซิน (Myristicin) ที่แตกต่างกันออกไปโดยจะนำมาใช้ในตำรับตำรายาสมุนไพรต่างๆ อาทิเช่น พิกัดตรีพิษจักร พิกัดคันชวาต ยาหอมเทพจิตร ยาหอมนวโกศ ยาเลือดงาม ยาประสะกานพลู พิกัดตรีกฎก พิกัดเบญจกูล ยาเหลืองปิดสมุทร เป็นต้น ส่วนสารสกัดไมริสทิซิน (Myristicin) ในปัจจุบันนั้นพบว่าจะเป็นการนำมาใช้เป็นสารผสมที่ใช้เป็นสารขับไล่แมลง นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารไมริสทิซิน ในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลอง ซึ่งพบว่ามีฤทธิ์ต่างๆ อาทิเช่น มีส่วนช่วยยับยั้งการก่อตัวของเซลล์มะเร็งในลำไส้ใหญ่ ต้านการอักเสบ ต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านเชื้อไวรัส (rotavirus) รักษาการอักเสบในกระเพาะอาหาร ป้องกันตับจากสารพิษ แก้ซึมเศร้าและระงับความกังวล อีกด้วย

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องสารไมริสทิซิน

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารไมริสทิซิน (Myrisyicin) ในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลองพบว่ามีฤทธิ์ต่างๆ ดังนี้

           ฤทธิ์ยับยั้งการเกิดเนื้องอก มีการทดสอบนำสาร Myristicin ซึ่งสกัดได้จากพาร์สลี (Petroselinum sativum Hoffm) มาทดสอบยับยั้งการเกิดเนื้องอกที่มีสาเหตุต่อการชักนำของสาร benzo[a] pyrene (B [a] P) ในหนูทดลอง ผลพบว่า myristicin สามารถยับยั้งการเกิดเนื้องอกได้ 31% หลังจากให้ myristicin 10 mg/dose จำนวน 3 dose แก่หนูทดลองโดย Myristicin จะกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ Glutathione-S-transferase (GTS) ในเซลล์ตับและลำไส้เล็กให้เพิ่มขึ้นเป็น 4.3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับตัวควบคุมซึ่งให้ค่า 3.2 เท่า ดังนั้น Myristicin จากพาร์สลีจึงมีแนวโน้มเป็นสารป้องกันมะเร็ง (cancer cemopreventive agent) โดยอาจทำให้ฤทธิ์เอนไซม์ GTS เพิ่มขึ้นแล้วมีผลให้ปริมาณ glutathione ที่ต้านยาเคมีบำบัดใรการรักษามะเร็งลดลงและยับยั้งการเกิดเนื้องอกได้ อีกทั้งยังมีรายงานพบว่า Myristicin ที่ความเข้มข้น 75 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตรของน้ำมันลูกจันทน์เทศ มีประสิทธิภาพที่ดีต่อการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งล้าไส้ใหญ่และทวารหนัก (Caco2) หลังทำการบ่มเป็นเวลา 24 ชั่วโมงอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 146 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร แต่ยังมีรายงานการศึกษาวิจัยฉบับหนึ่งเห็นแย้งว่าควร หลีกเลี่ยงการใช้สาร Myristicin ในผู้ป่วยโรคมะเร็ง เนื่องจาก Myristicin สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขอเอนไซม์ glutathione-S-transferase ที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดเนื้องอกและอาจทำให้อาการทรุดลงได้

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีการทดสอบฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดลูกจันทน์เทศที่สกัดด้วยเมทานอล อีเทอร์ และเฮกเซน เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน indomethacin ทำการทดลองด้วยการเหนี่ยวนำให้เกิดการบวมที่อุ้งเท้าหนูแรทด้วยคาราจีแนน และการเหนี่ยวนำให้เกิดการซึมผ่านของสารที่หลอดเลือด (vascular pwemeability) ด้วยกรดอะซีตริกในหนูเม้าส์ ผลการทดลองพบว่าสารสกัดจากลูกจันทน์เทศ ได้แก่ สารสกัดเมทานอล (1.5 g/mg) สารสกัดอีเทอร์ (0.9g/kg) สารสกัดเฮกเซน (0.5 g/kg) ส่วนสกัดย่อย Fr-II (0.19g/kg) และ ส่วนสกัดย่อย Fr-VI (0.17 g/kg) ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบได้เทียบเท่ากับยามาตรฐาน indomethacin (10mg/kg) และเมื่อนำสารสกัดดังกล่าวไปแยกด้วยวิธี silica gel column chromatography และ วิธี thin layer chromatography พบว่าสารสำคัญที่เป็นองค์ประกอบหลักคือ myristicin ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า สารออกฤทธิ์หลักที่มีการต้านการอักเสบของจันทร์เทศคือ สาร Myristicin

           ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย จากการสืบค้นข้อมูล สารสำคัญจากใบช้าพลูที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียกพบว่า ได้แก่สาร myristicin, brachyamide B และ piperonal โดยสารดังกล่าวสามารถสกัดได้ด้วยวิธี Soxhlet extraction และใช้ไดคอโรมีเทนและเมทานอลเป็นตัวทำละลาย โดยพบว่ามีฤทธิ์เชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด

           ฤทธิ์ฆ่าลูกน้ำยุง มีการศึกษาวิจัย สารสำคัญ 7 ชนิด ที่แยกได้จากพริกไทยและดีปลี ได้แก่ piperonal, dodecanol, 1, 3-benzodioxole, myristicin, piperanine, sesamin และ sesamol โดยเมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์ในการฆ่าลูกน้ำของยุงรำคาญ Culex pipiens pallens พบว่าสาร myristicin และ dodecanol มีฤทธิ์แรงที่สุดในการฆ่าลูกน้ำยุง โดยมีค่าความเข้มข้นของสารที่ทำให้ยุงตายไปครึ่งหนึ่ง (LC50) เท่ากับ 0.56 และ 0.65 ppm ตามลำดับ และพบว่าการลดแรงตึงผิวของน้ำของ dodecanol และ sesamin ที่ความเข้มข้นเพิ่มขึ้น สัมพันธ์กับการเพิ่มฤทธิ์ฆ่าลูกน้ำ

โครงสร้างไมลิซิทีน

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

ถึงแม้ว่าจะมีข้อมูลการศึกษาวิจัยด้านเภสัชวิทยาของสารไมริสทิซิน (Myristicin) ที่น่าสนใจหลายประการแต่ทั้งนี้ในการศึกษาวิจัยนั้นยังเป็นเพียงการศึกษาวิจัยในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลองเท่านั้น ซึ่งยังขาดการศึกษาวิจัยทางคลินิกและการศึกษาวิจัยด้านความปลอดภัยในมนุษย์ส่วนการใช้ประโยชน์จากสารดังกล่าวในรูปแบบน้ำมันหอมระเหยหรือในรูปแบบสมุนไพรจากพืชที่เป็นแหล่งของสารไมริสทิซิน นั้นก็ยังใช้ได้ตามขนาดและปริมาณที่ได้กำหนดไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ แต่ทั้งนี้ยังมีข้อควรระวังในการใช้ลูกจันทน์เทศ ซึ่งเป็นสมุนไพรที่พบสารไมริสทิซินมาก โดยมีข้อควรระวังดังนี้ จากการศึกษาการเกิดพิษของ Myristicin ที่พบในผลลูกจันทน์เทศพบว่า ขนาดที่ทำให้เกิดพิษ คือผงลูกจันทน์เทศ 5 กรัม (เทียบเท่ากับสาร myristicin 1-2 กรัม) โดยมีรายงานการเกิดอาการทางจิตประสาท เช่น ประสาทหลอนและอาการผิดปกติทางระบบประสาท ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นหลังจากได้รับขนาดยาดังกล่าว ภายใน 3-6 ชั่วโมง และอาการคงอยู่ถึง 72 ชั่วโมง และหากได้รับในขนาดที่มากกว่า 5 กรัม อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ มึนงง ปากแห้ง อาเจียน หัวในเต้นผิดปกติ ชักและอาจเสียชีวิตได้ ทั้งนี้พบว่าการเกิดพิษดังกล่าวเกิดจากสารที่ได้จากกระบวนการเมตาบอลิซึม คือ 3-methoxy-4,5-methylendioxyampletamine (MMDA)

 

เอกสารอ้างอิง ไมริสทิซิน
  1. จันทน์เทศ. คู่มือการกำหนดพื้นที่ส่งเสริมการปลูกสมุนไพร เพื่อใช้ในเภสัชกรรมไทย เล่ม 1. กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. กันยายน 2558. หน้า 95-97
  2. เปรมวดี สกุลสม. พืชต้านมะเร็งและกลไกการออกฤทธิ์. วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยศิลปากร. ปีการศึกษา 2549. 90 หน้า
  3. ฤทธิ์การฆ่าลูกน้ำยุงจากสารจากพริกไทยและดีปลี. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  4. วันทนา งามวัฒน์, นาถฤดี สิทธิสมวงศ์และสุทธิพงษ์ ปัญญาวงศ์ “ข้อมูลการวิจัยสมุนไพรไทย” เอกสารหมายเลข 3 ฝ่ายพฤกษศาสตร์ กองวิจัยทางแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หน้า 93.
  5. รุ่งอรุณ พรชื่นชูวงศ์, ศรินญา สังขสัญญา. การประเมินสมบัติทางกายภาพเคมี และสารหอมระเหยในรกจันทร์ จากผลจันทร์เทศในพื้นที่เพาะปลูกจังหวัดนครศรีธรรมราช. วารสารพืชศาสตร์สงขลานครินทร์ ปีที่ 7. ฉบับที่ 4 ตุลาคม- ธันวาคม 2563. หน้า 283-289
  6. ดอกจันทร์. ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=55
  7. Meetha, J.N., Muhammadali, P., Joy, I.M., Mahendran, R. and Santhakumaran, A. 2014. Pulsed microwave assisted hot air drying of nutmeg mace for better colour retention. J. Spices Aromatic Crops. 1: 1-82.
  8. Zheng, G., Kenney, P., Zhang, J., and Lam, L. “Inhibition of benzo(a) pyrene-induced tumorigenesis by myristicin a volatile aroma constituent of parsley leaf oil.” Carcinogenesis 1992,10: 1921-1923.
  9. Ozaki, Y., Soedigdo, S., Wattimena, Y.R., Suganda, A.G. 1989. Antiinflammatory effect of mace, Aril of Myristica fragrans Houtt. and its active principles. Jpn. J. Pharmacol. 49: 155-163.
  10. Rahman NAA, Fazilah A, Effarizah ME.Toxicity of Nutmeg (Myristicin): A Review. International on advanced science engineering information technology.2015;5(3):61-64.
  11. Piras, A., Rosa, A., Marongiu, B., Atzeri, A., Dessì, M.A., Falconieri, D. and Porcedda, S. 2012. Extraction and separation of volatile and fixed oils from seeds of Myristica fragrans by supercritical CO2 : Chemical composition and cytotoxic activity on Caco-2 cancer cells. J. Food Sci. 77: 448-453.