ออกซีเรสเวอราทรอล

ออกซีเรสเวอราทรอล

ชื่อสามัญ Oxyresveratrol, 2, 4, 3’, 5’ –Tetrahydroxystilbene

ประเภทและข้อแตกต่างของสารออกซีเรสเวอราทรอล

สารออกซีเรสเวอราทรอลจัดเป็นสารที่อยู่ในกลุ่ม สติลบินอยด์ (Sttilbenoids) ที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ มีสูตรทางเคมี คือ C14 H12 O4 มีมวลโมเลกุล 244.24 g/mol มีลักษณะทางกายภาพเป็นผงสีเหลืองอ่อน ไวต่อแสง ละลายได้ในตัวทำละลายหลายชนิด สำหรับประเภทของสารออกซีเรสเวอราทรอลนั้น จากผลการศึกษาวิจัยพบว่ามีเพียงชนิดเดียวเท่านั้น แต่ทั้งนั้นหลายคนมักจะเข้าใจผิดคิดว่าสารออกซีเรสเวอราทรอล (Oxyresveratrol) กับสารเรสเวอราทรอล (Resveratrol) คือสารชนิดเดียวกันแต่ความจริงแล้ว เป็นสารต่างชนิดกัน แต่มีฤทธิ์ทางชีวภาพที่สำคัญในการลดการสร้างเม็ดสีที่ผิวได้เช่นเดียวกัน กล่าว คือ สารออกซีเรสเวอราทรอล ช่วยในการยับยั้งเอนไซม์ ไทโรซิเนส (Tirosinase) ส่วนสารเรสเวอราทรอลจะช่วยยับยั้งการสังเคราะห์เอนไซม์ไทโรซิเนส (tyrosinase)

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาของสารออกซีเรสเวอราทรอล

สารออกซีเรสเวอราทรอลนับเป็นสารที่สามารถพบได้ในธรรมชาติอีกชนิดหนึ่งโดยมีการศึกษาวิจัยพบว่าสารออกซีเรสเวอราทรอล พบได้ในแก่นไม้ของมะหาด (Artocarpus lakoocha Roxb.) รวมถึงผลปอกหาด ซึ่งเป็นชื่อเรียก สารสกัดจากแก่นไม้มะหาด (โดยการนำเอาแก่นไม้มะหาดมาต้มกับน้ำแล้วเคี่ยว จนเกิดฟองจากนั้นช้อนฟองขึ้นมาตากให้แห้งจะได้ผงสีเหลืองแล้วนำมาบดให้ละเอียด) นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า พบสารออกซีเรสเวอราทรอลจากส่วนของลำต้น กิ่ง ก้าน และรากของต้นหม่อน (Morus alba Linn.) อีกด้วย

สารออกซีเรสเวอราทรอล

ปริมาณที่ควรได้รับสารออกซีเรสเวอราทรอล

สำหรับขนาด และปริมาณการใช้สารออกซีเรสเวอราทรอลนั้นในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์การใช้ที่ชัดเจนแต่อย่างใด ซึ่งขนาด และปริมาณการใช้ในปัจจุบันนั้นจะเป็นการใช้ตามลักษณะการนำสารดังกล่าวมาใช้งาน เช่น ใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมความงาม และเครื่องสำอาง จะมีการใช้สารออกซีเรสเวอราทรอล ในขนาด 1-5% เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เป็นต้น

ประโยชน์และโทษของสารออกซีเรสเวอราทรอล

ประโยชน์ของสารออกซีเรสเวอราทรอล ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน คือ การถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมความงามต่างๆ อาทิเช่น ครีมทาหน้า โลชั่นทาผิว สบู่ และครีมอาบน้ำ เป็นต้น เพราะมีการค้นพบว่า สารออกซีเรสเวอราทรอลมีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ในหลอดทดลองรวมถึงในอาสาสมัครได้ดีโดยสารที่ออกฤทธิ์นี้ สามารถยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ได้มากกว่าสาร resveratrol  ถึง 20 เท่า ส่วนในทางการแพทย์นั้น ในปัจจุบัน มีการศึกษาคุณสมบัติ ของสารสกัดออกซิเรสเวอราทรอล เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์หลายประการ อาทิ เช่น ใช้ต้านการอักเสบ ใช้ต้านเชื้อไวรัส ใช้ต้านอนุมูลอิสระ ใช้ลดไขมันในเลือดและใช้ถ่ายพยาธิ เป็นต้น

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องสารออกซีเรสเวอราทรอล

มีผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารออกซีเรสเวอราทรอลหลายฉบับดังนี้  

           ฤทธิ์ลดการสร้างเม็ดสี  มีการศึกษาวิจัยโดยการนำสาร oxyresveratrol จากแก่นมะหาด (Artocarpus lakoocha Roxb.) มาทำเป็นโลชั่นสารสกัดมะหาดทาผิว (ความเข้มข้น 1% นน./ปริมาตร) แล้วนำโลชั่นสารสกัดมะหาดดังกล่าวไปทดสอบในอาสาสมัครหญิง อายุ 20 และ 23 ปี ที่มีสุขภาพผิวดี จำนวน 30 คน โดยทาที่แขนท่อนล่างวันละ 1 ครั้ง เปรียบเทียบกับแขนอีกข้างที่ทาโลชั่นที่ไม่มีสารสกัด (lotion base) นาน 6 สัปดาห์ แล้ววัดคะแนนผิวขาวด้วย skin-colors tone band โดยการวัดค่าเม็ดสี (melanin values) เปรียบเทียบก่อนใช้และหลังใช้โลชั่น พบว่าแขนข้างที่ทาโลชั่นมะหาดคะแนนผิวขาวเพิ่มขึ้น 2.84% ในสัปดาห์ที่ 4 และเพิ่มขึ้น 7.64% ในสัปดาห์ที่ 6 เมื่อเปรียบเทียบกับแขนอีกข้างที่ทาโลชั่นที่ไม่มีสารสกัด จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่า โลชั่นสารสกัดมะหาด 1% สามารถลดการสร้างเม็ดสีในอาสาสมัครที่มีสุขภาพผิวดีได้  ส่วนอีกการศึกษาวิจัยหนึ่งให้อาสาสมัครสตรี 20 คน ใช้สารสกัดจากแก่นไม้มะหาดความเข้มข้นร้อยละ 0.25 (น้ำหนัก/ปริมาตร) ในตัวทำละลายโปรปิลีนไกลคอล ทาต้นแขน 1 ข้าง และข้างที่เหลือทาตัวทำละลายโปรปิลีนไกลคอลเป็นข้างควบคุม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ในขณะเดียวกันเปรียบเทียบกับอาสาสมัครอีก 2 กลุ่ม ที่ใช้สารสกัดชะเอมเทศ (licorice) ที่ความเข้มข้นร้อยละ 0.25 และ kojic acid ที่ความเข้มข้นร้อยละ 3 พบว่าสารสกัดมะหาดมีประสิทธิภาพสูงสุดในการทำให้ผิวขาว ให้ผลเร็วภายหลังการใช้เพียง 4 สัปดาห์ ตามด้วย  Kojic acid (6 สัปดาห์) และสารสกัดชะเอมเทศ  (10 สัปดาห์) ตามลำดับ และเมื่อครบ 12 สัปดาห์ พบว่าสารสกัดแก่นไม้มะหาดทำให้ผิวขาวมากสุด และเมื่อนำมาเตรียมเป็นอีมัลชั่น และให้อาสาสมัครที่ทาโลชั่นมะหาดความแรงร้อยละ 0.1 โดยน้ำหนัก ที่ต้นแขนและแก้มจะมีผิวขาวขึ้นภายในเวลา 2 และ 3 สัปดาห์ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดมะหาดและ oxyresveratrol ซึ่งเป็นสารหลักในสารสกัดดังกล่าวสามารถยับยั้งเอ็นไซม์ mushroom tyrosinase ในหลอดทดลองได้  โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งฤทธิ์เอ็นไซม์ได้ครึ่งหนึ่ง เท่ากับ 0.76 และ 0.83 กรัม/มิลลิลิตร ตามลำดับ

           ฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส  มีรายงานการศึกษาวิจัยสารออกซีเรสเวอราทรอลพบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของ herpes simplex virus (HSV) ซึ่งเป็น DNA virus ที่มี 2 ชนิด คือ HSV1 และ HSV2 โดยสารดังกล่าวจะเข้าไปยับยั้งกระบวนการ viral replication ทั้งระยะแรกและระยะหลังของ HSV1 และ HSV2 โดยมีการศึกษาวิจัยในผัวหนังของหนูไมซ์ ที่ความเข้มข้น 30 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร พบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเริม ได้แก่ HSV-1 และ HSV-2 นอกจากนี้ หากใช้ oxyresveratrol ร่วมกับ acyclovir จะเสริมฤทธิ์กัน ทำให้มีฤทธิ์ยับยั้ง HSV-1 ได้ดีขึ้น และถ้าให้หนูกิน Oxyresveratrol500 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทุก 8 ชั่วโมงต่อวัน จะช่วยชะลอการเกิดรอยโรคได้ นอกจากนี้หากทาครีมที่มี oxyresveratrol ร้อยละ 30 บริเวณที่ติดเชื้อวันละ 5 ครั้ง จะช่วยลดความรุนแรงของโรคและป้องกันชีวิตหนูได้ ส่วนการศึกษาในหลอดทดลองพบว่า Oxyresveratrol มีฤทธิ์ยับยั้งไวรัส HSV-1 และ HSV-2 และไวรัสเอสด์ (HIV-1/LAI) ได้

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีการศึกษาวิจัยพบว่าสารออกซีเรสเวอราทรอลสามารถยับยั้งการผลิต proinflammatory mediators: nitric oxide (NO) ใน lipopolysaccharide (LPS)-activated macrophage cell ในหนูทดลอง โดยยับยั้งการแสดงออก (expression ) ของเอนไซม์ iNOS (inducible nitric oxide synthase) 

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ ซึ่งมีการศึกษาวิจัยในสารสกัด 80% เอทานอลจากต้นหม่อน ที่ความเข้มข้น 20, 40 มคก./มล. และสาร oxyresveratrol ซึ่งเป็นสารสำคัญที่พบในหม่อน ความเข้มข้น 5, 10 มคก./มล. มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบในร่างกาย เมื่อทดลองในเซลล์ macrophage RAW 264.7 ที่ถูกเหนี่ยวนำด้วยไลโปโพลีแซคคาไรด์ โดยสารสกัดจะมีฤทธิ์ในการยับยั้งดีกว่าสาร oxyresveratrol แสดงว่าในหม่อนยังมีสารอื่นนอกเหนือจาก oxyresveratrol ที่ออกฤทธิ์ในการยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์และต้านการอักเสบได้ นอกจากนี้ยังพบว่าสารออกซีเรสเวอราทรอลมีฤทธิ์ต้านการอักเสบในเซลล์ไฟโบรบลาสต์ของเอ็นยึดปริทันต์ที่แยกจากมนุษย์ โดยสามารถยับยั้งการแสดงออกของอินเตอร์ลิวคิน-6 อินเตอร์ลิวคิน-8 และอินเตอร์ลิวคิน-1 เบต้า 10 อีกทั้งยังพบว่าสารออกซีเรสเวอราทรอล สามารถยับยั้งเชื้อพอร์ไฟโรโมแนส จิงจิวาลิส และ แอกกรีเกติแบคเตอร์แอคติโนไมซีเตมโคมิแทนส์ ได้โดยเมื่อเทียบกับน้ำ ยาบ้วนปากคลอเฮกซิดีน (chlorhexidine) ร้อยละ 0.2 พบว่าสารออกซีเรสเวอราทรอล มีค่าความเข้มข้นต่ำสุดของสารที่ยับยั้งเชื้อได้ (MIC) และค่าความเข้มข้นต่ำสุดของสารที่ฆ่าเชื้อได้ (MBC) ที่ต่ำ กว่าน้ำ ยาบ้วนปากคลอเฮกซิดีนร้อยละ 0.2 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสารออกซีเรสเวอราทรอลมีแนวโน้มที่ดีที่จะพัฒนาใช้ในการรักษาโรคปริทันต์อักเสบในอนาคตได้ในอนาคต

           ฤทธิ์ลดไขมันในเลือด มีการศึกษาฤทธิ์ลดไขมันในเลือดของ mulberroside A (MUL) สารบริสุทธิ์ที่แยกได้จากสารสกัดเอทานอลจากรากของหม่อน (Morus alba L.) และสาร oxyresveratrol (OXY) ซึ่งผลิตได้จากกระบวนการ enzymatic conversion ของ MUL ทำการศึกษาในหนูแรทที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงโดยการฉีด Triton WR-1339 พบว่าการป้อน MUL และ OXY ขนาด 1, 2.5 และ 5 มก./กก./วัน ที่เวลา 1 ชั่วโมงก่อนการฉีด Triton WR-1339 ขนาด 200 มก./กก.น้ำหนักตัว ช่วยลดปริมาณไขมันในเลือดได้และประสิทธิภาพขึ้นกับขนาดของสารที่ได้รับ ในขณะเดียวกันปริมาณ HDL ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดดี ก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การศึกษาต่อมาทำการป้อน MUL และ OXY ขนาด 1, 2.5 และ 5 มก./กก./วัน ร่วมกับการป้อนอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง (high-cholesterol diet) ให้แก่หนูแรท เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าปริมาณไขมันในเลือด ดัชนีชี้วัดภาวะเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (coronary artery risk index) และดัชนีชี้วัดภาวะเสี่ยงหลอดเลือดแข็งตัว (atherogenic index) ในหนูแรทที่ได้รับ MUL และ OXY มีค่าลดลง แต่ไม่มีผลต่อระดับ HDL นอกจากนี้พบว่า MUL และ OXY ช่วยป้องกันการเสื่อมของเซลล์ตับที่เกิดจากการสะสมไขมันของเซลล์ตับ อีกทั้งไม่พบความแตกต่างของระดับเอนไซม์ aspartate aminotransferase และ alanine aminotransferase ระหว่างหนูแรทที่ป้อนน้ำเปล่า (กลุ่มควบคุม) และกลุ่มที่ได้รับ MUL และ OXY แสดงให้เห็นว่าไม่ก่อให้เกิดความเป็นพิษต่อตับ จากการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าสาร mulberroside A และ oxyresveratrol มีประสิทธิภาพในการลดไขมันในเลือดได้  

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาวิจัยพบว่าสารออกซีเรสเวอราทรอลมีฤทธิ์ยับยั้งการรวมตัวของออกซิเจน หรือ สารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) และเป็น free radical scavenger ซึ่งประสิทธิภาพจะเพิ่มขึ้นหากมีปริมาณกลุ่มไฮดรอกซิล (hydroxyl) ที่มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการทดสอบความเป็นพิษของสารออกซีเรสเวอราทรอลโดยป้อน สาร oxyresveratrol ขนาด 720 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ร่วมกับแมกเนเซียมซัลเฟต ให้กับหนูขาวและกระต่าย พบว่าไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ที่ทำให้เกิดพิษหลังป้อนได้ 3 และ 7 วัน โดยที่ค่า blood urea nitrogen (BUN) ในเลือดเพิ่มขึ้นแต่จะกลับคืนสู่สภาวะปกติภายใน 7 วัน

โครงสร้างสารสกัดออกซีเรสเวอราทรอล

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

ในการใช้สารสกัดออกซีเรสเวอราทรอล ที่ในปัจจุบันนิยมใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมความงามและเครื่องสำอางต่างๆ ควรคำนึงถึงความเข้มข้นของสารดังกล่าวในผลิตภัณฑ์และรูปแบบของผลิตภัณฑ์ด้วย เพราะหากเป็นรูปแบบไขมันในน้ำ (Oil in water emultion) ก็จะเพิ่มประสิทธิภาพของสารดังกล่าวได้ดีกว่าครีมรูปแบบอื่น ส่วนในการใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกัน เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีการใช้กำหนดเกณฑ์การใช้ทั้งขนาดและปริมาณ และรูปแบบการใช้ดังนั้นการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง ออกซีเรสเวอราทรอล
  1. มะหาด. สมุนไพรที่ใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐาน. ฐานข้อมูลสมุนไพร สาธารณสุขมูลฐาน. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. สาร Oxyresveratrol จากมะหาดในการพัฒนาเป็นเครื่องสำอาง. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  3. ดร. จุฑามาศ เจียรนัยกุลวานิช. จริงหรือไม่? มะหาดทำให้ขาวขึ้นได้. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  4. ฤทธิ์ยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ของสารสกัดจากต้นหม่อน. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  5. ผศ. อำพล โพธิ์ศรี. อิทธิพลของวิธีการสกัดต่อสารออกซีเรสเวอราทรอล และฤทธิ์ต้านอนุมูลของแก่นมะหาด. รายงานการวิจัยของมหาวิทยาลัยราชมงคลสุวรรณภูมิ ปี พ.ศ.2556. 55 หน้า
  6. หม่อนช่วยลดไขมัน. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  7. จุฑาภรณ์ ศิริเพิ่มพูล, สรกนก วิมลมั่งคั่ง. สมุนไพรร่วมการรักษาโรคปริทันต์อักเสบ. สงขลานครินทร์เวชสารปีที่ 32. ฉบับที่ 6. พฤศจิกายน-ธันวาคม 2557. หน้า 417-425
  8. Sritularak, B., De-Eknamkul, W., Likhitwitayawuid, K. Tyrosinase inhibitors from Artocarpus lakoocha. Thai J. Pharm. Sci. 1998, 22, 149–155.
  9. Phoolcharoen W, Sooampon S, Sritularak B, et al. Anti- periodontal pathogen and anti-inflammatory activities of oxyresveratrol. Nat Prod Commun 2003; 8: 1 - 4.
  10. Tengamnuay, P., Pengrungruangwong, K., Pheansri, I., Likhitwitayawuid, K. Artocarpus lakoocha heartwood extract as a novel cosmetic ingredient: evaluation of the in vitro anti-tyrosinase and in vivo skin whitening activities. Int. J. Cosmet. Sci. 2006, 28, 269–276.
  11. Ngamwat W, Permpipat U, Sithisomwong N, et al. Toxicity of Puak-Haad extracts: The extracts from Artocarpus lakoocha  Roxb. wood (Ma-haad). การประชุม PRINCESS CONGRESS I, 10-13 ธันวาคม ณ โรงแรม แชงเกอรีล่า กรุงเทพฯ, 1987. หน้า 80.
  12. Mongkolsuk, S., Robertson, A., Towers, R. 2,4,3´,5´-tetrahydroxystilbene from Artocarpus lakoocha. J. Chem. Soc. 1957, 2231–2233.
  13. Jagtap UB, Bapat VA. Artocarpus: a review of its traditional uses, phytochemistry and pharmacology. J Ethnopharmacology 2010;129:142–66.