คาเฟอีน

คาเฟอีน

ชื่อสามัญ Caffeine, 1, 3, 7-trimethylxanthine

ประเภทและข้อแตกต่างของคาเฟอีน

คาเฟอีน (Caffeine) เป็นสารแซนทีนแอลคาลอยด์ (Xanthine alkaloid) ที่มีชื่อทางเคมีว่า 1, 3, 7-Trimethylxanthine ซึ่งมีลักษณะเป็นผลึกรูปเข็ม หรือ เป็นผงสีขาว ไม่มีกลิ่นและมีรสขม มีสูตรทางเคมี คือ C8 H10 O2 N4 มีมวลโมเลกุล 194.20 ประกอบด้วยคาร์บอน 49.89% ออกซิเจน 16.48% ไฮโดรเจน 5.19% ไนโตรเจน 16.48% และ มีจุดหลอมเหลว (Melting point) 236-238 องศาเซลเซียส ไม่สลายตัวในบรรยากาศปกติ ทนต่อกรดและด่าง ละลายได้ดีในน้ำร้อน ซึ่งจะได้สารละลายที่เป็นกลาง โดยสารละลายของคาเฟอีนความเข้มข้น 1% จะมีค่า PH 6.9 สำหรับประเภทของคาเฟอีน นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ตามแหล่งที่มาของสารคาเฟอีน คือ คาเฟอีนที่ได้จากธรรมชาติ และคาเฟอีนสังเคราะห์

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาของคาเฟอีน

สำหรับแหล่งที่มาของสารคาเฟอีนนั้น สามารถพบได้ในพืชและชนิดตามธรรมชาติ อาทิเช่น เมล็ดกาแฟ ใบชา ผลโกโก้ก้อรานา ผลโคล่า รวมถึงยังสามารถพบสารดังกล่าว ได้ในสมุนไพรหลายชนิด อีกด้วย แต่ทั้งนี้ แหล่งสำคัญของคาเฟอีนในธรรมชาติที่พบได้มากมาจากพืชต่างๆ ดังนี้ ปริมาณคาเฟอีนที่พบในพืชชนิดต่างๆ
ชนิดของพืช ปริมาณคาเฟอีน (% โดยน้ำหนัก)
ใบชาแห้ง 3.5
เมล็ดกาแฟแห้ง 1.1-2.2
ผลโกโก้ แห้ง 1.7
ผลโคล่าแห้ง 1.5

           แต่อย่างไรก็ตามปริมาณของสารคาเฟอีนที่พบในพืชดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับ พันธุ์ ภูมิประเทศ และวิธีการปลูกอีกปัจจัยหนึ่ง นอกจากนี้ในปัจจุบันที่มีการนิยมนำสารคาเฟอีนมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างแพร่หลายยังมีการสังเคราะห์สารคาเฟอีน ขึ้นมาใช้ในอุตสาหกรรมบางประเภท เช่นกัน

คาเฟอีน

ปริมาณที่ควรได้รับคาเฟอีน

มีการศึกษาวิจัยที่เป็นที่มาของการกำหนดขนาดการบริโภคคาเฟอีน ในปัจจุบัน ระบุว่า สำหรับบุคคลทั่วไปที่มีสุขภาพดีหากบริโภคคาเฟอีนไม่เกิน 400 มก.ต่อวัน จะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจ และหลอดเลือด จากข้อมูลการได้รับคาเฟอีนต่อวันของ USDA ระบุว่าในคนปกติจะสามารถดื่มกาแฟในขนาดแก้ว 150 มิลลิลิตร ใส่กาแฟ 2 ช้อนชา จะได้รับคาเฟอีน 80-100 มิลลิกรัม/แก้ว ได้ 4 แก้วต่อวัน ซึ่งจากผลการศึกษาวิจัยนี้ จึงมีการกำหนดเกณฑ์การบริโภคคาเฟอีน ได้ไม่เกิน 400 มิลลิกรัม/วัน และไม่ควรได้รับเกินวันละ 350 มิลลิกรัม เป็นระยะเวลานาน (เทียบเท่ากาแฟวันละ 3-4 ถ้วย หรือ น้ำอัดลมวันละ 7-8 กระป๋อง หรือ เครื่องดื่มชูกำลัง 7 ขวด) และไม่ควรบริโภคเกินครั้งละ 200 มิลลิกรัม นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่าในเครื่องดื่มชูกำลังจะมีปริมาณคาเฟอีน สังเคราะห์ไม่เกิน 50 มิลลิกรัม/100-150 มิลลิลิตร ส่วนเครื่องดื่มน้ำอัดลม จะใช้คาเฟอีนจากธรรมชาติโดยให้มีสารคาเฟอีนไม่เกิน 15 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร

ประโยชน์และโทษคาเฟอีน

ในปัจจุบันมีการใช้สารคาเฟอีนทั้งที่สกัดได้จากธรรมชาติรวมถึงคาเฟอีนที่สังเคราะห์ขึ้นมาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิเช่น อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม อุตสาหกรรมยา รวมถึงยังนำใช้ในทางการแพทย์ เป็นต้น โดยการนำมาใช้ประโยชน์ตามข้างต้นนั้น เนื่องจากมีผลการศึกษาวิจัยหลายๆ ฉบับ ได้รวมถึงฤทธิ์ของสารคาเฟอีนไว้ว่า มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้สมองให้ตื่นตัว รู้สึกกระปรี้กระเปร่าและนอนไม่หลับ กระตุ้นการหลั่งอะดรีนาลีน (adrenaline) ทำให้หัวใจเต้นเร็ว และเต้นแรงขึ้นจึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน นอกจากนี้ในกาแฟมีสารพวกแอนติออกซิแดนซ์หลายอย่าง สารเหล่านี้ลดการเกิดอนุมูลอิสระ จึงลดปฏิกิริยาการอักเสบ ลดภาวการณ์เกิดหลอดเลือดแดงแข็ง และช่วยให้กระบวนการใช้กลูโคสและไขมัน ได้ดี ส่วนโทษของคาเฟอีน นั้นจะเกิดขึ้นต่อเมื่อบริโภคเกินขนาดต่อเนื่องกันเป็นเวลานานๆ โดยจะทำให้ เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดซึ่งคาเฟอีนเพิ่มการทำงานของหัวใจ และทำให้หลอดเลือดหดตัว จึงทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นได้ และ คาเฟอีนยังต้านฤทธิ์อินซูลินได้จึงอาจรบกวนการคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวาน (ในขณะที่สารกลุ่มแอนติออกซิแดนต์ในกาแฟให้ผลดีต่อการคุมระดับน้ำตาลในเลือด) นอกจากนี้การที่คาเฟอีนเพิ่มการขับแคลเซียม ออกทางปัสสาวะ ซึ่งผู้หญิงที่ดื่มกาแฟปริมาณมากเป็นประจำอาจทำให้ความหนาแน่นของแร่ธาตุในกระดูกลดลงโดยเฉพาะในผู้ที่ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ ส่วนผู้หญิงมีครรภ์ที่บริโภคคาเฟอีน ปริมาณมากตลอดช่วงตั้งครรภ์อาจทำให้ทารกแรกคลอดมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ หรือ คลอดก่อนกำหนด ได้อีกด้วย

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องคาเฟอีน

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับระบบเมตาบอลิซึมในร่างกายของสารคาเฟอีน ดังนี้ หลังจากที่ร่างกายบริโภคคาเฟอีนเข้าไปจะมีการดูดซึมอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่นาทีจนถึงระดับเวลาที่สูงสุดภายในเวลา 1 ชั่วโมง แล้วแพร่กระจายไปทางกระแสเลือดเข้าสู่ของเหลวภายในเซลล์ของเนื้อเยื่อ และระบบต่างๆ ของร่างกายซึ่งจะมีผลต่อการทำงานของร่างกายในเรื่องต่างๆ จากนั้นปริมาณของคาเฟอีนจะลดลงเหลือครึ่งหนึ่งภายในเวลา 3 ชั่วโมง และคาเฟอีนจะไม่ถูกเก็บสะสมไว้กระแสเลือดและร่างกาย แต่จะถูกขับออกทางปัสสาวะ หากร่างกายดูดซึมคาเฟอีนในปริมาณมากกว่า 180-450 มิลลิกรัม อาจนำไปสู่อาการที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ เช่น ปวดศีรษะ กระวนกระวาย วิตกกังวล ฉุนเฉียวง่าย กล้ามเนื้อกระตุก เป็นต้น ส่วนค่าครึ่งชีวิตของคาเฟอีนว่าขึ้นอยู่กับความสามารถในการดูดซึมและ เผาผลาญพลังงานของแต่ละบุคคล แต่ปกติจะอยู่ระหว่าง 2-15 ชั่วโมง และการใช้คาเฟอีนนานๆ ครั้ง จะมีผลมากกว่าการใช้คาเฟอีนติดต่อกันไปเป็นเวลานานๆ เนื่องจากการใช้ประจำร่างกายจะสามารถปรับตัวทำให้มีสภาพดื้อต่อสารดังกล่าว และผลจากการกระตุ้นของคาเฟอีน จะลดน้อยลง หรือต้องเพิ่มปริมาณในการใช้มากขึ้นจึงจะเกิดผล แต่ถ้าใช้นานๆ ครั้ง ร่างกายจะไม่มีการปรับตัว คาเฟอีนก็จะออกฤทธิ์อย่างเต็มที่ และอีกหลายผลการศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า ในผู้ที่มีสุขภาพดีทั่วไปการดื่มกาแฟปริมาณปานกลางซึ่งมีคาเฟอีนประมาณ 200 มิลลิกรัมต่อครั้ง และรวมทั้งวันประมาณ 400 มิลลิกรัม ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย อีกทั้งยังอาจช่วยลดความเสี่ยงได้เล็กน้อยต่อการเกิดโรคบางอย่าง เช่น โรคมะเร็ง (ยกเว้นในผู้ที่สูบบุหรี่) โรคหัวใจและหลอดเลือด (เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคความดันโลหิตสูง) โรคเบาหวาน โรคความจำบกพร่องรวมถึงโรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน และยังทำให้อัตราการตายจากสาเหตุโดยรวมลดลง นอกจากนี้ยังมีรายงานผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของคาเฟอีนอีกหลายฉบับดังนี้
           ฤทธิ์ของคาเฟอีน ต่อการสร้างพลังงานความร้อน มีการศึกษาทางคลินิกแบบ four-way ได้แก่ crossover, randomized, placebo-controlled และ double-blind ในคนเพศชายน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ อายุเฉลี่ย 23.7 ± 2.6 ปี จำนวน 12 คน ทำการแบ่งการศึกษาเป็น 4 ครั้ง โดยให้กินยาเม็ดสารสกัดชาเขียวขนาด 500 มิลลิกรัม ให้กินยาเม็ดกรดอะมิโนไทโรซีนขนาด 400 มิลลิกรัม ให้กินยาเม็ดคาเฟอีนขนาด 500 มิลลิกรัม หรือให้กินยาหลอก และเว้นระยะเวลามากกว่า 3 วัน สำหรับรับประทานแต่ละอย่าง ทำการวัดค่าการให้ความร้อนแบบเฉียบพลัน, วัดความดันเลือด, อัตราการเต้นหัวใจ และการตอบสนองโดยการสร้างพลังงานความร้อนเป็นเวลา 4 ชั่วโมง หลังการกินยาแต่ละชนิด พบว่าการกินคาเฟอีนกระตุ้นให้เกิดความร้อนสูงกว่าค่าพื้นฐาน 6 % (ค่าเฉลี่ย 72 ± 25 กิโลจูล/4 ชั่วโมง) เมื่อเปรียบเทียบกับการกินยาหลอก สารสกัดชาเขียวและกรดอะมิโนไทโรซีนกระตุ้นให้เกิดความร้อนไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับการกินยาหลอก กรดอะมิโนไทโรซีนเพิ่ม respiratory quotient (จำนวน CO2 ที่หายใจออกแล้วหารด้วย O2 ที่หายใจเข้า 4 ชั่วโมง ขึ้น 1 % เมื่อเปรียบเทียบกับการกินยาหลอก สำหรับการได้รับอาหารเมื่อคิดเป็นพลังงาน (energy intake) ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญในการกินแต่ละอย่าง แต่การกินสารสกัดชาเขียว ทำให้ลดลง 8% (ค่าเฉลี่ย-403 ±183 กิโลจูล) กรดอะมิโนไทโรซีนทำให้ลดลง 8% (ค่าเฉลี่ย -400 ± 335 กิโลจูล) และคาเฟอีนทำให้ลดลง 3% (ค่าเฉลี่ย -151 ± 377 กิโลจูล) เมื่อเปรียบเทียบกับการกินยาหลอก และการกินยาทุกชนิดมีค่าความดันโลหิตไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
           สรุปได้ว่ามีเพียงคาเฟอีนเท่านั้นที่มีผลต่อการให้พลังงานความร้อนและไม่มีผลข้างเคียงต่อความดันโลหิต
           ฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของระบบประสาท parasympathetic มีการศึกษาผลของการดื่มกาแฟต่อการทำงานของระบบประสาท sympathetic และ parasympathetic โดยทำการทดลองในอาสาสมัคร 20 คน ที่มีอายุระหว่าง 25-30 ปี ในจำนวนนี้เป็นอาสาสมัครเพศชาย 10 คน และเพศหญิง 10 คน โดยให้อาสาสมัครดื่มกาแฟสองแบบ คือ กาแฟที่มีคาเฟอีน 75 มิลลิกรัม (espresso coffee) และกาแฟที่มีคาเฟอีนน้อยกว่า 18 มิลลิกรัม (decaffeinated coffee) ซึ่งอาสาสมัครทุกคนจะต้องดื่มกาแฟทั้งสองชนิด เมื่อดื่มกาแฟแล้วทำการวัดค่าความผันแปรของอัตราการเต้นของหัวใจ (heart rate variability, HRV) ทุก 30 นาที จนครบ 150 นาที โดยทำการวัดอาสาสมัครทั้งในท่านอนหงายราบไปกับพื้น และในท่านั่ง ในการวัดจะใช้เครื่อง HRV-power spectrum ในการวิเคราะห์ และประเมินค่าการวิเคราะห์โดยดูจากค่าความถี่ของแถบสีที่วัดได้ (spectrum absolute value) ค่าความถี่ที่ 0.04-0.15 Hz (Low frequencies, LF) ใช้ประเมินการการทำงานของระบบประสาท sympathetic และ ค่าความถี่ที่ 0.15-0.40 Hz (High frequencies, HF) ใช้ประเมินการทำงานของระบบประสาท parasympathetic ผลการศึกษาพบว่า การดื่มกาแฟคาเฟอีน 75 มิลลิกรัม สามารถเพิ่มค่าความถี่ HF ในการวัดท่านอนราบ ในขณะที่การดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีนน้อยกว่า 18 มิลลิกรัม สามารถกระตุ้นให้เกิดการเพิ่มค่าความถี่ HF ได้เล็กน้อย แต่ในการวัดในท่านั่ง กลับไม่พบการเปลี่ยนแปลงของค่าความถี่ HF หลังจากการดื่มกาแฟทั้งสองแบบ และไม่พบการเปลี่ยนแปลงในค่าความถี่ LF จากการดื่มกาแฟทั้งสองแบบทั้งวัดท่านอนราบและท่านั่ง
           ฤทธิ์ลดความเสี่ยงในการเกิดเบาหวาน มีการศึกษาเปรียบเทียบผู้ที่ดื่มกาแฟชนิดสกัดคาเฟอีนออก หรือ ไม่มีคาเฟอีน (decaffeinated coffee) กับผู้ที่ไม่ดื่มกาแฟ พบว่าความเสี่ยงสัมพัทธ์ต่อการเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ของผู้ดื่มกาแฟชนิดไม่มีคาเฟอีน (ดื่มวันละ 4 ถ้วยขึ้นไป) ต่อผู้ที่ไม่ดื่มกาแฟ มีค่า 0.74 และ 0.85 ในเพศชายและเพศหญิง ตามลำดับ ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบผู้ที่ดื่มกาแฟที่มีคาเฟอีน (ดื่มวันละ 4 ถ้วย ขึ้นไป) กับผู้ที่ไม่ดื่มกาแฟ พบว่าความเสี่ยงสัมพัทธ์ต่อการเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ของผู้ที่ดื่มกาแฟต่อผู้ที่ไม่ดื่มกาแฟมีค่า 0.71 และ 0.70 ในเพศชายและเพศหญิงตามลำดับ ซึ่งทั้งกาแฟที่มีคาเฟอีนและไม่มีคาเฟอีนมีผลลดความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่ดื่มกาแฟมากกว่าวันละ 7 ถ้วยจะเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 น้อยกว่าผู้ที่ดื่มกาแฟวันละ 2 ถ้วย หรือ น้อยกว่า 2 ถ้วยถึง 0.5 เท่า (relative risk 0.50 [95% confidence intervals 0.35-0.72, p=0.0002])
           ฤทธิ์ของคาเฟอีนต่อคุณภาพน้ำเชื้อ (Semen) มีรายงานสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพของน้ำเชื้อและปริมาณการบริโภคคาเฟอีนในชายชาวเดนมาร์ค 2554 คน ในปี ค.ศ.2001-2005 โดยให้อาสาสมัครตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ และขอเก็บตัวอย่างน้ำเชื้อเพื่อตรวจวิเคราะห์ ผลการศึกษาพบว่าผู้บริโภคคาเฟอีนปริมาณขนาดปานกลาง (101-800 มิลลิกรัมต่อวัน) และบริโภคเครื่องดื่มโคล่าไม่เกิน 14 ขวดต่อสัปดาห์ (ขวดขนาด 0.5 ลิตร) เปรียบเทียบกับผู้ที่บริโภคคาเฟอีนปริมาณน้อย (ไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อวัน) และไม่บริโภคเครื่องดื่มโคล่าเลยพบว่า ไม่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพของน้ำเชื้อ ในขณะที่ผู้ที่บริโภคเครื่องดื่มโคล่าปริมาณมาก (มากกว่า 14 ขวดต่อสัปดาห์) และ/หรือ ได้รับคาเฟอีนในปริมาณสูง (มากกว่า 800 มิลลิกรัมต่อวัน) มีค่าความเข้มข้นของอสุจิและจำนวนอสุจิที่นับได้สูงสุดลดลง แม้ว่าค่าทางสถิติจะบ่งชี้ว่า เฉพาะการบริโภคเครื่องดื่มโคล่าเท่านั้นที่มีผลอย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้ที่บริโภคเครื่องดื่มโคล่าในปริมาณสูงจะมีค่าความเข้มข้นของอสุจิ 40 ล้านตัวต่อมิลลิลิตร (95% confidence interval (CI):32,51) และจำนวนอสุจิที่นับได้สูงสุด 121 ล้านตัว (95% CI: 92, 160) ในขณะที่ผู้ไม่ดื่มโคล่า จะมีค่าความเข้มข้นของอสุจิ 56 ล้านตัวต่อมิลลิลิตร (95% CI: 50,64) และจำนวนอสุจิที่นับได้สูงสุดเท่ากับ 181 ล้านตัว (95% CI: 156,210) จากผลการทดลองสามารถสรุปได้ว่าการบริโภคเรื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบปริมาณสูง (มากกว่า 800 มิลลิกรัมต่อวัน) มีผลลดคุณภาพน้ำเชื้อ
           ฤทธิ์ เพิ่ม-ลด ความเสี่ยงโรคมะเร็งเต้านม มีการศึกษาทางคลินิกระยะยาวแบบ Long-term cohort study ของการดื่มกาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีนในปริมาณสูง ต่อการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม ในผู้หญิงจำนวน 85,987 คน ตั้งแต่ปี ค.ศ.1980 – 2002 (22 ปี) พบว่าการดื่มกาแฟที่มี หรือ ไม่มีคาเฟอีน และการดื่มชา ไม่มีผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านม นอกจากนี้ การดื่มเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีนผสมอยู่อาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านมในหญิงวัยหมดประจำเดือน ได้อีกด้วย อีกทั้งยังมีรายงานผลการศึกษาด้านความปลอดภัยของการใช้สารคาเฟอีน ระบุว่า มีการศึกษาทางพิษวิทยาในสัตว์ทดลองแล้วนำมาเทียบกับขนาดที่ใช้ในมนุษย์พบว่า ปริมาณของคาเฟอีนที่ทำให้มนุษย์ตายโดยเฉียบพลัน คือ 10 กรัม/ครั้ง แต่ถ้าได้รับคาเฟอีนปริมาณ 50-400 มิลลิกรัม/วัน (ซึ่งเป็นขนาดที่มีการกำหนดให้ใช้) จะไม่เกิดอันตรายต่อมนุษย์ 

คาเฟอีน ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

ในการบริโภคคาเฟอีนนั้น ถึงแม้ว่าคาเฟอีนจะเป็นสารที่มีการนำมาใช้และพบได้ในชีวิตประจำวัน เป็นประจำและได้มรการศึกษาวิจัยถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่เป็นประโยชน์รวมถึงมีการศึกษาด้านความปลอดภัยและมีเกณฑ์ที่ระบุถึงขนาดและปริมาณ ในการใช้อย่างชัดเจนแล้ว แต่ทั้งนี้การใช้ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สารสกัดชนิดอื่นๆ โดยการใช้ในขนาดที่ได้ระบุไว้และไม่ควรใช้ในปริมาณมากเป็นเวลานาน เพราะ อาจนำไปสู่ภาวะเสพติดคาเฟอีน (caffeinism) ทำให้ระบบประสาทส่วนกลางถูกกระตุ้นมากเกินไป ซึ่งภาวะนี้เรียกว่าภาวะพิษกาเฟอีน (caffeine intoxication) ที่จะทำให้เกิดอาการ 5 อย่างจากอาการทั้งหมด ดังต่อไปนี้
⦁ มึนงง ปวดศีรษะ
⦁ อึดอัดกระสับกระส่าย มือสั่น
⦁ กระวน กระวาย ไม่สบายใจ
⦁ นอนไม่หลับ หรือนอนหลับยาก
⦁ วิตกกังวล หัวใจเต้นเร็ว
⦁ หน้าแดงหงุดหงิด
⦁ ปัสสาวะมาก
⦁ กระเพาะลำไส้ปั่นป่วน
⦁ กล้ามเนื้อกระตุก
⦁ ความคิดและคำพูดวกวน
⦁ อ่อนเพลีย
⦁ การทำงานของกล้ามเนื้อไม่ประสานกัน
⦁ คลื่นไส้ อาเจียน

เอกสารอ้างอิง คาเฟอีน

⦁ รพ.ดร.ภญ. นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์. กาแฟ...ระวังในโรคใด?. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
⦁ กาแฟ ชา คาเฟอีน กับความเสียงของการเกิดโรคมะเร็งเต้านม. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
⦁ ผศ.ดร.ภญ. อวยพร อภิรักษ์อร่ามวง. การบริโภคกาแฟกับความเสี่ยงต่อเบาหวานชนิดที่ 2. วารสารไทยไภษัชยนิพนธ์ ปีที่ 2. ฉบับเดือน มกราคม-ธันวาคม 2548. หน้า 81-92
⦁ ผลของปริมาณคาเฟอีนต่อคุณภาพน้ำเชื้อ (Semen). ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
⦁ ณัฐกุล แสงสว่าง, ณภัสวรรณ ธนาพงษ์อนันท์. คาเฟอีนและความสามารถทางกีฬา. วารสารวิทยาศาสคร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยสารคาม ปีที่ 33. ฉบับที่ 6 พฤศจิกายน-ธันวาคม 2557. หน้า 746-754
⦁ การดื่มกาแฟเอเพรสโซมีผลกระตุ้นการทำงานของระบบประสาท parasympathetic. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
⦁ เมตตา โพธิ์กลิ่น.“คาเฟอีน ให้คุณ หรือ โทษ” วารสารมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ. ; 45-53:กรกฎาคม-ธันวาคม 2545.
⦁ ผลของคาเฟอีนชาเขียวและกรดอะมิโนไทโรซีน ต่อการสร้างพลังงานความร้อน. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
⦁ Roger NL, Dinges DF. Caffeine and Tannins(Toxicity). In : Judy A Driskell (Ed.). Nutrition and Exercise Concerns of Middle Age. Boca Raton : CRC Press ; 2009. p.272-273.
⦁ Nawrot P, Jordan S, Eastwood J, Rotstein J, Hugenholtz A, Feeley M. Effects of caffeine on human health. Food Addit Contam. 2003;20(1):1-30.
⦁ Mangus et al. Caffeine and Tannins(Function and Metabolism).In : Judy A Driskell (Ed.). Nutrition and Exercise Concerns of Middle Age.Boca Raton : CRC Press ; 2009. p.270-271.
⦁ O'Keefe JH, DiNicolantonio JJ, Lavie CJ. Coffee for cardioprotection and longevity. Prog Cardiovasc Dis 2018; 61:38-42.
⦁ Jay K. and Valerie AA. Caffeine and Tannins.In : Judy A Driskell (Ed.).Nutrition and Exercise Concerns of Middle Age.Boca Raton : CRC Press ; 2009. p.269-278.
⦁ Salazar-Martinez E, Willett WC, Ascherio A, et al. Coffee consumption and risk for type 2 diabetes mellitus. Ann Inturn Med. 2004; 140 (1) : 1-8. [Abstract].
⦁ Nehlig A. Effects of coffee/caffeine on brain health and disease: What should I tell my patients? Pract Neurol 2016; 16:89-95.
⦁ Nonthakaew A, Matan N, Aewsiri T, Matan N.Caffeine in foods and its antimicrobial activity.International food research Journal. 2015; 22(1):9–14.
⦁ Navarro AM, Martinez-Gonzalez MA, Gea A, Ramallal R, Ruiz-Canela M, Toledo E. Coffee consumption and risk of hypertension in the SUN Project. Clin Nutr 2019; 38:389-97.