กรดจิมเนมิก

กรดจิมเนมิก

ชื่อสามัญ Gymnemic acid


ประเภทและข้อแตกต่างของกรดจิมเนมิก

กรดจิมเนมิก (Gymnemic acid) เป็นสารสกัดที่ได้จากธรรมชาติในกลุ่มไตรเทอร์ปีนซาโปนิน (triterpene saponin) ที่มีสูตรทางเคมี คือ C40H66O14 มีมวลโมเลกุล 806.98 g/mol และมีโครงสร้างโมเลกุล ซึ่งประกอบไปด้วยสารประกอบไตรเทอ พีนอยด์กรดไขมัน และสารคล้ายคลึงกับโมเลกุลของน้ำตาลกลูโคส ที่เรียกว่า glucuronic acid โดยโครงสร้างส่วนกลางของกรดจิมเนมิก ได้แก่ aglycone gymnemagenin ที่ประดับด้วยน้ำตาล glucuronic และกลุ่มเอสเทอร์ต่างๆ ซึ่งรูปแบบเหล่านี้จะทำให้เกิดกรดยิมเนมิกที่แตกต่างกัน ซึ่งรูปแบบของกรดจิมเนมิกนี้มีมากกว่า 20 รูปแบบ และจะแตกต่างกันไปตามสารประกอบทางเคมีภายในโครงสร้างโมเลกุลของชนิดนั้นๆ โดยสาร Gymnemic acid I (กรดจิมเนมิกที่พบในผักเชียงดา มีคุณสมบัติต้านความหวานสูงสุด

แหล่งที่พบและแหล่งที่มากรดจิมเนมิก

กรดจิมเนมิก เป็นสารพฤกษเคมีที่ได้จากธรรมชาติ โดยแหล่งของสารชนิดนี้ในธรรมชาติ ได้แก่ ผักเชียงดา (Gymnema inodorum (Lour.) Decne) ซึ่งเป็นผักพื้นบ้านของภาคเหนือของประเทศไทย นอกจากนี้ยังสามารถพบกรดจิมานมิกได้ในผักเชียงดาอินเดีย ซึ่งเป็นพืชชนิดหนึ่งในประเทศอินเดียซึ่งเป็นพืชสกุล (genus) เดียวกันกับผักเชียงดา แต่ต่างชนิดกัน (species) คือ Gymnema sylvestre อีกด้วย

กรดจิมเนมิก

ปริมาณที่ควรได้รับกรดจิมเนมิก

สำหรับปริมาณของกรดจิมเนมิก ที่ควรได้รับในแต่ละวันนั้น ในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์และปริมาณการใช้อย่างชัดเจน แต่มีการศึกษาวิจัยทางคลินิกในอาสาสมัครปกติ พบว่าเมื่อให้อาสาสมัครดื่มชาที่เชียงดา ที่มีใบเชียงดาอบแห้ง 1.5 ก. ชงกับน้ำร้อน 150 มล. (ซึ่งในใบผักเชียงดามีสาร gymnema asid อยู่) มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างมีนัยสำคัญ และฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดให้ผลแปรผันตรงกับขนาดที่ได้รับ (ที่มีสาร gymnenic ในใบผักเชียงดา) ตั้งแต่หลังการทดสอบน้ำตาล หรือ ที่เวลาภายใน 15 นาที หลังการทดสอบน้ำตาล และการรับประทานชาเชียงดา วันละ 1 แก้ว หลังอาหารทันที ต่อเนื่อง 28 วัน ซึ่งสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดสูงสุด (peak plasma glucose concentration) ได้ดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับประทาน
           นอกจากนี้ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่องรายช่อพืชที่ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2561 ยังมีการอนุญาตให้ใช้ส่วนในและยอดอ่อนของผักเชียงดาที่มีสาระสำคัญ คือ gymnemic acid มาใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพได้ โดยให้ใช้กระบวนการสกัดโดยวิธีบดผง และให้มีขนาดการใช้ไม่เกิน 1.5 กรัม/วัน

ประโยชน์และโทษกรดจิมเนมิก

มีการนำกรดจิมเนมิกมาใช้ประโยชน์ในด้านลดน้ำตาลและลดไขมัน ซึ่งคือเป็นฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารดังกล่าว โดยในปัจจุบันมีการสกัดเอาสาร gymnemic acid มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งในรูปของเครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งจากผลของรายงานการศึกษาวิจัยพบว่าสาร gymnemic acid มีฤทธิ์ยับยั้งการนำกลูโคสเข้าสู่เซลล์ และกระตุ้นให้มีการหลั่งอินซูลินเพิ่มมากขึ้น เป็นผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้ โดยเมื่อกรดจิมเนมิก เข้าสู่ร่างกาย ลำไส้เล็กจะดูดซึมสารดังกล่าวเข้าสู่กระแสเลือดได้ดีกว่าน้ำตาล ส่งผลให้ร่างกายลดการดูดซึมน้ำตาลลดลง อีกทั้งสารดังกล่าวยังช่วยเพิ่มปริมาณอินซูลินให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด จึงส่งผลให้ระดับอินซูลินในเลือดมีมากพอที่จะจัดการกับน้ำตาลได้

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกรดจิมเนมิก

มีผลการศึกษาวิจัยของกรดจิมเนมิกในด้านต่างๆ ดังนี้
           มีรายงานการวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสาร gymnemic acid พบว่าสารนี้สามารถจับกับต่อมรับรสหวานที่ลิ้นได้เช่นเดียวกับน้ำตาล จึงทำให้ลิ้นรับรสหวานได้น้อยลง นอกจากนี้ gymnemic acid ยังสามารถยับยั้งการขนส่งน้ำตาล ชะลอการดูดซึมน้ำตาลบริเวณลำไส้เล็ก และยังกระตุ้นการสร้าง และซ่อมแซมเบต้าเซลล์ที่บริเวณไอส์เลตออฟลังเกอร์ฮันส์ (islets of Langerhans) ในตับอ่อน ส่งผลให้มีการกระตุ้นให้มีการหลั่งอินซูลินเพิ่มมากขึ้น จึงสามารถทำให้น้ำตาลในเลือดลดลงได้
           นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ากรดจิมเนมิก (Gymnemic acid) ซึ่งเป็นสารสกัดผสมในรูปของ triterpene glycosides จาก ใบผักเชียงดา Gymnema sylvestre ยังสามารถยับยั้งการดูดซึมกลูโคสในเลือดของคนและหนูทดลองที่ ป่วยด้วยโรคอ้วน รวมทั้งยับยั้งการดูดซึมกรดโอเลอิค (oleic acid) ในลำไส้ของหนูทดลองได้ โดยนัก วิทยาศาสตร์ได้รายงานถึงผลของผักเชียงดาในหนูด้วยการให้สารพิษที่ทำลายบีตาเซลล์ (-cell lines) ในตับอ่อนของหนู ซึ่งพบว่าหนูที่ได้รับผักเชียงดาอินเดีย (Gymnema sylvestre) ทั้งในรูปของผงแห้งและสารสกัด มีระดับน้ำตาลในเลือดกลับมาเป็นปกติได้ภายใน 20-60 วัน และระดับอินซูลินก็กลับมาเป็นปกติเช่นกัน รวมถึง จำนวนของบีตาเซลล์เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีรายงาน ว่าสารสกัดผักเชียงดามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดสูงกว่ายาแผนปัจจุบันที่ใช้รักษาเบาหวานที่มีชื่อว่า ไกลเบนคลาไมด์ (glibenclamide) โดยไม่ทำให้เกิดความเป็นพิษต่อสัตว์ทดลองอีกด้วย

โครงสร้างกรดจิมเนมิก

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

⦁ เด็ก สตรีมีครรภ์และผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำไม่ควรรับประทาน สารสกัด gymnemic acid
⦁ ไม่ควรรับประทานสารสกัด gymnemic acid ติดต่อกันเป็นเวลาเกิน 1 เดือน
⦁ ในส่วนของการบริโภคผักเชียงดาในรูปแบบอาหาร เพื่อให้ได้รับสาร gymnemic acid นั้นสามารถบริโภคได้ตามปกติ จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีรายงานความเป็นพิษจากการรับประทานในรูปอาหารแต่อย่างใด
⦁ สำหรับการรับประทานสมุนไพร ที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดร่วมกับยาแผนปัจจุบันที่รักษาโรคเบาหวานควรปรึกษาแพทย์ที่รักษาก่อนการรับประทานเสมอ

เอกสารอ้างอิง กรดจิมเนมิก

⦁ ผศ.ปริญญาวดี ศรีลานทิพย์ และคณะ.ผักเชียงดาราชินีผักล้านนา. สถาบันถ่านทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา 40 หน้า
⦁ กนกพร อะทะวงมา. ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของผักเชียงดา. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
⦁ ประทุมพร ยิ่งธงชัย และคณะ. การเปรียบเทียบคุณค่าทางโภชนาการ และปริมาณสารออกฤทธิ์ชีวภาพในใบเชียงดา. วารสารเกษตรปีที่ 34. ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2561. หน้า 363-372
⦁ ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่องรายชื่อพืชที่ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารฉบับที่ 2 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2561
⦁ Shin-ichi Y, Toshiaki I, Michio M, Takeshi K, Ryuzo K, Yasutake H. Anti-diabetic effects of the extracts from the leaves of Gymnema sylvestre. Inhibitory effect of gymnemic acids on glucose absorption in the small intestine. Wakan Iyakugaku Zasshi (1996);13(4):300-3.
⦁ Persaud, S.J., Al-Majed, H., Raman, A. and P.M. Jones. 1999. Gymnema sylvestre stimulates insulin release in vitro by increased membrane permeability. Journal of Endocrinology, 163: 207–212.
⦁ Stoecklin W. Chemistry and physiological properties of gymnemic acid, the antisaccharine principle of the leaves of Gymnema sylvestre. J Agric Food Chem 1969;17(4):704-8.
⦁ Sugihara, Y., H. Nojima, H. Matsuda, T. Murakami, M. Yoshikawa and I. Kimura. 2000. Antihyperglycemic effects of gymnemic acid IV, a compound derived from Gymnema sylvestre leaves in streptozotocin-diabetic mice. Journal of Asian Natural Products Research 2: 321- 327.
⦁ Chiabchalard A, Tencomnao T, Santiyanont R. Effect of Gymnema inodorum on postprandial peak plasma glucose levels in healthy human. African J Biotech 2010;9(7):1079-85.
⦁ Wang, L.F., Luo, H., Miyoshi, M., Imoto, T., Hiji, Y. and T. Sasaki. 1998. Inhibitory effect of gymnemic acid on intestinal absorption of oleic acid in rats. Canadian Journal of Physiology and Pharmacology, 76(10-11): 1017-1023.
⦁ Meiselman HL, Halpern BP. Effects of Gymnema sylvestre on complex tastes elicited by amino acids and sucrose. Physiol Behav 1970;5(12):1379-84
⦁ Shanmugasundaram, K.R., C. Panneerselvam, P. Samudram and E.R. Shanmugasundaram. 1983. Enzyme changes and glucose utilization in diabetic rabbits: the effect of Gymnema sylvestre R. Br. Journal of Ethnopharmacology 7: 205-234.
⦁ Shanmugasundaram,K.R.,Panneerselvam,C.1981.TheinsulinotropicactivityofGymnemasylvestreR.Br.an Indianherbusedincontrollingdiabetesmellitus.PharmacologicalResearchCommunications,13:475-486.