สาร DMPBD

สาร DMPBD

ชื่อสามัญ (E-1-(3,4 dimethoxyphenyl) butadiene [DMPBD]

ประเภทและข้อแตกต่างสาร DMPBD

สาร DMPBD จัดเป็นสารในกลุ่ม ฟินิลบิวทินอยดส์ (pnenylbutenoids) ที่มีสูตรทางเคมี คือ C12H14O2 มีมวลโมเลกุล 190.24 g/mol มีคุณสมบัติละลายน้ำได้เล็กน้อย แต่ละลายได้ดีในน้ำมัน ซึ่งจากการศึกษาถึงสาร DMPBD พบว่ามีคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาที่ดีหลายด้านจนในปัจจุบันจึงมีการเริ่มวิจัย และพัฒนาการสกัดสารดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ กันบ้างแล้ว สำหรับประเภทของสาร DMPBD นั้น พบว่ามีเพียงประเภทเดียว

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาสาร DMPBD

สำหรับแหล่งที่พบสาร DMPBD นั้น พบว่าสารดังกล่าวสามารถแยกและสกัดได้จากเหง้าของไพล โดยเฉพาะเหง้าแก่ที่มีอายุ 1-2 ปี จะให้สาร DMPBD ในปริมาณที่มากที่สุด โดยลักษณะทางกายภาพของเหง้าไพลที่ดีที่นำมาสกัดเอาสารดังกล่าวนั้น ต้องมีปริมาณน้ำไม่เกิน 13% (W/W) ปริมารสิ่งแปลกปลามไม่เกิน 2% (W/W) ปริมาณเถ้ารวมไม่เกิน 9% (W/W) และปริมาณน้ำมันระเหยง่ายไม่น้อยกว่า 2%(v/W) เป็นต้น 

สาร DMPBD

ปริมาณที่ควรได้รับสาร DMPBD

สำหรับปริมาณและขนาดการใช้สกัดของสาร DMPBD นั้นในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดขนาดและปริมาณการใช้อย่างชัดเจนแต่อย่างใด และการใช้ส่วนมากก็มักจะเป็นการใช้ในรูปแบบของน้ำมันไพล น้ำมันปะสะไพล หรือ ครีมน้ำมันไพล ซึ่งมีสาร DMPBD เป็นส่วนประกอบ และให้สรรพคุณต่างๆ ส่วนสารสกัด DMPBD จากเหง้าไพลนั้นในปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นในการพัฒนาะและนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ

สาร DMPBD

ประโยชน์และโทษสาร DMPBD

ด้านประโยชน์ของสาร DMPBD นั้นในการศึกษาวิจัยพบว่าสารดังกล่าวมีฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์ในทางการแพทย์อย่างมากมาย เช่น ฤทธิ์ลดการอักเสบ (โดยพบว่าออกฤทธิ์ได้ดีกว่ายา diclofenac ถึง 11 เท่า) ฤทธิ์แก้ปวด ฤทธิ์ต้านจุลชีพ และ มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ได้แก่ ฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ ฤทธิ์ต้านการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และยังช่วยในการลดการเกาะตัวของเกร็ดเลือด ส่วนในรูปแบบครีมน้ำมันไพลนั้น ใช้นวดช่วยลดการปวดบวมฟกช้ำ เคล็ดขัดยอก และในรูปแบบของยาประสะไพลนั้นยังช่วยลดอาการต่างๆ ของสตรี ดังนี้


การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องสาร DMPBD

มีผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสาร DMPBD หลายฉบับดังนี้
           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดบริสุทธิ์จากไพล [(E)-1-(3,4- dimethoxyphenyl) butadiene, (DMPBD)] โดยใช้รูปแบบการทดลองทั้ง in vivo และ in vitro การศึกษาแบบ in vivo เพื่อดูประสิทธิภาพของ DMPBD ในการลดอาการบวมของใบหูของหนูขาวซึ่งถูกเหนี่ยวนําโดยการทาสาร ethyl phenylpropiolate (EPP), arachidonic acid (AA) หรือ 12-O-tetradecanoylphorbol 13-acetate (TPA) และผลต่ออาการบวมของอุ้งเท้าหนูขาวซึ่งถูกเหนี่ยวนําโดยการฉีดสาร carrageenan หรือ platelet-activating factor (PAF) ผลการทดสอบพบว่าสาร DMPBD ที่ให้โดยวิธีการทาสามารถลดอาการบวมของใบหูที่ถูกกระตุ้นโดย EPP และ AA ได้ดีกว่า oxyphenbutazone และ phenidone ตามลําดับ โดยมีประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์สูงสุดที่เวลา 30 นาที โดยในทั้งสองกรณีพบว่าประสิทธิภาพในการลดอาการบวมจาก TPA ของ สาร DMPBD ในขนาดต่ำ (0.1-1000 ng/ear) จะเพิ่มขึ้นตามชนิดยาที่ใช้ ในขณะที่ DMPBD ในขนาดสูง (10-1000 µg/ear) กลับมีฤทธิ์ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับ diclofenac สาร DMPBD มีความแรงสูงกว่า โดยมีค่า ID50 ที่เวลา 8 ชั่วโมง เท่ากับ 660 pmole/ear ในขณะที่ ID50 ของ diclofenac สูงถึง 7200 pmole/ear DMPBD และ diclofenac ลดอาการบวมของอุ้งเท้าหนูที่เกิดจากการฉีด carrageenan ได้ดีพอๆ กัน โดยออกฤทธิ์สูงสุดที่ชั่วโมงที่ 4-5 หลังทายา ผลการออกฤทธิ์ขึ้นอยู่กับขนาดของยาที่ใช้ สารทั้งสองตัวนี้ไม่สามารถลดอาการบวมที่เกิดจากการฉีด PAF ได้ ในขณะที่ salbutamol ซึ่งเป็น ß2 -agonist สามารถลดอาการบวมได้อย่างเด่นชัด และผลที่ได้แปรผันตามขนาดยาที่ใช้
           นอกจากนี้อีการศึกษาวิจัยหนึ่งยังพบว่าสาร (E)-1-(3,4-dimethoxyphenyl)butadiene (DMPBD) ซึ่งแยกได้จากไพลยังสามารถ ยับยั้งการอักเสบที่เหนี่ยวนำด้วย ethyl phenylpropiolate, arachidonic acid และ 12-O-tetradecanoyl phorbol-13-acetate ในการทดลองใช้หูหนู และยังยับยั้งในการทดลองในอุ้งเท้าหนูอีกด้วย
           อีกทั้งยังมีการศึกษาวิจัยและพัฒนาตำรับยาประสะไพลเป็นสารสกัด โดยใช้สารสกัดด้วยเอทิลแอลกอฮอล์ 40% และ 70% พบว่าสารสกัดทั้ง 2 ชนิด มีฤทธิ์ลดอาการอักเสบ สารสกัดเอทิลแอลกอฮอล์ 70% แสดงฤทธิ์ยับยั้งการบีบตัวของมดลูกที่กระตุ้นด้วย acetylcholine, prostaglandin หรือ oxytocin และลดอาการอักเสบ โดยมีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ COX-II เป็นหลัก และไม่พบความเป็นพิษเฉียบพลันและ พิษกึ่งเรื้อรังในสัตว์ทดลอง และต่อมา ได้นำสารสกัดตำรับด้วยเอทิลแอลกอฮอล์ 70% ที่ควบคุมปริมาณสาร DMPBD ไม่น้อยกว่า 4% และแสดงค่า IC50 ของฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ COX-II ไม่เกิน 30 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร มาทดลองทางคลินิก 2 รายงาน ด้วยวิธี double blind randomized control trial การศึกษาแรกเปรียบเทียบการใช้ยาแคปซูลประสะไพลในอาสาสมัคร 32 ราย ใช้สารสกัด 400 มิลลิกรัม และยา mefenamic acid จำนวน 27 ราย ใช้ยา 500 มิลลิกรัม วันละ 3 เวลา ก่อนมีประจำเดือน 3 วัน และรับประทานต่อจนครบ 5 วัน เมื่อใช้ยาครบ 3 รอบเดือน พบว่าอาสาสมัครที่กินยาประสะไพลมีอาการปวดประจำเดือน ไม่แตกต่างกับกลุ่มที่กินยา mefenamic acid ซึ่งพบข้างเคียงได้แก่อาการจุกเสียด ท้องอืด ท้องเฟ้อ แต่กลุ่มที่ได้รับยาประสะไพลมีเพียง 1 ราย มีอาการเรอได้กลิ่นไพล และเมื่อหยุดยาแล้ว 1 เดือน อาสาสมัครกลุ่มที่ได้รับยาประสะไพลมีอาการปวดน้อยลง และอีกรายงานหนึ่งที่ใช้สารสกัดและวิธีการให้ยาแบบเดียวกัน แสดงให้เห็นว่า ผู้เข้ารับการทดลอง 103 ราย เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยา mefenamic acid 500 มิลลิกรัม จำนวน 104 ราย เมื่อใช้ไป 6 รอบเดือน ทั้งสองกุล่มมีประสิทธิผลลดอาการปวดประจำเดือนได้พอๆ กัน และไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง 
           ฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด การศึกษาฤทธิ์เกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดในหลอดทดลอง โดยใช้เลือดจากใบหูกระต่าย พบว่าสาร DMPBD, ยา aspirin และ ยา phenidone มีผลยับยั้งการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือดที่ถูกกระตุ้นโดย collagen ได้โดยมีค่า  IC50 เท่ากับ 0.35, 0.43 และ  0.03 mM และค่า IC50 ของการใช้สาร DMPBD, aspirin และ  phenidone เมื่อใช้  ADP, AA และ PAF ในการกระตุ้น มีค่าเท่ากับ 4.85, 3.98 และ 1.30 mM ; 0.94, 0.13 และ 0.04 mM ; 1.14, 6.96  และ 2.40 mM ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า สาร DMPBD มีคุณสมบัติในการยับยั้งการอักเสบที่มีประสิทธิภาพดี ออกฤทธิ์โดยการยั้บยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase และ Lipoxygenase โดยการทดลองพบว่ามีการออกฤทธิ์ผ่าน Lipoxygenase pathways เป็นหลัก
           ฤทธิ์รักษาอาการอักเสบ ปวด บวม ฟกช้ำ มีการทดลองประสิทธิภาพของครีมไพลจีซาล (ซึ่งมีสาร DMPBD) ในนักกีฬาที่บาดเจ็บข้อเท้าแพลง 21 ราย โดยกลุ่มที่ได้รับยาไพลจีซาล 10 ราย ยาหลอก 11 ราย พบว่านักกีฬากลุ่มที่ได้รับยาไพลจีซาล มีการบวมเพิ่มขึ้นของข้อเท้าน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเฉพาะในช่วง 2-3 วันแรกของการรักษา ช่วยลดอาการปวด โดยผู้ป่วยรับประทานยาเม็ดแก้ปวด paracetamol น้อยกว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอก และช่วยให้การเคลื่อนไหวของข้อเท้าดีขึ้น โดยขยับข้อเท้าลงได้ดีกว่า

โครงสร้างสาร DMPBD

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

ในการใช้สารสกัด DMPBD จากเหง้าไพลนั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สารสกัดชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดที่เหมาะสมที่ระบุไว้ในผลิตภัณฑ์ และไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้ อีกทั้งก่อนการใช้ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนการใช้สารสกัด DMDBD เสมอ ส่วนการใช้และบริโภคเหง้าไพลเพื่อที่จะให้ได้รับสาร DMPBD นั้นก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกัน เพราะจากการศึกษาวิจัยพบว่ามีรายงานความเป็นพิษเฉียบพลันของน้ำสกัดจากไพล พบว่าเมื่อให้ทางหลอดเลือดดำที่หางของสัตว์ทดลอง ขนาด 4 กรัม/กิโลกรัม ทำให้หนูมีอาการตัวเย็นซีด ชัก หายใจติดขัด หยุดหายใจและตายในที่สุด นอกจากนี้ผุ้ที่มีภาวะของโรคหลอดเลือดหัวใจ (CVD) โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน (coronary heart disease) และเส้นเลือดในสมองอุดตัน (stroke)  ควรระมัดระวังในการรับประทานไพลเพราะเป็นสมุนไพรที่ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะมากขึ้น

เอกสารอ้างอิง DMPBD

⦁ นันทวัน บุณยะประภัศร และอรนุช โชคชัยเจริญพร,บรรณาธิการ.สมุนไพร ไม้พื้นบ้าน (3).กรุงเทพฯ:บริษัทประชาชนจำกัด; 2542.
⦁ ภญ.กฤติยา ไชยนอก.มาทำน้ำมันไพลกันเถอะ.รอบรู้เรื่องสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
⦁ คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา. 2549. บัญชียาจากสมุนไพร พ.ศ.2549. โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย:กรุงเทพมหานคร.
⦁ ฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารจากไพล.ข่าวความเคลื่อนไหลสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
⦁  รัตติมา จีนาพงษา. ฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัด DMPBD จากไพล [วิทยานิพนธ์ปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต]. กรุงเทพฯ. มหาวิทยาลัยมหิดล,2537.
⦁ รศ.ภญ.รุ่งระดี เต็มศิริฤกษ์กุล.ปวดประจำเดือนกับยาตำรับประสะไพล.บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
⦁ ไพล.ฐานข้อมูลสมุนไพรคณเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก ⦁ http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage⦁ &⦁ pid=96
⦁ ไพลกับทารกหลังคลอด.กระดานถาม-ตอบ สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล. (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=5533
⦁ Manimmanakon N,Manimmanakom A,Boobphachart D,Thuwakum W,Laupattarakasem W,Hamlin MU.Effects of Zingiber cassumunar (Plai cream) in the treatment of delayed onset muscle soreness.J Integr Med 2016;14(2):114-20.
⦁ Prasan Tangyuenyongwatana, Wandee Gritsanapan. An appropriate solvent for the preparation of Prasaplai extract. Songklanakarin Journal of Science & Technology 2009; 31(5): 527.
⦁ Jeenaponga R, Yoovathaworn K,Sriwatanakul KM, Pongprayoon U,Sriwatanakul K. Anti-inflammatory activity of (E)-1-(3, 4-dimethoxyphenyl) butadiene from Zingiber cassumunarRoxb. J Ethnopharmacology. 2003;87: 143-148.
⦁ Han AR, Kim MS, Jeong YH, Lee SK, Seo EK Cycollxygenase-2 inhibitory phenylbutenoids from the rhizomes of Zingiber cossumunar. Chem Pharm Bull 2005;53(11):1466-8.
⦁ Kamalashiran C, Lekskulchai O. The comparative study of the efficacy and side effect of Prasaplai extract versus Mefenamic acid on relieving primary dysmenorrhea: A clinical phase II trials. Thammasart Medical Journal. 2012;12:749–756.