พิโนสโตรบิน

พิโนสโตรบิน

ชื่อสามัญ Pinostrobin

ประเภทและข้อแตกต่างของพิโนสโตรบิน

พิโนสโตรบิน หรือ 5-hydroxy-7-methoxyflavanone เป็นสารในกลุ่มฟลาโวนอยส์ (flaronoids) มีสูตรทางเคมี คือ C16 H14 O4 มีมวลโมเลกุล 270.28 g/mol และละลายน้ำได้ไม่ดีนัก ซึ่งพิโนสโตรบิน เป็นไบโอฟลาโวนอยด์ในอาหารที่มีการค้นพบครั้งแรกเมื่อกว่า 600 ปี มาแล้วโดยในครั้งนั้นพบในไม้สน (Pinus strobus) สำหรับประเภทของพิโนสโตรบินนั้นพบว่ามีเพียงประเภทเดียวเท่านั้น

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาของพิโนสโตรบิน

พิโนสโตรบิน เป็นสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ที่พบได้ในพืชสมุนไพรหลายชนิด โดยเฉพาะพืชในวงศ์ Zingiberaceae เช่น กระชายเหลือง, กระชายดำ, กระชายขาว ที่สามารถพบสาร พิโนสโตรบินได้มากกว่าสมุนไพรชนิดอื่นๆ ส่วนสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในวงศ์นี้ก็สามารถพบสารนี้ได้เล็กน้อย นอกจากนี้ยังสามารถพบได้ในพืชชนิดต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันสารชนิดนี้กำลังเป็นที่จับตามองเป็นอย่างมากเนื่องจากมีรายงานการศึกษาวิจัยในห้องทดลองว่าสามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส corona (covid-19) ได้

สารพิโนสโตรบิน

ปริมาณที่ควรได้รับจากพิโนสโตรบิน

สำหรับขนาดปริมาณที่ควรบริโภคต่อวันของสารพิโนสโตรบิน นั้น ยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์การใช้ไว้อย่างตายตัว อีกทั้งในการใช้ในอดีตนั้นจะเป็นการใช้โดยการบริโภคในรูปแบบของการรับประทานพืชผักสมุนไพร ที่เป็นแหล่งของสารพิโนสโตรบินมากกว่าการจะสกัดเอาสารชนิดนี้ออกมาใช้บริโภคเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอย่างเช่นในปัจจุบัน ซึ่งได้มีการศึกษาวิจัยความเป็นพิษแบบเฉียบพลันของพิโนสโตรบินพบว่าไม่มีความเป็นพิษแต่อย่างใด

ประโยชน์และโทษพิโนสโตรบิน

มีการศึกษาวิจัยพบว่าสารพิโนสโตรบิน มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายๆ ด้าน ที่จะสามารถช่วยป้องกันและรักษาโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง ลดการอักเสบ ต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ (อาทิ สมอง ตับ ไต หัวใจ และหลอดเลือด เป็นต้น) ช่วยต้านเชื้อไวรัสต่างๆ ทั้งก่อนการติดเชื้อและหลังการติดเชื้อ อีกทียังช่วยลดการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสอีกด้วย

สารพิโนสโตรบิน

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องพิโนสโตรบิน

สำหรับผลการศึกษาวิจัยในด้านต่างๆ ของสารพิโนสโตรบิน ทั้งในประเทศ และต่างประเทศนั้นมีน้อยมาก ซึ่งจะขอนำมากล่าวถึงแค่เพียงที่ได้สืบค้นพบเท่านั้น ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

           ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร มีการศึกษาฤทธิ์ในการต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของสารสกัดเมทานอลจากเหง้ากระชายและสาร pinostrobin ที่แยกได้จากสารสกัดเมทานอลในหนูแรท โดยป้อนสารสกัดเมทานอลจากกระชาย ขนาด 50, 100, 200, 400 มก./กก. และสาร pinostrobin ขนาด 20 และ 40 มก./กก. ก่อนเหนี่ยวนำให้เกิดแผลด้วยเอทานอล 1 ชม. เปรียบเทียบผลกับกลุ่มที่ป้อนยา omeprazole ขนาด 20 มก./กก. พบว่าสารสกัดเมทานอล สาร pinostrobin และยา omeprazole มีผลเพิ่มปริมาณของสารเมือก (gastric mucus) และค่า pH ในกระเพาะอาหาร และลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ ซึ่งสารสกัดเมทานอลขนาด 400 มก./กก. และสาร pinostrobin ทั้ง 2 ขนาด จะลดการเกิดแผลได้ดีกว่ายา omeprazole นอกจากนี้ยังลดอาการบวมของชั้นใต้เยื่อเมือก (submucosal edema) และทำให้การแทรกของเซลล์เม็ดเลือดขาว (leucocytes infiltration) ลดลงหรือหายไป สารสกัดเมทานอล สาร pinostrobin และยา omeprazole มีผลลดระดับของ malondialdehyde ได้ โดยสาร pinostrobin ให้ผลดีที่สุด เมื่อนำสาร pinostrobin มาทดสอบฤทธิ์ในการต้านการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระ พบว่าสาร pinostrobin ไม่มีผลในการยับยั้งการหลั่งไนตริกออกไซด์ และการทำงานของเอนไซม์ COX-1 และ COX-2 เมื่อทดลองในเซลล์ RAW 264.7 ซึ่งถูกเหนี่ยวนำด้วย lipopolysaccharide/interferon-γ (LPS/IFN- γ) และสาร pinostrobin มีฤทธิ์อ่อนในการต้านอนูมูลอิสระเมื่อทดสอบวิธี Ferric reducing/antioxidant power (FRAP) แต่ไม่มีผลเมื่อทดสอบด้วยวิธี 1,1-diphenyl-2-picrylhydrazyl (DPPH)

           ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย  มีการศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพของกระชายที่สกัดด้วยเฮกเซน พบว่า สาร pinostrobin และสาร panduratinA แสดงฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย B.cereus, B.subtilis และ E.coli ที่ระดับความเข้มข้น 300 ไมโครกรัมต่อดิสด์

สารพิโนสโตรบิน

           นอกจากนี้ยังมีรายงานผลการศึกษาอีกว่า สารพิโนสโตรบิน มีฤทธิ์ต้านการลดการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส ฤทธิ์ทำลายเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งตับ ฤทธิ์ต้านการอักเสบอีกด้วย ส่วนการศึกษาทางด้านพิษวิทยานั้น มีการศึกษาความเป็นพิษของสารพิโนสโตรบิน (5-hydroxy-7-methoxy flavanone) ซึ่งเป็นสารในกลุ่มฟลาวาโนนที่ได้มาจากเหง้ากระชาย โดยทดสอบในหนูขาวโดยให้สารพิโนสโตรบิน แก่หนูขาวเพศผู้ สายพันธุ์วิสตาร์ ในขนาดความเข้มข้น 500 mg/kg ผลการศึกษาพบว่าสารทั้งสองชนิดไม่ก่อให้เกิดการตายในหนู และจากการวิเคราะห์ความเป็นพิษต่ออวัยวะสำคัญ ได้แก่ ปอด ตับ ม้าม หัวใจ ไต อัณฑะ ต่อมไทมัส และค่าทางชีวเคมีของเลือด ได้แก่ aspartate aminotransferase (AST), alanine aminotransferase (ALT), alkaline phosphatase (ALP), ปริมาณโปรตีนรวม, อัตราส่วนของ albuminกับ globulin, ปริมาณยูเรีย ตลอดจนน้ำหนักตัวของหนู ไม่พบความผิดปกติเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม

           นอกจากนี้ยังมีการศึกษา ฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์โดยจากการทดสอบฤทธิ์ทำลายสารพันธุกรรม หรือ การก่อกลายพันธุ์ ด้วยการให้สารพิโนสโตรบินซึ่งเป็นสารในกลุ่มฟลาวาโนนที่ได้มาจากเหง้ากระชาย ในขนาด 1, 10 หรือ 100 mg/kg แก่หนูขาวเป็นระยะเวลา 7 วัน พบว่าสารดังกล่าว ไม่เหนี่ยวนำให้เกิดการแตกหักของโครโมโซม และไม่มีผลต่อดัชนีการแบ่งตัวของเซลล์ตับ (mitotic index) ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าสารพิโนสโตรบินไม่มีความเป็นพิษในหนูขาว และไม่มีความเป็นพิษต่อสารพันธุกรรมในเซลล์ตับหนูขาวในช่วงความเข้มข้น 1-100 mg/kg 

เอกสารอ้างอิง พิโนสโตรบิน
  1. จุรีพร อุปชิ, ไพวรรณ สุดวรรค์.การทดสอบความเป็นพิษของน้ำกระชายคั้นด้วยวิธี ไมโครนิจเคลียสในหนูขาวเพศผู้.วารสาร Thai Jo urnal of Gienetics ฉบับพิเศษ.กรกฏาคม 2556.หน้า 187-191
  2. ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของกระชาย.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร.คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. Ashidi,J.S.,Houghton,P.J.,Hylande,P.J.,Sieber,S.,and Efferth,T.2007.Molecular mechanism of action of the flavohone pinostrobin from Cajanus cajan leaves in caner cell. Plantamedica 73:855
  4. Wu,D.,Nair,M.G.,and DeWitt,D.L.2002.Novel compaunds from Piper methysticum  Forst (Kava Kava) root and their effect on eyclooxygenase enzyme.Journal of agricultural and food chemistry 50:701-705
  5. Charoensin S, Punvittayagul C, Pompimon W, Mevatee U, Wongpoomchai R. Toxicological and clastogenic evaluation of pinocembrin and pinostrobin isolated from Boesenbergia pandurata in wistar rats. Thai J Toxicology. 2010;25(1):29-40.
  6. Smolarz,H.D.,Mendyk,E.,Bogucka-Kocka.A.,and Koki,J.2006.Pinostrobin.an.antileakemic Aavenoid from polygonum lapothito lium L.ssp.nodosum(Pers.)Dans Zeitschrift fur naturfur naturforschung 61:64-68
  7. Trakoontivakorn G, Nakahara K, Shinmoto H, et al. Structural analysis of a novel antimutagenic compound, 4- hydroxypanduratin A, and the antimutagenic activity of flavonoids in a Thai spice, fingerroot (Boesenbergia pandurata Schult) against mutagenic heterocyclic amines. J Agric Food Chem. 2001;49(6),3046-50.
  8. Mongkdsuk,S.,and Dean, F.M.1964.Pinastrobin and alpinetin from Kaempferia  pandurata.Journal of the chemical society 4654-4655
  9. Fahey, J.W., and Stephenson,K.K.2002.Pinostrobin from honey and thai ginger (Boesenbergia pandurata):a.potent flaronoid inducer of mammalian phase 2 Chemopotective and antioxidant enzyms. Journal of agricultural and food chemistry 50:7478-7476.