ยูจีนอล

ยูจีนอล

ชื่อสามัญ  Eugenol

ประเภทและข้อแตกต่างสารยูจีนอล

สารยูจีนอล หรือ ที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า 4-allyl2-methoxyphenol หรือ 2-methoxy-4-(2-propenyl) phenol เป็นน้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้จากพืชธรรมชาติในกลุ่มของสารประกอบอะโรมาติกซึ่งมีสูตรโมเลกุล คือ C10H12O2 มีน้ำหนักโมเลกุล เท่ากับ 164.20 กรัม/โมล จุดเดือดเท่ากับ 254 องศาเซลเซียส และมีจุดหลอมเหลว -7.5 องศาเซลเซียส มีค่า pKa เท่ากับ 10.19 ที่ 25 องศาเซลเซียส ส่วนลักษณะทางกายภาพ จะมีลักษณะเป็นของเหลวไม่มีสีจนถึงสีเหลือง สามารถละลายน้ำได้เล็กน้อย แต่ละลายได้ดีในตัวทำละลายอินทรีย์ และมีกลิ่นคล้ายน้ำมันกานพลู

            สำหรับประเภทของยูจีนอล นั้นพบว่ามีเพียงประเภทเดียว แต่ทั้งนี้ยังมีสารไอโซยูจีนอล ซึ่งเป็นสารไอโซเมอร์กับยูจีนอล คือมีสูตรโมเลกุลเหมือนกันแต่มีโครงสร้างทางเคมีต่างกัน และยังมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาบางอย่างคล้ายคลึงกับยูจีนอลอีกด้วย

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาสารยูจีนอล

ยูจีนอล เป็นน้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้จากพืชธรรมชาติ โดยพบได้ทั่วไปในพืชสมุนไพรและเครื่องเทศหลายชนิด ซึ่งพืชสมุนไพรที่เป็นแหล่งที่พบยูจีนอลในปริมาณมาก ได้แก่ กานพลู (ปริมาณ 70%-95%) อบเชย (ปริมาณ 70%-90%) ใบพลู (ปริมาณ 28%-90%) ยี่หร่า (ปริมาณ 12%-20%) เป็นต้น

            นอกจากนี้ยังพบได้ในพืชอีกหลายชนิด (พบได้ในปริมาณน้อย) เช่น ข่า โหระพา กะเพรา ตะไคร้หอม จันทน์เทศใบเบย์ และออสไพซ์ เป็นต้น ทั้งนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยปริมาณสารยูจีนอลจากกานพลูซึ่งเป็นพืชที่พบยูจีนอลมากที่สุดพบว่า ส่วนต่างๆ ของกานพลูมีปริมาณสารยูจีนอลแตกต่างกันไปดังนี้ ดอกตูม (น้ำมันหอมระเหย (clove oil) มีองค์ประกอบที่เป็น eugenol ถึง 80-90%  methyt ใบ (น้ำมันหอมระเหย) มี eugenol 82-88% ลำต้น (น้ำมันหอมระเหย มี eugenol 90-95% 

ยูจีนอล

ปริมาณที่ควรได้รับจากสารยูจีนอล

ในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดถึงขนาด และปริมาณการใช้ยูจีนอลอย่างแน่ชัด ซึ่งการใช้ในอดีตนั้น ก็จะเป็นการใช้ตามตำรายาไทยในรูปแบบของสารแฝงที่มีอยู่ในน้ำมันดอกกานพลู หรือ น้ำมันหอมระเหยจากพืชอื่นๆ ที่เป็นแหล่งของยูจีนอลเป็นหลัก เช่น แก้ปวดฟัน ใช้น้ำมันที่ได้จากการกลั่นดอกตูมของดอกกานพลู 4-5 หยด ใช้สำลีพันปลายไม้ จุ่มน้ำมันจิ้มลงในรูที่ปวดฟัน เป็นต้น แต่ในปัจจุบันได้มีการนำน้ำมันหอมระเหยเหล่านั้นมากสกัดเอาสารยูจีนอล ออกมา เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น ใช้เป็นยาทางการแพทย์แผนปัจจุบัน หรือ ใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นต้น ซึ่งตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยาของไทยเรื่องรายชื่อพืชที่ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2560 ยังได้ประกาศอนุญาตให้ใช้สารยูจีนอลที่ได้จากการบดผงและสกัดด้วยน้ำจากเหง้าข่า เพื่อนำไปใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้ โดยไม่มีเงื่อนไขในการใช้แต่อย่างใด

ประโยชน์และโทษสารยูจีนอล

ยูจีนอล เป็นน้ำมันหอมระเหยที่จัดอยู่ในกลุ่มสารอะโรมาติก ในปัจจุบันมีการนำมาใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ หลายด้าน อาทิเช่น ด้านอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอาง มีการนำไปใช้เป็นสารแต่งกลิ่นในเครื่องสำอาง มีการนำไปใช้เป็นสารแต่งกลิ่นในเครื่องสำอาง อาหาร และเครื่องดื่ม ในด้านการเกษตรถูกนำไปใช้เป็นยาฆ่าเชื้อราในพืช และเป็นยาสลบในสัตว์น้ำและใช้ในการส่งอาหารประเภทสัตว์น้ำ ส่วนในด้านการแพทย์มีการนำยูจีนอล ไปใช้ในทางทันตกรรม และใช้เป็นยาแก้ปวดฟัน

            นอกจากนี้ยูจีนอลยังมีฤทธิ์ในสารต้านอนุมูลอิสระ ที่เป็นสาเหตุการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคความจำเสื่อม อีกทั้งยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และฤทธิ์ต้านจุลชีพชนิดต่างๆ ทั้งเชื้อรา แบคทีเรีย และยังมีการศึกษาวิจัยพบว่ายังช่วยขับน้ำดี ป้องกันการเกาะกลุ่มของเลือดและยังมีฤทธิ์ใช้เป็นยาชาเฉพาะที่ได้อีกด้วย

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องสารยูจีนอล

มีผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ทางเภสัชด้านต่างๆ ของยูจีนอล หลายฉบับ ดังนี้

            ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ มีการทดลองฤทธิ์ต้านแบคทีเรียของน้ำมันกานพลู และยูจีนอล พบว่าสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ 15 ชนิด รวมทั้ง Staphylococcus aureus ซึ่งเป็นสาเหตุของเชื้อหนอง และป้องกันการเจริญของเชื้อ Brucella และ Mycobacterium เมื่อใช้ในขนาดความเข้มข้น 1:16000–1:64000 และ 1:8000 ตามลำดับ  และสาร eugenol ยังมีฤทธิ์ยับั้งเชื้อก่อเกิดหนอง เชื้อก่อเกิดสิว (Propionibacterium acnes) เชื้อ Pseudomonas aeruginosa เชื้อก่อเกิดอุจาระร่วง (Bscherichia coli. Saimonella pullorum) และเชื้อกลาก (Microsphyton menfa-grophytes, T- rubum) และยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อเริม ชนิด HSV-1 ในหลอดทดลอง และการทดลองในหนูสารสกัดน้ำร้อนมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อไวรัสหลายชนิด เช่น เชื้อเริมชนิด HSV-1 เชื้อหิด และเชื้อโปลิโอโดยสารสำคัญที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อเริมคือ สาร eugenol

           ยังมีการศึกษาฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราของสารสกัดกานพลูด้วยเอทานอล และตรวจสอบองค์ประกอบทางเคมีด้วยวิธี TLC พบว่าองค์ประกอบหลักคือสาร eugenol เมื่อนำสารสกัดไปทดสอบประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญของเชื้อยีสต์ Candida albicans ทั้งหมด 28 สายพันธุ์ และ C. neoformans ทั้งหมด 25 สายพันธุ์ โดยวิธี Broth microdilution method เปรียบเทียบกับสาร eugenol และยามาตรฐาน amphotericin B (AMB) พบว่าค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการยับยั้งเชื้อ (MIC) ของสารสกัดจากกานพลู, eugenol และ AMB ต่อเชื้อ C. albicans เท่ากับ 17.41±8.64 mg/ml, 12.16±4.53 mg/ml และ 0.23±0.1mcg/ml ตามลำดับ ค่าความเข้มข้นต่ำสุดในการฆ่าเชื้อ (MFC) เท่ากับ 67.5±15.39 mg/ml, 15.4±6.47 mg/ml และ 0.47±0.21 mcg/ml ตามลำดับ และผลการยับยั้งการเจริญของเชื้อ C. neoformans ของสารสกัดกานพลู, eugenol และ AMB เท่ากับ 2.43±0.95 mg/ml, 6.28±3.4 mg/ml และ 0.28±0.15 mcg/ml ตามลำดับ ค่า MFC เท่ากับ 22.22±12.71 mg/ml, 10.06±4.9 mg/ml และ 0.51±0.25 mcg/ml ตามลำดับ

            อีกทั้งยังพบว่าทั้งน้ำมันกานพลู และยูจีนอล สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา 6 ชนิด รวมทั้งเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคกลากได้เมื่อใช้ความเข้มข้น 1:8000–1:16000 และพบว่าไม่มีการดื้อยา และไม่ระคายเคือง

            ฤทธิ์ต้านการอับเสบ มีการศึกษาวิจัยพบว่าสารสกัดเอทานอล และสาร eugenol มีฤทธิ์ต้านการอักเสบในสัตว์ทดลองโดยมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอมไซม์ cyclooxygenase,  lipoxygenase และมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสาร prostaglandin และ thromboxane ที่ก่อให้เกิดการอักเสบ นอกจากนี้สาร eugenol และ isoeugenol ยังมีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือดได้ดีกว่ายาแอสไพริน และฤทธิ์การยับยั้งนี้จะเพิ่มมากขึ้นถ้าใช้สารทั้งสองร่วมกัน

            ฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร มีการศึกษาฤทธิ์ในการต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ของสาร eugenol จากดอกกานพลู ทำการทดลองโดยให้ eugenol ขนาด 100 มก./กก. ทางปากแก่หนูแรท ก่อนได้รับยา indomethacin (ยาที่ใช้เหนี่ยวนำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร) เป็นเวลา 60 นาที ซึ่งจากการทดลองพบว่ากลุ่มที่ได้รับ eugenol ในขนาด 100 มก./กก. ไม่พบการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร

            นอกจากนี้ยังมีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆ อีกเช่น การฉีดสาร eugenol และ caryophyllene เข้าเส้นเลือดดำหนู ในขนาดยาสูง (200 – 400 มก./กก.) ทำให้เกิดเสพติด และการให้ขนาดยาที่ต่ำ (1-100 มก./กก.) จะทำให้สงบ สาร eugenol β-caryophyllene มีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ และสาร eugenol ยังมีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดคลายตัว และต้านการอาเจียนอีกด้วย

            ส่วนการศึกษาทางพิษวิทยาของยูจีนอลมีดังนี้  มีการศึกษาการเกิดพิษเฉียบพลันของสาร eugenol จากดอกกานพลู โดยทำการศึกษาในหนูแรท สายพันธุ์ Sprague-Dawley แบ่งหนูทดลองออกเป็น 4 กลุ่ม  กลุ่ม 1, 2, 3 ได้รับสาร eugenol ความเข้มข้น 2.58, 1.37, 0.77 มก./ล. ตามลำดับ กลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มควบคุม ทำการทดลองโดยการพ่นสารทดสอบให้หนูทดลองสูดดมเป็นเวลา 4 ชั่วโมง แล้วติดตามอาการของหนูเป็นเวลา 14 วัน ผลการทดสอบไม่พบการตายของหนู ส่วนอาการ และพฤติกรรม พบว่าหนูทดลองมีน้ำลายไหลระดับปานกลาง มีอาการกระวนกระวาย และหายใจลำบาก แต่อาการเหล่านี้หายเองได้ภายในเวลา 1 วัน แต่เมื่อให้สารนี้ทางหลอดเลือดดำแก่หนูแรท ในขนาดเข้มข้น 6.25 โมล/ลิตร พบว่าหนูทดลองมีอาการหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน น้ำท่วมปอด และเลือดออกที่ปอด

            และอีกการศึกษาหนึ่งได้ทำการศึกษาความเป็นพิษของยูจีนอลพบว่า ขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่งในหนูขาว หนูตะเภา และหนูถีบจักร เท่ากับ 2.68, 2.13 และ 3g/kg ตามลำดับ ส่วนขนาดที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครั้งหนึ่งในหนูขาว เท่ากับ 1.8cm3 หรือ 1.93 g/kg เมื่อป้อนให้หนูขาว ซึ่งอาการเป็นพิษที่พบ คือ มีอาการเป็นอัมพาต โดยเริ่มที่ขาหลังและกรามล่าง ส่วนอาการเป็นอัมพาตที่ขาหน้าจะเป็นเมื่ออาการโคม่าหรือเหนื่อยมากๆ อาจมีอาการปัสสาวะเป็นเลือด ระบบไหลเวียนของโลหิตล้มเหลว มีอาการคัน และเมื่อทำการทดลองให้หนูขาวกินยูจีนอล 0.1% 24 ซีซี และ 1% 6 ซีซี พบว่ามีการทำลายของตับอ่อนขาดไขมันในช่องท้อง ต่อมไธมัสมีขนาดเล็กลง ม้ามโต และการฝ่อของต่อมในกระเพาะอาหาร ส่วนการศึกษาในสุนัขพบว่า เมื่อกรอกยูจีนอลเข้ากระเพาะ อุณหภูมิของร่างกายลดลง ชีพจรเต้นแรงขึ้น แต่อัตราการหายใจไม่เปลี่ยนแปลง อาจมีการอาเจียนเมื่อให้ในขนาด 2ก./10 กก. ซึ่งการอาเจียนจะเพิ่มเป็น 65% ของสัตว์ทดลองเมื่อให้ขนาดสูงขึ้นถึง 5 ก./10 กก. การเคลื่อนไหวของขาหลังผิดปกติ และพบว่าเมื่อให้ในขนาดสูงซ้ำ 6 ครั้ง อาจทำให้สุนัขตายได้ (2ใน 6) โดยขนาดที่ปลอดภัย คือ 0.2 ก./กก. แม้จะให้ถึง 10 ครั้ง ในช่วง 3 อาทิตย์ ก็ไม่พบอันตราย ส่วนการฉีดยูจีนอลเข้าระบบไหลเวียนของโลหิตโดยตรงทำให้ความดันโลหิต และการเต้นของหัวใจลดลงชั่วขณะโดยไม่ทำให้อัตราการเต้นเปลี่ยนแปลง

โครงสร้างยูจีนอล

 ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

เนื่องจากสารยูจีนอลเป็นสารที่พบมากในส่วนต่างๆ ของการพลูและยังเป็นสารหลักที่ออกฤทธิ์ต่างๆ ดังนั้นในการใช้ยูจีนอลจึงควรระมัดระวังเช่นเดียวกันกับการใช้กานพลู คือ ไม่ควรใช้ในผู้หญิงมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร เด็ก ผู้ป่วยโรคตับไต และผู้ป่วยเบาหวาน  นอกจากนี้การใช้ยูจีนอลหรอน้ำมันดอกกานพลูในปริมาณมาก อาจทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง ดังนั้นต้องระวังการใช้ร่วมกับยาที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น warfarin, aspirin, heparin เป็นต้น และต้องระวังการใช้ร่วมกับยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์  (NSAIDs) เช่น ibuprofen, และยาลดน้ำตาลในเลือด เช่น insulin และ metformin เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง ยูจีนอล
  1. ดรุณ เพ็ชรพลาย และคณะ,สมุนไพร ในประเทศไทย ตอนที่ 1.พิมพ์ครั้งที่ 3 .กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยสมุนไพรกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2544 : 191-192.
  2. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์.สมุนไพรในตำรับยาหอม:กานพลู.จุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่ 29 .ฉบับที่ 3. เมษายน 2553.หน้า 16-20
  3. จตุรงค์ สุภาพพร้อมและคณะ.รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการการสังเคราะห์ยูจีนอล และอนุพันธ์.มหาวิทยาลัยนเรศวร.กุมภาพันธ์ 2552.68 หน้า
  4. พัชรพรรณ ดิษยมนตรี, พรพิมล ม่วงไทย.การวิเคราะห์ปริมาณยูจีนอล และไอโซยูจีนอลพร้อมกันในยาไทยพื้นบ้านบางชนิด.วารสารมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (สาขาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี) ปีที่ 9.ฉบับที่ 17 มกราคม-มิถุนายน2560.หน้า 64-72
  5. โศภิต ธิราช. การศึกษาประสิทธิภาพของสารสกัดจากพืชสมุนไพรบางชนิดที่มีผลในการยับยั้งเชื้อรา. โครงการพิเศษปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิตคณะเทคนิคการแพทย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2000.
  6. โชติอนันต์; และคณะ. (2551). สมุนไพรไทย สำหรับงานสาธารณะสุขมูลฐาน. กรุงเทพฯ: ดวงกมล พับลิชชิ่ง.
  1. นิจศิริ เรืองรังสี.เครื่องเทศ พิมพ์ครั้งที่ 3.กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.2542:81-88.
  2. บุหรัน พันธุ์สวรรค์. (2556). อนุมูลอิสระ สารต้านอนุมูลอิสระ และการวิเคราะห์ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ.วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 21(3) : 226-227.
  3. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์, นงลักษณ์ เรืองวิเศษ. วิเคราะห์ วิจัย คุณภาพเครื่องยาไทย. คอนเซ็พท์ เมดิคัส จำกัด: กรุงเทพมหานคร, 2551.
  4. การพลู,ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/wain.php?action=Viewpage&pid=18
  5. Geng Y.; et al. (2007). An efficient method for extraction, separation and purification of eugenol from Eugenia caryophyllata by supercritical fluid extraction and high-speed counter-current chromatography. Separation and Purification Technology. 57: 237.
  6. Bluementhal M The complete German commission E monograph in Therapeutic guide to herbal midicines USA American Botanical Councll.1998.
  7. Katja Schulz; et al. (2008). Headspace solid-phase microextraction–gas chromatography–mass spectrometry for the quantitative determination of the characteristic flavouring agent eugenol in serum samples after enzymatic cleavage to validate post-offence alcohol drinking claims. Chromatography A. 1211: 113–119.
  8. Ishicka,H:Fukuhara.Q:Sakaguchi.S:Studies on the anesthetic effects of eugenol to kurumsa prawn juveniles Nasei Kaiku Suisan Kerkyusho Kenkyo Hokoku 1974,7-31.
  9. Garry M. Lampman. (1977). The preparation of vanillin from eugenol and sawdust. Chemical Education: 776-778.
  10. Kamatou GP, Vermaak I, Viljoen AM. Eugenol-From the Remote Maluku Islands to the International Market Place: A Review of a Remarkable and Versatile Molecule. Molecules 2012:17;6953-6981.
  11. Monica Avila; et al. (2009). Determination of alkenylbenzenes and related flavour compounds in food samples by on-column preconcentration-capillary liquid chromatography. Chromatography A. 1216: 7179–7185.
  12. Srivastava KC. Malhotra N. Acetyl eugenol, a component of oil of cloves (Syzygium aromaticum L.) inhibits aggregation and alters arachidonic acid metabolism in human blood plateles. Prostaglandins Leukot Essent Fatty Acids 1991;42(1):73-81.
  13. Christina Krogsgaํrd Nielsen. (2016). Enhancing the antibacterial efficacy of isoeugenol by emulsion encapsulation. Food Microbiology. 229: 7-8.
  14. Bames,J., Anderson LA Phillipson JD Herbal medicines 2nd edition London The pharmaceutic press, 2002.
  15. Sober H, A; Hollander F Scbet, E K ,Toxiclly of eufenol:Determination of LD50 on rats Proc Soc Expit Biol Med 1960.73(1),148-151.