เคอร์คูมิน

เคอร์คูมิน

ชื่อสามัญ Curcumin

ประเภทและข้อแตกต่างสารเคอร์คูมิน

สารเคอร์คูมิน (Curcumin) หรือ diferuloyl methane มีชื่อเรียกตามโครงสร้างทางเคมีว่า 1, 7–bis (4– hydroxyl–3–methoxyphenyl) 1, 6–heptadiene 3, 5 dione มีมวลโมเลกูลเท่ากับ 368.28 g/mol และมีสูตรโมเลกุลเป็น C21H20O6 ซึ่งสารเคอร์คูมินนี้เป็นสารกลุ่มโพลีฟินอล และเป็นองค์ประกอบหลักในสารกลุ่มเคอร์คูมินนอยด์ มีลักษณะเป็นผง หรือ ผลึกขนาดเล็ก สีเหลืองอมส้ม ไม่ละลายน้ำ แต่ละลายได้ดีในแอลกอฮอล์ อะซีโตน โพรพิลีนไกลคอล (propylene glycol) กรดน้ำส้มเข้มข้น และเบนซิน โดยจะมีสีน้ำตาลแดงในด่าง สีเหลืองในกรด และช่วงที่เปลี่ยนแปลงสี คือ ช่วงที่ค่า pH ประมาณ 8-9 มีจุดหลอมเหลวประมาณ 183 องศาเซลเซียส และสาเคอร์คูมิน ยังเป็นสารที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอีกมากมาย ดังที่จะกล่าวถึงในหัวข้อต่อไป สำหรับประเภทของเคอร์คูมินนั้นมีอยู่เพียงประเภทเดียว แต่เมื่อสารเคอร์คูมินไปรวมกับสารอนุพันธ์อีก 2 ชนิด คือ Monodesmethoxycumin หรือ desmethoxy curcumin และ Didesmethoxycurcumin หรือ bis–desmethoxy curcumin ก็จะได้สารกลุ่มเคอร์คูมินอยล์ (Curcuminoids)

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาสารเคอร์คูมิน

สำหรับแหล่งสำคัญที่พบสารเคอร์คูมิน นั้นพบว่าได้มาจากพืชในวงค์ขิง (Zingiberaceae) เช่น ขิง ขมิ้น ข่า กระชาย ดาหลา กระเจียว ว่านชักมดลูก ว่านนางคำ ฯลฯ โดยเฉพาะขมิ้นชัน จะพบปริมาณของสารเคอร์คูมินมากกว่าพืชชนิดอื่นในวงศ์เดียวกัน โดยพบว่าในขมิ้นชันที่ได้จากแหล่งต่างๆ ในประเทศไทย จะมีปริมาณของสารเคอร์คูมินต่างกันไปตามสภาพภูมิประเทศ และสภาพของดิน แต่จากการศึกษาพบว่าจะมีค่าเฉลี่ยของสารเคอร์คูมินในขมิ้นชัน ที่เตรียมโดยไม่ผ่านความร้อน (การต้ม) ถึง 43.22 เปอร์เซ็นต์ ของเคอร์คูมินอยด์ทั้งหมด และขมิ้นชันที่ได้จากร้านจำหน่ายยาแผนโบราณ (เตรียมโดยการผ่านการต้มมาแล้ว) จะมีปริมาณผงเคอร์คูมิน เพียง 40.35 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

เคอร์คูมิน

ปริมาณที่ควรได้รับจากสารเคอร์คูมิน

สำหรับสารเคอร์คูมิน นั้นยังไม่ถูกจัดเป็นสารอาหารสำคัญที่ร่างกายมีความต้องการ และจำเป็นต้องได้รับเหมือนกับสารตามหลักชนิดอื่นๆ ดังนั้นจึงยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์ หรือ ขนาดการบริโภคต่อวัน แต่สำหรับการใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยาได้มีประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2560 ระบุว่าให้ใช้สารเคอร์คูมินอยด์ (เคอร์คูมิน) จากเหง้าขมิ้นที่สกัดด้วยน้ำ และสกัดด้วยน้ำ และเอทานอลในปริมาณไม่เกิน 2000 มิลลิกรัม/วัน

ประโยชน์และโทษสารเคอร์คูมิน

จากการศึกษาวิจัยพลว่า สารเคอร์คูมิน มีคุณสมบัติเป็นตัวต้านปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (antioxidation) ทำลายอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ยังสามารถยับยั้งการเกิดมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร และผิวหนังได้  ลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ฤทธิ์ป้องกันตับจากสารพิษ ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ป้องกันภาวะสมองเสื่อม ต้านเชื้อจุลินทรีย์ ส่วนพิษ และผลข้างเคียงของการใช้สารเคอร์คูมินนั้น จากการศึกษาวิจัยพบว่าการใช้สารกลุ่มเคอร์คูมินอยด์ในขนาดสูงอาจมีผลต่อการทำงาน และโครงสร้างตับได้แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่กลับเป็นปกติได้เมื่อหยุดใช้เคอร์คูมินอยด์ และการรับประทานเคอร์คูมิน ในปริมาณที่สูงมากนั้น ก็อาจส่งผลกระทบต่อการตายของเซลล์เยื่อบุจอตาได้เช่นกัน

            นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยด้านพิษวิทยาของสารเคอร์คูมิน และสารกลุ่มเคอร์คูมินอยด์พบว่าให้ผู้ป่วนมะเร็งรับประทานเคอร์คิวมินสูงถึง 8 กรัมต่อวัน แต่ไม่พบว่าเกิดผลข้างเคียงใดๆ หรือ เป็นพิษต่อผู้ป่วย และจากการศึกษาพิษเรื้อรังนาน 6 เดือน ของสารเคอร์คิวมินอยด์ ในหนูขาวสายพันธุ์วิสตาร์ ที่แบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มละ 15 ตัวต่อเพศ แบ่งเป็นกลุ่มควบคุมที่ได้รับน้ำ กลุ่มควบคุมที่ได้รับ tragacanth และกลุ่มทดลองที่ได้รับน้ำยาแขวนตะกอนเคอร์คิวมินอยด์ ใน tragacanth ทางปากในขนาด 10, 50 และ 250 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับ 1, 5 และ 25 เท่าของขนาดที่ใช้ในคนต่อวัน ส่วนหนูทดลองกลุ่มที่ 4 ได้รับน้ำยาแขวนตะกอนเคอร์คิวมินอยด์ ขนาด 250 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน นาน 6 เดือน แต่หยุดให้ยา 2 สัปดาห์ ก่อนผ่าซาก เพื่อดูว่าหากมีอาการพิษจากเคอร์คิวมินอยด์เกิดขึ้น จะกลับมาหายเป็นปกติได้ หรือไ ม่หลังจากหยุดยา พบว่าอัตราการเจริญของหนูเพศผู้ที่ได้รับเคอร์คิวมินอยด์ ขนาด 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน สูงกว่ากลุ่มที่ได้รับ tragacanth อย่างมีนัยสำคัญ สารเคอร์คิวมินอยด์ไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของค่าทางโลหิตวิทยาใดๆ ที่มีความสัมพันธ์กับขนาดของสารที่ให้ในหนูเพศผู้ที่ได้รับเคอร์คิวมินอยด์ ขนาด 250 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน พบว่าน้ำหนักจริง และน้ำหนักสัมพัทธ์ของตับ และระดับ alkaline phosphatase สูงกว่ากลุ่มควบคุมทั้งสองกลุ่ม แต่ยังอยู่ในช่วงของค่าปกติ แม้ว่าหนูกลุ่มนี้ดูเหมือนจะมีอุบัติการณ์ของไขมันสะสมในตับ และชั้น cortex ของต่อมหมวกไตสูง แต่อุบัติการณ์ดังกล่าวไม่ได้แตกต่างจากกลุ่มควบคุมทั้งสองอย่างมีนัยสำคัญ ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าการให้เคอร์คิวมินอยด์ ในขนาดที่ใช้ในคน 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลานาน ไม่ทำให้เกิดพิษในหนูขาวแต่อย่างใด

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องของสารเคอร์คูมิน

มีรายงานผลการศึกษาวิจัยของกระบวนการดูดซึมเคอร์คูมินระบุว่า จากการทดลองในหนูทดลองโดยให้สารประกอบเคอร์คูมินที่ใส่สารกัมมันตภาพรังสีพบว่ามีส่วนของกัมมันตภาพรังสีเข้าสู่กระแสโลหิตและอวัยวะต่างๆ แต่ไม่พบเคอร์คูมินในรูปเดี่ยวซึ่งแสดงว่าเคอร์คูมินอาจถูกเปลี่ยนแปลงเป็นรูปอื่นตอนที่ดูดซึมในลําไส้ และยังมีการศึกษาวิจัยในต่างประเทศพบว่าเมื่อให้สารประกอบเคอร์คูมินแก่หนูขาวโดยการรับประทานเคอร์คูมินจะถูกขับถ่ายออกทางอุจจาระ 75 เปอร์เซ็นต์ และในน้ำดี 11 เปอร์เซ็นต์ในขณะที่ปัสสาวะพบเพียงปริมาณเล็กน้อย โดยภายหลังการให้เคอร์คูมิน 0.1 กรัมต่อกิโลกรัม แก่หนูทดลองเป็นเวลา 1 ชั่วโมง จะสามารถพบปริมาณของเคอร์คูมินในลำไส้เล็ก ม้าม ตับ และไต เท่ากับ 177, 26, 27 และ 7.5 ไมโครกรัมต่อกรัมตามลำดับ แต่พบได้น้อยมากในสมองโดยเคอร์คูมินจะเปลี่ยนเป็นรูปสารเมแทบอไลท์ในพลาสมา เช่น dihydrocurcumin, tetrahydrocurcumin และ hexahydrocurcumin จากนั้นจะรวมตัว (conjugated) กับ glucoronide โดยการไฮโดรไลท์ซึ่งอาศัยเอนไซม์ ß-glucosidase ได้ curcumin-glucoronide, dihydrocurcuminglucoronide, tetrahydrocurcumin- glucoronide และ hexahydrocurcumin-glucoronide แล้วเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตต่อไป

            นอกจากนี้ยังมีรายงานผลการศึกษาวิจัยของสารเคอร์คูมินในโรคต่างๆ ดังนี้

           ฤทธิ์ต้านการอักเสบ (anti-inflammatory activity) มีงานวิจัยหลายเรื่องที่ได้ศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของเคอร์คูมินที่แยกได้จากขมิ้นชัน พบว่า สามารถแสดงฤทธิ์ลดการอักเสบได้ และเมื่อนำสารเคอร์คิวมินมาทดสอบเทียบกับยามาตรฐาน phenylbutazone พบว่ามีฤทธิ์เท่าๆ กัน ในกรณีการอักเสบเฉียบพลัน (model of acute inflammation) ส่วนกรณีการอักเสบเรื้อรัง (model of chronic inflammation) จะมีฤทธิ์เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น แต่ฤทธิ์ทำให้เกิดแผลน้อยกว่า phenylbutazone นอกจากนี้ยังพบว่าเคอร์คิวมินแสดงความเป็นพิษน้อยกว่ายามาตรฐานด้วย และมีรายงานว่าเคอร์คิวมินแสดงฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์ leukotriene B4 ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบได้ด้วย ส่วนในต่างประเทศมีการศึกษากระบวนการออกฤทธิ์ต้านการอักเสบของเคอร์คูมิน พบว่าเคอร์คูมินยับยั้ง 5-lipoxygenase ของ peritoneal neutrophils ของหนูยับยั้ง 12-lipoxygenase และ cyclooxygenase ในเกล็ดเลือดของมนุษย์ นอกจากนี้ยังพบฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระใน cell free peroxidation system ซึ่งการออกฤทธิ์เช่นนี้ เนื่องจากมีคุณสมบัติในการให้อิเล็กตรอนแก่อนุมูลอิสระของเคอร์คูมิน

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เนื่องจากเคอร์คูมินเป็นสารประกอบในกลุ่มของ phenolic compound ซึ่งมีคุณสมบัติในการ ต้านการเกิดออกซิเดชั่น โดยหมู่ phenolic OH และ methylene CH2 ที่ติดอยู่กับ ß-diketone มีบทบาทสำคัญในการกำจัดอนุมูลอิสระ (scavenging activity) โดยกลไกการต้านอนุมูลอิสระของเคอร์คูมินเริ่มจากในขั้นแรกเคอร์คูมินจะรับอนุมูลอิสระที่ตำแหน่งของหมู่ phenolic เปลี่ยนเป็นเคอร์คูมินแรดิคอล (curcumin radical) ที่ไม่เสถียรอิเลคตรอนที่ไม่เข้าคู่นี้สามารถเคลื่อนย้ายไปยังตำแหน่งที่เหมาะสมได้ โดยเคอร์คูมินแรดิคอลรวมตัวกับเคอร์คูมินแรดิคอลอีกโมเลกุลหนึ่งที่หมู่ไฮดรอกซิล และ จะได้เป็นโครงสร้างวงแหวนเรียกว่า เคอร์คูมินไดเมอร์ (curcumindimer) แต่ในสภาวะที่มีออกซิเจนสารเคอร์คูมินเมื่อจับกับอนุมูลอิสระแล้วจะเปลี่ยนเป็นเคอร์คูมินแรดิคอลที่ไม่เสถียร และเกิดการออกซิไดซ์ที่หมู่ benzylic และ ketone ได้อนุพันธุ์ ที่ 2 และ 3 คือ vanillin และ ferulic acid ferulic acid มีชื่อเรียกตามโครงสร้างทางเคมีว่า 4-hydroxy-3-methoxycinnamic acid มีสูตรโมเลกุลเป็น C10H10O4 ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ (superoxide, nitric oxide และ hydroxyl radical) ช่วยลดระดับของ cholesterol และ triglyceride ดังนั้นจะช่วยลดภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติในการช่วยป้องกัน และต้านการเกิดมะเร็งหลายชนิด เช่น  มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ เป็นต้น

           ฤทธิ์ต้านมะเร็ง (anti-cancer activity) มีการศึกษาวิจัย และทดสอบสารเคอร์คูมิน กับหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดเนื้องอกที่ผิว พบว่าสารเคอร์คิวมินสามารถลดการเกิดเนื้องอกของหนูได้ ซึ่งมีงานวิจัยสนับสนุนว่าอาจเกิดจากสารเคอร์คิวมินไปยับยั้งการสังเคราะห์ DNA และ RNA ยังมีการศึกษาฤทธิ์ต้านมะเร็งของสารเคอร์คิวมินอยด์ทั้ง 3 ชนิด คือ เคอร์คิวมินดีเมทอกซีเคอร์คิวมิน และบีสดีเมทอกซีเคอร์คิวมิน ทั้งในระดับเซลล์ทดลอง (In vitro) และสัตว์ทดลอง (In vivo) พบว่าสารเคอร์คิวมินอยด์แสดงฤทธิ์ในการยับยั้งการเกิดมะเร็งทั้งสองการทดลองในระดับความเข้มข้นที่แตกต่างกัน คือ เคอร์คิวมิน ดีเมทอกซีเคอร์คิวมิน และบีสดีเมทอกซีเคอร์คิวมินแสดงฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งทดลอง P450 (CYP 450) ได้ที่ระดับความเข้มข้น 32, 78 และ 88 ไมโครโมลาร์ตามลำดับ ซึ่งเคอร์คิวมินแสดงฤทธิ์ได้สูงที่สุด แต่เมื่อทดสอบกับเซลล์ทดลอง CYP 1A1, 1A2 และ 2B1 เคอร์คิวมินอยด์ทั้ง 3 ชนิด แสดงฤทธิ์การยับยั้งได้ที่ความเข้มข้น 2.5-21 ไมโครโมลาร์ โดยบีสดีเมทอกซีเคอร์คิวมินแสดงฤทธิ์ได้สูงที่สุด และเมื่อให้ขมิ้นชัน ความเข้มข้น 1 เปอร์เซ็นต์ กับหนูทดลองพบว่าลดการเหนี่ยวนำให้เกิดมะเร็งที่ตับ ปอด และกระเพาะอาหารลงอย่างมีนัยสำคัญ

           การศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยธาลัสซีเมียมีผลการศึกษาในหลอดทดลองของ ผศ.ดร.สมเดช ศรีชัยรัตนกุล และคณะ จากคณะแพทยศาตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แสดงให้เห็นว่าสารเคอร์คูมินอยด์ สามารถลดระดับของเหล็กในรูปที่ไม่ได้จับกับทรานสิเฟอร์ริน (non-tranferrin bound iron, NTBI) ในพลาสมาของผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียชนิดเบต้าธาลัสซีเมีย อีกทั้งยังเสริมฤทธิ์ยาขับเหล็ก deferiprone ในการกำจัดเหล็กในรูป NTBI ได้อีกด้วย

           การศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ มีการศึกษาทางคลินิกโดยเจาะเลือดจากผู้ป่วยอัลไซเมอร์ 6 คน และอาสาสมัครสุขภาพดี 3 คน แล้วแยก macrophage มาทำการทดสอบ โดยให้สาร curcumin พบว่า macrophage ของผู้ป่วยที่ได้รับ curcumin มีการเก็บ และย่อยสลาย amyloid protein เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเทียบกับ macrophage ของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับ curcumin แสดงให้เห็นว่าเคอร์คิวมิน มีบทบาทช่วยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายในการทำลาย amyloid protein

           การศึกษาทางคลินิกในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีการศึกษาวิจัยในระดับคลินิกกับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ดื้อต่อเคมีบำบัด จำนวน 15 คน โดยให้ผู้ป่วยรับประทานสารสกัดเคอร์คิวมา (Curcuma extract) วันละ 2-10 แคปซูล หรือ ประมาณวันละ 440-2200 มิลลิกรัม เป็นเวลา 4 เดือน ซึ่งใน 1 แคปซูล ประกอบด้วย เคอร์คิวมิน 18 มิลลิกรัม ดีเมทอกซีเคอร์คิวมิน 2 มิลลิกรัม และน้ำมันหอมระเหยเคอร์คิวมา (Curcuma essential oil) อีก 200 มิลลิกรัม (tumerone, atlantone, zingiberene) พบว่าผู้ป่วยทนต่อยาได้ดี ไม่มีผลข้างเคียงใดๆ และผู้ป่วยที่ได้รับสารสกัดเคอร์คิวมาขนาด 440 มิลลิกรัม ทุกวัน จะทำให้ lymphocytic glutathione S-transferase activity ลดลง โดยไม่มีผลต่อการเกิด DNA adduct ในเม็ดเลือดขาว นอกจากนี้ยังมีการทดสอบเคอร์คิวมินกับผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง (high-risk หรือ pre-malignant lesion) จำนวน 25 คน โดยให้ผู้ป่วยรับประทานเคอร์คิวมินวันละ 0.5 กรัม ถึง 12 กรัม พบว่าการรับประทานเคอร์คิวมินที่ขนาดต่ำกว่า 8 กรัมต่อวัน ไม่ทำให้เกิดพิษต่อผู้ป่วย และยังส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น

โครงสร้างเคอร์คูมิน

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

            ถึงแม้ว่าจะมีผลการศึกษาวิจัยหลายฉบับที่ได้ระบุว่าเคอร์คูมินสามารถช่วยป้องกัน และรักษาโรคต่างๆ ที่สำคัญได้ แต่สำหรับขนาดและปริมาณการใช้รวมถึงรายละเอียดระยะเวลาในการใช้ที่ปลอดภัยยังไม่มีข้อกำหนด หรือ ข้อบ่งใช้ที่ชัดเจน ดังนั้นในการใช้เคอร์คูมิน ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจึงถึงปรึกษาแพทย์ผู้เชียวชาญก่อนใช้เสมอ ส่วนในการใช้สารเคอร์คูมินโดยการบริโภค ขมิ้น ขิง ข่า กระชาย ฯลฯ ซึ่งเป็นแหล่งของเคอร์คูมินนั้นก็ควรระมัดระวังในการบริโภคด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ที่แพ้พืชตระกูลชิง ซึ่งไม่ควรบริโภคอย่างเด็ดขาด อีกทั้งพืชตระกูลนี้หากบริโภคในปริมาณที่มากอาจส่งผลกระทบ และผลข้างเคียงได้ เช่น เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ปวดหัว นอนไม่หลับ มีกรดในกระเพาะมากกว่าปกติ นอกจากนี้ยังควรระวังในการใช้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เนื่องจากจะเสริมฤทธิ์กัน ซึ่งอาจทำให้เลือดแข็งตัวช้า และหยุดไหลได้ยาก

เอกสารอ้างอิง เคอร์คูมิน
  1. ประคองศิริ บุญคง. 2546. บทความฟื้นฟูวิชาการ ขมิ้นชัน สารพันประโยชน์. วารสารองค์การเภสัชกรรม 29 (1): 31-38.
  2. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. ยาจากสมุนไพร ในบัญชียาหลักแห่งชาติ: ข้อมูลบนหลักฐานทางวิชาการ. พิมพ์ครั้งที่ 2. แสงเทียนการพิมพ์:กรุงเทพมหานคร, 2552.
  3. ชัชวาล ช่างทำ.คุณประโยชน์ และฤทธิ์ทางชีวภาพที่หลายหลากของสมุนไพรขมิ้นชัน.วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ์ปีที่ 1. ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2558. หน้า 94-109
  4. คณะกรรมการแห่งชาติด้านยา. บัญชียาจากสมุนไพร พ.ศ.2549. พิมพ์ครั้งที่ 2. โรงพิมพ์ชุนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย:กรุงเทพมหานคร, 2551.
  5. ขมิ้นชัน.ฐานข้อมูลเครื่องยาคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicrudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=34
  6. Thapliyal R, Maru GB. Inhibition of cytochrome P450 isozymes by curcumins in vitro and in vivo. Food Chem Toxicol 2001;39:541-7
  7. Pan, M. H., T. M. Huang and J. K. Lin. 1999. Biotransformation of curcumin through reduction and glucuronidation in mice. Drug Met. Disposit. 27: 486-494
  8. Hollborn M, Chen R, Wiedemann P, Reichenbach A, Bringmann A, Kohen L. Cytotoxic effects of curcumin in human retinal pigment epithelial cells. PLoS One. 2013;8(3):e59603
  9. Masuda, T., K. Hidaka, T. Maekawa, H. Bando, Y. Takeda and H. Yamaguchi. 2001. Chemical studies on antioxidant mechanism of curcumin: analysis of oxidative coupling products from curcumin and linoleate. J. Agric. Food Chem. 49: 2539-2547
  10. Srimal RC, Dhawan BN. Pharmacology of diferuloyl methane (curcumin) a non-steroidal anti-inflammatory analogs in rats. J Pharm Pharmacol 1973;25(6):447-52
  11. Bisset, N. G. and J. Nwaiwu. 1983. Quaternary alkaloids of Tinospora species. Planta Med. 48: 275-279
  12. Cheng AL, Hsu CH, Lin JE, Hsu MM, Ho YF, Shen TS, et al. Phase I clinical trial of curcumin, a chemopreventive agent, in patients with highrisk of pre-malignant lesion. Anticancer Res 2001;21(4B):2895-900.
  13. Srichairatanakool S, et al., Curcumin contributes to the in vitro removal of non-transferrin bound iron with deferiprone and deferoxamine in the lassaemic plasma. Medicinal Chemistry 2007; 3: 469-467
  14. Tang, W. and G. Eisenbrand. 1992. Chinese Drugs of Plant Origin. Springer-Verlag, Germany.
  15. Huang MT, Ma W, Yen P, Xic JG, Han J, Frenkel K. Inhibitory effect of low doses of curcumin topical application on 12-O-tetradecanoy lphorbol-13-acetate-induced tumour promotion and oxidized DNA base in mouse epidermis. Carcinogenesis 1997;18:83-8.
  16. Ammon, H. P. T. 1993. Mechanism of anti–inflammatory actions of crucumin and boswellic acids. J. Ethnopharmacol. 38: 113–119.
  17. Joshi J, Ghaisas S, Vaidya A. Early human safety study of turmeric oil (Curcuma longa oil) administration orally in healthy volumteers. J Assoc Physicians India 2003;51:1055-60.
  18. Hermann, P. A. and A. W. Martin. 1991. Pharmacology of curcuma longa. Planta Med. 57: 1-6.
  19. Sharma RA, McLelland HR, Hill KA, Ireson CR, Euden SA, Manson MM,et al. Pharmacodynamic and pharmacokinetic study of oral Curcuma extract in patients with colorectal cancer. Clin Cancer Res 2001;7(7):1894-900.
  20. Wright, J. S. 2002. Predicting the antioxidant activity of curcumin and curcuminoids. J. Mole. Struc. (Theochem.) 591: 207-217.