ฟลูออไรด์

ฟลูออไรด์

ชื่อสามัญ Fluorine

ประเภทและข้อแตกต่างสารฟลูออไรด์

สารฟลูออไรด์ (Fluoride) สารประกอบที่เกิดจากธาตุฟลูออรีน (Fluorine) หรือ เป็นเกลือของฟลูออรีน โดยเป็นธาตุที่มีประจุไฟฟ้าเป็นลบ และเป็นแร่ธาตุที่พบได้ตามธรรมชาติ ซึ่งสามารถพบได้ ตามแหล่งต่างๆ เช่น ดิน หิน อากาศ เป็นต้น โดยในดินจะมีค่าเฉลี่ยฟลูออไรด์ ประมาณ 200-290 ส่วน ในล้านส่วน ในน้ำทะเลที่ 0.8-1.4 ส่วนในล้านส่วน และในน้ำจืดมีฟลูออไรด์อยู่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ เช่น ในสหรัฐอเมริกา มีฟลูออไรด์ในน้ำบริโภคตามธรรมชาติ 0.16 ส่วนในล้านส่วน ในอังกฤษมี 0.58 ส่วนในล้านส่วน
           สำหรับฟลูออไรด์ในรูปแบบของแร่ธาตุมักอยู่ในรูปของแร่ฟลูออไรด์ (CaF2) โดยแร่ธาตุที่พบฟลูออไรด์มาก ได้แก่ ฟลูโอสปาร์, คริโอไลท์, และ อะพาไทต์ เป็นต้น ซึ่งฟลูออไรด์ที่สกัดออกได้จะอยู่ในรูปฟลูออโรซิลิเคท (fluorosilicates) ที่นำมาใช้ประโยชน์ในการเติมฟลูออไรด์ในน้ำ หรือ อาหารเสริมฟลูออไรด์ ทั้งนี้ในการใช้ประโยชน์จากฟลูออไรด์ยังมีบันทึกหลักฐานที่อ้างอิงถึงการใช้เป็นครั้งแรกในวารสารรายเดือน ชื่อ Memorabilia ของประเทศเฮอรมัน ซึ่งแสดงถึงการใช้ฟลูออไรด์เพื่อประโยชน์การป้องกันโรคเกี่ยวกับฟัน (dental purpose) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1874 โดย Erhadt ส่วนประเภทของฟลูออไรด์นั้นหากจะแบ่งเป็นประเภทที่นำมาใช้ทางทันตกรรม ก็จะสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ฟลูออไรด์ชนิดรับประทาน ซึ่งเป็นฟลูออไรด์เสริมโดยมีทั้งชนิดเม็ด ที่ใช้สำหรับเติมลงไปในน้ำดื่ม และชนิดน้ำที่เป็นฟลูออไรด์ผสมวิตามินที่ทันตแพทย์จะจ่ายให้กับเด็ก ส่วนอีกประเภทหนึ่ง คือ ฟลูออไรด์เฉพาะที่ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ฟลูออไรด์ที่ใช้เคลือบฟันในเด็ก และอีกชนิดหนึ่ง คือ ฟลูออไรด์ที่ผสมในยาสีฟัน หรือ น้ำยาบ้วนปากที่วางจำหน่ายทั่วไป

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาสารฟลูออไรด์

ดังที่กล่าวมาแล้วว่าฟลูออไรด์เป็นแร่ธาตุที่สามารถพบได้ตามธรรมชาติทั่วไป ซึ่งมักอยู่ในรูปสารของประกอบปะปนอยู่ในน้ำเศษหินที่ผุพัง และในดิน ดังนั้นในชีวิตประจำวันร่างกายจึงได้รับฟลูออไรด์จากธรรมชาติ ทางน้ำดื่ม อาหาร และเครื่องดื่มต่างๆ ดังนี้
           ฟลูออไรด์จากน้ำดื่ม ฟลูออไรด์ที่มีอยู่ในน้ำดื่มมาจากธรรมชาติ ในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทยมีปริมาณฟลูออไรด์ แตกต่างกัน เช่น ในกรุงเทพมหานคร (ปี พ.ศ.2549-2550) มีระดับฟลูออไรด์ในน้ำบริโภคระหว่าง 0.16-0.22 มิลลิกรัมต่อลิตร น้ำดื่ม, น้ำใช้ของโรงเรียน และหมู่บ้านในเขตชายแดนของประเทศไทยพบว่ามีปริมาณฟลูออไรด์ตั้งแต่ 0.01-0.92 ส่วนในล้านส่วน 14 นอกจากนี้ชนิดของน้ำที่นำมาบริโภคจะมีปริมาณ ฟลูออไรด์ที่แตกต่างกัน การศึกษาปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำ 3 ชนิด คือ น้ำฝน น้ำผิวดิน น้ำลำธาร น้ำสระ และน้ำบาดาล พบว่าน้ำบาดาล มีปริมาณฟลูออไรด์มากที่สุด (0.31±0.23 ส่วนในล้านส่วน) รองลงมาคือ น้ำผิวดิน (0.11±0.15 ส่วนในล้านส่วน) และน้ำฝน (0.03±0.03 ส่วนในล้านส่วน) ตามลำดับ
           ฟลูออไรด์ในอาหาร ปริมาณฟลูออไรด์ที่ได้รับจะแตกต่างกันไปตามชนิดของอาหาร เช่น ปลาทะเลมีฟลูออไรด์ 0.4-6.7 ไมโครกรัมต่อกรัม ปลาน้ำจืด 0.15-0.71 ไมโครกรัมต่อกรัม ผักมีฟลูออไรด์ต่ำมากยกเว้น ตะไคร้ ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย และใบยอ ที่มีฟลูออไรด์ >0.2 ไมโครกรัมต่อกรัม ในใบชาเขียว มีปริมาณฟลูออไรด์สูงถึง 85.16 ไมโครกรัมต่อกรัม โดยมีการศึกษาวิจัยในอาหารกลุ่มต่างๆ พบว่ามีปริมาณฟลูออไรด์ดังนี้
          ปริมาณฟลูออไรด์ในอาหารบางชนิด (มิลลิกรัม/ลบ.ดม.) เนื้อ 0.01-7.70, ปลา 0.10-24.0, ไข่ 0-0.25, ผลไม้รสเปรี้ยว 0.04-0.36, ผลไม้ทั่วไป 0.02-1.32, ธัญพืช 0.01-20.0, เนย 0.04-1.50, ผัก (รวมทั้งหน่อ, หัว) 0.01-3.00, กาแฟ 0.02-1.60
           ฟลูออไรด์ในน้ำนม ปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำนมจะแตกต่างกันตามชนิดของน้ำนม เช่น น้ำนมแม่มีปริมาณฟลูออไรด์ทั้งหมดน้อยมาก คือ 0.017±0.02 มิลลิกรัมต่อลิตร ส่วนนมผงสูตรต่างๆ สำหรับเด็กมีปริมาณฟลูออไรด์ ดังนี้ นมผงสำหรับทารกอายุก่อน 6 เดือน มีปริมาณฟลูออไรด์ 0.14-0.38 ส่วนในล้านส่วน นมผงสำหรับทารกอายุมากกว่า 6 เดือน มีปริมาณฟลูออไรด์ 0.23-0.64 ส่วนในล้านส่วน นอกจากนี้ในการศึกษาน้ำนมพร้อมดื่ม 69 ชนิด พบปริมาณฟลูออไรด์มีค่าอยู่ในช่วง 0.01-3.52 ส่วนในล้านส่วน
           นอกจากนี้ยังมีแหล่งอื่นๆ ของฟลูออไรด์ ที่ร่างกายจะได้รับอีกเช่น ฟลูออไรด์เสริมชนิดรับประทานสำหรับเด็ก น้ำดื่มผสมฟลูออไรด์ ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์รวมถึงยาดมหรือน้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์ เป็นต้น

ฟลูออไรด์

ปริมาณที่ควรได้รับสารฟลูออไรด์

ปัจจุบันไม่มีข้อแนะนำให้ประชาชนทั่วไปบริโภคฟลูออไรด์ แต่ในทางทันตกรรมการใช้ฟลูออไรด์ เสริมในรูปของ ยาน้ำและยาเม็ด จะแนะนำเป็นรายบุคคลโดยเฉพาะเด็กที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุสูง และจะต้องมีการตรวจประเมิน สุขภาพช่องปากเป็นระยะ
           ต่อมาในปี พ.ศ.2559 ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยได้จัดสัมมนาทบทวนแนวทางการใช้ฟลูออไรด์สำหรับเด็ก สรุปว่า ฟลูออไรด์เสริมแนะนำให้ใช้สำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปีที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุสูงและบริโภคน้ำที่มีความเข้มข้นของ ฟลูออไรด์น้อยกว่า 0.3 ส่วนในล้านส่วน โดยปริมาณฟลูออไรด์เสริมที่แนะนำในแต่ละช่วงอายุมีดังนี้

ปริมาณฟลูออไรด์เสริมที่แนะนำในแต่ละช่วงอายุ

สารฟลูออไรด์

           ส่วนน้ำสำหรับบริโภคนั้น องค์การอนามัยโลกกำหนดแนวทางน้ำบริโภคให้มีฟลูออไรด์ ได้สูงสุดไม่เกิน 1.5 มิลลิกรัมต่อลิตร และแนะนำ ให้แต่ละประเทศพิจารณาปรับปริมาณให้เหมาะสมตามสภาพภูมิอากาศ และปริมาณการบริโภคน้ำของประชาชน สำหรับประเทศไทยระดับฟลูออไรด์ในน้ำดื่มที่เหมาะสมคือ 0.5-0.6 ส่วนในล้านส่วน (0.5-0.6 มิลลิกรัมต่อลิตร)
แต่ทั้งนี้เนื่องจากฟลูออไรด์ไม่ใช่สารจำเป็นของร่างกายจึงไม่มีข้อแนะนำว่าควรได้รับฟลูออไรด์เท่าใดแต่ร่างกาย ไม่ควรได้รับฟลูออไรด์เกิน 0.05 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เมื่อคำนวณต่อน้ำหนักตัวที่อ้างอิงของ ประชากรไทย พบว่าปริมาณฟลูออไรด์สูงสุดที่ร่างกายรับได้ในแต่ละวันคนไทยจะเป็นดังนี้

ปริมาณฟลูออไรด์สูงสุดที่รับได้ในแต่ละวันของคนไทย

 สารฟลูออไรด์

ประโยชน์และโทษสารฟลูออไรด์

ฟลูออไรด์ในขนาดที่เหมาะสมสามารถป้องกัน ลดการลุกลามของโรคฟันผุ และมีความจำเป็นในการสร้างระบบกระดูก และฟัน ทำหน้าที่ในการเพิ่มขนาดของผลึกพาไทต์ และลดค่าการละลายของผลึก ทำให้กระดูก และฟันแข็งแรง โดยกลไกของฟลูออไรด์ในการควบคุมโรคฟันผุ สามารถอธิบายได้ 3 แนวทาง คือ 

           การกระตุ้นการคืนกลับแร่ธาตุ และลดการละลายตัวของแร่ธาตุจากตัวฟัน โครงสร้างหลักของฟันในส่วนที่เป็นเคลือบฟันประกอบด้วย แคลเซียม และฟอสเฟต ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของผลึกไฮดรอกซีอะพาไทท์ (Hydroxyapatite) ซึ่งในภาวะปกติที่ pH 6-7 จะเกิดกระบวนการของการแลกเปลี่ยนแร่ธาตุระหว่างฟันกับไอออนต่างๆ ภายในช่องอย่างสมดุล แต่เมื่อเราบริโภคอาหาร ค่า pH ในช่องปากจะลดลง เนื่องจากเชื้อจุลินทรีย์จะย่อยสลายอาหารจนเกิดกรดแลคติกขึ้นทำให้แร่ธาตุที่ตัวฟันละลายออกมา ซึ่งกระบวนการสูญเสียแร่ธาตุนี้จะเกิดขึ้นช้าลงหากสิ่งแวดล้อมในช่องปากมีฟลูออไรด์อยู่ โดยฟลูออไรด์จะไปจับตัวกับ แคลเซียม และฟอสเฟตแทนไอออนของไฮดรอกซิล เกิดเป็นสารประกอบของฟลูอออะพาไทด์ (fluoapatite crystal) (ดังสมการ) ซึ่งผลึกนี้จะมีความคงตัว (stable) และมีขนาดใหญ่ขึ้นพื้นผิวที่สัมผัสกับกรดจึงลดลงและการละลายของผลึกในกรดลดลง
           ฟลูออไรด์ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับตัวฟัน ในกระบวนการสร้างฟันนั้น ระยะก่อนการขึ้นของฟัน (pre-eruptive) เป็นระยะที่มีการสะสมแร่ธาตุ ในช่วงเวลาดังกล่าวหากร่างกายได้รับฟลูออไรด์เข้าสู่ระบบ ฟลูออไรด์จะถูกดูดซึมเข้าสู่ฟันทางพลาสมาไปสู่เนื้อเยื่อต่างๆ ที่อยู่รอบหน่อฟัน แล้วจับตัวกับธาตุแคลเซียม และฟอสเฟตที่หน่อฟัน เกิดเป็นผลึกฟลูอออะพาไทท์บนตัวฟัน ซึ่งสารประกอบฟลูอออะพาไทท์นี้มีความแข็งแรง และทนต่อกรดมากกว่าสารไฮดรอกซีอะพาไทท์ซึ่งเป็นโครงสร้างปกติของตัวฟัน ทำให้ฟันที่ขึ้นมาในช่องปากสามารถทนต่อสภาวะที่เป็นกรดในช่องปากได้นานกว่า
           ฟลูออไรด์มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ เนื่องจากฟลูออไรด์เป็นธาตุในกลุ่มที่มี electro-megativity สูงมาก ซึ่งธาตุในกลุ่มนี้จะมีผลต่อกระบวนการย่อยสลายอาหารของเชื้อจุลินทรีย์ ทำให้เชื้อจุลินทรีย์หยุดการเจริญเติบโตและตายได้
           ถึงแม้ว่าฟลูออไรด์จะมีประโยชน์ต่อกระดูก และฟัน แต่การได้รับฟลูออไรด์ในปริมาณมากเกินความต้องการของร่างกายไม่ว่าจากทางใดก็ก่อให้เกิดโทษได้
           ภาวะเป็นพิษจากการได้รับฟลูออไรด์ มากเกินไป เกิดได้ 2 แบบ คือ พิษฟลูออไรด์อย่างเฉียบพลัน (acute toxicity) เกิดจากการได้รับฟลูออไรด์ในปริมาณที่มากครั้งเดียว เช่น อาจเกิดจากการกินยาเม็ดฟลูออไรด์ครั้งละมากๆ หรือ เกิดจากการเคลือบฟันด้วยฟลูออไรด์ในคลินิกซึ่ง ปริมาณฟลูออไรด์ที่ใช้สูงมาก อาการของการเกิดพิษจะขึ้นกับปริมาณฟลูออไรด์ที่เด็กได้รับ อาการที่พบได้ คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นอาจจะเกิดขึ้นน้อย หรือ รุนแรงถึงตายได้ ขนาดที่อาจทำให้เกิดพิษอย่าง เฉียบพลันหรือ PTD (probably toxic dose) คือ 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ส่วนอีกแบบหนึ่งคือ พิษฟลูออไรด์อย่างเรื้อรัง (chronic toxicity) เกิดจากการได้รับฟลูออไรด์ในปริมาณที่มากเป็นระยะ เวลานาน อาการที่พบได้ คือ ฟันตกกระ (dental fluorosis) ซึ่งเป็นพิษของฟลูออไรด์ที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากการได้รับฟลูออไรด์มากกว่า 0.05 ถึง 0.07 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือ สูงสุดไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมในขณะ ที่กำลังมีการสร้างฟัน การได้รับฟลูออไรด์ก่อนอายุ 3-4 ปี จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดฟันตกกระในฟันหน้าตัด (incisor) และฟันกรามซี่ที่หนึ่ง 34 โดยฟลูออไรด์จะมีผลต่อการยับยั้งเอนไซม์ในการทำงานของ ameloblast ทำให้การสร้าง matrix บกพร่อง และเกิด hypomineralization ลักษณะฟันตกกระ จะรุนแรงมากน้อยขึ้นอยู่กับ ปริมาณฟลูออไรด์ และระยะเวลาที่ได้รับ ถ้ารุนแรงมาก ผิวเคลือบฟันจะมีความพรุนมาก จะดูดซับสีได้มาก และสึกกร่อนได้ง่าย
           Osteofluorosis การได้รับฟลูออไรด์ระดับสูงในขณะที่มีการสร้างกระดูกจะมีผลต่อเซลล์ของกระดูกได้แก่ osteoblast และ osteoclast โดยพบประมาณร้อยละ 10 ในผู้ที่ดื่มน้ำที่มีฟลูออไรด์มากกว่า 8 ส่วนในล้านส่วนอย่างต่อเนื่องผู้ป่วยไม่ได้มีอาการ แต่ตรวจพบได้ทางภาพรังสี ซึ่งจะพบว่ากระดูกมีความหนาแน่น (density) มากขึ้น ปริมาณฟลูออไรด์ที่จะทำให้เกิดมีอาการผิดปกติ เช่น มีการแข็งตัวของข้อต่อ เคลื่อนไหวยากขึ้น ซึ่งจะต้องได้รับฟลูออไรด์ตั้งแต่ 10- 25 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 10-20 ปี
           นอกจากนี้การได้รับฟลูออไรด์มากเกินไป (สูงกว่า 4-6 ppm) ยังทำให้กระดูกเกิดความผิดปกติเพราะฟลูออไรด์จะไปจับที่ข้อต่อบริเวณคอ หัวเข้า เชิงกราน และหัวไหล่ มีผลทำให้เคลื่อนไหว และเดินลำบาก โดยในระยะแรกจะมีอาการคล้ายภาวะข้ออักเสบ ปวด เหน็บชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีแคลเซียมเกาะที่กระดูก และเส้นเอ็น หากเป็นระยะที่รุนแรงจะมีภาวะกระดูกพรุน กระดูกหยุดการเจริญเติบโต กระดูกสันหลังเชื่อมติดกันทำให้เกิดความพิการได้ในที่สุด บางราย (พบไม่มาก) อาจเป็นมะเร็งที่กระดูกได้

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องสารฟลูออไรด์

มีผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการดูดซึมของฟลูออไรด์ของร่างกาย ระบุว่าเมื่อร่างกายได้รับฟลูออไรด์จากอาหาร หรือ น้ำดื่ม ฟลูออไรด์สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้อย่างรวดเร็วในทางเดินอาหาร และในภาวะปกติ ฟลูออไรด์จากทางเดินอาหารจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดประมาณร้อยละ 90 ของฟลูออไรด์ จะถูกดูดซึมในกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็ก ซึ่งฟลูออไรด์ในร่างกายส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปของ calcified tissue โดยในผู้ใหญ่ที่มีการเจริญเติบโตของกระดูกน้อย จะมีเพียงร้อยละ 10 ของฟลูออไรด์ ที่ถูกนำไปสะสมที่กระดูก แต่ในเด็กที่กำลังมีการเจริญเติบโต จะมีการสะสมไว้ในกระดูกมากกว่าร้อยละ 50 และฟลูออไรด์ที่เหลือร้อยละ 50 จะถูกขับถ่ายที่ไต ต่อมเหงื่อและอุจจาระ
           นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยฟลูออไรด์ในด้านอื่นๆ อีกดังนี้ มีการศึกษากลไกการทำงานของฟลูออไรด์ในระยะแรกนั้น เชื่อว่าฟลูออไรด์ช่วยป้องกันฟันผุได้โดยขณะที่กำลังมีการสร้างฟัน ฟลูออไรด์จะเข้าไปทำปฏิกิริยาในชั้นเคลือบฟัน ทำให้เกิดผลึกที่แข็งแรง และทนต่อกรดได้ คือ ผลึกฟลูอออะพาไทต์ (fluorapatite crystal) แต่จากการศึกษาในระยะต่อมาพบว่าการมีระดับของฟลูออไรด์ที่ผิวเคลือบฟันสูง ไม่มีความสัมพันธ์กับการลดลงของดัชนีฟันผุ ถอน อุด ซึ่งได้มีการศึกษาถึงกลไกของฟลูออไรด์ ต่อมาพอสรุปได้ว่าฟลูออไรด์จะมีผลในระยะหลังฟันขึ้น โดยทำให้มีการเสริมสร้างแร่ธาตุกลับ ในบริเวณที่มีการสูญเสียแร่ธาตุไป และยังมีการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า การใช้ฟลูออไรด์ความเข้มข้น 45 ส่วนในล้านส่วนในน้ำดื่ม จะทำให้ Streptococcus mutans มีความสามารถทำให้เกิดฟันผุได้ลดลง และยังมีการวิจัยเกี่ยวกับระดับของฟลูออไรด์ ในน้ำดื่มกับการเกิดโรคฟันผุ โดยเริ่มต้นในสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ.1944-1945 โดยทำการเติมฟลูออไรด์ในน้ำประปาของเมืองแกรนด์ แรปพิดส์ (Grand Rapids) ในปริมาณ 1 ส่วนในล้านส่วนและทำการติดตามผล ต่อมาเป็นเวลา 10 ปี และ 15 ปี พบว่าค่าเฉลี่ย ฟันผุ ถอน อุด ของเด็กอายุ 11 ปี ลดจาก 6.4 ซี่ต่อคนในปี 1944 เหลือเพียง 3 ซี่ต่อคน ในปี 1954 และค่าเฉลี่ย ฟันผุ ถอน อุด ของเด็กอายุ 15 ปี ลดจาก 12.5 ซี่ต่อคน ในปี ค.ศ.1944 เหลืองเพียง 6.2 ซี่ต่อคนในปี 1959 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าฟลูออไรด์ในน้ำดื่มสามารถลดการเกิดฟันผุได้
           ส่วนการศึกษาในประเทศอังกฤษพบว่า ผลการเติมฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม และแนวโน้มการเกิดฟันผุในเด็กอายุ 5 ขวบ ที่อาศัยอยู่ในนิวคาสเติล (Newcastle) ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการเติมฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม 1.0 mgF/litre และนอร์ธันเบอร์แลนด์ (Northumberland) ซึ่งเป็นบริเวณที่มีฟลูออไรด์ในน้ำดื่มน้อยกว่า 0.1 mgF/litre พบว่าค่าเฉลี่ย ฟันผุ ถอน อุด ของเด็กที่อยู่ในนิวคาสเติลมีค่าเท่ากับ 1.8 ซี่ต่อคนในส่วนค่าใช้จ่ายในการได้รับการบำบัดทางทันตกรรมของเด็ก ที่อยู่ในบิรเวณที่ไม่มีฟลูออไรด์จะมากกว่าเด็กที่อยู่ในบริเวณที่มีฟลูออไรด์ 9.91 ฟรังต์ อีกทั้งยังมีผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภาวะเป็นพิษของฟลูออไรด์ระบุว่า ความรุนแรงของการเกิดฟันตกกระมีความสัมพันธ์กับระดับความเข้มข้นของฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม โดยความรุนแรงของฟันตกกระจะมากขึ้นเมื่อความเข้มข้นของฟลูออไรด์สูงขึ้น และภาวะฟลูออไรด์ล้นเกิน ยังมีผลทำให้กล้ามเนื้อถูกทำลาย ฮีโมโกลบินต่ำ เม็ดเลือกแดงมีรูปร่างผิดปกติ กระหายน้ำ ปวดศีรษะ มีผื่นขึ้น และมีความผิดปกติของระบบประสาท ซึม คลื่นไส้ อาเจียน นอกจากนี้ยังพบความสัมพันธ์ระหว่างกายได้รับฟลูออไรด์ในปริมาณมากกับการลดต่ำลงของระดับสติปัญญาอีกด้วย

โครงสร้างฟลูออไรด์

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

ถึงแม้ว่าฟลูออไรด์จะมีประโยชน์ในการช่วยเสริมสร้างการสร้างฟันที่ดี และป้องกันฟันผุ แต่อย่างไรก็ตาม ฟลูออไรด์ก็ไม่ใช่ธาตุเหล็ก ที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของร่างกายมากเหมือนธาตุอื่นๆ อีกทั้งหากได้รับในปริมาณที่มากเกินไป ยังมีผลข้างเคียง และภาวะเป็นพิษที่อันตรายอีกด้วย และเมื่อลองพิจารณาถึงแหล่งของฟลูออไรด์ที่ร่างกายได้รับ ซึ่งมีหลายแหล่ง และหลากหลายรูปแบบแล้วนั้น จึงควรระมัดระวังในการใช้หรือรับประทานฟลูออไรด์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเด็กซึ่งมีโอกาสในการได้รับฟลูออไรด์มากเกินไปเป็นเวลานาน  และเกิดพิษฟลูออไรด์ อย่างเรื้อรังได้

เอกสารอ้างอิง ฟลูออไรด์

⦁ นงลักษณ์ พันธจารุ นิธิ, ปัทมา ตติยานุพันธ์วงศ์, วิภาดา เลิศฤทธิ์. ปริมารฟลูออไรด์ในน้ำดื่มกับสภาวะโรคฟันผุ ในนักเรียนชั้นก่อนวัยเรียน และชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่งของจังหวัดนครปฐม. วิทยาการทันตสาธารณสุขปีที่ 2.ฉบับที่ 2 สิงหาคม-ธันวาคม 2540. หน้า 51-60
⦁ ธวัช จาปะเกษตร.แร่ฟลูออไรด์ในประเทศไทยการประชุมสัมมนาระดับชาติ เรื่องการปรับระดับฟลูออไรด์ในน้ำประปา วันที่ 17-18 พฤษภาคม 2532 คณะทันตแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
⦁ คณะกรรมการ และคณะทำงานปรับปรุงข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย. ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวัน สำหรับคนไทย พ.ศ.2563. กรุงเทพมหานคร ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ.วี.โปรเกรสชีพ 2563
⦁ ประทีป พันธุมวนิช ยุพิน ส่งไพศาล สุพรรณี หาญสวัสดิ์ พัชรินทร์ เล็กสวัสดิ์ และ Schamschula RG ความสัมพันธ์ ระหว่างปริมาณฟลูออไรด์ ในน้ำบริโภคกับสภาวะฟันตกกระในจังหวัดเชียงใหม่ ในเอกสารประกอบการประชุมวิชาการ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 10 เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2527 หน้า 456-7 13.
⦁ เศวต ทัศนบรรจง. ฟลูออไรด์กับฟัน.โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช กรุงเทพมหานคร 2529.
⦁ สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย รายงานผลการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากระดับประเทศ ครั้งที่ 6 ประเทศไทย พ.ศ.2549-2550 พิมพ์ครั้งที่ 1 กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก 2551
⦁ .Whitford GM. Intake and metabolism of fluoride. Adv Dent Res 1994;8:5-14.
⦁ Rosen S., Frea JI.,Hsu SM.:Effect of fluoeide-Recsistant Microorganism on Dental Caries J Dent Res. 57:180,1978.
⦁ . Chuckpaiwong S, Nakornchai S, Surarit R, Soo-ampon S. Fluoride analysis of human milk in remote areas of Thailand. Southeast Asian J Trop Med Public Health 2000;31:583-6
⦁ Daly,B.,Watt,R.,Batcheior,P.,Treasure,E.,Fluoride and fissure sealsnts. In:Essential dental public health Furst publishes Oxford New York;2002.p197-206.
⦁ Burt BA. The changing patterns of systemic fluoride intake. J Dent Res 1992;71:1228-37
⦁ Ten Cate , JM. And Duijsters, PPE:Influence of Fluoride in Solution on Tooth Demineralisation. Part 1. Caries Res 17:193-199,1983.
⦁ Sogaard CH, Mosekilde L, Richards A, Mosekilde L. Marked decrease in trabecular bone quality after five years of sodium fluoride therapy assessed by biomechanical testing of iliac crest bone biopsies in osteoporotic patients. Bone 1994;15:393-9.
⦁ Mattana, D.J. Fluorides. In:Wilkins E.M.,editor. Climical practice of the dental hygienist.9 th Ed.Wolters Hluwer. Philadelphia;2004.p542-568.
⦁ Cury JA, Tenuta LMA. How to maintain cariostatic fluoride concentration in oral environment. Adv Dent Res 2008;20:13-6
⦁ Rugg-Gunn.A.J., Cermicheal . C.L. and Ferrel. R.S.:Effect on Fluoridation and Serular-OTrend in Caries in Caries in 5-Year-OldChidren Living In Newcastoe and Northumberland.Br.Dent J 165:359-364,1988.
⦁ . Chittaisong C, Koga H, Maki Y, Takaesu Y. Estimation of fluoride intake in relation to F, Ca, Mg and P contents in infant foods. Bull Tokyo Dent Coll 1995;36:19-26.
⦁ Hong L, Levy SM, Warren JJ, BroffittB, Cavanaugh J. Fluoride intake levels in relation to fluorosis development in permanent maxillary central incisors and first molars. Caries Res 2006;40:494–500.
⦁ Mc Clure FJ Lkins R.C. :Fluorine in Human Teeth Studies in Relation to Fluoride in Drinking Water.J Den Res. 30:172-176,1951.
⦁ Whitford GM. Intake and metabolism of fluoride. Adv Dent Res 1994;8:5-14.
⦁ Whitford GM. Intake and metabolism of fluoride. Adv Dent Res 1994;8:5-14.
⦁ J.Murray:Fluoridation Studies and Dental Caries A Review Br Dent J.129:467-168,1970.
⦁ Chuckpaiwong S, Nakornchai S, Surarit R, Soo-ampon S, Kasetsuwan R. Fluoride in water consumed by children in remote areas of Thailand. Southeast Asian J Trop Med Public Health 2000;31:319-24.
⦁ J.R.Melberg.G.S.Leske , M.Sanchez R.Polanski:The Relationship between Dental Caries and Tooth Enamel Fluoride Caries Res 19:385-389,1985.