เลซิติน

เลซิติน

ชื่อสามัญ Lecithin

ประเภทและข้อแตกต่างสารเลซิติน

สารเลซิตินเป็นไขมันประเภทหนึ่งที่มีความจำเป็นต่อเซลล์ทุกชนิดในร่างกายมนุษย์ ซึ่งเลซิตินแยกได้ครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ.1850 โดยนักเภสัชเคมีชาวฝรั่งเศสชื่อมอริส โกเบลย์ (Maurice Gobley) ที่สกัดแยกเลซิตินได้จากไข่แดง และตั้งชื่อเป็นภาษากรีกว่า เลกิธอส (Lekithos) ต่อมาในปี ค.ศ.1874 มีการพิสูจน์โครงสร้างของเลซิทินอย่างสมบูรณ์ พบว่าเลซิทินเป็นลิพิด หรือ ไขมันชนิดหนึ่งที่อยู่ในรูปเอสเทอร์ที่เรียกว่า ฟอสโฟลิพิด (Phospholipids) ซึ่งฟอสโฟลิพิดสำคัญมีอยู่ 4 ชนิด โดยเฉพาะฟอสฟาทิดิลโคลีนสามารถให้วิตามินบีหายากที่เรียกว่าโคลีน ซึ่งเป็นสารเริ่มต้นในการสังเคราะห์สารสื่อประสาทที่ชื่อ อะเซทิลโคลีน อีกทั้งเลซิติน ยังมีกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกายที่ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดได้ เช่น กรดลิโนเลอิก กรดแอลฟาลิโนเลนิก และกรดอะราชิโดนิก 

            ทั้งนี้ในทางชีวเคมีเลซิตินจะหมายถึง ฟอสฟอทิดิลโคลีน (phosphatidylcholine) ที่เป็นเอสเทอร์ ของกรดฟอสฟาทิดิลกับโคลีน ซึ่งเป็นไขมันประเภทฟอสโฟไลปิด (phospholipid) ชนิดหนึ่ง (ฟอสโฟไลปิด คือ ไขมันที่มีกลุ่มของกรดฟอสโฟริค (phosphorie acid) จับอยู่กับคาร์บอนตำแหน่งที่ 3 ของ glycerol backbone ส่วนคาร์บอนตำแหน่งที่ 1 และ 2 จะจับกับกรดไขมัน) แต่ในการการค้าเลซิติน จะหมายถึง สารผสมของฟอสโฟไลปิดที่สกัดได้จากอาหารต่างๆ เช่น ไข่แดง ซึ่งจะประกอบไปด้วย ฟอสโฟไลปิดชนิดต่างๆ เช่น phosphatidylcholine, phosphatidyl ethanol nine และ phosphatidyl inositol เป็นต้น โดยมีเลซิตินอยู่มากที่สุด และโมเลกุลของเลซิตินจะประกอบด้วย กลีเซอรอล (glycerol), กรดฟอสโฟริก (phosphoric acid), กรดไขมัน (fatty acid) และมี โคลีน (nitrogen-containing base choline) จับอยู่กับกรดฟอสโฟริค ส่วนกรดไขมันในโมเลกุลส่วนใหญ่จะเป็นหรดปาลมิติก (palmitic acid) เสตรียริก (stearie acid) โอเลอิก (oleic acid) และอะราชิโดนิก (arachidonic acid) สำหรับประเภทของเลซิตินนั้นอาจแบ่งตามแหล่งที่พบได้ 2 แหล่ง คือ ในร่างกายมนุษย์ที่สามารถผลิต “เลซิติน” ขึ้นได้เองโดยเป็นการสังเคราะห์โดยกระบวนการกลไกของร่างกายที่ “ตับ“ โดยสารตั้งต้นที่ร่างกายใช้ผลิตเลซิติน ได้แก่ กรดไขมันจำเป็น วิตามินบี และสารอาหารสำคัญอื่นๆ และจากแหล่งธรรมชาติ ที่พบได้ทั้งในพืชและสัตว์ โดยจะพบมากในแหล่งอาหารต่างๆ ซึ่งแหล่งอาหารเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็จะให้โคเลสเตอรอลสูงตามไปด้วย

สารเลซิตินแหล่งที่พบและแหล่งที่มา

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าร่างกายสามารถผลิตเลซิติน ขึ้นมาเองได้ที่ตับ แต่หากร่างกายได้รับสารอาหารต่างๆ ที่ใช้ในกระบวนการผลิตเลซิตินไม่เพียงพอก็จะทำให้ไม่สามารถผลิตเลซิติน ได้มากพอที่ร่างกายต้องการ และเกิดภาวะขาดเลซิตินตามมา ดังนั้นร่างกายจึงจำเป็นต้องได้รับเลซิตินจากแหล่งอาหารธรรมชาติร่วมด้วย ซึ่งแหล่งอาหารในธรรมชาติที่มีเลซิตินอยู่ อาทิ เช่น ถั่วเหลือง ไข่แดง นมสด ชีส เนย ถั่วลิสง เนื้อวัว ปลา ตับ กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก เมล็ดทานตะวัน เมล็ดดอกคำฝอย ข้าวโอ๊ต จมูกข้าวสาลี และเมล็ดธัญพืชอื่นๆ เป็นต้น

ภาพเลซิติน

ปริมาณที่ควรได้รับสารเลซิติน

สำหรับปริมาณของเลซิตินที่ร่างกายต้องการต่อวันนั้น มีการศึกษาวิจัยพบว่าร่างกายของเราต้องการเลซิตินวันละ 6 กรัม แต่โดยมากแล้วในคนปกติที่มีการบริโภคอาหารครบ 5 หมู่ มักจะไม่พบว่ามีภาวะขาดเลซิติน แต่ปัจจุบันที่คนนิยมรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ จึงอาจจะทำให้เกิดการขาดสารเลซิติน ได้ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีการผลิตเลซิตินในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารออกมาจำหน่ายโดยมีการกำหนดขนาดการรับประทานที่เหมาะสมของเลซิติน(Lecithin) ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพนั้นควรรับประทานดังนี้

  • เพื่อเสริมความจำ ป้องกันสมองเสื่อม ควรรับประทาน 1,200-3,600 มิลลิกรัม/วัน
  • เพื่อบำรุงตับ ลดการทำลายเซลล์ตับ ควรรับประทาน 1,200-3,600 มิลลิกรัม/วัน
  • เพื่อลดไขมันโคเลสเตอรอล ป้องกันโรคสมองและหัวใจขาดเลือด ควรรับประทาน 3,600-7,200 มิลลิกรัม/วัน

           อย่างไรก็ตามแม้ว่าเลซิตินจะมีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย แต่การรับประทานเลซิติน ที่มากเกินไป ก็อาจเกิดอาการข้างเคียง ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนใช้และควรระมัดระวังในการใช้

ประโยชน์และโทษสารเลซิติน

เลซิตินเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากชนิดหนึ่ง ซึ่งมีผลการศึกษาวัยระบุว่าในร่างกายมนุษย์จะพบเลซิตินมากในอวัยวะสำคัญ เช่น สมอง หัวใจ ตับ และไต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมองจะพบเลซิตินเป็นส่วนประกอบมากถึง 30%

            ทั้งนี้เลซิตินมีความสำคัญต่อสมองเนื่องจากในการส่งขอมูลระหว่างเซลล์สมองแต่ละเซลล์ และระหว่าสมองกับส่วนต่างๆ ในร่างกายต้องอาศัยสารที่เรียกว่า สารสื่อประสาท (neurotransmitters) ซึ่งทำหน้าที่ในการถ่ายทอดข้อมูล และความรู้สึกเพื่อให้แสดงพฤติกรรมต่างๆ ได้ตามความต้องการของสมอง โดยสารที่สำคัญได้แก่อะซิทิลโคลีน (acetycholine) ที่ผลิตมาจากสารโคลีน ซึ่งเป็นองค์ประกอบของเลซิติน อีกทั้งในปัจจุบันแพทย์ยังใช้เลซิตินในการบำบัดโรคทางสมองต่างๆ เช่น tardive Dyskinesis ซึ่งเป็นโรคทางสมอง ที่เกิดจากเซลล์ประสาทของสาร acetylcholine รวมถึงยังใช้รักษาโรคพาร์กินสันและโรคความจำเสื่อมอีกด้วย

            นอกจากนี้เลซิตินยังมีประโยชน์ต่อร่างกายอีก เช่น ช่วยควบคุมระดับโคเลสเตอรอลซึ่งการควบคุมไลโพโปรตีนที่ขนส่งโคเลสเตอรอล คือ “แอลดีแอล” (LDL) และ “เอชดีแอล” (HDL) ดังนั้นกลไกของเลซิตินต่อการควบคุมโคเลสเตอรอล คือ ลดการดูดซึมของโคเลสเตอรอลในทางเดินอาหารออกทางลำไส้ใหญ่ และขับถ่ายออกไปและเลซิตินยังมีส่วนในการสร้างไลโพโปรตีนและเร่งปฏิกิริยาการขนย้าย โคเลสเตอรอลออกจากกระแสเลือดช่วยในกระบวนการเผาผลาญไขมัน และนำไขมันไปใช้เป็นพลังงานให้ดีขึ้น เพราะเลซิตินเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการสร้างโมเลกุลที่มีบทบาทสำคัญต่อร่างกาย เช่น เอนไซม์ฮอร์โมนสารเคมีระบบภูมิคุ้มกันบางชนิด การแข็งตัวของเลือด เป็นต้น ช่วยในการดูดซึมวิตามินที่ละลายในไขมันให้ดีขึ้นการรับประทานเลซิตินจะช่วยให้ร่างกายสามารถนำวิตามินที่ละลายในไขมัน เช่น วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค ดูดซึมและนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นองค์ประกอบของเยื่อบุผิวของเซลล์เพราะเลซิตินจะถูกใช้ในกระบวนการสร้างเยื่อบุผิวเซลล์ต่างๆ เช่น เซลล์เม็ดเลือด เซลล์กล้ามเนื้อ เซลล์ผิวหนัง รวมถึงเซลล์ของอวัยวะต่างๆ

            นอกจากที่กล่าวมาแล้ว เลซิตินยังช่วยไม่ให้ไขมันในเลือดตกตะกอน โดยทำให้ไหลเวียนไปกับกระแสเลือด ช่วยให้เกิดการเผาผลาญไขมันให้เป็นพลังงาน ลดอันตรายจากโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัว การเกิดนิ่วในถุงน้ำดี และลดความเสี่ยงโรคไขมันในตับอีกด้วย

            สำหรับโทษของเลซิตินนั้นในคนสุขภาพดีที่รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ จะไม่พบภาวะขาดเลซิติน อีกทั้งภาวะขาดเลซิตินนั้นจะพบน้อยมาก หรือ แทบไม่พบเลย แต่จะพบภาวะการได้รับเลซิตินมากเกินไปโดยจะมีผลข้างเคียง คือ คลื่นไส้ อาเจียน น้ำลายหลั่งออกมาก เบื่ออาหาร เหงื่อออกมาก เป็นต้น

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องของสารเลซิติน

มีผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเลซิตินกับการป้องกัน และรักษาโรคต่างๆ หลายฉบับ อาทิเช่น เลซิตินกับการลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และหลอดเลือดบทบาทของเลซิตินที่มีต่อการลดอัตราความเสี่ยงของโรคหัวใจ และหลอดเลือดจะอยู่ที่กลไกลที่มีผลต่อโคเลสเตอรอลมีการศึกษาวิจัย โดยการให้เลซิตินแก่ผู้ที่อยู่ในภาวะไขมันสูงภายใต้เงื่อนไข และระยะเวลาที่ควบคุมพบว่า ระดับไลโพโปรตีนชนิดแอลดีแอลลด ลงในขณะที่เอชดีแอลสูงขึ้น โดยกลไกลดังกล่าวสามารถอธิบายได้จากคุณสมบัติของเลซิติน คือ ช่วยลดการดูดซึมของโคเลสเตอรอลในทางเดินอาหาร และเลซิตินยังมีผลต่อการดูดกลับน้ำดีในทางเดินอาหารให้ลดลง โดยดึงโคเลสเตอรอลในเลือดที่เป็นองค์ประกอบการ สร้างน้ำดีมาใช้เพิ่มขึ้น ทำให้การขนส่งโคเลสเตอรอลจากเลือดไปสู่ตับเพิ่มขึ้น และเลซิตินยังส่งผลต่อไตรกลีเซอไรด์ในกระบวนการเร่งการสลายอีกด้วยทำให้ลดความเสี่ยงของโคเลสเตอรอล ที่จะเกาะตามผนังหลอดเลือดได้

           เลซิติน กับภาวะโรคตับมีผลการศึกษาวิจัยในปี ค.ศ.1994 ระบุว่า จากการศึกษาวิจัยลิงบาบูนที่มีปัญหาการสะสมไขมันในตับ และตับแข็งอันเป็น ผลมาจากแอลกอฮอล์  โดยให้ได้รับการเสริมเลซิตินชนิดที่มีฟอสฟาติดิลโคลีน ซึ่งมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง สามารถบรรเทาอาการลงได้ นอกจากนี้การเสริมเลซิตินยังสามารถชะลอปัญหาการสะสมไขมันในตับของลิงบาบูน อันจะนำไปสู่ปัญหาตับแข็ง

           นอกจากนี้ยังมีรายงานทางการแพทย์ในปี ค.ศ.2003 ซึ่งเป็นการศึกษาทั้งหมด 20 ศูนย์ในอเมริกา โดยมีผู้ป่วยเข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด 789 ราย โดยผู้ป่วยจะได้รับฟอสฟาทิดิลโคลีน จากผลการตรวจชิ้นเนื้อของตับที่ 24 เดือน หลังจากการรักษาพบว่าผู้ป่วยโรคตับจากแอลกอฮอล์ที่ได้รับฟอสฟาทิดิลโคลีน มีแนวโน้มที่ดี และค่าเอมไซม์ของตับดีขึ้น

           เลซิตินกับการลดความเสี่ยงของนิ่วในถุงน้ำดี มีการศึกษาวิจัยพบว่านิ่วในถุงน้ำดีมีสาเหตุมาจากในน้ำดีมีปริมาณของไขมันคอเลสเตอรอลสูงจนเกินไป และจากการทำงานของเลซิตินซึ่งมีคุณสมบัติเป็นตัวทำละลายของน้ำดี จึงช่วยให้น้ำดีไม่จับตัวจนเป็นก้อนนิ่ว

          เลซิตินกับโรคความจำเสื่อม โดยมีงานวิจัยพบว่าผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการดีขึ้นเมื่อได้รับประทานเลซิตินวันละ 25 กรัม เป็นเวลาหลายๆ เดือนติดต่อกัน และพบว่าการให้โคลีนเป็นระยะเวลา 6 เดือน จะช่วยให้ความจำดีขึ้นได้ หรือ การให้โคลีนร่วมกับยาที่ใช้รักษา (Cholinesterase inhibitors) ก็ทำให้มีการพัฒนาความสามารถที่ต้องใช้ความจำด้วย

โครงสร้างเลซิติน

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติสารเลซิติน

หากรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ อยู่เป็นประจำ ก็จะทำให้ร่างกายได้รับเลซิตินในปริมาณที่เพียงพอโดยที่ไม่ต้องรับประทานเลซิตินในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแต่อย่างใด แต่หากมีความจำเป็นต้องรับประทานเลซิติน ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควรเลือกเลซิติน จากพืชเพราะเลซิตินจากพืช มีส่วนประกอบของกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว หากซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเลซิตินจากแหล่งวัตถุดิบที่เป็นสัตว์ หรือ ไข่แดงอาจได้รับกรดไขมันอิ่มตัวในปริมาณสูง อาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับโคเลสเตอรอลได้ นอกจากจะได้รับเลซิตินจากอาหารหรือ เลซิตินเสริมอาหารแล้ว การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการบำรุงสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ก็จะช่วยเสริมและเพิ่มปริมาณเลซิตินให้กับกล้ามเนื้ออีกทางหนึ่งได้อีกด้วย

เอกสารอ้างอิง เลซิติน
  1. เกษมศรี วงศ์เลิศวิทย์ (แปลและเรียบเรียง). Paul Simons (writer). ๒๕๓๘. เลซิติน สารมหัศจรรย์ละลายไขมัน (Lecithin: The cholesterol controller). เจริญวิทย์การพิมพ์. ๑๓๕ หน้า
  2. เลซิติน (Lecithin) รายงายความก้าวหน้าครั้งที่ 3.โครงการเพิ่มศักยภาพฐานข้อมูลอุตสาหกรรมยาทางชีวภาพ และเชื้อเพลิงชีวภาพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ.10 หน้า
  3. สิรีชัยเสรี, 2536, เลซิติน, อุตสาหกรรมเกษตร, ปีที่ 4, ฉบับที่ 1 หน้า 5-11
  4. บริษัทหมอมวลชน ๒๐๐๐ จำกัด. ๒๕๔๗. เลซิติน (Lecithin) สารมหัศจรรย์. วารสารยา. สมาคมร้านขายยา. ๒๓(๑):๕๐-๕๒.
  5. Marchesini G, Segato S, Stefani AL, Tenti S, Dorigo M, Gerardi G, Bernardini D, Andrighetto I. Lecithin: a by-product of biodiesel production and a source of choline for dairy cows, Italian J Anim Sci 2012;11 (2):203-207.
  6. Kullenberg, F,W, 1989, Lecithin in animal health and nutrition. Ch. 16.In "Lecithins: Sources,Manufacture & Uses,"Bernard F. Szuhaj(Ed.), pp. 237-252. American Oil Chemists’Society, Champaign, IL.
  7. Borsatti LS, Vieira L, Stefanello C, Kindlein L, Oviedo-Rondón EO. Apparent metabolizable energy of by-products from the soybean oil industry for broilers: acidulated soapstock, glycerin, lecithin, and their mixture, Poult Sci 2018;97(1): 124–130.
  8. Dashiell , G,L, 1989 , Lecithin in Food Processing applications. Ch. 14. In "Lecithins: Sources, Manufacture & Uses,’Bernard F. Szuhaj (Ed.) pp. 213-224. Americzn Oil Chemists’Society, Champaign, IL.
  9. Zhou PY, Li HL, Hossain MM, Kim IH. Effect of emulsifier (lysophospholipid) on growth performance, nutrient digestibility and blood profile in weaning pigs, Anim Feed Sci and Tech 2015;207:190-195.