โคลีน

โคลีน

ชื่อสามัญ Choline

ประเภทและข้อแตกต่างสารโคลีน

สารโคลีนมีชื่อทางเคมีว่า 2-hydroxyethyl – trimethyl - ammonium เป็นสารประกอบที่คล้ายกับ วิตามินบี และถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ (Watersoluble vitamins) โดยจัดเป็นสารอาหารที่สำคัญชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ได้เอง ซึ่งโคลีนมีลักษณะเป็นผลึกแข็งไม่มีสี ละลายในน้ำ และแอลกอฮอล์ดูดความชื้นไม่คงตัวเมื่อถูกด่าง สำหรับในร่างกายจะอยู่ในรูป ฟอสโฟไลปิด หรือ Acetylcholine จำเป็นสำหรับการสังเคราะห์โปรตีน และฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต และเป็นสารที่ให้กลุ่มเมธิลแก่สารอื่น เพื่อใช้สร้างสารฟอสโฟไลปิด ป้องกันไม่ใช้ไขมันสะสมในตับ (Lipotropic factors) และเป็นส่วนประกอบของ Acetylcholine ซึ่งจำเป็นสำหรับการทำงานของระบบประสาท

            ส่วนประเภทของไคลีนนั้นจะมีเพียงประเภทเดียวแต่โคลีน จะเป็นสารต้นกำเนิดในการสังเคราะห์สารต่างๆ ที่สำคัญของร่างกาย เช่น อะเซตทิลโคลีน (acetylcholine) ฟอสโฟไลปิด (phospholipid) และบีเทน (betaine) เป็นต้น

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาสารโคลีน

ในอดีตโคลีน ถูกจัดเป็นสารที่ไม่จำเป็นสำหรับร่างกายเนื่องจากร่างกายมนุษย์สามารถสังเคราะห์โคลีนได้ แต่ในระยะหลังมีข้อมูลจากงานวิจัยบ่งชี้ว่าร่างกายสามารถสังเคราะห์โคลีนได้ในปริมาณน้อย ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย จึงต้องได้รับจากอาหารด้วย ซึ่งแหล่งอาหารที่มีโคลีนอยู่จะมีทั้งอาหารที่ได้จากพืช และสัตว์ โดยอยู่ในรูปของโคลีน และเลซิติน โดยแหล่งอาหารที่มีโคลีน และเลซิติน มาก ได้แก่ ไข่แดง เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ข้าวโอ๊ต จมูกข้าว ถั่งเมล็ดแห้ง เมล็ดทานตะวัน อัลมอนด์ กะหล่ำดอก กะหล่ำปี นอกจากนี้ยังพบในอาหารแปรรูปต่างๆ เช่น นมผงที่มีการเติมโคลีนเข้าไป ไอศกรีม และเค้ก เป็นต้น

โคลีน

ปริมาณที่ควรได้รับสารโคลีน

สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาเรื่องปริมาณโคลีน ที่ได้รับจากอาหารแต่มีการศึกษาวิจัยการหาค่า Dietry Referance Intake (DRI) ของโคลีนของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยการเก็บข้อมูลการได้รับสารอาหารในกลุ่มประชากรที่มีสุขภาพดีซึ่งเป็นค่าปริมาณโคลีนที่เพียงพอในแต่ละวัน {Adequate Intake (AI)} และมีการประเมินว่าผู้ใหญ่ปกติได้รับโคลีจากอาหารประมาณ 700-1,100 มิลลิกรัมต่อวัน และในปัจจุบันจึงมีการกำหนดปริมาณของโคลีน ที่ควรได้รับประจำวันดังตารางต่อไปนี้

ปริมาณโคลีนอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับกลุ่มบุคคลวัยต่างๆ

โคลีน

ประโยชน์และโทษสารโคลีน

โคลีนเป็นสารที่มีหมู่เมทิล 3 ตัว อยู่ในโครงสร้าง จึงทำหน้าที่เป็นหมู่เมทิล (methyl donor) แก่สารอื่นๆ ในร่างกาย เช่น เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในเยื่อหุ้มเซลสมอง และสารเคมีในสมองดังอะเซทิลโคลีน (acetylcholine) โดยเป็นสารสื่อสมอง หรือ ส่งสัญญาณประสาท ซึ่งจะช่วยควบคุมความจำ และสติปัญญา เมื่อระดับอะเซทิลโคลีนลดลงจะทำให้หลงลืม และความสามารถในการคิดลดลง และยังเป็นองค์ประกอบในโมเลกุลของฟอสโฟลิพิด (Phospholipids) ที่ชื่อว่า Phosphatidylcholine ซึ่งมีปริมาณมากกว่า 50% ของส่วนประกอบในเยื่อหุ้มเซลล์ของสัตว์เลี้ยงลูก ซึ่ง Phosphatidylcholine มีความสามารถในการสังเคราะห์ และหลั่ง ไลโปโปรตีน(Lipoproteins) ในรูปไลโปโปรตีนที่มีความหนาแน่นต่ำ (Very Low Density Lipoprotein หรือ VLDL) ซึ่งในตับ VLDL มีหน้าที่จำเป็นในการขนส่งไขมัน และป้องกันการสะสมไขมันในตับ รวมถึงยังเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์สฟิงโกไมอีลิน (sphingomyelin) ซึ่งสฟิงโกไมอีลินเป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์ และปลอกไขมันที่หุ้มใยประสาท นอกจากนี้โคลีน ยังเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ บีเทนอีกด้วย และโคลีนเกี่ยวข้องกับการควบคุม

            สำหรับโทษของโคลีนนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ภาวะขาดโคลีน ซึ่งมีรายงานว่ามีการศึกษาในอาสาสมัครที่ได้รับอาหารที่ขาดโคลีน แต่มีเมทไธโอนีนโฟเลต และวิตามินบี 12 เพียงพอก็ยังไม่สามารถสังเคราะห์โคลีนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายได้ ทำให้ปริมาณโคลีนสะสมในร่างกายลดต่ำ และมีภาวะการทำลายตับร่วมด้วย

            ส่วนในผู้ป่วยที่ได้รับอาหารทางหลอดเลือดดำที่ไม่ให้โคลีนเสริมแต่ได้รับเมทไธโอนีน และโฟเลตจะเกิดภาวะไขมันพอกตับชนิดที่ไม่ได้เกิดจากพิษของแอลกอฮอล์ (non-alcoholic fatty liver) รวมทั้งมีการทำลายตับ ผู้ป่วยหลายรายที่มีการทำงานของตับผิดปกติสามารถรักษาได้ด้วยการให้โคลีน หรือ เลซิติน นอกจากนี้ยังพบว่าคน และสัตว์ที่ขาดโคลีนจะมีระดับของเอนไซม์ alanine aminotransferase สูงกว่าปกติอีกด้วย ส่วนอีกประเภทหนึ่ง คือ ภาวะได้รับโคลีนมากเกินไป โดยมีรายงานการได้รับโคลีนในรูปยาเม็ดเลซิติน สูง 20 กรัม พบว่ามีอาการข้างเคียง คือ มีอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย เหงื่อออกมาก เวียนศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ มีกลิ่นตัวคล้ายกลิ่นปลา (เนื่องจากมีการขับสารเมตาบอไลต์ของโคลีนคือ trimethylamine ออกมา) มีอาการซึมเศร้า และคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ

โครงสร้างโคลีน

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องสารโคลีน

มีผลการศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการดูดซึม และขนส่งโคลีนในร่างกาย ระบุว่าการดูดซึมโคลีนจะเกิดขึ้นที่ลำไส้เล็ก ส่วนเจจูนัม และอีเลี่ยม เป็นหลัก โดยอาศัยพลังงานและโปรตีนในการนำเข้าสู่เซลล์ ก็จะได้เป็นฟอลฟาทิดิลโคลีน และเมื่อสารดังกล่าวเข้าสู่เซลล์ตับ จะมีเอนไซม์ phophoipase ที่เยื่อหุ้มเซลล์ทำหน้าที่ปลดปล่อยโคลีนออกจากฟอสฟาทิดิลโคลีน และนำโคลีนเข้าสู่เซลล์ และจะถูกนำไปใช้ในการสังเคราะห์ฟอสฟาทิดิลโคลีนผ่านกลไก COD choline pathway หรือ ถูกเปลี่ยนเป็นบีเทนต่อไป

            นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยความเป็นพิษของโคลีน ระบุว่า จากการศึกษาตามเป็นพิษของการได้รับโคลีนในรูปคลีนคลอไรด์ในระดับที่สูงในสัตว์ทดลองพบว่าสัตว์ทดลองมีอาการกล้ามเนื้อกระตุก ชัก ตัวสั่น หลั่งน้ำลายมากขึ้น ผิวหนังมีสีเขียวคล้ำ หายใจลำบาก โดยระดับของโคลีนที่ทำให้หนูทดลองตายครึ่งหนึ่ง (LD50) คือ 3.4-6.7 ก./อาหาร 1กก. ส่วนการศึกษาหนึ่งพบว่าการได้รับโคลีนในรูปยาเม็ดเลซิตินสูงถึง 10 กรัมต่อวัน ยังไม่พบอาการผิดปกติ ยกเว้นท้องเสียเล็กน้อย

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

สำหรับโคลีน นั้นจะพบว่าร่างกายจะเกิดภาวการณ์ขาดน้อยมากเพราะเป็นสารอาหารที่มีอยู่ในแหล่งอาหารที่มนุษย์ต้องบริโภคอยู่แล้ว และยังมีรายงานว่าหากรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ก็จะไม่เกิดภาวะโคลีน และไม่ต้องรับประทานโคลีน เสริมอีกด้วย แต่ควรระมัดระวังในกรณีที่รับประทานโคลีนที่ในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารเสริม หรือ ยาที่มากเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงดังที่กล่าวมาแล้วได้

 

เอกสารอ้างอิง โคลีน
  1. ผศ.ดร.สุวลี โล่วิรกรณ์.กินอาหารอย่างไรจึงจะบำรุงสมอง. วารสารศูนย์บริการวิชาการมหาวิทยาลัยขอนแก่นปีที่ 15.ฉบับที่ 1-2 ประจำเดือน มกราคม-มิถุนายน 2550. หน้า 21-25
  2. ไมตรี สุทธิจิตต์. 2548. ผลดีต่อสุขภาพของสารออกฤทธิ์ ชีวภาพในผักและผลไม้ไทย.ในเอกสารการประชุมวิชาการโภชนาการ 48. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยมหิดล
  3. กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทยกรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก 2544;141-4
  4. ชนิดา ปโชติการ ศัลยา คงสมบูรณ์เวช อภิสิทธิ์ ฉัตราทนานนท์. 2548. อาหาร และสุขภาพ. กรุงเทพ. เสริมมิตร.ทวีทอง หงส์วิวัฒน์ 2546. กินต้านโรค. กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์แสงแดด.
  5. คณะกรรมการ และคณะทำงานปรับปรุงข้อกำหนดสารอาหารที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย.ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวัน สำหรับคนไทย พ.ศ.2563. กรุงเทพมหานคร ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ.วี.โปรเกรสชีพ 2563
  6. Food and Nutrition Board, Institute of Medicine. DRI Dietary Reference Intake for thiamin, riboflavin, niacin, vitamin B6, folate, vitamin B12, pantothenic acid, biotin, and choline. Washington, D.C.: National Academies Press, 2000;390-421
  7. Linus Pauling Institute, Oreg on State University. Choline. http://lpi.oregonstate.edu/mic/othernutrients/choline. Accessed 8 August 2016.
  8. Mc Dowell LR 2000.Vitamins in animal and human nutrition.2ed.lowa State University Press:479-596
  9. United States Department of Agriculture, Agricultural Research Service, National Nutrient Database for Standard Reference Release 28. https://ndb.nal.usda.gov/ndb/nutrients/index. Accessed 8 August 2016
  10. Wartman RJ,Cansey M and Ulus IH 2007.Choline and its products acetylcholine  and phosphate dylcholine. Spinger-Verlag Berlin Heidelberg.59PP.
  11. Garrow TA. Choline and carnitine. In: Bowman BA, Russell RM. eds. Present knowledge in nutrition. 8th ed. Washington, D.C.: ILSI Press, 2001;261-70.