ทอรีน

ทอรีน

ชื่อสามัญ Taurine

ประเภทและข้อแตกต่างทอรีน 

ทอรีน (Taurine หรือ 2-Aminoethane Sulfonic Acid) เป็นกรดอะมิโนอิสระชนิดเบตา (β-amino acid) ที่มีซัลเฟอร์เป็นองค์ประกอบแต่ไม่ได้เป็นกรดอะมิโนที่เป็นส่วนประกอบของโปรตีน (Non Protein Amino Acid) ภายในโครงสร้างของทอรีน มีกำมะถัน หรือ ซัลเฟอร์ (Sulfur) เป็นองค์ประกอบ และร่างกายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้นสามารถสร้างทอรีนขึ้นมาเอง โดยชื่อของทอรีน (Taurine) นั้นมีรากศัพท์มาจากภาษาลาตินที่แปลว่า ราศีพฤษก ซึ่งหมายความว่า วัว ซึ่งเป็นการตั้งชื่อตามแหล่งที่พบทอรีนครั้งแรก เพราะสามารถแยกได้จากน้ำดีของวัวในปี ค.ศ.2827 จากนั้นในปี ค.ศ.1846 นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันจึงได้ค้นพบทอรีนในน้ำดีของมนุษย์ สำหรับประเภทของทอรีนนั้น จากการศึกษาวิจัยพบว่า เป็นกรดอะมิโนอิสระที่มีเพียงประเภทเดียว แต่รูปแบบของทอรีนในปัจจุบันนั้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ ทอรีนที่มีอยู่ในแหล่งอาหารต่างๆ และทอรีนสังเคราะห์ ซึ่งสังเคราะห์ได้จากการแอมโมเนียมของกรด isethionic (กรด 2-hydroxyethanesulfonic) ซึ่งจะได้รับจากปฏิกิริยาของเอทิลีนออกไซด์กับโซเดียม ไบซัลไฟต์ในน้ำ ส่วนทอรีนที่สังเคราะห์ในห้องปฏิบัติการสามารถสังเคราะห์ได้โดยการอัลคีเลชั่นของแอมโมเนียด้วยเกลือโบรโมเอธานซัลโฟเนต

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาของทอรีน

ถึงแม้ทอรีนจะเป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ขึ้นเองได้ แต่อย่างไรก็ตามปริมาณทอรีนที่ร่างกายสังเคราะห์ได้นั้น อาจไม่เพียงพอต่อการใช้งาน เพราะเมื่ออายุเรามากขึ้น ร่างกายจะสร้างทอรีนได้น้อยลง ดังนั้นร่างกายต้องรับทอรีนเพิ่มจากการบริโภคอาหารที่มีทอรีนสูง เช่น อาหารทะเล กุ้ง หอยนางรม ปลา เนื้อวัว เนื้อหมู ทูน่า ตับหมู เนื้อไก่ โยเกิร์ต สาหร่ายทะเล สาหร่ายแดง และนมวัว เป็นต้น

            โดยอาหารแต่ละประเภทแต่ละชนิดนั้นมีปริมาณทอรีนอยู่มากน้อยแตกต่างกัน ซึ่งหากมีการบริโภคอาหารแบบปกติในชีวิตประจำวันแล้ว มนุษย์มีโอกาสได้รับทอรีนจากอาหารประมาณ 40–400 มิลลิกรัม (ไม่นับรวมที่ได้รับจากผัก)

           นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีการนำทอรีน สังเคราะห์ไปใช้ในทางอุตสาหกรรมอาหาร เช่น การใช้ทอรีนเป็นส่วนผสมในเครื่องดื่มชูกำลังในปริมาณสูงถึง 1000–3000 มิลลิกรัม อีกทั้งยังมีการนำทอรีนไปใช้เป็นส่วนผสมในนมผงสำหรับเด็ก ซึ่งนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเสริมทอรีนให้แก่ร่างกาย อย่างไรก็ตามปริมาณทอรีนที่มีอยู่ในแหล่งอาหารตามธรรมชาติจะลดลงเมื่อผ่านความร้อน หรือ กระบวนการปรุงสุก ซึ่งก็จะทำให้ร่างกายได้รับทอรีนน้อยลงกว่าปริมาณที่ควรจะได้รับ

ปริมาณที่ควรได้รับทอรีน

สำหรับปริมาณของทอรีน ที่ควรบริโภคต่อวันนั้น จะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น อายุ สภาพร่างกาย และการใช้พลังงานของร่างกายในแต่ละวัน เป็นต้น แต่โดยปกติแล้วในวัยผู้ใหญ่จะต้องการทอรีนวันละประมาณ 125-500 ไมโครโมลต่อกรัม แต่อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า การบริโภค ทอรีนที่มีขนาดถึง 3000 มิลลิกรัม/วัน ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกายแต่งอย่างใด อีกทั้งตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหาร และยา เรื่องข้อกำหนดการใช้ส่วนประกอบที่สำคัญของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ชนิดกรดอะมิโน (รายการที่14) ลงวันที่ 28 กันยายน 2549 ก็ระบุว่าให้ใช้ทอรีน เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของผลิตภัณฑเสริมอาหารได้ไม่เกิน 3000 มิลลิกรัม สำหรับบริโภคใน 1 วัน

ประโยชน์และโทษทอรีน

ทอรีนนั้นมีบทบาทในการทำงานของอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น สมอง หัวใจ ตับ กล้ามเนื้อลาย เรตินา และในเลือดซึ่งหากอวัยวะเหล่านี้มีการทำงานผิดปกติก็จะทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตามมา และทอรีนยังเป็นหนึ่งในสารที่ส่งผลต่อการพัฒนาระบบประสาท และสมอง ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของมนุษย์ช่วยลดความดันโลหิต ช่วยควบคุมระดับโคเลสเตอรอลในเลือด และทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระได้อีกด้วย ดังมีรายละเอียด เช่น 

  • เสริมสร้างกล้ามเนื้อทำงานได้ดียิ่งขึ้นเลย โดยทอรีน จะไปเพิ่มศักยภาพในการยืด-หดตัวของกล้ามเนื้อในร่างกาย ช่วยให้สามารถทำงานหนักขึ้น หรือ เล่นออกกำลังกายที่หนักขึ้นได้โดยที่เหนื่อยน้อยลง 
  • ช่วยให้จอประสาทตาแข็งแรง ทอรีนมีอยู่ในจอประสาทตา (retina) และสมอง มีหน้าที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้เซลล์ประสาทตา โดยเฉพาะเซลล์ประสาทตาในส่วนที่รับแสงด้านนอกของเรตินา จึงช่วยป้องกันไม่ให้จอประสาทตาเสื่อมจากแสงสว่าง หรือ สารเคมีที่กระทบเข้าดวงตา
  • ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ทอรีนช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยเฉพาะการรับประทานทอรีนร่วมกับกรดอะมิโนฮิสทีนก็จะช่วยให้ร่างกายต้องการอินซูลินลดน้อยลง
  • ลดความกระสับกระส่าย กระวนกระวาย โดยทอรีนทำหน้าที่เป็นตัวนำกระแสประสาทในสมอง มีฤทธิ์บรรเทาความเครียด หรือ ช่วยระงับประสาทในสภาวะที่สมองตื่นตัวมากกว่าปกติ
  • ช่วยพัฒนาและปกป้องสมองโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมองของทารกแรกเกิด โดยในวัยทารกจะมีปริมาณทอรีนมากกว่าในผู้ใหญ่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในช่วงวัยเจริญเติบโต ร่างกายจะต้องการทอรีนในปริมาณมากเป็นตัวแอนติออกซิแดนท์ในเม็ดเลือดขาว และในปอด
  • นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ปกป้องสมอง และทำหน้าที่เป็นตัวควบคุมน้ำในเซลล์ของสมอง ยังเชื่อกันว่าทอรีนจะทำหน้าที่เป็นตัวนำกระแสประสาทในสมองอีกด้วย

           ส่วนการได้รับทอรีนน้อยกว่าที่ร่างกายต้องการ หรือ ภาวะขาดทอรีน (ซึ่งพบได้น้อยมาก) นั้น อาจทำให้ร่างกายเกิดภาวะ เซื่องซึม สูญเสียกล้ามเนื้อ และไขมัน เป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ และหลอดเลือด จอประสาทตาเสื่อม หรือ อาจเป็นโรคเบาหวานได้ เป็นต้น

ทอรีน

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องทอรีน

มีผลการศึกษาเรื่องการสังเคราห์ทอรีน ของร่างกายระบุว่าทอรีนเป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ขึ้นเองได้ โดยเกิดจากกระบวนการเมตาบอลิซึมของซีสเทอีน (Cysteine) และเมธไทโอนีน (Methionine) และเป็นส่วนประกอบหลักของน้ำดี สามารถพบได้ในลำไส้ใหญ่ และมีสัดส่วนถึง 0.1% ของน้ำหนักตัวทั้งหมด และทอรีนจะถูกขับออกทางปัสสาวะ

            นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งระบุว่า ทอรีนมีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตของมนุษย์เป็นอย่างมากโดยเฉพาะในวัยเด็ก ซึ่งหากเด็กมีภาวะขาดทอรีนอาจทำให้เกิดการเจริญเติบโตได้ช้ากว่าปกติ และถ้ามีภาวะขาดทอรีนอย่างรุนแรงอาจทำให้เกิดอาการเซื่องซึม ผมเปลี่ยนสี ตับถูกทำลาย และจะสูญเสียกล้ามเนื้อและไขมัน

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. วิตามินบี 6 ถือเป็นวิตามินที่สำคัญในกระบวนการสังเคราะห์ทอรีน ในร่างกายมนุษย์ ดังนั้นร่างกายจึงควรได้รับวิตามินบี 6 อย่างเพียงพอ เพราะหากร่างกายขาดวิตามินบี 6 แล้ว ก็จะทำให้ขาดทอรีนด้วยเช่นกัน
  2. การดื่มสุรา หรือ แอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไป ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถใช้ทอรีนได้เท่าที่ควร
  3. การรับประทานทอรีน ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ควรรับประทานก่อนอาหารประมาณครึ่งชั่วโมง รวมถึงไม่ควรรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีทอรีนร่วมกับโปรตีนอื่น

 

เอกสารอ้างอิง ทอรีน
  1. รพีพัฒน์ บัวสุวรรณ, พรพิมล ม่วงไทย. การวิเคราะห์ปริมาณทอรีน ในตัวอย่างน้ำนมแปรรูปโดยเทคนิคโรคมาโตกราฟิของเหลวมรรกนะสูง. วารสารมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สาขาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีปีที่ 7. ฉบับที่ 13 มกราคม-มิถุนายน 2558. หน้า 65-75
  2. กาญจนา คล่องงานฉุย,พรพิมล ม่วงไทย ทอรีน และฮีสตามีนในตัวอย่างปลาทะเล และปลาน้ำจืด. วารสารมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. สาขาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีปีที่ 9. ฉบับที่18 กรกฎาคม-ธันวาคม 2560. หน้า 1-10
  3. Shifen M., Xiaojing Ding.; and Yongjian Liu. (2002). Separation method for taurine analysis in biological samples. Journal of Chromatography B. 781: 251-267.
  4. Finnegan D. (2003). The health effect of stimulant drink. British nutrition foundation nutrition bulletin. 28: 147-55.
  5. จาค็อบสันซามูเอลจี; เคมป์, โคลินเอ็ม; บอร์รัว, ฟรองซัวส์ - ซาเวียร์; ชัยทินไมเคิลเอช; Faulkner, David J. (1987-10-01). "ภูมิประเทศของโรดอปซิน และการทำงานของแกนกลางในแมวที่มีการเสื่อมของจอประสาทตาจากการขาดทอรีน" การทดลองวิจัยตา 45 (4): 481–490
  6. Stpleton P.P., R.P. Charles, H.P. Redmond; and D.J. Bouchier-hayes. (1997). Taurine and human nutrition. Clinical Nutrition 16: 103-108
  7. โรนัลด์, BF (2019) "การนำวิชาการและเคมีอุตสาหกรรมมารวมกัน: การมีส่วนร่วมของ Edmund Ronalds" สารสำคัญ . 3 (1): 139–152
  8. Laidlaw S., Grosvenor M.; and Kopple JD. (1990). The taurine content of common foodstuffs. Journal of parenteral and enteral nutrition. 14: 183-188.
  9. ชูลเลอร์-เลวิส, จอร์เจีย B .; ปาร์คอึนกยู (2546). "Taurine: ความหมายใหม่สำหรับกรดอะมิโนเก่า " FEMS วิทยาจดหมาย 226 (2): 195–202
  10. มหัศจรรย์ CS; เบลีย์, CF; คอร์เตซีแฟรงค์ (2481) “ ทอรีน”. องค์กร Synth. 18 : 77
  11. Oktawia P. Wojcik., Karen L.; Koenig.; et al. (2010). The potential protective effect of taurine on coronary heart disease. Artherosclerosis. 208: 19-25
  12. F. Tiedemann, L. Gmelin; เกลิน (1827) “ Einige neue Bestandtheile der Galle des Ochsen” . Annalen der Physik 85 (2): 326–37