วิตามินอี

วิตามินอี

ชื่อสามัญ Tocopherol

ประเภทและข้อแตกต่างวิตามินอี (Tocopherol)

เป็นวิตามินที่ละลายได้ในไขมัน และเป็นหนึ่งในวิตามินที่สำคัญที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับ โดยมีลักษณะเป็นน้ำมันข้นสีเหลือง ทนต่อความร้อน และกรด แต่ไม่ทนต่อด่าง ออกซิเจน และแสงอัลตราไวโอเล็ต มีโครงสร้างที่เป็นวงเบนซีนที่มีหมู่ไฮดรอกซีอยู่ที่ตำแหน่งที่ 6 เรียกว่า tocol และ chromanol ring มีแขนงข้างเป็นไอโซพรีนอยด์ (isoprenoid)

            สำหรับประวัติการค้นพบวิตามินอี นั้น เริ่มต้นจากในปี ค.ศ.1920 มีผู้สังเกตว่า หนูที่บริโภคนมวัวอย่างเดียว ไม่สามารถสืบพันธุ์ตามปกติ และในอีก 2-3 ปีต่อมา มีผู้พบว่าน้ำมันพืชโดยเฉพาะน้ำมันที่สกัดจากจมูกข้าวสาลี (Wheat germ oil) มีสารที่ช่วยให้สืบพันธุ์ได้ตามปกติ จากนั้นจึงไม่มีการสกัดสารนี้จากน้ำมันในปี ค.ศ.1936 และให้ชื่อว่า โทโกเฟอรอล (Tocopherol) หรือ วิตามินอี ดังเช่นในปัจจุบัน ส่วนประเภทของวิตามินอี สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ตามโครงสร้างชนิดของแขนงข้างในโมเลกุล กลุ่ม Tocopherol เป็นแขนงข้างที่มีไฮโดรคาร์บอนต่อกันด้วยพันธุเดี่ยวทั้งหมด และอีกกลุ่มหนึ่งคือ tocotrienol ซึ่งเป็นแขนงข้างที่มีไฮโดรคาร์บอนต่อกันแบบมีพันธะคู่ ซึ่งในแต่ละกลุ่มจะมีจำนวน และตำแหน่งของ methyl group มาต่อกันวงเบนซีนต่างกัน ที่เป็นชนิดแอลฟ (α) เบตา (β) แกมมา (Ƴ) และเดลตา (δ) แต่มีการศึกษาวิจัยพบว่า α-tocopherol เป็นสารที่ว่องไวที่สุดทำหน้าที่เป็นสารที่ป้องกันการเกิดออกซิเดชันของสารอื่น 

           ในส่วนชนิดของวิตามินอี ที่พบมากที่สุดจะอยู่ในรูปของ อัลฟา- และเบตา-โทโคฟีรอล (α, β-tocopherol) โดย มีรายงานว่าวิตามินอีที่พบในเนื้อเยื่อของมนุษย์จะเป็น α-tocopherol ถึง 90% และยังเป็นวิตามินอีโครงสร้างเดียวที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในร่างกายของเรา สำหรับผลิตภัณฑ์วิตามินอีที่มีการวางจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด มักจะเป็นวิตามินอีในรูป ดีแอล-อัลฟา-โทโคฟีรอล (DL-alpha-tocopherol) หรือ ดี-อัลฟา-โทโคฟีรอล (D-alpha-tocopherol) อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่รูปแบบที่สกัดได้จากธรรมชาติ คือ ดี-อัลฟา-โทโคฟีรอล (D-alpha-tocopherol)

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาวิตามินอี

สำหรับแหล่งที่มาของวิตามินอี นั้นมีในอาหารหลายชนิด เช่น จำพวกเนื้อสัตว์ เช่น ไก่ ปลา หมู เนื้อวัว ตับ ไข่ นมเนย หรือ อาหารจำพวกผัก เช่น ผักกาดหอม หัวผักกาด หัวแครอท ถั่ว มะเขือเทศ มันเทศ ขึ้นฉ่าย รวมถึงผลไม้จำพวกส้มโอ ส้มเขียวหวาน นอกจากนี้ยังพบในเมล็ดพืช เช่น เมล็ดถั่ว เมล็ดข้าวโพด เมล็ดข้าว แต่อาหารที่เป็นแหล่งที่พบวิตามินอีจำนวนมากคือ น้ำมันพืช ต่างๆ เช่น น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันถั่ว น้ำมันงา น้ำมันรำข้าง น้ำมันข้าวโพด เป็นต้น

            มีการศึกษาพบว่าในน้ำมันดอกคำฝอยมี α-tocopherol ถึงร้อยละ 90 ส่วนอาหารที่ได้จากสัตว์ เช่น ไข่ ตับ น้ำมันตับปลา และน้ำนมจะมีปริมาณวิตามินอีไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับปริมาณไขมันที่มีในอาหาร

อาหารที่มีวิตามินอีสูง

ปริมาณ  1  ส่วน

Mg α-TE

มันเทศ (มันหวาน)                                            

จมูกข้าวสาลี  2 ช้อนโต๊ะ

ผักปวยเล้ง

ผักโขม

ฟักทอง

แอสพารากัส 1 ถ้วยตวง

บร็อคโคลี, ผักกาดเขียว

คะน้า 

8.4

4.5

6.9

3.7

3.2

2.7

2.3

1.1

เมล็ดทานตะวัน

อัลมอนต์

เฮเซลนัท

ถั่วลิสง

7.4

7.3

4.0

1.4

 

อะโวคาโด 1 ผล

กีวี

ขนุนหนัง  100 กรัม

มะขามเทศ100 กรัม

ตะขบ  100 กรัม

มะม่วงเขียวเสวยดิบ  100 กรัม

มะม่วงหนังกลางวันสุก 100 กรัม

มะเขือเทศราชินี  100 กรัม

2.7

2.6

2.38

2.29

1.90

1.52

1.26

1.34

มะม่วงเขียวเสวยสุก  100 กรัม

มะม่วงน้ำดอกไม้สุก  100 กรัม

มะม่วงยายกล่ำสุก  100 กรัม

แก้วมังกรเนื้อสีชมพู  100 กรัม

สตรอเบอรี่  100 กรัม

1.23

1.10

0.97

0.59

0.54

เนยถั่ว  2  ช้อนโต๊ะ

น้ำมันมะกอก

น้ำมันปาล์ม

ปลา

กุ้ง

3.0

2.0

0.7

0.7

0.7

ปริมาณวิตามินอี จากอาหารบางประเภท 

วิตามินอี

วิตามินอี

            แต่อย่างไรก็ตามวิตามินอีในอาหารจะสูญหายไปตามกาลเวลา เช่น การเก็บแป้งสาลีที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา 1 ปี จะเสียวิตามินอีไป 30% และน้ำมันมะกอกที่เก็บไว้ 6 เดือน ในขวดปิดสนิทจะเสียวิตามินอีไป 20-30% แต่ถ้าเปิดฝาทิ้งไว้วิตามินอีจะหายไปทั้งหมดในเวลา 3-4 เดือน

ปริมาณที่ควรได้รับจากวิตามินอี 

สำหรับปริมาณวิตามินอี (tocopherol) ที่ควรได้รับในแต่ละวันนั้นจะขึ้นอยู่กับเพศ และวัยที่แตกต่างกัน เช่น  สำหรับเด็กแรกเกิดถึง 6 เดือน จะมีความต้องการวิตามินอีวันละประมาณ 3 มิลลิกรัม ซึ่งหากเด็กที่กินนมแม่ก็จะได้รับวิตามินอีอย่างเพียงพอ เพราะในนมแม่ 1 ลิตร จะมีวิตามินอีอยู่ประมาณ 1.3-3.3 มิลลิกรัม ในเด็กในวัย 6-12 เดือน จะมีต้องการวันละประมาณ 4 มิลลิกรัม และในช่วงระหว่างอายุ 1-14 ปี ร่างกายจะมีความต้องการวิตามินอี วันละ 5-8 มิลลิกรัม และเมื่อมีอายุตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป เพศชายควรได้รับวิตามินอีวันละ 10 มิลลิกรัม ส่วนเพศหญิงควรได้รับวันละ 8 มิลลิกรัม ในส่วนของหญิงตั้งครรภ์ และให้นมบุตรจะต้องการวิตามินอีวันละ 13 มิลลิกรัม แต่ทั้งนี้ มีการศึกษาวิจัยพบว่าหากรับวิตามินอี ในขนาดไม่เกินวันละ 800 IU จะมีความปลอดภัย และไม่มีความผิดปกติใดๆ ส่วนวิตามินอีในรูปที่ปรากฏอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับทาผิว อาจพบอาการแพ้ทางผิวหนังจากการสัมผัส (contact dermatitis) ได้ในบางราย

ประโยชน์และโทษวิตามินอี 

วิตามินอีมีประโยชน์ต่อร่างกายมากมายหลายประการ อีกทั้งยังมีหน้าที่ และคุณสมบัติต่างๆ เช่น  ช่วยให้ไขกระดูกสร้างเลือดได้ดี ช่วยขยายเส้นเลือดต้านการแข็งตัวของเลือด ลดการจับตัวเป็นลิ่มเลือด ทำให้อัตราเสี่ยงของโรคหลอดเลือด ลดการจับตัวเป็นลิ่มเลือด ทำให้อัตราเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง และหัวใจลดลง บำรุงตับช่วยในระบบสืบพันธุ์ เซลล์ประสาท และกล้ามเนื้อให้ทำงานได้ตามปกติ ทำให้ผิวพรรณสดใส และช่วยสมานแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวกให้หายเร็วขึ้น ช่วยให้ปอดแข็งแรงทำงานดี ช่วยในการป้องกันการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันจากการใช้ออกซิเจนในกระบวนการเมแทบอลิซึม และกำจัดสารอนุมูลอิสระ ช่วยควบคุมการทำงานของเอนไซม์ต่างๆ ในร่างกายมนุษย์ และเป็นปัจจัย หรือ องค์ประกอบในการควบคุมการแสดงออกของสารพันธุกรรม หรือ ยีน (Gene) ช่วยขัดขวางการรวมตัวของออกซิเจนในกรดไลโนเลอิกมีผลให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดจึงน้อยลงทำให้เลือดไหลเวียนสะดวก ช่วยให้ร่างกายปรับตัวต่ออุณหภูมิภายนอกได้เร็วขึ้น ทำลายฤทธิ์ของสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะสารก่อมะเร็งในทางเดินอาหาร และลำไส้ใหญ่ ซึ่งวิตามินอีจะช่วยทำให้สารไนโตรซามีนที่เป็นสารก่อมะเร็งลดลง จึงป้องกันการเกิดมะเร็งได้ โดยจากการศึกษาวิจัยพบว่าวิตามินอีจะมีฤทธิ์ในการยับยั้งมะเร็งมากที่สุดจะต้องมีวิตามินเอ เบต้าแคโรทีน และมีวิตามินซี เป็นส่วนประกอบอย่างเพียงพอด้วย นอกจากนี้ยังช่วยชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์ และป้องกันโรคสมองเสื่อมแบบพาร์กินสัน โดยจะช่วยบำรุง และเสริมสร้างเซลล์สมอง และยังช่วยกระตุ้นระบบภูมคุ้มกันของร่างกายอีกด้วย

            สำหรับโทษของวิตามิอีนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่มีภาวะขาดวิตามินอี ซึ่งในคนปกติจะพบได้น้อยมาก แต่มักพบกลุ่มผู้ที่มีภาวะขาดวิตามินอีจากความผิดปกติในการดูดซึมไขมัน เช่น การทำงานของตับ ตับอ่อน และลำไส้ผิดปกติ หรือ มีโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคที่มีอาการผิดปกติของระบบประสาท (เดินเซ) ร่วมกับการขาดวิตามินอี (ataxia with vitamin E deficiency) นอกจากนี้ยังพบการขาดวิตามินอีได้ในทารกคลอดก่อนกำหนด หรือ น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ผู้ที่มีพังผืดจับในถุงน้ำดี (cystic fibrosis) รวมทั้งในผู้ที่ขาดเอนไซม์ กลูโคส-6-ฟอสเฟต ดีไฮโดรจีเนส (G-6-PD) ทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกได้ ซึ่งการขาดวิตามินอี ต้องใช้ระยะเวลานานจึงจะเริ่มมีสัญญาณการเกิดความเสียหายของระบบประสาทปรากฏขึ้น เช่น สูญเสียการรับสัมผัส และการตอบสนองต่อสิ่งเร้า สูญเสียความรู้สึกทางกาย ตามัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปัสสาวะสีชา มีปัญหาเรื่องการกลอกตา และทรงตัวได้ยาก เป็นต้น

            ส่วนอีกประเภทหนึ่ง คือ ประเภทที่ได้รับวิตามินอีมากเกินไป ซึ่งโดยปกติแล้วหากร่างกายได้รับวิตามินอีไม่เกิน วันละ 800 IU ก็จะไม่มีผลข้างเคียงต่อร่างกาย แต่หากได้รับเกินกว่านี้เป็นระยะเวลาติดต่อกันนานๆ ก็จะมีอาการแสดง เช่น ปวดหัว คลื่นไส้ อ่อนเพลีย มึนงง ตาลาย ปากเปื่อย ริมฝีปากแตก ความดันโลหิตสูงขึ้น อ่อนเพลีย มีก้อนเนื้องอกที่เต้านม ปริมาณของไขมันในเลือดสูง และความต้นทานต่อการติดเชื้อลดน้อยลง จนทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายเปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น และถ้าหากได้รับวิตามินอีวันละ 2-4 กรัม (2,000-4,000 มิลลิกรัม) เป็นเวลา 3 เดือน ติดต่อกัน จะเกิดอาการมุมปากอักเสบ ริมฝีปากอักเสบ และกล้ามเนื้ออ่อนแรงอีกด้วย

วิตามินอี

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องวิตามินอี

ผลการศึกษาวิจัยระบบ metabolism ของวิตามินอี (Tocopherol) ระบุว่าวิตามินอีจะถูกดูดซึมในลำไส้เล็กพร้อมกับไขมันแล้วลำเลียงไปทางน้ำเหลืองโดยรวมกับไคโลไมครอน โดยไคโลไมครอนเป็นลิพิดประกอบด้วยคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และโปรตีนทำหน้าที่ขนส่งไตรกลีเซอไรด์ที่ได้จากอาหาร และนำไปสะสมไว้ในเนื้อเยื่อไขมันด้วยการดูดซึมเข้าไปในน้ำเหลืองแล้วส่งต่อไปยังกระแสเลือด และส่งไปเก็บที่ตับเป็นลำดับต่อไป หากร่างกายได้รับวิตามินอีสูง ก็จะส่งไปเก็บไว้ที่เนื้อเยื่อไขมัน หัวใจ ต่อมใต้สมอง ต่อหมวกไตและปอด

            ทั้งนี้วิตามินอี จะเคลื่อนที่ไปตามส่วนต่างๆ ในร่างกายในลักษณะเดียวกันกับไขมัน (จับกับ lipoproteins) และกระจายไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ ส่วนวิตามินอีที่มากเกิดความจำเป็นจะถูกกำจัดออกจากร่างกายพร้อมกับน้ำดี ออกทางอุจจาระ

            นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาด้านอื่นๆ ดังนี้

            มีการศึกษาโดยสมาคมการค้นคว้าโรคผิวหนัง ประเทศเยอรมัน พบว่า วิตามินอี สามารถช่วยให้เซลล์ผิวทนต่อรังสี UV B ในแดดได้ดีขึ้น โดยการศึกษาให้อาสาสมัครรับประทานวิตามินอี 1,000 ยูนิตสากล ร่วมกับวิตามินซี 2,000 มิลลิกรัม ทุกวันติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน พบว่าเซลล์ผิวหนังสามารถทนต่อการถูกทำลายได้เพิ่มขึ้นเท่าตัว ดังนั้น การรับประทานวิตามินอี ในปริมาณที่เหมาะสมเป็นประจำ จะช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ผิวหนัง และยังช่วยป้องกันความผิดปกติของระบบประสาท เนื่องจากวิตามินอี เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน จึงสามารถผ่านเข้าไปที่เซลล์สมองได้ มีการศึกษาที่รวบรวมข้อมูลการวิจัยเป็นจำนวนมากสรุปผลว่าการได้รับวิตามินอี ในขนาดปานกลางประมาณ 200-500 ยูนิตสากล จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคพาร์กินสันได้ และยังมีการศึกษาถึงคุณสมบัติของวิตามินอีที่ช่วยป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ และป้องกันการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ทำให้หลอดเลือดที่ไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีรายงานการวิจัยของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ของอังกฤษ พบว่าคนไข้ที่ได้รับวิตามินอี ธรรมชาติ วันละ 400-800 หน่วยสากล จะช่วยลดการเกิดอาการโรคหัวใจวายเฉียบพลันถึง 77% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับวิตามินอี

            นอกจากนี้ยังมีรายงานการวิจัยว่าวิตามินอี สามารถป้องกันมิให้ไนโตรซามีน (ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่เรามักได้รับจากอาหาร) มาทำลายเซลล์ในร่างกาย และยังช่วยเพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกายอีกด้วย

            แต่มีผลการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า การรับประทานวิตามินอี ในระยะยาวอาจส่งผลเสีย โดยมีผลการศึกษาพบว่า ผู้ชายที่รับประทานวิตามินอี ทุกวันติดต่อกันมานาน 5 ปี กลับมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากมากขึ้นถึงร้อยละ 17

โครงวร้างวิตามินอี

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง 

  1. ไม่ควรใช้วิตามินอีในรูปแบบรับประทานร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagutants) เพราะจากการศึกษาวิจัยพบว่ามีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด
  2. การใช้วิตามินอีรูปแบบรับประทานในหญิงมีครรภ์ ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณวิตามินอี ในขนาดต่ำ
  3. ไม่ควรใช้วิตามินอีร่วมกับยา หรือ ผลิตภัณฑ์ที่มีฮอร์โมนผู้หญิง หรือในผู้หญิงที่รับประทานยาคุมกำเนิด

เอกสารอ้างอิง วิตามินอี
  1. ศิริวรรณ สุทธจิตต์. คู่มือสุขภาพเกี่ยวกับวิตามิน. กรุงเทพฯ: The Knowledge Center; 2550. หน้า 123-53.
  2. สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. ตารางแสดงคุณค่าทางโภชนาการของอาหารไทย.กรุงเทพฯ : สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; 2561.
  3. พญ.เรณู โครตจรัส. วิตามินอี .คอลัมน์ กินถูก...ถูก.นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 73 .พฤษภาคม 2528
  4. สมทรง เลขะกุล. ชีวเคมีของวิตามิน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ศุภวนิชการพิมพ์; 2543
  5. ธิดารัตน์ หน่อสุวรรณ. (2557). การสกัดวิตามินอีจากดิสทิลเลตของน้ำมันรำข้าว (Extraction of Vitamin E from Distillate of Rice Bran Oil), วารสารวิจัยราชภัฎเชียงใหม่ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่.
  6. ศรมน สุทิน.วิตามินกับอนุมูลอิสระ.วารสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ปีที่ 2. ฉบับที่ 1.มกราคม-มิถุนายน 2559. หน้า 80-92
  7. สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ.2546. กรุงเทพฯ : สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; 2546.
  8. นัยนา บุญทวียุรัตน์. ชีวเคมีทางโภชนาการ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: เจริญดีมั่นคงการพิมพ์; 2553.
  9. นพ.วิชัย ตันไพจิตร, สามฤดี สาธรสัมฤทธิ์ผล. วิตามินอี.คอลัมน์ รู้ก่อนกิน.นิตยสารหมอชาวบ้านเล่มที่ 172. สิงหาคม 2536
  10. พิสิฐ วงศ์วัฒนะ, ผู้แปล. วิตามิน. กรุงเทพฯ: หมอชาวบ้าน; 2548. หน้า 302-17.
  11. วิโรจน์ สุ่มใหญ่. วิตามินและโภชนาบำบัด ศาสตร์มหัศจรรย์ชะลอความชรา. กรุงเทพฯ: บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน); 2545
  12. Rucker RB, Suttie JW, McCormick DB, Machlin LJ. Handbook of Vitamins. 3rd ed. New York: Marcel Dekker, Inc.; 2001:165-97.
  13. Nelson DL. Cox MM. Principle of biochemistry. 5th ed. New York: W.H. Freeman and Company; 2008.
  14. Blake S. Vitamins and Minerals Demystified. New York: McGraw - Hill, Inc.; 2008.
  15. Kukongviriyapan V. Essential role of antioxidant network of vitamins and enzymes. Srinagarind Med J 2014;29(1):59-70.