วิตามินบี 9

วิตามินบี 9

ชื่อสามัญ Folic acid, Folate

ประเภทและข้อแตกต่างวิตามินบี 9

วิตามินบี 9 (folic acid/folate) จัดเป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ.1930 โดย Lucy Wills ซึ่งรายงานว่าสารสกัดจากยีสต์สามารถรักษาภาวะโลหิตจางชนิดเมกาโลบลาสติก (megaloblastic anemia) ในหญิงตั้งครรภ์ได้ จากนั้นสารนี้ได้ถูกพบในพืชผักอีกหลายชนิด เช่น ผักขม อัลฟาฟา จึงถูกเรียกว่า “โฟเลต” ซึ่งมาจากคำในภาษาลาตินว่า “folium” ที่หมายถึงใบไม้ และวิตามินบี 9 ยังมีหลากหลายอนุพันธ์ เช่น folic acid tetrahydrofolate 5.10-methylene tetrahydrofolate ฯลฯ ซึ่งจะสลายตัวได้ง่ายเมื่อโดนแสง ความร้อน และอากาศ เช่น เมื่ออาหารที่มีกรดโฟลิกถูกความร้อนจึงมักจะสูญเสียคุณประโยชน์ได้ง่าย จึงต้องใช้วิธีการปรุงอาหารด้วยไฟอ่อนๆ หรือ ทานผักผลไม้สดแทนเพื่อให้ได้รับกรดโฟเลดกอย่างครบถ้วน 

            สำหรับประเภทของวิตามินบี 9 (Folic acid) นั้นในปัจจุบันสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่มีอยู่ในแหล่งอาหารทั่วไป หรือ ที่เรียกว่า โฟเลต (folate) ซึ่งประเภทนี้จะพบในอาหารหลายชนิด เมื่อมนุษย์รับประทานเข้าไปแล้ว ร่างกายจะสังเคราะห์ และดูดซึมนำไปใช้ในกระบวนการต่างๆ ของร่างกายต่อไป โดยโฟเลตที่พบในธรรมชาติ มักเป็น pteroylpolyglutamate ซึ่งมี glutamyl 2-7 หมู่เชื่อมต่อกันด้วยพันธะเพปไทด์ติดอยู่กับส่วน pteroic acid ส่วนอีกประเภทหนึ่งจะได้จากการสังเคราะห์โดยมนุษย์ เช่น ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่จำหน่ายในท้องตลาดจะอยู่ในรูป pteroylmonglutamic acid (PteGlu1) ซึ่งมี glutamyl เพียงหนึ่งหมู่

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาวิตามินบี 9

ร่างกายของคนเราไม่สามารถสังเคราะห์โฟเลตได้ ดังนั้นอาหารจึงเป็นแหล่งที่สำคัญของโฟเลต (วิตามินบี 9) แต่อย่างไรก็ตามอาหารแต่ละชนิดก็มักมีโฟเลตในปริมาณต่ำ และแตกต่างกันไป  ซึ่งแหล่งที่มีโฟเลต (วิตามินบี 9) สูง เช่น ผักสีเขียว ถั่วเมล็ดแห้ง ตับ เนื้อสัตว์ นมสด ยีสต์ ข้าวซ้อมมือ ทุเรียน สตอเบอรี่ มะม่วง เป็นต้น

ตารางแสดงปริมาณโฟแลทในอาหาร

อาหาร

ปริมาณโฟเลท (ไมโครกรัม/100 กรัม)

กลุ่มผัก

กระเพรา

 

56.35

แขนงกะหล่ำ

97.00

กุยช่าย

97.30

ผักกาดหางหงส์

93.80

ผักโขมจีน

160.10

ผักคะน้า

80.10

ผักชีฝรั่ง

40.20

แมงลัก

75.10

ยี่หร่า

92.30

ย่านาง

59.69

สะระแหน่

74.70

โหระพา

106.30

กลุ่มผลไม้

กล้วยไข่

 

35.41

กล้วยน้ำว้า

37.16

กล้วยหอมทอง

15.28

แก้วมังกรเนื้อขาว

13.51

แคนตาลูป

18.08

ชมพูทับทิมจันทร์

10.12

แตงโมกินรี

9.15

ทุเรียนหมอนทอง

155.75

ฝรั่งกิมจู

38.89

มะม่วงเขียวเสวยสุก

67.47

มะละกอฮอล์แลนด์สุก

32.25

สตรอเบอรี่

98.69

ส้มจีน

19.80

สับปะรดศรีราชา

17.89

แอปเปิ้ลฟูจิ

7.36

กลุ่มข้าว

ข้าวมันปู

 

13.69

ข้าวไรซ์เบอรี่

25.05

ข้าวลืมผัว

17.80

ข้าวหอมนิล

13.38

กลุ่มถั่วเมล็ดแห้ง

ถั่วเขียว

 

186.40

ถั่วดำ

230.11

ถั่วแดงหลวง

144.2

ถั่วลิสง

126.66

ถั่วลิสง

168.89

กลุ่มเนื้อสัตว์

เนื้อไก่ตะโพก

 

71.86

เนื้อไก่อก

60.9

เนื้อปลาดุก

96.5

เนื้อวัวสะโพก

63.8

เนื้อวัวสันใน

50.09

เนื้อหมูสันใน

36.40

 

ปริมาณที่ควรได้รับจากวิตามินบี 9

สำหรับปริมาณของวิตามินบี 9 (Folic acid)  ที่ควรได้รับในแต่ละวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปี ขึ้นไป โดยอ้างอิงตาม THAI RDI ระบุว่าควรได้รับในปริมาณ 200-400 ไมโครกรัม/วัน ตามช่วงอายุดังนี้

ปริมาณกรดโฟลิกที่ควรได้รับต่อวันสำหรับบุคคลทั่วไป โดยแบ่งออกตามช่วงอายุ

ช่วงอายุ

ปริมาณที่แนะนำต่อวัน

0-6 เดือน

65 ไมโครกรัม

7-12 เดือน

80 ไมโครกรัม

1-3 ปี

150 ไมโครกรัม

4-8 ปี

200 ไมโครกรัม

9-13 ปี

300 ไมโครกรัม

14-18 ปี

400 ไมโครกรัม

>19 ปี

400 ไมโครกรัม

           ทั้งนี้ กรดโฟลิก (Folic acid) ที่ได้จากการสังเคราะห์มีชีวปริมาณออกฤทธิ์ (bioavallability) ที่ดีกว่าโฟเลตจากธรรมาชาติเนื่องจากร่างกายดูดซึมโฟเลตที่มี glutamy เพียงหนึ่งหมู่ได้ดีกว่า โดยมีการศึกษาพบว่าได้รับกรดโฟลิกที่ได้จากการสังเคราะห์ 100 ไมโครกรัม จะเทียบเท่ากับโฟเลตในธรรมชาติ 170 ไมโครกรัม

ประโยชน์และโทษวิตามินบี 9 

โฟเลต หรือวิตามินบี 9 มีประโยชน์หลายประการ เช่น มีส่วนสำคัญที่ช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกาย การสืบพันธุ์ ช่วยลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคโลหิตจากชนิดเมกะโลบลาสติกแอนนีเมีย โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดประสาทปลายเปิด โรคมะเร็ง โรคสมองเสื่อม และป้องกันทารกในครรภ์เป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ความผิดปกติของแขน ขา ความพิการของระบบทางเดินปัสสาวะ และโรคไม่มีรูทวารหนัก เป็นต้น

            สำหรับโทษของวิตามินบี 9 นั้น ในปัจจุบันยังไม่มีรายงานแต่อย่างใด รวมถึงในการรับประทานเกินขนาด ก็มีรายงานว่าอาจมีอาการผื่นแพ้แค่เล็กน้อยเท่านั้น ส่วนในกรณีของการขาดวิตามินบี 9 หรือ โฟเลตนั้น พบว่าผู้ที่ขาดจะมีอาการเกิดโรคโลหิตจากชนิดที่เม็ดเลือดแดงมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่มีปริมาณน้อยลง และอาจมีอาการปวดศีรษะ ท้องเดิน ขี้หงุดหงิด เหนื่อยง่าย มีกรดในกระเพาะอาหารน้อยเกินไป และความจำสั้น ส่วนสตรีมีครรภ์ที่มีภาวะขาดโฟเลต (วิตามินบี 9) เมื่อคลอดออกมาทารกจะมีภาวะผิดปกติของแขน และขา เป็นโรคหัวใจพิการ โรคปากแหว่งเพดานโหว่ รวมถึงโรคไม่มีรูทวาร เป็นต้น สำหรับสาเหตุที่ทำให้ร่างกายขาดวิตามินบี 9 (โฟเลต) มีอยู่หลายประการ เช่น ร่างกายมีความต้องการวิตามินโฟเลตสูงขึ้น เช่น ในสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ สตรีที่ให้นมบุตร และผู้ป่วยโรค โลหิตจากธัลลัสซีเมีย เป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการฟอกไตต่อเนื่อง ผู้ที่ทานอาหารไม่หลากหลาย มีภาวะทุพโภชนาการ ผู้ที่ติดสุราเรื้อรัง หรือ ผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ต้านการทำงานของโฟเลต

วิตามินบี 9

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องวิตามินบี 9

มีผลการศึกษาวิจัยระบบ metabolism ของวิตามินบี 9 (Folic acid) ระบุว่า โฟเลตที่อยู่ในอาหารนั้น ร่างกายจะสามารถดูดซึมได้เพียง 50% และบางส่วนเป็นโฟเลตอิสระ (free folate) ที่ร่างกายดูดซึมได้ทันที แต่ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 75 เกาะอยู่กับสารอื่น (bound folate) หรือ ในสภาพของโพลีกลูทาเมท (polyglutamates) ซึ่งร่างกายจะดูดซึมโฟเลตอิสระเข้าทางลำไส้เล็ก ส่วนที่เกาะอยู่กับสารอื่นต้องย่อยก่อนจึงดูดซึมได้ แล้วมีเอนไซม์เปลี่ยนเป็น PGA ที่ผนังลำไส้เล็กขณะที่ซึมผ่านผนังลำไส้เล็ก PGA เปลี่ยนเป็น 5 เมทิลเตตราไฮโดรโฟลเท (5-methyltetrahydrofolate) เข้าสู่เส้นเลือดใหญ่ไปสู่ตับ ประมาณ 5 มิลลิกรัม และในส่วนที่เกินจะถูกร่างกายขับถ่ายออกมาทางใด

           ส่วนในร่างกายกรดโฟลิกถูกรีดิวซ์เป็นกรดเดตระไฮโดรโฟลิก (tetrapybro Folic acid) (THF.FH) เพื่อทำหน้าที่เป็นโคเอนไซม์ สำหรับขนส่งหมู่ที่ประกอบด้วยคาร์บอนหนึ่งอะตอม เช่น เมทิล (-CH) ฟอร์มิโน (-CHO) ไอดรอกซีเมทิล (-CH-HO) เมทินิล (=CH) เมทิลิน (-CH-) ฟอร์มิโน  (-CH=NH=) และการขนส่งหมู่คาร์บอนหนึ่งอะตอมพบว่าคาร์บอนจะจับที่ตำแหน่ง 5 และ10 กล่าว คือ โฟลิกจะทำหน้าที่สารประกอบแกนกลางที่สามารถเพิ่มหน่วยคาร์บอนได้อีกหนึ่งหน่วยแก่สารที่มารับ เช่น ในปฏิกิริยาการเติมหมู่เมทิล (methylation) ชีวสังเคราะห์ของเบส adenine guanine และ thymine ซึ่งเป็นองค์ประกอบของกรดนิวคลีอิก การสังเคราะห์กรดอะมีโน methionine และการเปลี่ยนกรดอะมิโนชนิดหนึ่งไปเป็นกรดอะมิโนอีกชนิดหนึ่ง เช่น serine  ↔ glycine หรือ histidine ↔ glutamate  เป็นต้น

           นอกจากนี้กรดโฟลิกยังมีบทบาทสำคัญในการควบคุมกระบวนการสร้าง และการสลายกรดอะมิโนที่ชื่อว่า โฮโมซีสทีน (homocysteine) ที่เป็นสารที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อหลอดเลือดภายในร่างกาย ซึ่งหากร่างกายมีสารดังกล่าวคั่งสะสมในกระแสเลือดสูงเกิน 15 ไมโครโมลต่อลิตร จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าคนที่มีระดับปกติ โดยในภาวะปกติร่างกายจะอาศัยการทำงานของกรดโฟลิกเป็นตัวช่วยในกระบวนการสลายโฮโมซีสทีน เป็นซีสเตอีน (cysteine) เพื่อไม่ให้เกิดการคั่งสะสมของโฮโมซีสทีนในกระแสเลือด 

           ทั้งนี้มีรายงานการศึกษาวิจัยพบว่าผู้ที่มีระดับโฮโมซีสทีนในเลือดสูงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โดยไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง หรือ โรคเบาหวาน จากกลไกดังกล่าวชี้ให้เห็นว่ากรดโฟลิกมีบทบาทหน้าที่สำคัญที่ควบคุมกระบวนการเผาผลาญโฮโมซีสทีนให้อยู่ในภาวะปกติ และช่วยลดการเกิดภาวะที่มีโฮโมซีสทีนเหลือคั่งค้างในเลือดสูง (homocysteinemia) และยังมีการศึกษาวิจัยในปี 2018 ที่ได้ทำการศึกษาผลของกรดโฟลิกกับโรคหลอดเลือดสมอง โดยเสริมกรดโฟลิกปริมาณ 0.8 มิลลิกรัมต่อวัน ร่วมกับการใช้ยาปกติในผู้ป่วยชายโรคหลอดเลือดสมอง เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาปกติโดยไม่ได้รับการเสริมกรดโฟลิก กลุ่มอาสาสมัครในการศึกษานี้มีจำนวนทั้งสิ้น 8,384 พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการเสริมกรดโฟลิกปริมาณ 0.8 มิลลิกรัมต่อวัน มีความสัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองซ้ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

           ส่วนในการศึกษาทางพิษวิทยา มีผลการศึกษาวิจัยระบุว่า ไม่พบความเป็นพิษจากการได้รับกรดโฟลิกแม้ในปริมาณสูงกว่า 1 มิลลิกรัมต่อวัน และอย่างไรก็ตามเชื่อว่า หากได้รับกรดโฟลิกในปริมาณสูงเกินความต้องการอาจจะบดบังอาการ และการวินิจฉัยภาวะขาดวิตามินบี 12 และโลหิตจากชนิด pernicious anemia ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุ ซึ่งภาวะดังกล่าวอาจทำให้ระบบประสาทถูกทำลายได้

โครงสร้างวิตามินบี 9

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ 

  1. สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร จะมีความต้องการของร่างกายเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งในการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยกรดโฟลิค หรือ รับประทานกรดโฟลิคในรูปแบบยาเม็ดเสริมเข้าไป
  2. ผู้ที่รับประทานอาหารไม่หลากหลาย หรือ ผู้ที่รับประทานอาหารในปริมาณน้อย มีโอกาสเสี่ยงในการขาดวิตามินบี 9 (folic acid) ดังนั้นควรรับประทาน folic acid ในรูปแบบยาเม็ดเสริมด้วย
  3. folic acid ในรูปแบบยาเม็ดจะมีความไวต่อแสง และความร้อน ดังนั้นควรเก็บในภาชนะทับแสง และเก็บไว้ห่างความร้อน และความชื้น

 

เอกสารอ้างอิง วิตามินบี 9
  1. ภก.ดร.ธีรศักดิ์ โรจนธารา.โฟเลต : จากวิตามินสู่การพัฒนายา. วารสารไทยไภษัชยนิพนธ์ปีที่ 3. ฉบับ เดือน เมษายน 2549.หน้า 39-52
  2. ดร.วันวิสา อุดมสินประเสริฐ. โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) กับกรดโฟลิค. คุณประโยชน์ที่ไม่ควรมองข้าม. บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. นิธิยา รัตนาปนนท์ 2551. เคมีอาหาร.ภาควิชาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีการอาหารคณะอุตสาหกรรมเกษตร วิทยาเขตดอยคำ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.กรุงเทพมหานคร:โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์. 504 หน้า
  4. พญ.ลลิตา นรเศรษฐ์ธาดา.โรคเลือดจากจากการขาดวิตามินโฟเลต. ความรู้สู่ประชาชน.สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย
  5. สุปราณี แจ้งบำรุง และคณะ 2546. วิตามินบี และโฟเลต.ปริมาณสารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย.กรุงเทพมหานคร.โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้า และพัสดุ (รสพ). 116-121.
  6. Huo Y, Qin X, Wang J, et al. Efficacy of folic acid supplementation in stroke prevention: new insight from a meta-analysis. Int J Clin Pract. 2012;66:544-51.
  7. From the Centers for Disease Control and Prevention. Recommendations for use of folic acid to reduce number of spina bifida cases and other neural tube defects. JAMA. 1993;269:1236-8.
  8. Homocysteine Studies Collaboration. Homocysteine and risk of ischemic heart disease and stroke: a meta-analysis. JAMA 2002;288:2015–22.
  9. A. V. Hoffbrand. Folate absorption. J. clin. Path., 24, Suppl. (Roy. Coll. Path.), 5, 66-76.
  10. Clarke R, Daly L, Robinson K, et al. Hyperhomocysteinemia: an independent risk factor for vascular disease. N Engl J Med 1991;324:1149–55.
  11. Zhou Z, Li J, Yu Y, et al. Effect of Smoking and Folate Levels on the Efficacy of Folic Acid Therapy in Prevention of Stroke in Hypertensive Men. Stroke. 2018;49:114-120.
  12. Graham IM. Plasma homocysteine as a risk factor for vascular disease. JAMA 1997;277:1775–81.