วิตามินซี

วิตามินซี

ชื่อสามัญ Ascorbic acid

ประเภทและข้อแตกต่างวิตามินซี 

วิตามินซี” หรือ กรดแอสคอร์บิก (ascorbic acid) จัดเป็นวิตามินชนิดละลายน้ำ มีลักษณะโมเลกุลคล้ายน้ำตาลกลูโคสเป็นผลึกสีขาวมีรสเปรี้ยว และมีฤทธิ์เป็นกรดละลายในน้ำ ซึ่งวิตามินซีจัดเป็นวิตามินที่สลายตัวได้เร็วที่สุดในจำพวกวิตามินทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความไวต่อออกซิเจนมาก (ไวต่อปฎิกิริยา Oxidation) นอกจากนี้ยังสามารถสลายตัวได้ง่ายในบรรยากาศที่มีความร้อน แสง ความชื้นโลหะหนัก  และในสิ่งแวดล้อมที่มีสภาพเป็นด่าง

            สำหรับประวัติการค้นพบวิตามินซีนั้น เริ่มขึ้นเมื่อ ค.ศ.1744 ดร.เจมส์ ลินด์ (Dr. James Lind) ได้ทดลองรักษาลูกเรือ 6 ใน 12 คน ที่เป็นโรคลักปิดลักเปิด พบว่าส้ม และมะนาวรักษาโรคนี้ได้ต่อมาปี ค.ศ.1932 ดร.คิงส์ (Dr.King) สามารถแยกสารชนิดหนึ่งจากน้ำมะนาว ซึ่งสามารถป้องกัน และรักษาโรคลักปิดลักเปิดจึงได้ตั้งชื่อสารนี้ว่ากรดแอสคอร์บิก (Ascorbic acid) ซึ่งเป็นค้าย่อมาจากแอนตี้แอสคอร์บิวติก แฟคเตอร์ (Antiscorbutic factor)  และในปี ค.ศ.1933 เฮเวิร์ด และเฮิร์สต์ได้ค้นพบโครงสร้างของวิตามินซี ทั้งคู่ก็ได้สังเคราะห์วิตามินซีได้สำเร็จในปีเดียวกัน

            ส่วนประเภทของวิตามินซีสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่มีอยู่ในแหล่งอาหารที่มนุษย์รับประทานเข้าไป ซึ่งวิตามินซีประเภทนี้ 2 รูปแบบ และร่างกายก็สามารถนำไปใช้ได้ทั้ง 2 ชนิด คือ Ascorbic acid และ Dehydroascorbic acid ส่วนอีกประเภทหนึ่งนั้น เป็นสารสังเคราะห์ และสารสกัดที่มนุษย์สร้างขึ้นมาในรูปแบบวิตามินเสริมอาหารเพื่อใช้รับประทานเสริมป้องกันภาวะ การขาดวิตามินซี ซึ่งอยู่ในรูป เกลือของกรดแอสคอร์บิก (mineral ascobate) โดยมีสมบัติเป็น buffered ซึ่งมีความเป็นกรดน้อยกว่าวิตามินซีในรูปกรดแอสคอร์บิก จึงมีผลระคายเคืองกระเพาะอาหารน้อยกว่ากรดแอสคอร์บิก 

            นอกจากนี้ยังมีผลช่วยเพิ่มการดูดซึม และความคงตัวของวิตามินซี สำหรับเกลือของกรดแอสคอร์บิกที่มีวางจำหน่ายในปัจจุบัน ได้แก่ โซเดียม แอสคอร์เบท (sodium ascorbate) แคลเซียม แอสคอร์เบท (calcium ascorbate) โพแทสเซียม แอสคอร์เบท (potassium ascorbate) แมกนีเซียม แอสคอร์เบท (magnesium ascorbate) ซิงค์ แอสคอร์เบท (zinc ascorbate) โครเมียม แอสคอร์เบท (chromium ascorbate) แมงกานีส แอสคอร์เบท (manganese ascorbate)  และ โมลิบดินัม แอสคอร์เบท (molybdenum ascorbate) เป็นต้น

            โดยผลิตภัณฑ์วิตามินเสริมอาหารเหล่านี้มักจะมีหลากหลายรูปแบบ เช่น รูปแบบเม็ดสำหรับรับประทาน : มีขนาดตั้งแต่ 25 ถึง 1,000 มิลลิกรัม, รูปแบบแคปซูล: มีขนาด 500 มิลลิกรัม, รูปแบบเม็ดเคี้ยว : มีขนาด 30 มิลลิกรัม, รูปแบบเม็ดอม : มีขนาด 25, 50, 100 และ 500 มิลลิกรัม, รูปแบบเม็ดฟู่ : มีขนาด 500 และ 1,000 มิลลิกรัม


แหล่งที่พบและแหล่งที่มาวิตามินซี

วิตามินซีเป็นวิตามินที่ร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นได้เอง และไม่มีสะสมในร่างกาย ดังนั้น คนจึงจำเป็นต้องได้รับวิตามินซีจากแหล่งอาหาร (ผัก และผลไม้) ที่รับประทานทุกวัน

          โดยแหล่งอาหารที่พบวิตามินซี (ascorbic acid) มาก ได้แก่ ผัก และผลไม้สด เช่น มะนาว, มะขามป้อม, ส้ม, มะม่วง, แคนตาลูป, มะเขือเทศ, คะน้า, ฝรั่ง, พริกหวาน, กะหล่ำปลี, กะหล่ำดอก นอกจากนี้ผัก และผลไม้บางชนิดยังพบวิตามินซีที่เปลือกด้วย,

ปริมาณวิตามินซีในผักผลไม้สด (ต่อ 100 กรัม)

เชอรี่                                                     15-30                                       มิลลิกรัม

มะนาวฝรั่ง (lemon)                               40-50                                       มิลลิกรัม

กล้วย                                                    8-16                                         มิลลิกรัม

เคอร์เรนด์                                             50-2000                                   มิลลิกรัม

แอปเปิ้ล                                                3-30                                         มิลลิกรัม

กีวี                                                        80-90                                       มิลลิกรัม

แตงโม (melon)                                     9-60                                         มิลลิกรัม

ส้ม                                                        30-50                                       มิลลิกรัม

สับปะรด                                                15-25                                       มิลลิกรัม

สตรอเบอรี่                                             40-70                                       มิลลิกรัม

มะม่วง                                                   10-15                                       มิลลิกรัม

มะเขือเทศ                                             10-20                                       มิลลิกรัม

อะโวคาโด                                              10-70                                       มิลลิกรัม

องุ่น                                                         2-5                                           มิลลิกรัม

มะละกอ                                                 30-40                                       มิลลิกรัม

บร็อคโคลี่                                               80-90                                       มิลลิกรัม

หน่อไม้ฝรั่ง                                             15-30                                       มิลลิกรัม

ถั่วต่างๆ                                                 10-15                                       มิลลิกรัม

คะน้า                                                    70-100                                     มิลลิกรัม

กะหล่ำปลี                                             30-70                                       มิลลิกรัม

ทาร์สเลย์                                               200-300                                   มิลลิกรัม

แครอท                                                  5-10                                         มิลลิกรัม

พริกหวาน                                              150-200                                   มิลลิกรัม

แตงกวา                                                 6-10                                         มิลลิกรัม

ดอกกะหล่ำ                                            50-70                                       มิลลิกรัม

มะเขือ                                                   15-20                                       มิลลิกรัม

มันฝรั่ง                                                  4-30                                         มิลลิกรัม

ฟักทอง                                                  15                                            มิลลิกรัม

ปวยเล้ง                                                 35-40                                       มิลลิกรัม

ผักสลัด                                                10-30                                       มิลลิกรัม

ผักชี                                                      90                                            มิลลิกรัม

            แต่ทั้งนี้วิตามินซี เป็นวิตามินที่สลายตัวได้เร็ว โดยมีปัจจัยที่ส่งผล เช่น มีความไวต่อออซิเจน อากาศร้อน ความชื้น แสง และความเป็นด่าง ดังนั้นปัจจัยเหล่านี้จะเป็นตัวทำให้วิตามินซีในพืชผัก และผลไม้สลายตัวได้ง่าย โดยเฉพาะพืชผัก และผลไม้ที่เด็ดจากต้น มาเป็นเวลานานๆ หรือ นำมาผ่านกระบวนการหุงต้มต่างๆ ซึ่งจะทำให้ร่างกายได้รับวิตามินซีจากผลไม้เหล่านั้น ไม่เต็มที่ และอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน

 

ปริมาณที่ควรได้รับจากวิตามินซี 

ปริมาณวิตามินซีที่ร่างกายควรได้ ในแต่ละวันนั้นจะมีความแตกต่างกันตามอายุและสภาวะของแต่ละบุคคล เช่น ผู้ใหญ่มีความต้องการวิตามินซี วันละ 60-90 มิลลิกรัม ขณะที่เด็กมีความต้องการวิตามินซี 30-50 มิลลิกรัมต่อวัน ส่วนหญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร จะมีความต้องการปริมาณวิตามินซีเพิ่มขึ้นมากกว่าคนปกติ ซึ่งมีความต้องการอยู่ระหว่าง 90-95 มิลลิกรัมต่อวัน

            นอกจากนี้ยังพบว่าขนาดของวิตามินซีที่รับประทานต่อครั้งมีผลต่อการดูดซึม เช่น การรับประทานวิตามินซี ขนาดสูงร่างกายจะดูดซึมวิตามินได้น้อยกว่าการรับประทานวิตามินซีขนาดต่ำ ดังนั้นการรับประทานวิตามินซีวันละหลายครั้งในขนาดที่ต่ำกว่า 1 กรัม จนครบขนาดที่แนะนำต่อวัน ร่างกายจะสามารถดูดซึมวิตามินซีได้มากกว่าการรับประทานทั้งหมดในครั้งเดียว ส่วนวิตามินซีในรูปแบบวิตามินเสริมอาหารนั้นมีรายงานการศึกษาว่า ปริมาณที่แนะนำให้รับประทานไม่ควรเกิน 1000 มิลลิกรัม/วัน

วิตามินซี

ประโยชน์และโทษวิตามินซี 

วิตามินซี (ascorbic acid) มีประโยชน์หลายประการ เช่น ช่วยในการสร้างคอลลาเจน (collagen) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่เป็นส่วนประกอบของกระดูก กระดูกอ่อน กล้ามเนื้อ และหลอดเลือด, ช่วยในการสร้างสารสำคัญในร่างกายของเรา เช่น อีพิเนฟริน (epinephrine) และคอร์ติโคสตีรอยด์ (corticosteroids), ช่วยรักษาหลอดเลือดฝอย กระดูก และฟันให้แข็งแรง, ช่วยในกระบวนการสมานแผลให้หายได้เร็ว, ช่วยฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) โดยจะช่วยป้องกันการถูกทำลาย และการตาย (apoptosis) ของเซลล์ต่างๆ ลดการเกิดปฏิกิริยา oxidation ของกรดไขมันชนิด low-density lipoprotein (LDL) ลดการเกิดสาร nitrosamine ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ป้องกันการถูกทำลายของเซลล์บุหลอดเลือดด้านใน (endothelial cell) ช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก ที่ทางเดินอาหาร ช่วยกระตุ้น และเสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยการกระตุ้นการแบ่งตัว และเพิ่มจำนวนเซลล์ T-lymphocyte ช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็กที่ทางเดินอาหาร ช่วยฟื้นฟู วิตามินอี ที่เสียสภาพจากการกำจัดอนุมูลอิสระ และยังช่วยทำให้วิตามินอี นำกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง และยังเป็นส่วนที่สำคัญในระบบเมตาโบลิซึมของร่างกายในการสร้างพลังงาน ภูมิคุ้มกัน ระบบประสาท และการทำงานทางจิตใจ

            สำหรับผลข้างเคียงของการรับประทานวิตามินซีในรูปแบบวิตามินเสริมอาหารนั้น มีผลการศึกษาระบุว่าวิตามินซีจัดเป็นวิตามินที่ละลายน้ำ และไม่มีการสะสมในร่างกาย สามารถขับออกมาทางไตได้ จึงค่อนข้างปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตาม มีรายงานอาการข้างเคียงที่เกิดเนื่องจากการใช้วิตามินซีชนิดเม็ด เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น ส่วนโทษของวิตามินซี ในกรณีที่ได้รับเกินขนาดนั้น อาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์มากขึ้น เช่น ท้องเสีย ท้องอืด ท้องเฟ้อ เนื่องจากการได้รับวิตามินซีในขนาดสูงแต่เกิดการอิ่มตัวของการดูดซึม ทำให้วิตามินซีที่ไม่ได้ดูดซึมมีปริมาณมากขึ้น และอยู่ในทางเดินอาหารที่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ตามมา นอกจากนี้การได้รับวิตามินซีในขนาดสูงอาจทำให้เกิดนิ่วในไตในผู้ป่วยบางรายได้เนื่องจากมีการขับ oxalate ซึ่งเป็นเมตาบอไลท์ของวิตามินซีออกทางปัสสาวะมากขึ้น (hyperoxaluria) ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการสะสมของผลึก calcium oxalate ที่ท่อไตได้ โดยทั่วไปพบว่ามีการขับ oxalate ทางปัสสาวะมากขึ้นเมื่อใช้วิตามินซีในขนาดสูงเกิน 1 กรัม/วัน

            นอกจากนี้ยังอาจส่งผลเปลี่ยนแปลงการขับออกของยาบ้างชนิดที่ไต คือ จะเพิ่มการดูดกลับที่ท่อไตของยาที่มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนได้ และเพิ่มการขับออกของยาที่มีฤทธิ์เป็นเบส เช่น อาจเพิ่มระดับยากลุ่ม non-steroidal antiinflammatory drugs (NSAIDs) และ acetaminophen อีกด้วย จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคลักปิดลักเปิด (scurvy) และอาจมีอาการเกี่ยวกับ connectivetissue และอาจทำให้เลือดออกได้ ในผู้ป่วยที่มีแผลความสามารถในการสมานแผลอาจจะลดลง ทำให้แผลหายช้า โดยอาการเริ่มแรกของการขาดวิตามินซีมักมีอาการอย่างหนึ่งอย่างใด ก่อนแล้วอาการอื่นๆ จะเกินขึ้นตามมา เช่น อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง ผิวหนังแห้งแตกเป็นสะเก็ด หายใจสั้นลง เลือดออกตามไรฟัน เหงือกอักเสบ เลือดกำเดาไหล และมีอาการปวดตามแขนขา ซึ่งพบว่าบุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะขาดวิตามินซีมากที่สุดได้แก่ ผู้ที่ไม่รับประทานอาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินซี หรือ รับประทานไม่เพียงพอ ผู้ที่สูบบุหรี่ ผู้ที่มีโรคพิษสุราเรื้อรัง และภาวะเจ็บป่วยจากโรคเรื้องรัง อื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคไตวายเรื้องรัง และโรคมะเร็ง เป็นต้น

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องวิตามินซี 

มีผลการศึกษาวิจัยระบบ metabolism ของวิตามินซี (ascorbic acid) ระบุว่า วิตามินซีที่ได้รับจากการรับประทานทั้งในรูปแบบอาหาร และวิตามินเสริมอาหาร จะถูกดูดซึมที่ทางเดินอาหารบริเวณกระพุ้งแก้ม โดย passivediffusion และถูกดูดซึมบริเวณลำไส้เล็กส่วน jejunum โดยวิธี active diffusion ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการดูดซึมวิตามินซีมากที่สุด โดยพบว่าการดูดซึมโดยวิธี  active transport ที่ลำไส้เล็กนั้น ต้องใช้ sodium dependent vitamin Ctransporter 1 (SVCT1) เป็นตัวพาเข้าสู่กระแสเลือด  

           สำหรับวิตามินซีในกระแสเลือดอยู่ในรูปอิสระ (free form) ไม่จับกับโปรตีนในกระแสเลือด และถูกเมตาบอลิซึมได้เป็น oxalicacid ซึ่งถูกขับออกที่ไตโดยการกรองที่กรวยไต (glomerularfiltration) และสามารถดูดกลับเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทาง SVCT1 ที่ท่อไตบริเวณ proximal tubule  ทั้งนี้พบว่าขนาดยาที่ทำให้ระดับวิตามินซีในกระแสเลือดค่อนข้างคงที่ คือ ไม่เกิด 1,000 mg

           ส่วนกรณีได้รับวิตามินซี ในขนาดสูงพบว่ามีการลดลงของ SVCT1 (SVCT1 down regulation) จึงทำให้เกิดการอิ่มตัวของการดูดซึมวิตามินซี และจะส่งผลให้ค่าชีวภาพพร้อมใช้ (bioavailability) ลดลง ซึ่งพบว่าค่าชีวภาพพร้อมใช้ของการรับประทานวิตามินซีที่ขนาด 200, 500 และ 1,250 mg มีค่าร้อยละ 100, 73 และ 49 ตามลำดับ ดังนั้น การให้ขนาดวิตามินซีในปริมาณสูงมากก็ไม่ได้เพิ่มระดับวิตามินซีในกระแสเลือดให้มากขึ้น

           นอกจากนี้ยังมีรายงานผลการศึกษาวิจัยการทำงานอื่นๆ ของวิตามินซีในร่างกาย ระบุว่า วิตามินซีมีส่วนร่วมในปฎิกิริยา Oxidationreduction และปฎิกิริยาในการขนส่งอนุมูล Hydrogen ด้วยเหตุนี้วิตามินซีจึงเป็นโมเลกุลที่มีความไวในการ ทำปฎิกิริยา Reduction agent หรือ Antioxidant ที่มีความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปฎิกิริยาการเผาผลาญไขมัน และสามารถป้องกันไม่ให้เกิด Oxidation ของ Tetrahydrofolate ซึ่งเป็นโฟเลทโคเอนไซน์ทำให้มีการดูดซึมธาตุเหล็กในรูปแบบที่เป็น Non-heme ในลำไส้ให้มากขึ้น

           และยังมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระในเซลล์ ซึ่งสามารถให้อิเล็กตรอน 1 หรือ 2 อิเล็กตรอน โดยมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง คือ เมื่อแอสคอร์แบตถูกออกซิไดส์จะเปลี่ยนไปเป็น ascorbyl radical ซึ่งเป็น mono-oxidized form ที่เสถียร และความว่องไวในการทำปฏิกิริยาลดลง ต่อมา ascorbylradical (dehydroascorbate; DHA) ซึ่งเป็นรูปออกซิไดส์เต็มตัว ascorbyl radical และ DHA เป็นอนุมูลอิสระที่มีความว่องไวน้อย ไม่เป็นอันตรายต่อเซลล์เนื่องจากโครงสร้างเกิด resonance hybrid ทำให้อิเล็กตรอนเสถียรมากขึ้น และทำหน้าที่ต้านอนุมูลอิสระที่เกิดจากการใช้ออกซิเจน โดยให้อิเล็กตรอนกับอนุมูลซุปเปอร์ออกไซด์ อนุมูลเปอร์ออกซิล และอนุมูลไฮดรอกซิล ที่จะมาทำอันตรายต่อผนังเซลล์ ดังนั้นในร่างกายมีกระบวนการทำให้แอสคอร์แบตที่อยู่ในรูปออกซิไดส์ไม่สามารถให้อิเล็กตรอนได้ คือ ดีไฮโดรแอสคอร์แบต และ ascorbyl radical กลับมาเป็นแอสคอร์แบตเพื่อให้อิเล็กตรอนแก่อนุมูลอิสระได้อีก โดยอาศัยกลูตาไทโอน (glutathione) และเอนไซม์ 3 ชนิด ได้แก่ glutathione-s-transferase, thioredoxin reductase และ a-hydroxysteroid dehydrogenase

           มีการรวบรวมรายงานการศึกษาถึงประสิทธิภาพของวิตามินซีในการป้องกัน หรือ รักษาโรคไข้หวัด โดยศึกษาการให้วิตามินซีแบบทั้งรับประทานเป็นประจำทุกวัน และแบบเริ่มรับประทานเมื่อเกิดโรคไข้หวัด โดยศึกษาเปรียบเทียบระหว่างวิตามินซี และยาหลอกซึ่งขนาดวิตามินซีที่ใช้คือ ตั้งแต่ 0.2g/day ขึ้นไป ผลการศึกษาในแต่ละกลุ่มพบว่า 1. ด้านผลในการป้องกันการเกิดโรคไข้หวัดจากการศึกษาทั้งหมด 29 การศึกษามีจำนวนประชากรในการศึกษา 11,306 คน พบว่ากลุ่มที่รับประทานวิตามินซีเป็นประจำทุกวันไม่มีผลป้องกันการเกิดโรคไข้หวัดเมื่อเทียบกับยาหลอกอย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเฉพาะในกลุ่มที่มีภาวะความเครียดทางกาย (physical stress) เช่น ผู้ที่ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาอย่างหนัก เช่น นักกีฬามาราธอน นักสกีหรือทหาร ซึ่งมีทั้งหมด 5 การศึกษาจำนวน 598 คน พบว่ากลุ่มที่ได้รับวิตามินซีเป็นประจำทุกวันมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้หวัดน้อยกว่ายาหลอกถึงร้อยละ 52 ซึ่งมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนในด้านผลในการรักษาโรคไข้หวัด โดยดูจากความรุนแรง และระยะเวลาที่เกิดโรคไข้หวัด จากผลการศึกษาทั้งหมด 31 การศึกษา พบว่ากลุ่มที่ได้รับวิตามินซีเป็นประจำทุกวันช่วยลดระยะเวลาที่เกิดโรคได้มากกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติโดยลดได้ร้อยละ 8 และ 14 ในผู้ใหญ่ และเด็กตามลำดับ หากมาพิจารณาต่อถึงขนาดวิตามินซีที่ใช้ในเด็กพบว่า การใช้วิตามินซีในขนาดสูงคือ 1-2g/day สามารถลดระยะเวลาการเกิดโรคได้มากกว่ายาหลอกถึงร้อยละ 18 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติด้านความรุนแรงของโรคพบว่า กลุ่มที่ได้รับวิตามินซีช่วยลดความรุนแรงได้มากกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน

           ลดพิษจากสารเสพติด amphetamine พบว่าการให้วิตามินซีในขนาด 2 g/day จะลด pH ในปัสสาวะ และเพิ่มความเป็นกรดให้แก่ปัสสาวะ จึงเพิ่มการขับออกของ amphetamine ในปัสสาวะได้เนื่องจาก amphetamine มีคุณสมบัติเป็นเบสอ่อน และอยู่ในรูป unionized จึงสามารถดูดกลับเข้าสู่กระแสเลือดที่ท่อไตส่วน distal tubuleได้เมื่อให้วิตามินซีทำให้ปัสสาวะเป็นกรด ทำให้ amphetamine แตกตัวอยู่ในรูป ionized จึงไม่สามารถดูดกลับ และถูกขับออกทางปัสสาวะ ในทางปฏิบัติจึงมีการนำวิตามินซีมาใช้ในผู้ป่วยที่เกิดพิษจาก amphetamine เช่น เกิดอาการโรคจิต เพื่อเพิ่มการขับออกของ amphetamine

โครงสร้างวิตามินซี


ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

  1. ควรระวังการใช้วิตามินซีในผู้ป่วยโรคทาลัสซีเมีย (thallassemia) และผู้ป่วยที่ขาดเอนไซม์ G-6-PD ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการผิดปกติต่อเลือดได้
  2. ในการรับประทานวิตามินซี ในรูปแบบวิตามินเสริมอาหารไม่ควรรับประทานเกินวันละ 1000 มิลลิกรัม/วัน เพราะอาจเกิดอาการข้างเคียงได้ และหากรับประทานในขนาดสูงติดต่อกันเป็นเวลานานก็อาจทำให้เกิดโรคนิ่งในไตได้
  3. วิตามินซี อาจมีอันตะกิริยากับยาต่างๆ บางชนิด เช่น การใช้ NSAIDs หรือ phenobaital อาจมีผลลดระดับวิตามินซีในกระแสเลือดได้ ส่วนการใช้ยา warfarin ร่วมกับวิตามินซีพบว่าอาจทำให้ฤทธิ์ต้านการแข็งตัวชองเลือดของ warfarin ลดลงได้

 

เอกสารอ้างอิง วิตามินซี
  1. ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด. วิตามินซี. คอลัมน์ล้านคำภามเรื่องยาปรึกษาเภสัชกร. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 323. มีนาคม 2549
  2. ศรมน สุทิน.วิตามินกับอนุมูลอิสระ. วารสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติปีที่ 2. ฉบับที่ 1. มกราคม-มิถุนายน 2559. หน้า 80-92
  3. สมทรง เลขะกุล. ชีวเคมีของวิตามิน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ศุภวนิชการพิมพ์; 2543.
  4. ศุภชัย เจริญสิน, ไมตรี สุทธจิตร์. สารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มวิตามิน. ใน: วรพล เองวานิช, บรรณาธิการ.อนุมูลอิสระและสารต้านอนุมูลอิสระ. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงใหม่: บริษัท สมาร์ท โคตติ้ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด; 2555. หน้า 205-24.
  5. มังกร ประพันธ์วัฒนะ. สาระ-ปัน-ยา 3. นนทบุรี. สภาเภสัชกรรม. 2555.
  6. วรานนท์ ทองอินลา, ชลธิชา วรรณวิมลรักษ์, ภารดีช่วยบำรุง ความสัมพันธ์ระหว่างฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของผลไม้จากการวิเคราะห์ด้วยวิธี DMPD กับปริมาณฟีนอลิก วิตามินซี วิตามินอี และเบต้าแคโรทีน. วารสารวิทยาศาสตร์บูรพา 2557;19(2):93-104.
  7. ภก.ถนอมพงษ์ เสถียรลัคนา. ประโยชน์ของวิตามินซีในทางการแพทย์.CPE PLUS.นิตยสารวงการยาปีที่ 18. ฉบับที่ 230. กันยายน 2560. 8 หน้า
  8. Nyyssonen K, Poulsen HE, Hayn M, Agerbo P, Porkkala-Sarataho E, Kaikkonen J, et al. Effect of supplementation of smoking men with plain or slow release ascorbic acid on lipoprotein oxidation. Eur J Clin Nutr 1997; 51(3):154-163.
  9. Stadtman ER. Ascorbate and oxidative inactivation of proteins. Am J Clin Nutr 1991;154:1125S-8S
  10. Levine M, Rumsey SC, Daruwala R,etal. Criteriaandrecommendations for vitamin C intake. JAMA 1999;281:1415-23.
  11. Kukongviriyapan V. Essential role of antioxidant network of vitamins and enzymes. Srinagarind Med J 2014;29(1):59-70.
  12. Carr AC, Vissers MC. Synthetic or food-derived vitamin C-are they equally bioavailable? Nutrient 2013; 5(11):4284-4304.
  13. Linster CL, Van Schaftingen E. Vitamin C biosynthesis, recycling and degradation in mammals. FEBS J 2007;274:1-22.
  14. Mason P. Vitamin C. In: Mason P. Dietary supplements. 4th . London: Blackwell Science. 2012: 483-92.
  15.  Douglas RM, Hemila H, Chalker E, Treacy B. Vitamin C for preventing and treating the common cold. Cochrane Database Syst Rev 2007; (3):CD000980.
  16. Perry PJ, Juhl RP. Amphetamine psychosis. Am J Hosp Pharm 1977;34(8):883-5.