วิตามินบี 7

วิตามินบี 7

ชื่อสามัญ Biotin

ประเภทและข้อแตกต่างวิตามินบี 7

วิตามินบี 7 Biotin ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ.1930 โดย Dr.Helen Parson ต่อมา Kogl Tonnis ได้ทำการแยกสารออกมาจากไข่แดงแล้วทำการตั้งชื่อว่า “ไบโอติน” (Biotin) ในปี ค.ศ.1936 ในปัจจุบัน วิตามินบี 7 (Biotin) มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น vitamin และ coenzyme R เป็นต้น ซึ่งจัดเป็นวิตามินที่ละลายน้ำได้ และมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับขบวนการสร้างพลังงานในวัฎจักรเครบส์ (Krebs cycle) เช่นเดียวกับวิตามินบีอื่นๆ

            โดยวิตามินบี 7 (Biotin) เป็นสารที่ประกอบด้วยวงแหวนไทโอฟีน (Thiophene) ที่มีธาตุกำมะถันเป็นองค์ประกอบคล้ายกับวิตามินบี 1 (Thiophene) มีลักษณะเป็นผลึกรูปเข็มไม่มีสี ทนต่อความร้อน สามารถละลายได้ในน้ำ และแอลกอฮอล์ แต่ไม่ละลายไนอีเทอร์ คลอโรฟอร์ม และอะซิโตน อีกทั้งยังมีความทนทานต่อแสงแดด แต่ไม่ทนต่อกรด และด่างเข้มข้น

            สำหรับประเภทของวิตามินบี 7 (Biotin) ประเภทนี้แบ่งย่อยได้เป็น 2 รูปแบบ คือ ไบโอตินอิสระ (free biotin หรือ D-biotin) และไบโอตินที่จับกับโปรตีน lysine (เรียกว่า biocytin) ซึ่งไบโอตินอิสระนี้ร่างกายสามารถดูดซึมได้เลย แต่ biocytin ยังไม่สามารถดูดซึมได้ทันที ต้องถูกเอนไซม์ Biotinase ในทางเดินอาหารแตกให้เป็น free biotin กับ lysine ก่อน จากนั้นยังจะต้องอาศัยตัวพา hSWVT (human sodium-dependent multivitamin transporter) จึงจะสามารถดูดซึมเข้าที่ลำไส้เล็กได้

            ส่วนอีกประเภทหนึ่ง คือ ประเภทที่สกัดจากอาหารในธรรมชาติที่เป็นแหล่งของวิตามินบี 7 (Biotin) ซึ่งจะถูกสกัดออกมาในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั้งแบบชนิดเม็ด และแคปซูล โดยมักจะอยู่ในรูปแบบวิตามินบีรวม

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาวิตามินบี 7

โดยปกติแล้วร่างกาย สามารถสร้างวิตามินบี 7 (Biotin) ขึ้นมาได้ โดยแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ของเราที่เรียกว่า นอร์มอลฟอร์ร่า (nomal flora) ซึ่งเป็น probiotic จะสามารถสร้างวิตามินบี 7 (Biotin) ขึ้นมาได้ แต่ก็สร้างได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นจึงต้องอาศัยจากแหล่งอาหารที่รับประทานเข้าไปด้วย ซึ่งแหล่งอาหารที่มีวิตามินบี 7 (Biotin) นั้น ทั้งในพืช และในสัตว์

วิตามินบี 7

           สำหรับอาหารที่มีไบโอตินมากที่สุด ได้แก่ ตับ ไต เครื่องในสัตว์ นม ไข่แดง และยีสต์ นอกจากนี้ยังมีมากในผัก และผลไม้สดหลายชนิด เช่น หอมหัวใหญ่มะเขือเทศ แครอท อะโวคาโดกล้วย อัลมอนด์ เป็นต้น ส่วนอาหารที่มีไบโอตินน้อยมาก คือ เนื้อสัตว์ เมล็ดธัญพืช และผลิตผลจากข้าว และแป้ง

ปริมาณที่ควรได้รับวิตามินบี 7

สำหรับปริมาณของวิตามินบี 7 (Biotin) ที่ควรได้รับในแต่ละวัน โดยอ้างอิงจากตารางสารอาหารที่ แนะนำให้บริโภคประจำวัน สำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป (THAI RDI) ตามบัญชีหมายเลข 3 แนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 182) พ.ศ.2541 ระบุว่าควรบริโภควิตามินบี 7 (Biotin) 150 ไมโครกรัม (μg)/วัน  สำหรับในส่วนของสารสกัดวิตามินบี 7 (Biotin) ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อยู่ในรูปของวิตามินบีรวม ขนาด 25-300 ไมโครกรัม มีการแนะนำให้บริโภคในปริมาณ 100-300 ไมโครกรัม/วัน

ประโยชน์และโทษวิตามินบี 7

วิตามินบี 7 (Biotin) มีประโยชน์หลายประการ โดยหน้าที่หลักของวิตามินไบโอติน (Biotin) ในร่างกายต้องการทำหน้าที่เป็นตัวร่วมเร่งปฏิกิริยาทางชีวเคมีหรือที่เรียกว่า โคเอนไซม์ (co-enzyme) ในปฏิกิริยาต่างๆ ซึ่งได้แก่ เป็นโคเอ็นไซม์ (co-enzyme) ในกระบวนการเผาผลาญไขมัน, ช่วยให้ร่างกายสามารถนำไขมันมาใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้น และนำไขมันมาสร้างเป็นกรดไขมัน (fatty acid) ที่เป็นสารตั้งแต่ของสารสำคัญในร่างกายอื่นๆ ได้ดีขึ้น และยังมีส่วนในการบำรุงรักษาผิวหนัง ผม เล็บ เซลล์ประสาท ไขกระดูก ช่วยบรรเทาอาหารปวดกล้ามเนื้อ และมีส่วนร่วมในการสังเคราะห์ วิตามินบี 3 (nicotinic) จากกรดอะมิโนทริปโทเฟน (tryptophan) และ biotin ยังเป็นปัจจัยร่วม (cofactor) ที่จะช่วยให้เอนไซม์ carboxylases 5 ตัว ทำงานได้ ซึ่งเอนไซม์เหล่านี้ได้แก่ Acetyl-CoA carboxylase, 3-Methylcrotonyl-CoA carboxylase, Pyruvate carboxylase, Methylcrtonyl-CoA carboxylase  โดยเอนไซม์เหล่านี้ทำหน้าที่สร้างพลังงานในวัฎจักรเครบส์ (Krebs cycle) ซึ่งเปลี่ยนกรดไขมัน และกรดอะมิโนให้เป็นกลูโคส สังเคราะห์กรดไขมัน และกรดอะมิโนบางตัว 

            นอกจากนี้ ไบโอตินยังมีบทบาทในการสร้างอินซูลิน ปรับแต่งฮีสโตน ควบคุมการแสดงออกของเย็น และการส่งสัญญาณต่างๆ ของเซลล์อีกด้วย

            สำหรับโทษของวิตามินบี 7 (Biotin) นั้น ยังไม่มีรายงานการเกิดพิษของวิตามินบี 7 (Biotin) แต่อย่างใด ส่วนภาวะขาดวิตามินบี 7 (Biotin) นั้นก็พบได้บ่อยมาก เนื่องจากการรับประทานอาหารก็เพียงพอแล้ว อีกทั้งร่างกายยังสามารถเก็บสะสมไว้ที่ตับเพื่อนำมาใช้ได้ แต่ก็มีบางสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะขาดวิตามินบี 7 (Biotin) ได้เช่น

  1. ได้รับยาปฏิชีวนะ (antibiotic) ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะยาดังกล่าวจะฆ่าแบคทีเรียในลำไส้ที่ช่วยสร้าง Biotin ไปหมด
  2. คนที่ชอบรับประทานไข่ขาวดิบ เพราะในไข่ขาวดิบมีสาร avidin ที่ยับยั้งการดูดซึม Biotin
  3. ผู้ที่สูบบุหรี่จัด เพราะนิโคตินเพิ่มการทำลายไบโอตินเพิ่มการทำลายไบโอติน
  4. โรคพันธุ์กรรมที่ขาดเอนไซม์ biotinidase ทำให้ Biotin ไม่สามารถกลับมาใช้ใหม่ได้
  5. ผู้ป่วยที่รับประทานยากันชักนานๆ เพราะยากลุ่มนี้ส่วนใหญ่ลดการดูดซึม และเพิ่มการทำลายไบโอติน
  6. ผู้ที่รับประทานอาหารเสริมที่มี pantothenic acid (vitamin B5) หรือ liopoic acid ในปริมาณสูง เพราะทั้งสองตัวนี้ใช้ตัวพา hSMVT ตัวเดียวกับไบโอติน

           โดยการขาดวิตามินบี 7 (Biotin) จะมีอาการดังนี้ อาการที่พบ ส่วนใหญ่จะมีอาการอักเสบของผิวหนังตามเยื่อบุต่างๆ ผิวคล้ำ ตกสะเก็ด มีสะเก็ดแดงรอบตา จมูก ปาก เยื่อบุอักเสบ  ผิวหนังลอก เล็บเปราะหักง่าย ผมร่วง ซึมเศร้า เบื่ออาหาร วิงเวียน แน่นท้อง อาเจียน ปวดตามกล้ามเนื้อ มีผื่นแดงบริเวณอวัยวะเพศ โลหิตจาง เมื่อตรวจเลือดจะพบว่าระดับเฮโมโกลบินต่ำ ระบบประสารทผิดปกติ คอเลสเตอรอลในเลือดสูง

วิตามินบี 7

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องวิตามินบี 7

มีผลการศึกษาวิจัยระบบ metabolism ของวิตามินบี 7 (Biotin) ระบุว่า Biotin ถูกดูดซึมได้ดีในลำไส้เล็ก โดยส่วนใหญ่จะสามารถพบไบโอตินได้ทุกเซลล์ แต่มีมีมากสุดก็ คือ ตับ และไต โดยไบโอตินเป็นโคเอนไซม์ของเอนไซม์ไพรูเวดคาร์บอกซิเลส (pyruvate carboxylase) ซึ่งช่วยเร่งในปฏิกิริยาการเปลี่ยนแปลงไพรูเวด (pyruvate) ให้เป็นออกซาโลอิซิเตต (oxaloacetale) ในไมโตคอนเดรียซึ่งออกซาโลอะซิเตต เป็นสารตัวกลางในการสังเคราะห์กลูโคส และเมื่ออกซาโลอะซิเตตรวมตัวกบอะซิติลโคเอนไซม์เอ (Acetyl-CoA) จะเปลี่ยนเป็นซิเตรทก่อนที่จะเข้าสู่ไซโตพลาสซึม เพื่อเข้าขั้นตอนของการสังเคราะห์ไขมัน

            อะซิติลโคเอนไซม์เอ คาร์บอกซิเลส เป็นเอนไซม์ที่มีไบโอตินเป็นโคเอนไซม์จะช่วยเร่งการเปลี่ยนอะซิติลโคเอนไซม์เอให้เป็นมาโลนิลโคเอนไซม์เอ ซึ่งเกี่ยงข้องกับการสังเคราะห์กรดไขมัน นอกจากนี้ไบโอตินยังเป็นโคแอนไซม์ไพรพิออนิลโคเอนไซม์เอคาร์บอกซิเลส (propionyl CoA  carboxylase) ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงโพรพิออนิล โคเอนไซม์เอ ให้เป็น เมทิลมาโลนิล โคเอนไซม์เอ (methyl malonyl CoA) สารนี้เป็นตัวกลางในการเปลี่ยนแปลงกรดโพรพิออนิก เป็นกรดไขมันที่ระเหยได้ง่าย ที่สำคัญชนิดหนึ่งที่ถูกเปลี่ยนแปลงเป็นกลูโคส หรือ เปลี่ยนแปลงให้พลังงานปฏิกิริยาการเปลี่ยนแปลงกรดโพรพิออนิกให้เป็นพลังงานได้ นอกจากนั้นเอนไซม์อื่นๆ ที่มีใบโอตินเป็นโคเอนไซม์จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการเกิดกลูโคสจากสารอื่น และการสังเคราะห์ไขมัน

            นอกจากนี้ Biotin ยังทำหน้าที่เป็นโคเอนไซม์ คาร์บอกซิเลส (carboxylases) หลายชนิด เช่น ในปฏิกิริยาต่างๆ ของร่างกาย ในการจับตัวกับ enzyme protein เป็น CO2 -biotin enzyme complex ซึ่งเป็นรูปที่ active CO2 เพื่อเปลี่ยน leucine เป็น isoleucine และเปลี่ยน active CO2 เป็น Malonyl-CoA นอกจากนี้ biotin ยังมีความจำเป็นในกระบวนการ Gluconeogenesis เพื่อควบคุม Blood glucose ในร่างกาย โดยเปลี่ยนจากไขมัน และโปรตีนเมื่อร่างกายขาดอาหารที่มี carbohydrate ซึ่งช่วยเร่งปฏิกิริยาในเมแทบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และลิพิด อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์กรดแอสพาร์ติดอีกด้วย

            ส่วนผลการศึกษาความเป็นพิษของวิตามินบี 7 Biotin นั้นระบุว่า การรับประทานไข่ขาวดิบเป็นประจำ จะทำให้ร่างกายขาดไบโอติน เพราะ avidin ซึ่งเป็นโปรตีนในไข่ขาวสามารถจับไบโอตินอย่างแน่นหนา จึงทำให้ไบโอตินไม่ถูกดูดซึมในลำไส้เล็กแต่ถ้าทำให้ไข่ให้สุก avidin จะสูญเสียสภาพธรรมชาติ และไม่สามารถจับไบโอติน ไอโบตินก็ถูกดูดซึมได้

            นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาทางคลินิก โดยการให้ Biotin เสริมขนาดสูงในเด็กที่มีภาวะขาด Biotin ในขนาดรับประทาน 200 mg. ต่อวัน หรือ ให้ทางหลอดเลือดดำ 20 mg.ต่อวันยังไม่พบรายงานข้างเคียงที่เกิดขึ้น แต่ผลการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งระบุว่า การรับประทานวิตามินบี 7 Biotin ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในขนาด 10-300 mg./วัน เป็นเวลานานมีผลทำให้เกิดการรบกวนผลแล็บ เช่น ทำให้ค่า pro-BNP และ Troponin ลดลงจนไม่สามารถวินิจฉัยภาวะหัวใจล้มเหลวได้, ทำให้การวัดระดับ 25-hydroxyvitamin D สูงขึ้นจนเป็นปกติทั้งที่ผู้ป่วยขาดวิตามินดี, ทำให้การวัดระดับฮอร์โมนไทรอยด์สูงขึ้นผิดปกติโดยที่ไม่ได้ป่วย

โครงสร้างวิตามินบี 7

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

  1. โปรตีน avidin ในไข่ดิบจะลดการดูดซึม วิตามินบี 7 Biotin ดังนั้นควรต้มไข่ให้สุกก่อนรับประทานเพื่อให้ร่างกายได้รับวิตามินบี 7 Biotin อย่างเพียงพอ
  2. ผู้ที่ใช้ยาปฏิชีวนะเป็นระยะเวลานาน และผู้ที่สูบบุหรี่จัด มีโอกาสเกิดภาวะขาดวิตามินบี 7 Biotin สูง ดังนั้นการใช้ยาปฏิชีวนะตามแพทย์สั่งไม่ควรใช้เอง และในผู้ที่สูบบุหรี่ควรเลิกสูบบุหรี่เพื่อลดภาวะเสี่ยงดังกล่าว
  3. ในการรับประทานวิตามินบี 7 Biotin ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารควรรับประทานร่วมกับวิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 3 และวิตามินบี 6 เพราะวิตามินดังกล่าวจะทำงานเสริมซึ่งกัน และกันได้เป็นอย่างดี

 

เอกสารอ้างอิง วิตามินบี 7
  1. แอพเพิลเกต, ลิซ. 101 อาหารรักษาหัวใจ.–กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2547. 342 หน้า. 1. อาหารเพื่อสุขภาพ. 2.โภชนบำบัด. I.จงจิต อรรถยุกติ, ผู้แปล. II.ชื่อเรื่อง. 641.56311 ISBN 974-00-8692-6.
  2. ยุคล ลิ้มแหลมทอง.(2533).การใช้ยา และสารเคมีผสมในอาหารสัตว์.กรุงเทพฯ.ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  3. British national formulary : BNF 69 (69 ed.). British Medical Association. 2015. pp. 660–664. ISBN 9780857111562.
  4. Bruice,Paula Y.(2006.)Essential Organic Chemistry.New York,NY:Pearson/Prentice Hall.
  5. Miller, Ariel; Korem, Maya; Almog, Ronit; Galboiz, Yanina (June 15, 2005). “Vitamin B12, demyelination, remyelination and repair in multiple sclerosis”. Journal of the Neurological Sciences. 233 (1–2)