วิตามินบี 3

วิตามินบี 3

ชื่อสามัญ Niacin, Nicotinic acid

ประเภทและข้อแตกต่างวิตามินบี 3

วิตามินบี 3 (niacin) จัดเป็นวิตามินที่สามารถละลายน้ำได้ หากทำเป็นผลึก จะพบว่ามีสีขาว ไม่มีกลิ่นแต่มีรสขม และมีสูตรทางเคมีคือ C6H5O3N สามารถทนต่อความเป็น กรด-ด่าง ความร้อน และแสงได้ดี มีโครงสร้างทางเคมีประกอบไปด้วยวงแหวนไพริดีน (Pyridine) และมีหมู่คาร์บอกซิล (Carboxyl) เป็นหมู่ฟังก์ชัน ในธรรมชาติพบอนุพันธ์ของกรดนิโคทินิกในรูปนิโคทินาไมด์ ซึ่งร่างกายสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เหมือนกรดนิโคตินิก

            ส่วนประเภทของวิตามินบี 3 (niacin) นั้น ในอดีตเราจะพบเพียงในอะซินในธรรมชาติที่มีอยู่ในแหล่งอาหารในรูป Nicotinic acid กับ Nicotinamide แต่ในปัจจุบันมีการสังเคราะห์ วิตามินบี 3 (niacin) ขึ้นมาซึ่งจะอยู่ในรูป Nicotinamide ribostde แต่อย่างไรก็ตามสารทั้ง 3 เมื่อเข้าสู่ร่างกายก็จะถูกเปลี่ยนเป็น Nicotinamide adenine dinudeotide (NAD) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่สำคัญที่มีส่วนร่วมในขบวนการเผาผลาญอาหารให้เป็นพลังงาน

แหล่งที่พบและแหล่งที่มาวิตามินบี 3

โดยปกติแล้วร่างกายของคนเราก็สามารถที่จะสังเคราะห์ (ไนอาซิน) ได้เองจากทริปโทเฟนได้ที่สำไส้ใหญ่ โดยมีอัตราส่วนทริปโทเฟน 60 มิลลิกรัม ต่อ ไนอาซิน 1 มิลลิกรัม แต่ถึงแม้ร่างกายจะสังเคราะห์วิตามินบี 3 (niacin) ได้เองแต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ดังนั้นจึงต้องพึ่งแหล่งของวิตามินบี 3 (niacin) อื่นๆ โดยแหล่งของวิตามินบี 3 อยู่ในอาหารที่มีไนอะซิน และทริปโตแฟนสูง ซึ่งได้แก่อาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น ตับ ไต ยีสต์ที่ใช้หมักเหล้า เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ถั่วลิสง และถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ ส่วนอาหารที่มาจากสัตว์บางอย่าง เช่น นม มีไนอะซินไม่มาก แต่มีทริปโตเฟนอยู่มากทำให้ค่าไนอะซินรวมทั้งที่เป็นไนอะซิน และจากทริปโตเฟนรวมกันแล้วมาก ผัก และผลไม้ต่างๆ มีไนอะซินมากบ้างน้อยบ้าง แต่ผักที่มีใบสีเขียวแก่จะมีไนอะซินมากเป็นพิเศษ

แหล่งอาหารที่มี ไนอะซิน และทริบโตเฟนสูง

วิตามินบี 3

            ถึงแม้ว่าไนอะซินจะสามารถทนความเป็น กรด-ด่าง ทนความร้อน และแสงได้ดี แต่ก็อาจมีการสูญเสียวิตามินตัวนี้เกิดจากการปอก การหั่น การชะล้าง ในระหว่างการเตรียมอาหารพร้อมๆ กับวิตามินที่ละลายน้ำอื่นๆ ได้

ปริมาณที่ควรได้รับวิตามินบี 3

สำหรับปริมาณที่ควรได้รับของวิตามินบี 3 (ไนอะซิน) ในแต่ละวัน กำหนดให้ยึดเอาตามปริมาณของพลังงานที่ใช้ในแต่ละวัน  โดยอ้างอิงจากสารอาหารที่คนไทยควรได้รับประจำวัน ตามตารางสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคประจำวัน สำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป (THAI RDI) แนบท้ายประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 182) พ.ศ.2541 ซึ่งได้ระบุปริมาณที่แนะนำให้บริโภควิตามินบี 3 (ไนอะซิน) ปริมาณ 20 mg NE ส่วนวิตามินบี 3 (niacin) ในรูปแบบอาหารเสริมทั้งแบบ แคปซูล เม็ด หรือ แบบผงควรรับประทานไม่เกิน วันละ 100 มิลลิกรัม

ประโยชน์และโทษวิตามินบี 3

วิตามินบี 3 (niacin) มีประโยชน์หลายประการ เช่น สังเคราะห์คลอเรสเตอรอล กรดไขมันให้เป็นพลังงาน และไตรกลีเซอไรด์ บำรุงสมอง และระบบประสารทเสริมสร้างความจำให้ดียิ่งขึ้น ช่วยทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น ช่วยบำรุงผิวพรรณ ช่วยในการสังเคราะห์ และรักษาสมดุลฮอร์โมนเพศ บรรเทาอาการปวดศีรษะจากไมเกรน บรรเทาอาการท้องร่วง บรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ลดความดันโลหิต

           ส่วนโทษของวิตามินบี 3 นั้น ในรูปแบบของอาหารยังไม่มีรายงานความเป็นพิษแต่อย่างใด แต่วิตามินบี 3 ที่อยู่ในรูปแบบของอาหารเสริมพบว่าเมื่อบริโภคเกินขนาด อาจมีอาการปวดตามข้อ ปวดศีรษะ หน้าแดง รู้สึกร้อนวูบวาบ คลื่นไส้ เป็นตะคริว และคันตามตัวได้ แต่อาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อลดการบริโภค หรือ หยุดบริโภค และสำหรับในกรณีที่ขาดวิตามินบี 3 (Niacin,Nicotinic acid) จะทำให้เกิดเป็นโรคเพลลากรา (Pellagea) ซึ่งจะมีอาการเริ่มแรกรู้สึกเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย มีอาการทางระบบทางเดินอาหาร (Diarrhea) อาการทางประสาท (Dementia) ซึมเศร้ามีอารมณ์ปรวนแปร หงุดหงิด นอนไม่หลับ มึนงง ความจำสับสน และเสื่อ และมีอาการทางผิวหนัง (Dermatitis) ร่วมด้วย คือ บริเวณผิวหนังที่ถูกแดดจะอักเสบแดง และคล้ำ หรือ ผิวหนังอาจเกิดแผลได้  โดยอาการที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ถูกเรียกโดยรวมว่า “4 D S” ซึ่งก็ คือ ผิวหนังอักเสบนอกร่มผ้า ท้องเสีย อาการทางจิต และตาย ซึ่งอาการเหล่านี้จะไม่ปรากฏออกมาในตอนแรก แต่จะเริ่มปรากฏหลังจากมีอาการเริ่มแรกไปแล้วประมาณ 5 เดือน

           สำหรับสาเหตุในการขาดวิตามินบี 3 (Niacin) มีอยู่หลายปัจจัย เช่น ผู้ที่รับประทานข้าวโพดเป็นอาหารหลัก เพราะไนอะซินในข้าวโพดจะอยู่ในรูป bound form ดูดซึมไม่ได้, ผู้ที่ได้รับยาบางตัวเป็นเวลานาน เช่น ยา lsoniazid Sinemet Azathioprine, 5-FU, เพราะว่ายาดังกล่าวเข้าไปจับวิตามิน B6 แล้วขัดขวางไม่ให้ทำหน้าที่ในการเปลี่ยนทริปโตเฟนเป็นไนอะซินได้, ผู้ป่วยโรคพันธุกรรม Hartnup เพราะไม่สามารถย่อย และดูดซึมทริปโตเฟนได้, ผู้ป่วยกลุ่มอาการ Carcinoid เพราะทริปโตเฟนถูกเปลี่ยนเป็น serouonin หมดจึงไม่สามารถสังเคราะห์เป็นไนอะซินได้, ผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ เพราะฤทธิ์ของสุราจะทำให้ร่างกาย ดูดซึมไนอะซินได้น้อยลง

วิตามินบี 3

การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องวิตามินบี 3 

มีผลการศึกษาวิจัยระบบ metabolism ของไนอะซิน (วิตามินบี 3)พบว่า ไนอะซินเป็นองค์ประกอบของโคเอ็นไซม์สองตัวคือ nicotinamide adinine dinucleotide (NAD*) และ nicotinamide adenine dinucleotide phosphate (NADP*) ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวออกซิไดส์เพราะสามารถรับไฮไดร์ดไอออน (hydride ion) และเปลี่ยนเป็นรูปรีดิวส์ คือ NADH (reduced nicotinamide adenine dinucleotids) และ NADPH (reduced nicothinamide adenine dinucleotide phosphate) ซึ่งทั้งสองโมเลกุลนี้ให้ประจุบวก (H*) แก่อนุมูลอิสระง่าย จึงช่วยสลายอนุมูลอิสระแล้วกลับไปเป็น NAD* และ NADP*ดังเดิม

            นอกจากนี้ NAD* ยังเป็นสารดั้งเดิมของเอนไซม์ที่จำเป็นเกี่ยวกับการคัดลอกยีน ซ่อมแซมยีน ควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์ และเป็นสารตั้งต้นของ “ตัวพา” แคลเซียม เคลื่อนเข้า-ออกเซลล์เมื่อได้รับสัญญาณให้ทำงาน เซลล์เหล่านี้ได้แก่ เซลล์ประสาท เซลล์กล้ามเนื้อ เบต้าเซลล์ของตับอ่อน และเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T-lymphocyle อีกด้วย

            ส่วนผลการศึกษาความเป็นพิษของวิตามินบี 3 (Niacin) ระบุไว้ว่าการรับประทาน Nicotinic acid ในรูปแบบของสารสกัด หรือ อาหารเสริมในขนาดตั้งแต่ 30 mg ขึ้นไป จะทำให้รู้สึกคล้ายเป็นไข้ เหงื่อออก ผิวอุ่น แดง และเจ็บแปลบ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปวดกล้ามเนื้อ ใจสั่น หากรับประทานในขนาดสูงขึ้นอาจทำให้ปวดศีรษะ วิงเวียน ความดันโลหิตลดลง เพราะมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด 

            นอกจากนี้พิษของวิตามินบี 3 (Niacin)ในรูปแบบของสารสกัด และอาหารเสริม จะชัดขึ้นเมื่อรับประทานร่วมกับสุรา ยาลดไขมัน ยารักษาเบาหวาน ยาลดความดันโลหิต ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยากันชัก  และยาปฏิชีวินะบางตัว รวมถึงยาบำรุงที่มี Zine, Chromium, ginkgo biloba เป็นองค์ประกอบ

โครงสร้างวิตามินบี 3

ข้อแนะนำและข้อควรปฏิบัติ

  1. ในการรับประทานวิตามินบี 3 (Niacin) ในรูปแบบสารกสัด หรือ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานขณะท้องว่าง รวมถึงรับประทานกับน้ำ หรือ เครื่องดื่มที่มีอุณหภูมิสูง
  2. ผู้ป่วยที่รับประทานยา Sinemat, Isoniazid, Azalhioprine, Chromium, Gihkgo biloba ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานวิตามินบี 3 ร่วมกับยาตัวดังกล่าว เพราะยาอาจเข้าไปขัดขวางการดูดซึม วิตามินบี 3 (Niacin) หรือ อาจทำให้เกิดอาการเป็นพิษขึ้น
  3. การใช้ยาแอสไพริน (aspinin) ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสารพรอสตาแกลนดิน โดยรับประทานก่อนการรับประทาน วิตามินบี 3 (Niacin) สามารถลดอาการข้างเคียงของการรับประทานวิตามินบี 3 ได้

เอกสารอ้างอิง วิตามินบี 3
  1. ดาวัลย์ ฉิมภู่. (2548 ).กรุงเทพฯ. สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
  2. สมทรง เลขะกุล.2543.ชีวเคมีของวิตามิน.2.กรุงเทพฯ.ศุภวนิชการพิมพ์.
  3. Earl Mindell and Hester Mundis Arrnonk.The New vitamin bible.New York.2004.
  4. Kamanna VS,Ganji SH,Kashyap ML.The mechanism and mitigation of niacin-inducrd flushing.Int.3 Clin Pract 2009;63(9).1369-77.
  5. Krutmann, Jean; Humbert, Philippe (2010). Nutrition for Healthy Skin: Strategies for Clinical and Cosmetic Practice. Springer Science & Business Media.