ถั่วแระต้น ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

ถั่วแระต้น งานวิจัยและสรรพคุณ 15 ข้อ

ชื่อสุมนไพร ถั่วแระต้น
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ถัวแระผี, ถั่วแม่ตาย (ภาคกลาง), มะแฮะ ,มะแฮะต้น (ภาคเหนือ), ถั่วแฮ (ภาคอีสาน), ถั่วแรด (ชุมพร), พะหน่อเซะ, พะหน่อซิ (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cajanus cajan (Linn.) Millsp.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cajanus indicus Spreng.
ชื่อสามัญ Angola pea, Pigeon pea, Congo pea
วงศ์ FABACEAE -LEGUMINOSAE

ถิ่นกำเนิดถั่วแระต้น 

ถั่วแระต้น บางข้อมูลระบุว่ามีถิ่นกำเนิดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่บางข้อมูลระบุว่ามีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา แต่ในปัจจุบันก็สามารถพบเห็ได้ทั่วไปใน 2 ภูมิภาคดังกล่าว สำหรับในประเทศไทยถือว่าถั่วแระต้นเป็นพืชที่มีในประเทศมานานแล้ว โดยสามารถพบเห็นได้เกือบทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคอีสานจะพบเห็นได้มากกว่าภาคอื่น โดยสามารถพบได้ตามที่รกร้างว่างเปล่าต่างๆ บริเวณสองข้างทางรวมถึงในชายป่าที่โล่งแจ้ง เป็นต้น

ประโยชน์และสรรพคุณถั่วแระต้น

  • แก้ไข้
  • ช่วยขับปัสสาวะ
  • แก้อาการปัสสาวะเหลือง หรือแดง
  • ใช้ถอนพิษ
  • รักษาโรคเส้นเอ็นพิการ (อาการปวดเมื่อย เสียว ตามตัว ใบหน้า ศีรษะ)
  • ขับลมลงเบื้องต่ำ 
  • แก้ท้องร่วง
  • แก้ไอ
  • แก้ท้องเสีย
  • ช่วยรักษาแผลในปากและหู   
  • รักษาอาการตกเลือด
  • แก้ไข้ทับระดู
  • ช่วยบำรุงร่างการ
  • ช่วยบำรุงเส้นเอ็น
  • ช่วยบำรุงกระดูก

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้ขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการ ปัสสาวะแดงขุ่น ปัสสาวะน้อย ช่วยละลายนิ่วในไต แก้อาการปัสสาวะเหลือง หรือ แดง โดยใช้รากถั่วแระต้น มาต้มกับน้ำดื่ม 
  • ใช้รักษาอาการตกเลือด แก้ไข้ทับระดู โดยใช้ทั้งต้น 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำดื่มครั้งละ 1 ถัวย วันละ 3 ครั้ง
  • ใช้รักษาเส้นเอ็นพิการ ขับผายลม ขับลมลงเบื้องต่ำ โดยใช้ต้น และใบมาต้มน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ท้องร่วงโดยนำฝักสดมารับประทาน
  • ใช้แก้ไป แก้ท้องเสีย โดยใช้ใบมาต้มกับน้ำดื่ม 
  • ใช้รักษาแผลในปากและหู โดยใช้ใบสดมาคั้นเอาน้ำอมบ้วนปาก หรือ หยอดใส่หูตามอาการ
  • ใช้บำรุงเส้นเอ็น บำรุงกระดูก บำรุงร่างกาย โดยให้รับประทานฝักสด


ลักษณะทั่วไปของถั่วแระต้น
 

ถั่วแระต้น จัดเป็นไม้พุ่ม หรือ ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ลำต้นตั้งตรง สูง 1-3.5 เมตร ผิวลำต้นเกลี้ยง เมื่อยังอ่อนลำต้นจะสีเขียวหม่น แต่เมื่อลำต้นแก่จะเปลี่ยนเป็นสีม่วงแดง และแตกเป็นร่องสีน้ำตาล ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับเป็นก้านๆ ซึ่งใน 1 ก้านจะมีใบย่อย 3 ใบ โดยใบย่อยจะมีขนาดเล็กจะแตกออกมาตามลำต้น กิ่งก้านลักษณะของใบย่อยเป็นรูปขอบขนานแกมใบหอก ปลายใบแหลม แต่โคนใบแหลมน้อยกว่าคล้ายใบขมิ้นต้น ใบมีขนาดกว้าง 1-3.5 เซนติเมตร ยาว 1.5-10 เซนติเมตร ผิวใบทั้งสองด้านมีขนสีขาวนวลขึ้นอยู่ทั่วใบ ดอก ออกเป็นช่อบริเวณซอกใบ คล้ายดอกถั่วกลีบดอกสีเหลืองมีขอบสีน้ำตาลแดง มีกลีบเลี้ยงที่ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉกที่โคนดอก ผล ออกเป็นฝักลักษณะแบนยาวมีขนเป็นสีม่วงเข้มปนเขียว โดยฝักจะแบ่งเป็นห้องๆ 3-4 ห้อง ภายในมีเมล็ด ห้องละ 1 เมล็ด เมล็ดเหมือนถั่วเหลืองมีลักษณะกลมแบนเล็กน้อยมีสีเหลืองขาว หรือ สีแดง

ถั่วแระต้น

การขยายพันธุ์ถั่วแระต้น

ถั่วแระต้น สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด ซึ่งโดยส่วนมากแล้วจะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติมากกว่าการขยายพันธุ์โดยมนุษย์ เพราะถั่วแระต้นยังไม่เป็นที่นิยมในการนำมาปลูกในเชิงพาณิชย์ ที่มีการใช้ประโยชน์กันอยู่ก็เป็นการเก็บจากแหล่งธรรมชาติมาใช้มากกว่าการปลูกใช้เอง แต่หากอยากจะปลูกถั่วแระต้นก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการปลูกพืชตระกูลถั่วอื่นๆ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วขาว เป็นต้น ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้

ถั่วแระต้น

องค์ประกอบทางเคมี

มีการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของถั่วแระต้น พบว่ามีสารสำคัญๆ หลายชนิด เช่น cajanin, acoradiene, allantoin, α-amyrin, benzoic acid, caffeic acid, cajaminose, cajanol, campesterol, para-coumaric acid, cycloartanol, daidzein, erythritol, ferulic acid, formononetin, gentisic acid, α-guaiene, inositol, lanosterol, longistylin A, longistylin C, lupeol, parkeol, simiarenol, stigmasterol, stilbene, taraxerol, uronic acid, vanillic acid  และ vitexin เป็นต้น

          นอกจากนี้ในเมล็ดและฝักอ่อนของถั่วแระยังมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้

คุณค่าทางโภชนาการของเมล็ดถั่วแระต้น (100 กรัม)

  • พลังงาน                        343                  กิโลแคลอรี
  • โปรตีน                          22.7                 กรัม
  • ไขมัน                            1.49                 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต                62.78               กรัม
  • ใยอาหาร                       15                    กรัม
  • วิตามินB1                     0.643               มิลลิกรัม
  • วิตามินB2                     0.187               มิลลิกรัม
  • วิตามินB3                     2.965               มิลลิกรัม
  • วิตามินB5                     1.266               มิลลิกรัม
  • วิตามินB6                     0.283               มิลลิกรัม
  • วิตามินB9                     456                  ไมโครกรัม
  • แคลเซียม                      130                  มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก                       5.23                 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม                    183                  มิลลิกรัม
  • แมงกานีส                      1.791               มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส                     367                  มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม                  1,392               มิลลิกรัม
  • โซเดียม                         17                    มิลลิกรัม
  • สังกะสี                          2.76                 มิลลิกรัม

           คุณค่าทางโภชนาการของฝักอ่อนถั่วแระต้น (100 กรัม)

  • พลังงาน                        362                  กิโลแคลอรี่
  • โปรตีน                           19.4                 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต               60.9                 กรัม
  • ไขมัน                             5.6                   กรัม
  • ใยอาหาร                       2.5                   กรัม
  • วิตามิน A                      25                    หน่วนสากล                                        
  • วิตามิน B1                    0.46                 มิลลิกรัม
  • วิตามิน B2                    0.20                 มิลลิกรัม
  • วิตามิน B3                    1.2                   มิลลิกรัม
  • แคลเซียม                   114                  มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส                  387                  มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก                     2.2                   มิลลิกรัม

โครงสร้างถั่วแระต้น

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของถั่วแระต้น

ฤทธิ์ลดไขมันมีศึกษาวิจัยฤทธิ์ลดไขมันของส่วนสกัด stibenes จากใบถั่วแระต้น (ซึ่งประกอบด้วยสาร Cajanin, Longistylin C และ Longistylin) ขนาด 100 และ 200 มก./กก./วัน ในหนูถีบจักรที่เหนี่ยวนำให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูงโดยการป้อนอาหารที่มีไขมันสูง (2% cholesterol, 0.5% cholic acid) เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยา simvastatin ขนาด 12 มก./กก./วัน และกลุ่มควบคุม เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่าส่วนสกัด stibenes ขนาด 200 มก./กก. มีผลทำให้น้ำหนักตัวลดลง แต่ไม่มีผลต่อน้ำหนักตับ ลดระดับ total cholesterol, triglyceride และ LDL-cholesterol ในเลือดและในตับ แต่ไม่มีผลต่อ HDL-cholesterol นอกจากนี้ยังทำให้ค่า atherogenic index (total cholesterol - HDL-cholesterol / HDL-cholesterol) ลดลง และเพิ่มระดับเอนไซม์ superoxide dismutase ในเลือดด้วย ซึ่งกลุ่มที่ได้รับยา simvastatin ก็ให้ผลเช่นเดียวกัน กลไกในการออกฤทธิ์พบว่าส่วนสกัด stibenes ขนาด 200 มก./กก. มีผลเพิ่มการแสดงออกของยีนของเอนไซม์ hepatic 3-hydroxy-3-methylglutaryl-CoA reductase (HMG-CoA reductase) ซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของระดับ cholesterol ในเลือด และตับ ส่วนสกัด stibenes ยังเพิ่มการแสดงออกของยีนของเอนไซม์ cholesterol 7α-hydroxylase (CYP7A1) ทำให้เพิ่มการสร้างกรดน้ำดี และมีผลเพิ่มการแสดงออกของยีนของ LDL receptor ในตับ ทำให้ระดับของ cholesterol ในเลือดลดลง และเมื่อศึกษาฤทธิ์ต้านการเกิดออกซิเดชั่นของไขมัน (lipid peroxidation) พบว่าค่าความเข้มข้นที่มีฤทธิ์ต้านการเกิดออกซิเดชั่นของไขมันได้ครึ่งหนึ่ง (EC50) มีค่าเท่ากับ 25.97 มคก./มล. ซึ่งฤทธิ์ดังกล่าวอ่อนกว่าสารมาตรฐาน trolox (EC50) เท่ากับ 1.90, 1.20 มคก./มล. ตามลำดับ)

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาวิจัยสารสกัด 70% เอทานอลของเมล็ดถั่วแระต้น (Cajanus cajan (L) Millsp) เมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ด้วยวิธี DPPH (Diphenyl-picrylhydrazyl) radical พบว่าค่าความเข้มข้นที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ครึ่งหนึ่ง (EC50) ) มีค่าเท่ากับ 44.36 มคก./มล. และเมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์ต้านเอนไซม์ tyrosinase ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างเม็ดสีทั้งในพืช และในสัตว์ พบว่าค่าความเข้มข้นที่มีฤทธิ์ต้านเอนไซม์ tyrosinase ได้ครึ่งหนึ่ง (EC50) ) มีค่าเท่ากับ 267 มคก./มล. เมื่อเทียบกับสารมาตรฐาน (kojioc acid, EC50) เท่ากับ 2.31 มคก./มล.) จากการศึกษาในครั้งนี้สรุปได้ว่าสารสกัด 70% เอทานอลของเมล็ดถั่วแระต้นมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิระได้ดีพอสมควร แต่ในส่วนของฤทธิ์ต้านเอนไซม์ tyrosinase ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับผิวขาวอาจต้องมีการศึกษาต่อไป

            นอกจากยังมีผลการศึกษาวิจัยอื่นๆ ที่ระบุถึงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของถั่วแระต้นว่า มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ลดคอเลสเตอรอล และต้านไวรัส เป็นต้น

การศึกษาทางพิษวิทยาของถั่วแระต้น

มีการศึกษาวิจัยโดยการทดสอบความเป็นพิษ ของสารสกัดเมล็ดถั่วแระต้น พบว่าเมื่อฉีดสารสกัดจากเมล็ดถั่วแระต้นด้วยน้ำ และแอลกอฮอล์ ในอัตราส่วน 1:1 เข้าช่องท้องของหนูถีบจักร ปรากฏว่าหนูสามารถทนยาได้ถึง 1 กรัมต่อกิโลกรัม

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้ถั่วแระต้นเป็นสมุนไพร ตามตำรับตำรายาต่างๆ นั้นควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดี และไม่ควรใช้ต่อเนื่องกันเป็นเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือ ผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะใช้ถั่วแระต้น เป็นสมุนไพรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง ถั่วแระต้น
  1. ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม. “ถั่วแระต้น”. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. หน้า 331-332.
  2. เต็ม สมิตินันทน์. 2523. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (ชื่อพฤกษศาสตร์-ชื่อพื้นเมือง). กรมป่าไม้ 379 หน้า.
  3. เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. “ถั่วแระต้น”. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. หน้า 85-86.
  4. ฤทธิ์ลดไขมัน stilbenes จากถั่วแระต้น.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 2542. ผักพื้นบ้านภาคเหนือ 280 หน้า.
  6. ชนิด. เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. “ถั่วแระต้น” หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 หน้า 96-97.
  7. ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสารสกัดถั่วแระต้น.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  8. วัชรี ประชาศรัยสรเดช. 2542. ผักพื้นเมือง เหนือ อีสาน ใต้. 81 หน้า.
  9. ความปลอดภัย และประสิทธิภาคของผลิตภัณฑ์เวชสำอางจากถั่วแระต้น. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  10. ถั่วแระ. ฐานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=56