มะม่วง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

มะม่วง งานวิจัยและสรรพคุณ 19 ข้อ

ชื่อสมุนไพร มะม่วง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น หมากม่วง (ภาคอีสาน), ลูกม่วง (ภาคใต้), บะม่วง (ภาคเหนือ), หมักโม่ง (เงี้ยว-ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Mangifera indica L.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Mangifera austroyunnanensis Hu
ชื่อสามัญ Mango
วงศ์ ANACARDIACEAE

ถิ่นกำเนิดมะม่วง

มะม่วงจัดเป็นผลไม้เมืองร้อนตระกลูเดียวกับมะปราง มีถิ่นกำเนิดแถบภาคตะวันออกของอินเดีย ต่อมาได้กระจายพันธุ์ไปยังบริเวณเขตร้อนใกล้เคียง รวมถึงประเทศต่างๆ ทั่วโลก ปัจจุบันสามารถพบมะม่วง ได้ในเขตร้อนต่างๆ เช่น กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฮาวาย ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย อินเดีย แอฟริกาตะวันออก และใต้ อียิปต์ อิสราเอล และตอนใต้ของอเมริกา และมีสายพันธุ์กว่า 50 สายพันธุ์ สำหรับในประเทศไทยมะม่วงเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยได้ส่งออกมะม่วง เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากฟิลิปปินส์ และเม็กซิโก สามารถเพาะปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่ส่วนมากจะมีการปลูกมากในภาคเหนือ และภาคกลาง

ประโยชน์และสรรพคุณมะม่วง

  1. ใช้บำรุงธาตุ
  2. ใช้บำรุงกระเพาะอาหาร
  3. ช่วยทำให้กระปรี้กระเปร่า
  4. แก้ร้อนในกระหาย้ำ
  5. แก้บิดมูกเลือด
  6. ใช้เป็นยาระบาย
  7. ช่วยในการขับถ่าย
  8. ช่วยขับปัสสาวะ
  9. แก้วิงเวียนศีรษะ
  10. ช่วยแก้เบาหวาน
  11. แก้ลำไส้อักเสบ
  12. แก้ท้องอืด
  13. แก้ตานขโมยในเด็ก
  14. ใช้ล้างบาดแผล สมานแผล
  15. แก้ไข้ตัวร้อน
  16. แก้จมูกอักเสบ
  17. แก้คอตีบ
  18. ใช้ขับพยาธิ
  19. แก้ปวดเมื่อยปวดประจำเดือน

มะม่วง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ช่วยบำรุงธาตุ บำรุงกระเพาะอาหาร แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้วิงเวียนศีรษะ ปรับสมดุลร่างกาย ทำให้กระปรี้กระเปร่า แก้อาการบิดมูกเลือด  ช่วยในการขับถ่าย ใช้เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ โดยการนำมะม่วงสุก มารับประทานเป็นผลไม้ เป็นประจำ

           ใช้แก้โรคเบาหวาน โดยใช้ใบมะม่วง มาล้างให้สะอาด (ประมาณ 15 ใบ) แล้วนำมาต้มในน้ำสะอาด 1 ถ้วย (ใช้ไฟอ่อนๆ นาน 1 ชั่วโมง) ถ้าน้ำแห้งก็เดิมเรื่อยๆ เมื่อเสร็จแล้วทิ้งค้างคืนไว้ 1 คืน แล้วจึงนำมากรองเอาแต่น้ำดื่มติดต่อกันประมาณ 3-4 วัน

            แก้ซางตานขโมยในเด็ก แก้ท้องอืด แก้ลำไส้อักเสบ โดยใช้ใบมะม่วงประมาณ 15 กรัม มาต้มกับน้ำดื่ม หรือ ใช้ภายนอกโดยใช้ล้างบาดแผลภายนอกก็ได้

            ใช้แก้โรคคอตีบ แก้ไข้ตัวร้อนจมูกอักเสบ โดยใช้เปลือกต้นมะม่วง มาต้มกับน้ำดื่ม

            ใช้ขับพยาธิ โดยใช้เมล็ดแก่มาตากแห้งแล้วต้มเอาน้ำดื่ม หรือ จะบดให้เป็นผงนำมารับประทานก็ได้

            แก้อาการปวดประจำเดือน และอาการปวดเมื่อยโดยการนำเปลือกผลดิบมาคั่วรับประทานร่วมกับน้ำตาล

            ใช้สมานแผลสด โดยใช้ใบมะม่วงสดล้างให้สะอาดแล้วนำมาตำพอกบริเวณแผล


ลักษณะทั่วไปของมะม่วง
 

มะม่วงจัดเป็นไม้พุ่มยืนต้นมีน้ำยางสีขาวขุ่นอยู่ในทุกส่วน สูงประมาณ 10-15 ม. ซึ่งขนาดของลำต้นจะขึ้นอยู่กับพันธุ์ และอาจะ แต่โดยทั่วไปแล้วลำต้นจะมีลักษณะตรง ผิวลำต้นสีเทา หรือ เกือบดำ เปลือกอ่อนมีสีเขียว เปลือกแก่เป็นสีน้ำตาล ผิวขรุขระแข็งมีเกล็ดมาก และมีกิ่งก้านสาขาขนาดใหญ่ แข็งแรง ลักษณะทรงพุ่มเป็นรูปครึ่งวงกลม หรือ รูปไข่ ส่วนเนื้อไม้เมื่ออายุน้อยจะมีสีเขียว เมื่อแก่จะเปลือกเป็นสีน้ำตาลแกมแดง

           สำหรับระบบรากมะม่วง เป็นแบบรากแก้ว โดยความยาวของรากมีตั้งแต่ 6-8 เมตร (หรือ มากกว่า) และมีรากดูดอาหารนั้นอยู่หนาแน่ในบริเวณผิวดิน ลึกประมาณ 30-60 เซนติเมตร และแผ่กว้างออกประมาณ 750 เซนติเมตร แต่ถ้าหากขาดการพรวนดินพูนโคนเป็นเวลานานก็จะทำให้รากมะม่วงเจริญโผล่ขึ้นมาบนดิน ใบเป็นแบบใบเดี่ยวเรียงตัวแบบสลับบริเวณปลายกิ่งมีใบเกิดถี่ ใบเป็นรูปหอกยาวแกมของขนาน เรียวยาว โดยยาวประมาณ 8-40 ซม. กว้าง 2-10 ซม. (แล้วแต่สายพันธุ์) ฐานใบค่อยๆ กว้างออกคล้ายรูปลิ่มแหลม ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นคลื่น ไม่มีขน ไม่มีหูใบ ใบอ่อนสีออกแดง แต่เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม ผิวใบเป็นมัน ก้านใบยาว 1-10 เซนติเมตร ดอกออเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ซึ่งจะออกตามปลายกิ่ง หรือ ตาดอกที่อยู่ปลายกิ่งโดยในช่อดอกหนึ่งๆ จะมีช่อย่อยหลายช่อ และบริเวณก้านช่อดอกจะมีสีเขียวออกแดง และมีขน ในแต่ละช่อดอกประกอบด้วยดอก 2 ประเภท คือ ดอกเพศผู้ และดอกสมบูรณ์เพศอยู่ร่วมช่อดอกเดียวกัน ส่วนกลีบดอกโดยทั่วไปมี 5 กลีบ แยกกัน และมีร่องสีเหลืองเข้มบริเวณโคนกลีบดอก ในระหว่างวงกลีบดอก และวงเกสรเพสผู้จะมีแผ่นจานกลมคั่นอยู่ ส่วนสีของดอกนั้นดอกมีหลายสีแตกต่างกัน ได้แก่ แดง ชมพู หรือ ขาว แล้วแต่สายพันธุ์ และสำหรับ (ดอกสมบูรณ์เพศ คือ ดอกที่มีทั้งเกสรเพศผู้ และเกสรเพศเมียอยู่ในดอกเดียวกัน และสามารถเจริญกลายเป็นผลได้เมื่อได้รับการผสมเกสร) กลีบเลี้ยงจะมี 4-5 กลีบ แยกกัน ลักษณะโค้งนูนมีสีเขียวอมเหลือง และมีขนแข็งขนาดยาวปกคลุม ผลเป็นแบบผลสดโดยจะออกเป็นผลเดี่ยว โดยขนาดของรูปร่าง รูปทรงสีปริมาณเสี้ยน รสชาติ และกลิ่น จะมีความต่างในแต่ละสายพันธุ์  ซึ่งขนาดความยาวของผลจะมีตั้งแต่ 5-20 เซนติเมตร ความกว้าง 4-8 เซนติเมตร ส่วนรูปร่างของผลมีตั้งแต่กลมไปจนถึงรูปไข่ค่อนข้างยาว สีเปลือกด้านนอกของผลประกอบด้วยส่วนผสมของสีต่างๆ เช่น เขียว เหลือง แดง และม่วง เนื้อในเมื่อยังอ่อน เนื้อแน่นแข็งรสหวาน หรือ เปรี้ยวแล้วแต่สายพันธุ์ แต่เมื่อผลสุกเนื้อจะอ่อนนุ่ม มีรสชาติหวานหอม เมล็ดอยู่ถัดจากเนื้อ มีขนาดใหญ่ไปจนถึงเกือบไม่มีเมล็ด (แล้วแต่สายพันธุ์) เมล็ดจะมีสีขาวขุ่นมีเส้นใยขึ้นปกคลุม เปลือกหุ้มเมล็ดมีเยื่อหุ้ม 2 ชั้น คือ ชั้นนอก (testa) และชั้นใน (tegmen)

มะม่วง

การขยายพันธุ์มะม่วง 

มะม่วงสามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยวิธีการตอนกิ่ง ทาบกิ่ง การเพาะเมล็ด และการเปลี่ยนยอด โดยการปลูกช่วงต้นฤดูฝน เพื่อให้มะม่วงตั้งตัวได้เร็วเนื่องจากอากาศ ดิน มีความชุ่มชื้นดี และเป็นการสะดวกที่ไม่ต้องรดน้ำในระยะแรก ส่วนระยะการปลูกมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ การปลูกชิด และการปลูกห่าง แต่ในปัจจุบันจะนิยมการปลูกระยะห่างมากกว่าเพราะลงทุนต่ำกว่า และดูแลรักษาง่ายกว่า ซึ่งปกติแล้วมักจะใช้ระยะปลูกประมาณ 6-10x6-10 เมตร ซึ่งจะปลูกได้ไร่ละประมาณ 16-25 ต้น

           สำหรับหลุมปลูกควรให้มีขนาดความ กว้างxยาวxลึก ไม่น้อยกว่า 30x30x30 ซม. โดยหากดินในพื้นที่ไม่อุดมสมบูรณ์ต้องขุดหลุมปลูกให้มีขนาดใหญ่ จากนั้นนำดินที่ขุดไปผสมกับปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมัก หรือ นำดินที่อุดมสมบูรณ์มาใส่เพื่อให้มะม่วง ในระยะแรกเจริญเติบโตได้ดี ส่วนการปลูกนั้นเมื่อขุดหลุมเตรียมไว้เรียบร้อยแล้วก็นำต้นกล้าลงปลูกจากนั้นกลบดินที่ผสมปุ๋ยอินทรีย์ หรือ ปุ๋ยคอกให้พูนสูงกว่าระดับดินเดิม 20-30 ซม. จากนั้นกลมดินให้แน่นรดน้ำให้ชุ่ม แล้วใช้ไม้รวกปักแล้วใช้เชือกมัดยึดกับลำต้นเพื่อกันลมโยก ถ้าแสงแดดจัดอาจพรางแสงด้วยวัสดุต่างๆ เช่น ทางมะพร้าว เป็นต้น

มะม่วง

องค์ประกอบทางเคมี

มีผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีในส่วนต่างๆ ของมะม่วง พบว่ามีสารสำคัญ lycopene, β-carotene เช่น anthocyanins และยังพบสารประกอบ phenolic ที่สําคัญซึ่งพบในเปลือก เนื้อ และเมล็ดมะม่วง ได้แก่ mangiferin, gallic acid, caffeic acid  และ tannin เป็นต้น

โครงสร้างมะม่วง

 ที่มา : Wikipedia  

           นอกจากนี้ผลของมะม่วงยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

           คุณค่าทางโภชนาการของมะม่วงดิบ 100 กรัม

  • พลังงาน 60 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 15 กรัม
  • น้ำตาล 13.7 กรัม
  • ใยอาหาร 1.6 กรัม
  • ไขมัน 0.38 กรัม
  • โปรตีน 0.82 กรัม
  • วิตามิน A 54 ไมโครกรัม
  • วิตามิน B1 0.03 มิลลิกรัม
  • วิตามิน B2 0.04 มิลลิกรัม
  • วิตามิน B3 0.67 มิลลิกรัม
  • วิตามิน B6 0.2 มิลลิกรัม
  • วิตามิน B9 43 ไมโครกรัม
  • วิตามิน C36 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 11 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 0.16 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 10 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 14 มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม 168 มิลลิกรัม
  • สังกะสี 0.09 มิลลิกรัม
  • เบตาแคโรทีน 640 ไมโครกรัม

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะม่วง

ฤทธิ์ลดเบาหวาน มีการศึกษาวิจัยพบว่า สาร mangiferin จากใบมะม่วง เมื่อฉีดเข้าช่องท้องหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย streptozotocin ในขนาด 10 และ 20 มก./กก. วันละ 1 ครั้ง นาน 28 วัน จะช่วยลดน้ำตาลในเลือดลงสูงสุด 49.77 และ 51.89% ตามลำดับ เมื่อให้สารนาน 14 วัน จะช่วยต้านการเกิดภาวะหลอดเลือดหนา และแข็ง (atherogenic) โดยจะลดระดับคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือด ลด low density lipoprotein และเพิ่ม high density lipoprotein และจะเพิ่ม glucose talerance ในหนูขาวปกติที่ได้รับสารดังกล่าวนาน 14 วัน

           ฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะอาหาร มีการทดสอบความสามารถป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของสาร mangiferin จากเปลือกต้นมะม่วง โดยการป้อน mangiferin ขนาด 3, 10 และ 30 มก./กก. 60 นาที ให้หนูถีบจักรก่อนที่จะถูกเหนี่ยวนำให้เป็นแผลในกระเพาะอาหารด้วยเอทานอล เปรียบเทียบกับยาที่ออกฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะอาหาร N-acetylcysteine พบว่า ไม่พบการทำลายของ mucosa ในกระเพาะอาหารหนู และลดการเกิดแผลได้ 30, 35 และ 63% ตามลำดับ ในหนูที่ได้รับ mangiferin ส่วนหนูที่ได้รับ N-acetylcysteine ลดการเกิดแผลได้ 50% และเมื่อป้อน mangiferin ขนาด 3, 10 และ 30 มก./กก. 60 นาที ให้หนูถีบจักรก่อนที่จะถูกเหนี่ยวนำให้เป็นแผลในกระเพาะอาหารโดยการอดอาหาร 15 ชม. และได้รับ indomethacin เปรียบเทียบกับยาที่ออกฤทธิ์รักษาแผลในกระเพาะอาหาร lansoprazole ขนาด 30 มก./กก. พบว่า สาร mangiferin ลดการเกิดแผลได้ 22, 24 และ 57% ตามลำดับ ส่วน lansoprazole ลดการเกิดแผลได้ 76% เมื่อศึกษากลไกการออกฤทธิ์ พบว่าสาร mangiferin ขนาด 30 มก./กก. จะช่วยเพิ่มปริมาณ non-protein sulfhydryl ที่เยื่อบุกระเพาะอาหาร แต่ N-acetylcysteine ออกฤทธิ์ได้ดีกว่า ซึ่งเป็นผลการต้านอนุมูลอิสระ และการให้ mangiferin ขนาด 30 มก./กก. เข้าทางลำไส้เล็กส่วนต้นในหนูที่ผูกกระเพาะอาหารส่วนปลายของ pylorus เป็นเวลา 4 ชม. พบว่าสาร mangiferin ยังลดปริมาณสารคัดหลั่งทั้งหมด และกรดในกระเพาะอาหาร ในขณะที่ยา cimetidine ขนาด 100 มก./กก. สามารถลดการหลั่งกรดได้เพียงอย่างเดียว

           ฤทธิ์บรรเทาปวด มีการศึกษาฤทธิ์บรรเทาปวดของเปลือกต้นมะม่วง (Mangifera indica L.) ในหนูแรทที่เกิดความเจ็บปวดแบบเฉียบพลัน และบรรเทาอาการปวดจากการตอบสนองในระยะยาว (long-term secondary machano-hyperalgesia) จากการกระตุ้นด้วยการฉีดฟอร์มาลีน 5% ผลการศึกษาพบว่า เมื่อป้อนสารสกัดน้ำจากเปลือกต้นมะม่วง (MSBE) วันละ 125, 250 และ 500 มก./กก.น้ำหนักตัว หรือ ป้อน MSBE ขนาด 250 มก./กก.น้ำหนักตัว ร่วมกับการฉีด ascorbic acid ขนาด 1 มก./กก.น้ำหนักตัว ให้หนูแรท ติดต่อกัน 7 วัน ก่อนการฉีดฟอร์มาลีน สามารถบรรเทาอาการปวดแบบเฉียบพลันที่เกิดจากการกระตุ้นด้วยฟอร์มาลีน และยังช่วยบรรเทาอาการปวดจากการตอบสนองในระยะยาวได้ต่อเนื่อง 7 วัน หลังการฉีดฟอร์มาลีน โดยหนูแรทที่ได้รับ MSBE จะลดพฤติกรรมการยกเท้าขึ้นเลีย การกัด และถอยหนีได้ในช่วงระยะเวลา 15-45 นาที หลังการฉีด (phase II) และมีผลต่อเนื่องไปถึงระยะอาการปวดแบบเรื้อรังได้ นอกจากนี้การใช้ MSBE ร่วมกับ ascorbic acid มีผลช่วยลดอาการผงะหรือการถอยหนีของสัตว์ทดลองได้ดีกว่าการใช้ MSBE เพียงอย่างเดียว ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของ ascorbic acid นอกจากนี้เมื่อป้อน mangiferin ซึ่งเป็นสารสำคัญที่แยกได้จากสารสกัด MSBE ขนาด 12.5-50 มก./กก.น้ำหนักตัว ให้แก่หนูแรทต่อเนื่องกัน 7 วัน หลังการฉีดฟอร์มาลิน ก็ให้ผลลดปวดได้เช่นเดียวกับการใช้ MSBE การศึกษานี้จึงชี้ให้เห็นว่าสารสกัดน้ำจากเปลือกต้นมะม่วงและสาร mangiferin มีฤทธิ์บรรเทาปวด นอกจากนี้พืชชนิดอื่นที่มีสาร mangiferin เป็นองค์ประกอบน่าจะแสดงฤทธิ์บรรเทาปวดได้เช่นเดียวกัน

            ฤทธิ์ต้านเอนไซม์ในพิษงู มีการศึกษาฤทธิ์ต้านเอนไซม์ในพิษงูจากสารสกัดเอทานอลของเม็ดมะม่วงพันธุ์ฟ้าลั่นด้วยเอทานอล โดยทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดต่อการทำงานของเอนไซม์ phospholipase A2 (PLA2) hyaluronidase และ L-amino acid oxydase (LAAO) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่พบในพิษของงูกะปะ และงูเห่า ในหลอดทดลอง (in vitro test) ศึกษาฤทธิ์ห้ามเลือด (anti-hemorrhagic) และฤทธิ์ยับยั้งการ 9kp-v’ เซลล์ผิวหนัง (anti-dermonecrotic) ในหนูทดลอง ผลการทดลองพบว่า สารสกัดจากเม็ดมะม่วงมีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ทั้งสามชนิด ยังมีฤทธิ์ห้ามเลือด และยับยั้งการตายของเซลล์ผิวหนัง ซึ่งเป็นผลจากพิษของงูกะปะและงูเห่าได้ นอกจากนี้ ได้ทำการศึกษาความสามารถในการจับกันระหว่างโมเลกุลของเอนไซม์กับสารสกัดเมล็ดมะม่วงด้วยวิธี Molecular docking พบว่าสารสกัดเมล็ดมะม่วงสามารถจับกับบริเวณ active site หรือ บริเวณที่ใกล้เคียงกันของเอนไซม์ สามารถเหนี่ยวนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในบริเวณที่สำคัญต่อการเกิดปฏิกิริยาของเอนไซม์ PLA2 และเลือกจับตำแหน่ง binding pocket ของเอนไซม์ LAAO จากพิษของงูกะปะและงูเห่า ทำให้เอนไซม์ไม่สามารถทำงานได้  

           ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีการศึกษาวิจัยสาร mangiferin ที่สกัดได้จากใบมะม่วง เมื่อนำมาทดสอบในหนูขาวที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือด (myocardial infarction) ด้วยการฉีดสาร isoproterenol (ISPH) ขนาด 200 มก./กก. เข้าใต้ผิวหนังหนูขาว พบว่าการฉีดสาร mangiferin ขนาด 100 มก./กก. ที่แขวนลอยใน dimethyl sulphoxide (DMSO) ปริมาตร 2 มล. เข้าในช่องท้องหนูขาว วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันนาน 28 วัน สามารถป้องกันการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดได้ โดยมีผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ lactase dehydrogenase (LDH) และ creatine phosphokinase (CK-MB) ในเลือด ทำให้กรดยูริกในเลือดลดน้อยลง ธาตุเหล็กอิสระลดลง แต่พลาสมาจับกับธาตุเหล็ก ได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้สาร mangiferin ยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระได้ โดยมีผลกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ superoxide dismutase (SOD), catalase (CAT), glutathione peroxidase (GPx), glutathione-s-transferase (GST) และ glutathione reductase (GR) ในเนื้อเยื่อหัวใจ และทำให้ระดับของสาร cerruloplasmin, glutathione, วิตามิน C และวิตามิน E ในเลือดเพิ่มมากขึ้น

การศึกษาทางพิษวิทยาของมะม่วง  

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง 

  1. ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรระมัดระวังในการรับประทานมะม่วงสุก เพราะมีความหวานมาก และมีน้ำตาลมากเช่นกัน โดยหากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปอาจจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และเกิดอาการกำเริบได้
  2. มะม่วงเป็นพืชที่มีน้ำยางทุกส่วนของต้น และในน้ำยางก็มีสารที่ก่อให้เกิดการกระคายเคืองต่อผิวหนังได้ ดังนั้นการระมัดระวังอย่างให้โดยน้ำยางของมะม่วง แต่หากผิวหนังโดนน้ำยางมะม่วง แล้วให้รีบล้างออกโดยเร็วที่สุด
  3. มะม่วงดิบส่วนมากจะมีรสเปรี้ยว ดังนั้นไม่ควรรับประทานมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้ปวดมวนท้องถ่ายท้อง หรือ ท้องเสียได้

เอกสารอ้างอิง มะม่วง
  1. นิดดา หงส์วิวัฒน์ และทวีทอง หงส์วิวัฒน์. มะม่วง ใน ผลไม้ 111 ชนิด: คุณค่าอาหารและการกิน. กทม. แสงแดด. 2550 หน้า 173–177
  2. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้. ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย เต็ม สมิตินันทน์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2544. ส่วนพฤกษศาสตร์ป่าไม้ สำนักวิชาการป่าไม้ กรมป่าไม้ พิมพ์ครั้งที่ 2 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม). พิมพ์ที่ บริษัทประชาชน จำกัด. 2544
  3. ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว. (2556). มะม่วง-การผลิตและเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว. สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา, เชียงใหม่.
  4. ฤทธิ์บรรเทาปวดของสารสกัดน้ำจากเปลือกต้นมะม่วง.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดในมะม่วง. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  6. ผศ.วัฒนา สวยาธิปัติ. ศูนย์ส่งเสริมและฝึกอบรมการเกษตรแห่งชาติ. สำนักส่งเสริม และฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม
  7. ขวัญฤทัย คำฝาเชื้อ 2551 พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของชาวกะเหรี่ยง ที่ตำบลบ้านจันทร์และแจ่มหลวง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ วิทยานิพนธ์ (วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 271 หน้า 
  8. สาร mangiferin ในมะม่วงป้องกันผลในกระเพาะอาหาร.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  9. วนิสสา หวานเสนาะ. (2552). ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของเอ็นเอเอ และเอทธีฟอน เพื่อการชักนำการหลุดร่วงของช่อดอกและช่อผลของมะม่วงน้ำดอกไม้. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
  10. ฤทธิ์ต้านเอนไซม์ในพิษงูจากสารสกัดเมล็ดมะม่วง.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  11. ดวงพร ภู่ผะภา.การประเมินปริมาณสารพฤกษาเคมีบางประการ ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และปริมาณสารกลุ่มฟิวอลิกของมะม่วงพื้นเมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา.วารสารวิทยาศาสตร์ มข.ปีที่ 43.ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2558. หน้า 267-283
  12. สาร mangiferin ลดเบาหวาน.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์วิทยาลัยมหิดล.