กำแพงเก้าชั้น ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กำแพงเก้าชั้น งานวิจัยและสรรพคุณ 16 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กำแพงเก้าชั้น
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ตากวง (โคราช, นครพนม, ภาคอีสาน), ตากวาง (ลำปาง, แพร่), ตะก้อง, ขอบด้วงเถา (ชุมพร), กระดงเย็น (เกาะช้าง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Salacia verrucosa Wight.
วงศ์ Celastraceae

ถิ่นกำเนิดกำแพงเก้าชั้น

กำแพงเก้าชั้น เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดบริเวณเขตร้อนของทวีปเอเชีย ในภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมักจะพบกำแพงเก้าชั้นในธรรมชาติบริเวณป่า ดงดิบ ป่าดิบเขา ป่าเต็งรัง รวมถึงป่าโปร่งทั่วๆ ไป ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 500 เมตรขึ้นไป สำหรับในประเทศไทยสามารถพบตามป่าดังกล่าวได้ทั่วทุกภาคของประเทศ

ประโยชน์และสรรพคุณ 

  1. ช่วยบำรุงโลหิต
  2. ช่วยบำรุงตับ
  3. บำรุงไต
  4. บำรุงกำลัง
  5. แก้โลหิตจาง
  6. แก้น้ำเหลืองพิการ 
  7. ใช้ขับของเสียออกจากร่างกาย
  8. ช่วยขับปัสสาวะ
  9. แก้กษัย
  10. แก้ไตพิการ
  11. ช่วยบำรุงร่างกาย
  12. แก้ระดูขาว 
  13. แก้ปวดเมื่อยปวดหลังปวดเอว  
  14. ใช้ขับลม
  15. แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
  16. เป็นยาระบาย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ 

ใช้บำรุงร่างกาย บำรุงโลหิต บำรุงตับ บำรุงไต แก้โลหิต และน้ำเหลืองพิการ แก้กษัยปวดเมื่อย แก้ระดูขาวในสตรี โดยใช้เถาแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ยาระบาย (เข้ายากับยาปะดง ดูกใส คอแลน พาสาน) ขับปัสสาวะ ใช้แก่นตำกวง (เข้ายากับ แก่นตาไก่ แก่นดูกใส แก่นตานนกรด) ตัวอย่างตำรับยาของตากวง ใช้เป็นยาแก้ปวดเมื่อย แก้กษัย บำรุงกำลัง โดย ใช้กำแพงเก้าชั้น, กำแพงเจ็ดชั้น เถาวัลย์เปรียง เครือเขาแกลบ เถาวัลย์เหลือก ต้มกับน้ำดื่มเป็นประจำ ใช้เป็นยาระบายโดยใช้กำแพงเก้าชั้น เข้ายากับคอแลน ยกปะดง พาสาน ดูกใส หรือ ใช้เถากำแพงเก้าชั้น กำแพงเจ็ดชั้น แก่นนมสาว กาฝากต้นติ้ว แก่นดูกใส และรากเกียงปืนมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาแก้ปวดเมื่อย คลายเส้นเอ็นโดยใช้ลำต้นกำแพงเก้าชั้น ขมด้นเกลือ ตับเต่า ดูกหิน และอ้อยดำ มาต้มกับน้ำดื่ม


ลักษณะทั่วไปของกำแพงเก้าชั้น

กำแพงเก้าชั้นจัดเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย หรือ ไม้เถาเนื้อแข็งขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 5 เมตร เปลือกเถาเป็นสีน้ำตาลหรือสีเทา ผิวขรุขระ และมีรูอากาศตามผิวเปลือก กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงปกคลุม ส่วนเปลือกด้านในมีสีแดง และมีรูอากาศมาก สำหรับเนื้อไม้มีสีแดงอ่อน น้ำยางเป็นสีแดง มีเส้นวงปีสีแดงเข้ม ซ้อนกันถี่ๆ สามารถเห็นได้ชัดเจน ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ หรือ เรียงตรงข้ามใบเป็นรูปรี รูปใบหอกปลาย และโคนใบแหลม ขอบใบเรียบ แผ่นใบสีเขียว เรียบ เป็นมันมีเส้นแขนงใบถี่ลึก ก้านใบเล็กโดยใบจุมีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ดอกเป็นเดี่ยวแต่จะออกรวมกันเป็นกลุ่มโดยจะออกมาจากปุ่มนูนบริเวณซอกใบ หรือ บนกิ่งที่เคยมีรอยใบติดอยู่ และในกลุ่มดอก 1 กลุ่มจะมีดอกย่อย ประมาณ 30-40 ดอก มีก้านดอกสีเขียวอ่อน ยาว 0.5 เซนติเมตร ส่วนกลีบดอกสีเขียวอมเหลืองรูปร่างกลม ปลายมน ฐานกลีบกว้าง สีเขียวอมเหลือง มีประมาณ 5 กลีบ จากฐานดอกนูนขึ้นเป็นรูปทรงกลมแบบมีเกสรเพศผู้ 3 อัน  ผลเป็นผลสดกว้าง 3-4 เซนติเมตร รูปทรงกลม-ผิวหยาบผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกมีสีส้มแดง มีเนื้อหุ้มเมล็ดสีขาว หรือ สีน้ำตาลขุ่น รสหวานสามารถรับประทานได้โดยใน 1 ผลจะมีเมล็ดแข็ง 3-4 เมล็ด

กำแพงเก้าชั้น

การขยายพันธุ์กำแพงเก้าชั้น

กำแพงเก้าชั้นสามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด แต่ในปัจจุบันการขยายพันธุ์กำแพงเก้าชั้น จะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ เพราะยังไม่นิยมนำปลูกในเชิงพาณิชย์ หรือ อาจมีการนำมาปลูกไว้ตามหัวไร่ปลายนาบ้างเล็กน้อย สำหรับวิธีการเพาะเมล็ด และการปลูกกำแพงเก้าชั้นนั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ด การปลูกกำแพงเจ็ดชั้น (ในบทความ”กำแพงเก้าชั้น”) ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว

กำแพงเก้าชั้น

องค์ประกอบทางเคมี

มีผลการศึกษาวิจัยในส่วนของลำต้นหรือเถาของกำแพงเก้าชั้น ที่มีการนำมาใช้เป็นสมุนไพรพบว่า มีสาระสำคัญในกลุ่มต่างๆ ดังนี้ กลุ่ม Terpenoids เช่น 26-  friedelane-1, 3-dione, hydroxyfriedelane-1, 3-dione, 21 alpha-hydroxyfriedelane-1, 3-dione, 30-hydroxyfriedelane-1, 3-dione,  kokoonol friedelin, 3β, 22 alpha-dihydroxyolean-12-en-29-oic acid
นอกจากนี้ยังพบสารต่างๆ อีกเช่น α-amyrin, β-sitosterol, 20, 29-eoxysalacianone เป็นต้น 

โครงสร้างกำแพงเก้าชั้น

ที่มา : Wikipedia 

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกำแพงเก้าชั้น

มีผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาในต่างประเทศของเถากำแพงเก้าชั้น พบว่ามีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด และมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง

การศึกษาทางพิษวิทยาของกำแพงเก้าชั้น

ไม่มีข้อมูล

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการนำกำแพงเก้าชั้นมาใช้เป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรคต่างๆ ตามสรรพคุณที่ระบุไว้ในตำรายาต่างๆ นั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาด และปริมาณที่พอเหมาะ ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ หากต้องการใช้กำแพงเก้าชั้น เป็นสุมไพรสำหรับบำบัดรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง กำแพงเก้าชั้น
  1. วุฒิ  วุฒิธรรมเวช (2540). สารานุกรมสมุนไพร รวมหลักเภสัชกรรมไทย. กรุงเทพฯ. โรงพิมพ์โอ.เอส.พรินติ้งเฮ้าส์. หน้า 209
  2. ตากวาง.พืชกินได้ในป่าสะแกราช. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ว.ว.). หน้า 123-124
  3. กำแพงเก้าชั้น .คู่มือสมุนไพรป่าชุมชนโนนใหญ่. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ กระทรวงสาธารณสุข. หน้า 4 8
  4. กำแพงเก้าชั้น. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargardon.com/main.php?action=viewpage&pid=20
  5. กำแพงเก้าชั้น. ฐานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargardon.com/main.php?action=viewpage&pid=227
  6. DingHoumL.(1964)Celastraceae-II.In;Van Steenis,C.G.G.J;ed.Flora Malesiana Jakarta:6:p.414-415