หญ้าฝรั่น

หญ้าฝรั่น งานวิจัยและสรรพคุณ 13 ข้อ

ชื่อสมุนไพร หญ้าฝรั่น
ชื่อวิทยาศาสตร์ Crocus sativus L.
ชื่อสามัญ Saffron, Crocus, True saffron
วงศ์ IRIDACEAE

ถิ่นกำเนิดหญ้าฝรั่น 

ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของหญ้าฝรั่น นั้นเชื่อกันว่าอยู่ในแถบเอเชียไมเนอร์ และแถบทะเลเมติเตอเรเนียน โดยเป็นพืชที่มีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการมาช้านานตั้งแต่สมัยกรีก และโรมัน จากนั้นจึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ไปยังภูมิภาคต่างๆ ในปัจจุบันมีการปลูกหญ้าฝรั่นสำหรับการค้าขายเชิงพาณิชย์กันมากในประเทศ อิหร่าน อินเดีย สเปน อิตาลี ฝรั่งเศส และเยอรมัน ส่วนในประเทศไทยยังไม่สามารถปลูกหญ้าฝรั่นได้ เพราะสภาพภูมิอากาศ และภูมิประเทศไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของหญ้าฝรั่น

ประโยชน์และสรรพคุณหญ้าฝรั่น

  1. ใช้แก้ลมวิงเวียน
  2. ช่วยบำรุงหัวใจ
  3. ช่วยบำรุงโลหิต
  4. บำรุงธาตุ
  5. เป็นยาชูกำลัง
  6. ช่วยให้เจริญอาหาร
  7. แก้ไอ
  8. ช่วยขับปัสสาวะ
  9. ช่วยขับเหงื่อในคนออกหัด
  10. ช่วยขับระดูในสตรี
  11. แก้ซางในเด็ก
  12. แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
  13. ใช้ทำเป็นน้ำกระสายยา

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ในการใช้หญ้าฝรั่น สำหรับบำบัดรักษาโรคตามสรรพคุณในตำรายาไทย หากใช้เป็นยาเดี่ยวจะใช้ชงกับน้ำร้อน หรือ ต้มน้ำดื่ม แต่โดยมากแล้วจะนำไปใช้เข้าเครื่องยาอื่นๆ เพื่อใช้รักษาอาการต่างๆ ตามสรรพคุณมากกว่า


ลักษณะทั่วไปของหญ้าฝรั่น

หญ้าฝรั่นจัดเป็นพืชล้มลุกมีอายุหลายปี มีลำต้นจริงอยู่ใต้ดินคล้ายกระเทียม หรือ หอมแดง ลักษณะกลมสีน้ำตาลขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 เซนติเมตร และมีเส้นใยหุ้มหัวอยู่หนาแน่น ส่วนลำต้นเทียมจะโผล่ออกมาจากดินลักษณะเป็นกาบใบหุ้มซ้อนกันขึ้นมา และมีความสูงประมาณ 10-30 เซนติเมตร ใบมีลักษณะแคบยาวเรียวแหมยาวได้ถึง 40 เซนติเมตร โดยใบเป็นสีเขียวซึ่งใบบริเวณโคนต้องจะแผ่กว้างลงดินส่วนในอ่อนจะชูตั้งขึ้น ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวโดย 1 ต้น จะมีดอก 1 ดอกซึ่งก้านดอกจะแทงออกมาจากหัวใต้ดิน ส่วนลักษณะของดอกจะเป็นสีม่วงกลีบดอกลักษณะเรียวยาว รูปไข่ปลายกลีบมน และมีเกสรตัวเมียสีแดงยาวโผล่พ้นเหนือดอก สำหรับดอกหญ้าฝรั่น จะสามารถอยู่ได้นานประมาณ 2-3 สัปดาห์

หญ้าฝรั่น

การขยายพันธุ์หญ้าฝรั่น

หญ้าฝรั่นสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้หัวปลูกโดยในอิตาลี จะปลูกโดยการฝั่งหัวลึก 15 ซม. แล้วเว้นระยะห่างแต่ละแถวประมาณ 2-3 ซม. ส่วนในพื้นที่อื่นจะปลูกในความลึก และระยะห่างที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝน และภูมิประเทศ ทั้งนี้หญ้าฝรั่น จะเจริญเติบโตได้ดีในที่เชิงเขา หรือ ที่ราบที่เอียงเข้าหาแสงแดดที่มีอากาศหนาวจัด และกึ่งแห้งแล้ง โดยสามารถทนความเย็นได้ถึง -10°C นอกจากนี้ยังชอบดินที่มีความร่วนซุยอุ้มน้ำได้ดี และดินเหนียวปนหินปูนที่มีสารอินทรีย์สูง

หญ้าฝรั่น

องค์ประกอบทางเคมี 

มีผลการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของเกสรหญ้าฝรั่นที่ถูกนำมาใช้เป็นสมุนไพรพบว่ามีสารสำคัญ ดังนี้

           สารกลุ่ม monoterpene aldehyde เช่น picrocrocin,safranal สารกลุ่ม carotenoid เช่น Crocin,crocetin, β-carotene , lycopene, zeaxanthin และสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ เช่น kaempherol

           นอกจากนี้ยังมีข้อมูลในส่วนที่รับประทานได้ของหญ้าฝรั่นระบุว่ามีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

คุณค่าทางโภชนาการของหญ้าฝรั่น ส่วนที่รับประทานได้ (100 กรัม)

  • พลังงาน 310 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 65.37 กรัม
  • ใยอาหาร 3.9 กรัม
  • ไขมัน  5.85 กรัม
  • โปรตีน 11.43 กรัม                                                                                     
  • วิตามิน A 530 หน่วยสากล
  • วิตามินบ B1 0.115 มิลลิกรัม
  • วิตามิน B2 0.267 มิลลิกรัม
  • วิตามิน B3 1.46 มิลลิกรัม
  • วิตามิน B6 1.01 มิลลิกรัม
  • วิตามิน B9 93 ไมโครกรัม
  • วิตามิน C 80.8 มิลลิกรัม
  • แคลเซียม 111 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 11.1 มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม 264 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 252 มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม 1,724 มิลลิกรัม
  • โซเดียม 148 มิลลิกรัม                                                                                   
  • สังกะสี 1.09 มิลลิกรัม
  • ซีลีเนียม 5.6 ไมโครกรัม

โครงสร้างหญ้าฝรั่ง

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของหญ้าฝรั่น

ฤทธิ์ลดความดันโลหิต มีการศึกษาผลของสารสกัดน้ำจากหญ้าฝรั่น และสารสำคัญสองชนิดในหญ้าฝรั่น ได้แก่ crocin และ safranal ต่อความดันโลหิต โดยทำการทดลองในหนูแรทสองกลุ่ม หนูกลุ่มแรกมีความดันโลหิตเป็นปกติ และหนูกลุ่มที่สองเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงด้วยการฉีด desoxycorticosterone acetate ให้สารสกัดหญ้าฝรั่นแก่หนูแรททั้งสองกลุ่มโดยการสอดท่อเข้าเส้นเลือดดำใหญ่ที่คอด้านขวา (right jugular vein) แล้วทำการวัดความดันโลหิตโดยสอดท่อเข้าเส้นเลือดแดงใหญ่ที่คอด้านซ้าย (left carotid artery) และวัดค่าความดันโลหิตในหลอดเลือดแดง วัดค่าเฉลี่ยความดันโลหิตของหลอดเลือดแดง (mean arterial blood pressure, MABP) และอัตราการเต้นของหัวใจ (heart rate, HR) ก่อนให้สารสกัดหญ้าฝรั่นเพื่อเป็นค่าควบคุมให้สาร crocin 50, 100 และ 200 มก./กก. safranal 0.25, 0.5 และ 1 มก./กก. สารสกัดน้ำจากหญ้าฝรั่น 2.5, 5 และ 10 มก./กก. การให้สารสกัดแต่ละครั้งให้ห่างกันครั้งละประมาณ 10 นาที เพื่อรอให้ค่า MABP หลังจากให้สารสกัดแต่ละครั้งกลับมาสู่ภาวะปกติ ผลจากการทดลองพบว่าสารสกัดหญ้าฝรั่น ทั้งสามชนิดมีผลลดค่า MABP ในหนูทั้งสองกลุ่มขึ้นกับปริมาณที่ให้ (dose-dependent manner) โดยสารสกัดน้ำจากหญ้าฝรั่น 10 มก./กก. ทำให้ค่า MABP ลดลง 60±8.7 มม.ปรอท, safranal 1 มก./กก. ลดลง 50±5.2 มม.ปรอท และ crocin 200 มก./กก. ลดลง 51±3.8 มม.ปรอท จากการทดลองสามารถสรุปได้ว่าสารสกัดหญ้าฝรั่นมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต (hypotensive) โดยสารสกัด safranal มีบทบาทในการลดความดันโลหิตมากกว่า Crocin

           ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด และระดับไขมันในเลือด มีการศึกษาฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด และระดับไขมันในเลือดของสาร crocin ในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานชนิดที่สอง (ชนิดที่ไม่ต้องพึ่งอินซูลิน) ด้วย streptozotocin (STZ) โดยในการทดลองจะแบ่งหนูทดลองออกเป็น 5 กลุ่ม เหนี่ยวนำให้หนูเป็นเบาหวานโดยการฉีด STZ (90 mg/kg) 3 กลุ่ม และเป็นหนูปกติที่ไม่ถูกฉีดด้วย STZ 2 กลุ่ม และฉีดสาร crocin เข้าทางช่องท้องแก่หนูกลุ่มที่เป็นเบาหวาน 2 กลุ่ม ความเข้มข้น 50 และ 100 mg/kg ตามลำดับ หนูกลุ่มปกติ 1 กลุ่ม ส่วนหนูปกติ และหนูที่เป็นเบาหวานที่เหลือไม่ได้รับสาร croton หลังจากนั้น 5 เดือน ประเมินความสามารถในการควบคุมระดับน้ำตาล (โดยวัดระดับน้ำตาลในเลือด สารพิษที่เกิดจากขบวนการไกลเคชั่น (advanced glycation end products [AGEs]) และน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (Hemoglobin A1C [HbA1c]) ประเมินภาวะดื้ออินซูลิน (โดยวัดค่า fasting serum insulin และ homeostasis model assessment for insulin resistance [HOMA-IR] index) และภาวะของไต (โดยวัดระดับไมโครอัลบูมินในปัสสาวะ) พบว่าหนูกลุ่มเบาหวานกลุ่มที่ได้รับสาร croton มีค่าระดับน้ำตาล และอินซูลินในเลือด, AGEs, HbA1c, fasting insulin, HOMA-IR และระดับไมโครอัลบูมินในปัสสาวะลดลง เมื่อเทียบกับหนูกลุ่มที่เป็นเบาหวานที่ไม่ได้รับ crocin นอกจากนี้ หนูกลุ่มที่ได้รับ crocin ยังมีระดับ คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และ LDL ลดลง ส่วน HDL เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่าสาร crocin มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มความไว

           ฤทธิ์ปกป้องสมอง มีการศึกษาฤทธิ์ปกป้องสมองของสาร safranal จาหญ้าฝรั่น (Crocus sativas) ในหนูแรท โดยแบ่งหนูออกเป็น 5 กลุ่ม (กลุ่มละ 7 ตัว) กลุ่มที่ 1 ฉีดน้ำเกลือเข้าทางช่องท้องขนาด 10 มล./กก. จากนั้น 30 นาที ฉีดน้ำเกลือขนาด 1 มคก. เข้าทางสมองส่วน hippocampus (กลุ่มควบคุม) กลุ่มที่ 2 ฉีดน้ำเกลือเข้าทางช่องท้องขนาด 10 มล./กก. จากนั้น 30 นาที ฉีดสาร quinolinic acid (QA) ขนาด 300 นาโนโมล/ลิตร เข้าทางสมองส่วน hippocampus เพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดความเป็นพิษต่อสมอง กลุ่มที่ 3-5 ฉีดสาร safranal เข้าทางช่องท้องขนาด 72.75, 145.5 และ 291 มก./กก ตามลำดับ จากนั้น 30 นาที ฉีดสาร quinolinic acid ขนาด 300 นาโนโมล/ลิตร เข้าทางสมองส่วน hippocampus จากนั้น 24 ชั่วโมง ทำการชำแหละซาก และแยกเก็บสมองส่วน hippocampus เพื่อนำมาวิเคราะห์ถึงการเกิดกระบวนการต้านอนุมูลอิสระ และความเสียหายของดีเอ็นเอ ด้วยวิธี ferric reducing/antioxidant power (FRAP) assay และ comet assay วิเคราะห์หาค่า total sulfhydryl (thiol) groups ซึ่งเป็นตัวชี้วัดหนึ่งถึงการเกิดกระบวนการต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี Ellman method และวิเคราะห์ตัวชี้วัดถึงการเกิดอนุมูลอิสระได้แก่ thiobarbituric acid reactive substance (TBARS) โดยการวัดค่าการเกิดปฏิกิริยา lipid peroxidation (วัดระดับ malondialdehyde; MDA) ผลจากการทดลองพบว่า หนูที่ได้รับการฉีดสาร safranal จากหญ้าฝรั่นก่อนเหนี่ยวนำให้เกิดความเป็นพิษต่อสมองด้วย QA ทุกขนาดมีผลกระตุ้นให้เกิดกระบวนการต้านอนุมูลอิสระ โดยมีผลเพิ่มค่า FRAP value, total thiol concentration และลดค่าความเสียหายของดีเอ็นเอ ระดับของ MDA ลงเมื่อเทียบกับหนูกลุ่มที่ฉีดน้ำเกลือก่อนเหนี่ยวนำให้เกิดความเป็นพิษต่อสมองด้วย QA

           ฤทธิ์ต้านความวิตกกังวล ทำให้นอนหลับ มีการศึกษาฤทธิ์ต้านความวิตกกังวล และทำให้นอนหลับของสารสกัดน้ำ สาร crocin และ safranal ที่แยกได้จากหญ้าฝรั่นในหนูเม้าส์ โดยฉีดสารสกัดน้ำ ขนาด 56, 80, 320 และ 560 มก./กก. สาร crocin ขนาด 50, 200 และ 600 มก./กก. และสาร safranal ขนาด 0.05, 0.15 และ 0.35 มล./กก. เข้าทางช่องท้องของหนู เปรียบเทียบกับยา diazepam ขนาด 3 มก./กก. เมื่อทดสอบฤทธิ์ต้านความวิตกกังวลด้วยวิธี Elevated plus maze พบว่าสารสกัดน้ำ ขนาด 56 และ 80 มก./กก. สาร safranal ขนาด 0.15 และ 0.35 มล./กก. และยา diazepam จะให้ผลในการต้านวิตกกังวลในหนู โดย diazepam จะให้ผลดีที่สุด ขณะที่ crocin ไม่มีผล ในการทดสอบการนอนหลับ พบว่าสารสกัดน้ำที่ขนาดสูง 560 มก./กก. สาร safranal ทุกขนาด และ diazepam จะทำให้ระยะเวลาในการนอนหลับของหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้นอนหลับด้วย sodium pentobarbital เพิ่มขึ้น ขณะที่ crocin ไม่มีผล นอกจากนี้สารสกัดน้ำ และ diazepam ยังมีผลลดการทรงตัว (motor coordination) และการเคลื่อนไหว (locomotor) ของหนู เมื่อทดสอบด้วยวิธี Rotarod และ Open field และสาร safranal ที่ขนาด 0.05 และ 1.5 มล./กก. มีผลลดบางการเคลื่อนไหวของหนูได้เช่นกัน แต่ไม่มีผลต่อการทรงตัว ขณะที่ crocin ไม่มีผลทั้งต่อการทรงตัวและการเคลื่อนไหว แสดงว่าสารสกัดน้ำ และ safranal จากหญ้าฝรั่นมีผลต้านความวิตกกังวล และทำให้นอนหลับได้

           นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของหญ้าฝรั่นอื่นๆ พบว่า มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา ลดภาวะหลอดเลือดแข็งตัวจากการได้รับอาหารที่มีไขมัน มีฤทธิ์ต้านภาวะซึมเศร้า มีฤทธิ์ปกป้องตับ มีฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและกระตุ้นการย่อย มีฤทธิ์บรรเทาปวด ต้านการอักเสบ และมีฤทธิ์กระตุ้นกำหนัด

การศึกษาทางพิษวิทยาของหญ้าฝรั่น

มีการศึกษาความเป็นพิษในหญ้าฝรั่นพบว่ามีความเป็นพิษต่ำ แต่บางรายงานระบุว่าการใช้หญ้าฝรั่น ขนาด >10 ก. อาจเหนี่ยวนำให้เกิดการแห้งได้ โดยมีการศึกษาในหนูเม้าส์เพศเมียที่กำลังตั้งครรภ์ในระยะสามเดือนสุดท้ายพบว่า มีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของมดลูก และส่งผลให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงในการใช้หญ้าฝรั่น เพราะมีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของมดลูก มีการศึกษาวิจัยพบว่าทำให้เกิดการแท้งบุตร และคลอดก่อนกำหนด
  2. ถึงแม้ว่าการศึกษาความเป็นพิษของหญ้าฝรั่นจะระบุว่ามีความเป็นพิษต่ำแต่ในคนปกติก็ไม่ควรบริโภค หรือ ใช้เป็นสมุนไพรมากเกินไปเพราะอาจทำให้มีผลข้างเคียง เช่น มีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ง่วงซึมกล้ามเนื้ออ่อนตัว ตัวสั่น เลือดกำเดาไหลหรือมีเลือดออกบริเวณเปลือกตา และริมฝีปากและในบางรายอาจมีอาการถ่ายเป็นเลือด เลือดออกภายในมดลูก และอาจเสียชีวิตได้
  3. หญ้าฝรั่นจะเสื่อมสภาพได้ง่ายหากโดนแสงแดดและออกซิเจน ดังนั้นไม่ควรบดเป็นผงเพื่อเก็บไว้ และควรเก็บรักษาไว้ในภาชนะกันแสงและเก็บไว้ให้ห่างจากแสงแดดรวมถึงควรเก็บไว้ในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิดที่สามารถป้องกันอากาศเข้าได้

 

เอกสารอ้างอิง หญ้าฝรั่น 

  1. ภก.กฤติยา ไชยนอก.หญ้าฝรั่น .เครื่องเทศที่แพงที่สุดในโลก!!.บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  2. ฤทธิ์ลดความดันโลหิตของสารสกัดจากหญ้าฝรั่น.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. นันทวัน บุญยะประภัศร,อรนุช โชคชัยเจริญพร (บรรณาธิการ),หญ้าฝรั่น.สมุนไพร...ไม้พื้นบ้าน(5).บริษัทประชาชน จำกัด กรุงเทพฯ,2543;51-8
  4. ผลของสาร Crocin ในหญ้าฝรั่นต่อภาวะดื้ออินซูลินและระดับไขมันในหนูทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวานด้วย Streptozotocin .ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  5. กนกพร.อะทะวงษา,พิชานันท์ ลีแก้ว.หญ้าฝรั่น.ดอกไม้ในยาไทย.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.หน้า75-80
  6. ฤทธิ์ปกป้องสมองผ่านกระบวนการต้านอนุมูลอิสระของหญ้าฝรั่น.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  7. ฤทธิ์ต้านความวิตกกังวลและทำให้นอนหลับของสารสกัดจากหญ้าฝรั่น.ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพรสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล.
  8. Maghaddasi Ms.Saffron chemicals and medicine usage.Jounal of Medicinal Plants Researsh 2010;4(1):427.30