รามใหญ่ ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

รามใหญ่ งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ

ชื่อสมุนไพร รามใหญ่
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น พิลังกาสา (ทั่วไป), ทุลังกาสา (ชุมพร), ลังพิสา (ตราด), จ้ำก้อง (เชียงใหม่), ปือนา (นราธิวาส)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ardisia elliptica Thunb.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ardisia littoralis Ande.
ชื่อสามัญ Ardsia, Jet berr, Shoebutton ardisia
วงศ์ Myrsinaceae

ถิ่นกำเนิดรามใหญ่

รามใหญ่ เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนบริเวณทวีปอเมริกาใต้ แต่อีกข้อมูลหนึ่งระบุว่ามีเขตการกระจายพันธุ์ในทวีปเอเชีย เช่น ในอินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และนิวกินี สำหรับในประเทศไทยมักพบมากทางภาคใต้ในบริเวณ ป่าชายเลน ป่าเบญจพรรณ ริมชายฝั่งทะเล หรือ ป่าดิบบนภูเขา ที่มีระดับความสูงไม่เกิน 500 เมตร จากระดับน้ำทะเล

ประโยชน์และสรรพคุณรามใหญ่

  1. แก้ไข้
  2. แก้ซาง
  3. แก้ตานขโมย
  4. แก้ท้องเสีย
  5. แก้ธาตุพิการ
  6. แก้โรคหนองใน
  7. แก้ลมเป็นพิษ
  8. ช่วยถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อย ถอนพิษงู
  9. แก้ไอ
  10. แก้กามโรค
  11. แก้ลม
  12. แก้ตับพิการ
  13. ช่วยบำรุงธาตุ
  14. แก้ปอดพิการ
  15. ช่วยฆ่าเชื้อโรค
  16. แก้โรคเรื้อน
  17. ใช้เป็นฆ่าพยาธิผิวหนัง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ 

ใช้แก้ไข้ แก้ธาตุพิการ แก้ท้องเสีย แก้ตานซาง แก้ตานขโมย โดยใช้ผลแห้งมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ปอดพิการ ตับพิการ บำรุงธาตุ แก้ไอ แก้ลม โดยใช้ใบมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ไอ แก้ท้องเสีย แก้หนองใน แก้กามโรค โดยใช้รากแห้งต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้ลมพิษ ถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อย แก้พิษงู โดยใช้รากมาตำกับสุราคั้นเอาน้ำรับประทานแล้วใช้กากปิดแผลที่ถูกแมลงสัตว์กัดต่อย หรือ งูกัด

ลักษณะทั่วไปรามใหญ่

รามใหญ่ จัดเป็นไม้พุ่ม หรือ ไม้ยืนต้น ขนาดเล็ก โดยทั่วไปจะสูง 1-4 เมตร (แต่ในบางต้นอาจสูงได้ถึง 10 เมตร) ลำต้นตั้งตรงเปลือกลำต้นสีน้ำตาลอมเทา แตกกิ่งก้านสาขาไปรอบๆ ต้นจำนวนมาก ลักษณะกิ่งก้านกลม สีน้ำตาลอมเทา ส่วนกิ่งอ่อนมีสีน้ำตาลแดง ใบออกหนาแน่นบริเวณยอด และปลายกิ่ง โดยจะออกเป็นใบเดี่ยว แบบเรียงสลับ ลักษณะเป็นรูปใบหอก หรือ รูปรีแกมขอบขนาน ปลายเป็นติ่งแหลม หรือ กลม โคนใบรูปลิ่ม ขอบใบเรียบ กว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-15 เซนติเมตร สีเขียวเมื่อใบแก่ เนื้อใบหนาเป็นมัน หลังใบ และท้องใบเรียบเกลี้ยง ดอกออกจากซอกใบ และปลายกิ่ง เป็นแบบช่อเชิงลดในแต่ละช่อจะมีดอกย่อยช่อละ 4-8 ดอก โดยกลีบดอกมีสีขาวแกมชมพู ส่วนก้านดอกย่อยยาว 8-15 มิลลิเมตร เป็นที่โคนเป็นหลอดสั้นๆ ติดกันเป็น 5 แฉก แต่ละแฉกรูปใบหอก ปลายกลีบดอกแหลม กลีบเลี้ยงสีเขียว โคนเชื่อมติดกัน ผลมีเป็นรูปทรงกลมแป้น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-6 มิลลิเมตร ผิวเรียบ ปลายผลมีติ่งแหลมสั้นๆ เนื้อผลนุ่ม ผลอ่อนเป็นสีเขียวแล้วเปลี่ยนเป็นสีแดง และเมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำคล้ายสีของมะเกี๋ยง ในผลมีเมล็ดมี 1 เมล็ด ลักษณะกลมแข็ง

การขยายพันธุ์รามใหญ่

รามใหญ่ สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด และการตอนกิ่ง โดยเป็นพืชที่ชอบดินร่วนปนทราย เป็นพืชที่ชอบแสงแดดแบบเต็มวันรวมถึงยังชอบความชื้นปานกลาง สำหรับวิธีการขยายพันธุ์รามใหญ่นั้น สามารถทำได้เช่นเดียวกับการใช้เมล็ด และการตอนกิ่งไม้ยืนต้น หรือ ไม้พุ่มอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้

รามใหญ่

องค์ประกอบทางเคมี 

มีผลการศึกษาวิจัยองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของรามใหญ่ พบสาระสำคัญดังนี้ Bauerenol, α-amyrin, β-amyrin, Bergenin, syringic acid, quercetin, stillbene และ Isorhamnetin เป็นต้น

รามใหญ่

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของรามใหญ่

มีผลการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของรามใหญ่ พบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย และยีสต์ ฤทธิ์ต้านอาการท้องร่วง เป็นต้น

การศึกษาทางพิษวิทยาของรามใหญ่

มีการศึกษาด้านพิษวิทยา ของรามใหญ่ โดยการทดสอบพิษเฉียบพลันในหนู mice โดยการให้สารสกัดจากผลสุกของพิลังกาสา ในความเข้มข้น10 g/kg ทางปาก และฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ไม่พบสิ่งผิดปกติแต่อย่างใด

           ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่ง โดยมีการทดสอบพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักรโดยกรอกสารสกัด จากผลของรามใหญ่สองครั้งๆ ละ 2.5 ก./กก. พบว่าไม่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติใดๆ และไม่ทำให้หนูเสียชีวิต ส่วนผลการศึกษาพิษกึ่งเรื้อรังในหนูแรทพันธุ์วิสตาร์ จำนวน 100 ตัว แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มๆ ละ 20 ตัว (เพศละ 15 ตัว) โดยกลุ่มควบคุมสองกลุ่มได้รับน้ำกลั่น และสารละลายทรากาคานต์ ส่วนกลุ่มทดลอง 3 กลุ่มได้รับสารสกัดรามใหญ่ ขนาด 20  200 และ 2000 มก./กก./วัน ติดต่อกันทุกวันเป็นเวลา 90 วัน พบว่า สารสกัดรามใหญ่ไม่มีผลต่อน้ำหนักตัว สุขภาพ น้ำหนักอวัยวะสัมพัทธ์ และค่าทางเคมีคลินิกแต่อย่างใด และการตรวจค่าทางโลหิตวิทยาพบว่า หนูเพศผู้กลุ่มที่ได้รับสารสกัดขนาด 200 มก./กก./ วัน มีค่า MCHC สูงกว่ากลุ่มควบคุมด้วยน้ำอย่างมีนัยสำคัญแต่ไม่สัมพันธ์กับขนาดที่ได้รับ และกลุ่มที่ได้รับสารสกัดขนาด 2000 มก./กก./วัน มีเซลล์นิวโทรฟิลลดลง แต่เซลล์อิโอสิโนฟิล เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมด้วยน้ำแต่ยังคงอยู่ในช่วงค่าปกติของหนูแรท

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง 

ในการใช้รามใหญ่ เป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้น ความระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยการใช้ในขนาดที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็กสตรีมีครรภ์ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือ ผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้รามใหญ่เป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง รามใหญ่
  1. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “รามใหญ่ (Ram Yai)”. หน้า 264.
  2. เมธิน  ผดุงกิจ, พรพรรณ เหล่าวชิระสุวรรณ, บันลือ สังข์ทอง, สุนันทา สุวันลาสี, สีใส ปาละมี. ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ขององค์ประกอบของผลสุกพิลังกาสา. วารสารวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหาสารคามปีที่ 34. ฉบับที่ 6. หน้า 602-609
  3. มงคล โมกขะสมิต, กมล สวัสดีมงคล, ประยุทธ สาดราวาหะ. การศึกษาพิษของสมุนไพร. วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2514:12:36-65.
  4. นลินภัสร์ ศักดิ์ติยสุนทร และคณะ. พิษเฉียบพลัน และพิษกึ่งเรื้อรังของรามใหญ่. เวชชสารสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปีที่ 42 ฉบับที่ 2. มิถุนายน 2555. หน้า 201-207
  5. พิลังกาสา.ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=81
  6. Phadungkit M, Luanratana, O. Anti- Salmonella activity of constituents of ArdisiaellipticaThunb. Nat Prod Res 2006; 20: 693-696.