มะปราง ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

มะปราง งานวิจัยและสรรพคุณ 18 ข้อ

ชื่อสมุนไพร มะปราง
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น มะผาง, บะผาง (ภาคเหนือ), บักปาง (ภาคอีสาน), ปราง (ภาคใต้) หมากผาง (ไทใหญ่)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Bouea macrophylla  Griffith
ชื่อสามัญ Marian Plum, Plum Mango
วงศ์ Anacardiaceae

ถิ่นกำเนิดมะปราง

มะปราง เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิด และเป็นพืชพื้นถิ่นของภูมิภาคเอเชียตุวันออกเฉียงใต้ที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในหลายๆ ประเทศในภูมิภาคนี้ โดยเชื่อกันว่าถิ่นกำเนิดของมะปรางอยู่ในประเทศ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย โดยมักพบได้ทั่วไปตามแหล่งต่างๆ สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ โดยจะมีทั้งพันธุ์หวาน และพันธุ์เปรี้ยว

ประโยชน์และสรรพคุณมะปราง

  1. ใช้แก้ไข้ตัวร้อน
  2. แก้ไข้กลับ
  3. ใช้ถอนพิษสำแดง
  4. ใช้เป็นยาพอกแก้ปวดศีรษะ
  5. ใช้ฟอกโลหิต
  6. ช่วยแก้น้ำลายเหนียว
  7. ช่วยกัดเสมหะในลำคอ
  8. แก้เสมหะ
  9. แก้เสลดหางวัว
  10. ใช้เป็นยาอมกลั้วคอ
  11. แก้ไอ
  12. ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง
  13. ช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน
  14. ช่วยบำรุงผิวพรรณ
  15. ช่วยบำรุงกระดูก
  16. ช่วยบำรุงฟัน
  17. ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย
  18. ช่วยบำรุงสายตา

           มะปรางจัดเป็นผลไม้ชนิดหนึ่ง ซึ่งมีทั้งพันธุ์เปรี้ยว และพันธุ์หวาน จึงมีการนำมาใช้รับประทานกันหลายๆ รูปแบบ เช่น พันธุ์หวานใช้รับประทานเป็นผลไม้ที่ให้ความหวาน และอุดมไปด้วยสารอาหารต่างๆ หรือ นำมาแปรรูปเป็นของหวาน เช่น มะปรางเชื่อมมะปราง กวน ส่วนพันธุ์เปรี้ยวบางสายพันธุ์ (มะปริง หรือ มะปรางป่า ตะลิงปลิง ) ใช้มาประกอบเป็นน้ำพริก หรือ นำมาใส่ในแกงส้ม หรือ ในบางสายพันธุ์ก็นิยมนำมาดอง รับประทานเป็นต้น ส่วนเนื้อไม้ของมะปรางที่เป็นไม้เนื้อแข็งจึงมีการนำมาใช้ทำเป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน หรือ เครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตร

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

  • ใช้ฟอกโลหิต แก้น้ำลายเหนียว กัดเสมหะในลำคอ แก้เสมหะ แก้เสลดหางวัวโดยนำผลสุกของมะปราง มารับประทานสด
  • ใช้แก้ไข้ตัวร้อน แก้อาการไข้กลับ ถอนพิษสำแดง โดยใช้รากมาต้มกับน้ำดื่ม
  • ใช้แก้ปวดศีรษะโดยใช้ใบมาตำให้ละเอียดแล้วจำมาพอกแล้วพันด้วยผ้าตามบริเวณที่ปวดศีรษะ


ลักษณะทั่วไปของมะปราง

มะปรางจัดเป็นไม้ผลยืนต้นมีลักษณะทรงพุ่มค่อนข้างเป็นทรงกระบอกแหลม เนื่องจากแตกกิ่งในระดับต่ำ และมีทรงพุ่มค่อนข้างทึบ เพราะจำนวนกิ่งมาก โดยเฉพาะกิ่งแขนงที่แตกออกจากกิ่งหลัก และในแต่ละกิ่งจะมีใบติดตลอดจนถึงเรือนยอด ลำต้นมีความสูง 15-30 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีเทาดำมียาง ส่วนเนื้อไม้จัดเป็นไม้เนื้อแข็ง ออกสีเหลืองส้ม หรือ เหลืองแดง  

           ใบออกเป็นใบเดี่ยว โดยแทงออกจากิ่งย่อยในลักษณะตรงกันข้ามเป็นคู่ๆ ออกดกหนาทึบไม่ผลัดใบ และสามารถแตกใบใหม่ได้ตลอดปี ใบมีลักษณะคล้ายในมะม่วงแต่มีขนาดเล็กกว่า เนื้อใบเหนียว ขอบใบเรียบ ใบกว้างประมาณ 3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 14 เซนติเมตร ใบอ่อนมีสีม่วงแดง มองเห็นเส้นใบ ใบแก่มีสีเขียวเข้มเป็นมัน

           ดอกออกเป็นช่อ บริเวณปลายกิ่งแขนง ช่อดอกยาว 8-15 เซนติเมตร เป็นดอกสมบูรณ์เพศ โดยใน 1 ช่อดอก จะมีดอกย่อยเล็กๆ หลายช่อ ดอกมีสีเหลือง มีจำนวน 4 กลีบ ส่วนกลีบเลี้ยงมีสีเขียวอ่อนหรือสีเขียวอมเหลือง 

           ผลมีลักษณะเป็นรูปวงรี หรือ รูปไข่ ปลายผลเรียวเล็กน้อย เปลือกผลเรียบ เกลี้ยง เป็นมัน ผลอ่อนมีสีเขียวอ่อน และเปลี่ยนเป็นสีเขียวแก่ เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง สีเหลืองทอง สีเหลืองอมส้ม หรือ อมส้มเข้ม เนื้อหนา หรือ บางมีรสหวาน รสหวานอมเปรี้ยว รสเปรี้ยว แตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ เช่นเดียวกันกับขนาดของผล 

           เมล็ดมี 1 เมล็ด ลักษณะเมล็ดค่อนข้างแบนยาวรีตามลักษณะทรงผล เปลือกหุ้มเมล็ดมีเส้นใยปกคลุมหนาแข็ง สีน้ำตาลอมเหลือง (ที่เรียกว่ากะลาเมล็ด) ด้านในเมล็ดเป็นเนื้อมีสีชมพูอมม่วง มีรสขม และฝาด

มะปราง

การขยายพันธุ์มะปราง

มะปราง สามารถขยายพันธุ์ได้หลายวิธี เช่น การตอนกิ่ง การเพาะเมล็ด การทาบกิ่ง และการติดตา เป็นต้น แต่วิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน คือ การเพาะเมล็ดเอาต้นพันธุ์แล้วทาบกิ่ง เนื่องจากเพาะง่าย รวดเร็ว และสะดวก ทำให้ได้จำนวนต้นพันธุ์จำนวนมาก ส่วนต้นพันธุ์ที่ได้ก็จะเหมือนต้นแม่พันธุ์ โดยต้นพันธุ์ที่พร้อมสำหรับย้ายปลูกควรมีอายุ 2-3 เดือน

            สำหรับการนำต้นพันธุ์ลงปลูก ควรปลูกในช่วงฤดูฝนประมาณ เดือน พฤษภาคม-กันยายน โดยต้องเว้นระยะปลูกที่ 4-8x4-8 เมตร เมื่อปลูกเสร็จควรนำกิ่งไม้ไผ่เสียบข้างลำต้น และมัดด้วยเชือกฟางหลวมๆ เพื่อค้ำยันด้วย

องค์ประกอบทางเคมี

มีผลการศึกษา องค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของมะปราง พบว่ามีสารสำคัญๆตามส่วนต่างๆ ดังนี้ ในเมล็ดพบสาร ellagic acid anthocganin และ gallicacid ในเปลือกต้นพบ santonin ในเนื้อผลพบ β-carotene และ ascorbic acid เป็นต้น นอกจากนี้ผลสุกของมะปรางยังมีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้

           คุณค่าทางโภชนาการของผลสุกมะปราง (100 กรัม)

  • พลังงาน 47 กิโลแคลอรีต่อลูกมะปราง
  • โปรตีน 0.4 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 11.3 กรัม
  • เส้นใย 1.5 กรัม
  • วิตามินบี 1  0.11 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 2 0.05 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 3 0.5 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 100 มิลลิกรัม 
  • ธาตุแคลเซียม 9 มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส 4 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 0.3 มิลลิกรัม
  • เบตาแครอทีน 230 ไมโครกรัม

โครงสร้างมะปราง 

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของมะปราง

ฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งปอด มีการศึกษาวิจัยสารสกัดของเมล็ดมะปราง ที่สกัดด้วย คลอโรฟอร์ม อะซิโตไนไตร เอทานอล และน้ำ โดยนำมาทดสอบฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งปอดที่ไว ดื้อต่อยาดอกโซรูบิซิน พบว่าสารสกัดเมล็ดมะปรางทั้ง 4 ส่วนสามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็ง K562, K562/ adr, GLC4 และ GLC4/adr ได้ โดยสารสกัดเมล็ดมะปราง ที่สกัดด้วยเอทานอลออกฤทธิ์ดีที่สุด และมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งการเจริญของเซลล์ 50% (IC50) ต่อเชื้อ K562, K562/ adr, GLC4 และ GLC4/adr เท่ากับ 8.9 ± 2.6, 5.8 ± 2.2, 10.9 ± 2.2 และ 6.9 ± 1.0 มคก./มล. ตามลำดับ โดยฤทธิ์ดังกล่าวอาจเกี่ยวข้องกับการชักนำการตายของเซลล์แบบอะพอพโตซิส

การศึกษาทางพิษวิทยาของมะปราง

ไม่มีข้อมูล

 

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ผู้ที่แพ้ยางของมะม่วง ควรระมัดระวังการสัมผัสน้ำยางของมะปรางด้วย เพราะเป็นพืชในวงศ์เดียวกัน
  2. การรับประทานมะปรางมากเกินไปอาจทำให้มีอาการท้องเสีย ท้องเดิน ได้ ดังนั้นจึงควรรับประทานแต่พอดี
  3. ในการใช้มะปรางเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรค ตามตำรายาต่างๆ นั้น ควรระมัดระวังในการใช้เชียวเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดี ตามที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไปหรือใช้ติดต่อกันเป็นประจำ ก่อนจะใช้มะปราง เป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง มะปราง
  1. วิภพ สุทธนะ, ณฐปกรน์ เดชสุภา, สำรี มั่นเขตต์กรน์. การเตรียมสารสกัดจากเมล็ดมะปราง และประเมินฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งปอดชนิดที่ไว ดื้อต่อยา. นิพนธ์ต้นฉบับ. วารสารศรีนครินทร์เวชสารปีที่ 28 ฉบับที่ 1.มกราคม-มีนาคม 2556. หน้า 100-109
  2. ฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งปอดชนิดที่ไว ดื้อต่อยาของสารสกัดเมล็ดมะปราง. ข่าวความเคลื่อนไหสมุนไพร.สำนักงานข้อมูลสมุนไพร. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  3. มะปราง. กลุ่มยาแก้ไข้ ลดความร้อน. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีฯ (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_09_12.htm
  4. มะปราง มะยงชิด และการปลูกมะปรางมะยงชิด.พืชเกษตรดอทคอมเว็บเพื่อพืชเกษตรไทย (ออนไลน์)เข้าถึงได้จาก http://www.puechkaset.com