สนขี้มด ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

สนขี้มด งานวิจัยและสรรพคุณ 17 ข้อ

ชื่อสมุนไพร สนขี้มด
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ส้มกุ้งขาว, ส้มกุ้งเล็ก (ทั่วไป), ส้มกุ้ง (ตรัง, ระนอง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Embelia ribes Burm.f.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Embelia gaseinifolia Wall. Ex Ridl
ชื่อสามัญ False Black Pepper, Vidanga, White-flowered Embelia
วงศ์ MYRSINACEAE

ถิ่นกำเนิดสนขี้มด

สนขี้มด จัดเป็นพันธุ์ไม้ที่มีการกระจายพันธุ์ในทวีปเอเชีย (แต่ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในภูมิภาคไทยของทวีปเอเชีย) แต่สำหรับในประเทศไทยพบได้ประปราย โดยพบได้ในบางจังหวัดทางภาคอีสาน ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยมักพบตามชายป่า หรือ ตามแหล่งรกร้างที่มีความชื้น และมีต้นไม้ใหญ่หนาทึบ

ประโยชน์และสรรพคุณสนขี้มด

  1. ใช้เป็นยาแก้ไอ
  2. แก้โลหิต
  3. ช่วยขับเสมหะ
  4. แก้ริดสีดวงจมูก
  5. เป็นยาแก้หอบหืด
  6. ใช้เป็นยาถ่ายพรรดึก
  7. ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ
  8. ทำให้อุจจาระนิ่ม
  9. ใช้เป็นยาขับฟอกโลหิตระดู
  10. ใช้แก้ปัสสาวะขัด
  11. แก้ปัสสาวะขุ่น
  12. ช่วยชะล้างทางเดินปัสสาวะ
  13. แก้นิ่ว
  14. ใช้เป็นยาถ่ายเส้นเอ็น
  15. ช่วยทำให้เส้นเอ็นหย่อน
  16. แก้อาการช้ำใน
  17. แก้เบาหวาน

           ในสมัยก่อนเมื่อผู้คนเข้าป่าเพื่อหาของป่า หรือ ล่าสัตว์ เมื่อเกินการกระหายน้ำ หรือ หิวก็มีการนำผลสุกของสนขี้มด มาใช้รับประทานเพื่อระงับความหิว หรือ แก้กระหายน้ำ ดังนั้นจึงถือได้ว่าสนขี้มดเป็นผลไม้ป่าชนิดหนึ่ง


รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้เบาหวานโดยใช้เมล็ดที่นำมาตากให้แห้งแล้วนำมาป่นเป็นผง 1-2 ช้อนชา แล้วนำมาชงกับน้ำร้อนดื่ม เช้า เย็น

ใช้แก้โลหิต แก้ไอ ขับเสมหะ โดยใช้ราก หรือ ใบสนขี้มด มาต้มกับน้ำดื่ม

ใช้เป็นยาระบาย ฟอกโลหิตระดู โดยใช้เถา และใบมาต้มกับน้ำดื่ม

ใช้เป็นยาถ่ายเส้นเอ็นทำให้เอ็นหย่อน แก้ช้ำใน โดยใช้เถาราก และเนื้อไม้ มาต้มกับน้ำดื่ม

ใช้แก้ริดสีดวงจมูก โดยใช้ราก หรือ เถาของสนขี้มดมาผสมกับตัวยาอื่นๆ อีก 11 ชนิด นำมามวนสูบ

ใช้แก้ปัสสาวะขัด ขับปัสสาวะ แก้นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขุ่น ช่วยชะล้างทางเดินปัสสาวะ


ลักษณะทั่วไปของสนขี้มด
 

สนขี้มด จัดเป็นพรรณไม้พุ่มรอเลื้อยมีเถาไว้พาดพันกับต้นไม้อื่น เถาแก่มีสีน้ำตาลเข้ม เถาอ่อนมีสีเขียว และมีแห้งสีขาวเคลือบบริเวณเถา มีความสูงจากพื้นได้ประมาณ 3-6 เมตร และหากเลื้อยพันเต็มที่อาจยาวได้ถึง 13 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยว ออกแบบเรียงสลับ ลักษณะของใบกว้างประมาณ 1.2-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร เป็นรูปของขนาดแกมวงรี ปลายใบเรียวแหลม ผิวหน้าใบสีเขียวเข้มเกลี้ยงเป็นมัน ขอบใบเรียงส่วนหลังใบมีสีเขียวอมขาว เนื้อใบกรอบเกรียม ดอกออกเป็นช่อแยกแขนง ปลายกิ่งคล้ายช่อพริกไทย โดยในแต่ละช่อจะยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ส่วนดอกย่อยมีขนาดเล็กเป็นสีเทา ส่วนกลีบดอกปลายแยกเป็นแฉกลึก ลักษณะเป็นรูปวงรี ยาวประมาณ 1.5-2 มิลลิเมตร มีเกสรสีขาว ด้านนอกมีขนขึ้นหนาแน่น และมีกลีบเลี้ยงดอกเชื่อติดกัน ผลเป็นผลสดออกเป็นช่อ หรือ เป็นพวงยาวประมาณ 2 นิ้ว โดยใน 1 ช่อจะมี 20-30 ผล ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม มีขนาดเท่าผลพริกไทย หรือ มีขนาดประมาณ 3-4 มิลลิเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง หรือ ดำ

สนขี้มด

การขยายพันธุ์สนขี้มด

สนขี้มด สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการใช้เมล็ด และการปักชำเถาแก่ แต่ในการขยายพันธุ์ หรือ กระจายพันธุ์ของสนขี้มดในปัจจุบันนั้นจะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติมากกว่า การถูกนำมาขยายพันธุ์โดยมนุษย์ ซึ่งการขยายพันธุ์ในธรรมชาตินั้นก็จะเป็นการขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดทั้งสิ้น โดยเมื่อผลสุกตกลงไปยังพื้นดิน หรือ มีสัตว์มากินผลสุกแล้วไปถ่ายอุจจาระในบริเวณพื้นที่อื่นๆ จึงทำให้มีการงอกของต้นใหม่ในบริเวณนั้นๆ จึงทำให้เกิดการกระจายพันธุ์ต่อไป

องค์ประกอบทางเคมี

มีผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีในทุกส่วนของสนขี้มด ปรากฏว่าพบสารสำคัญหลายชนิด เช่น  embelin, tannin, Vanillic acid, Chrorogenic acid, Cinnamic acid, quercitol, vilangin, D-querecitol และ christenbine เป็นต้น

โครงสร้างสนขี้มด

ที่มา : Wikipedin

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของสนขี้มด

ฤทธิ์ในการรักษาแผล มีการศึกษาวิจัยฤทธิ์รักษาแผลของสารสกัดจากใบสนขี้มด ในหนูขาวโดยแบ่งหนูออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุม กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ได้รับยามาตรฐาน Framycetin ointment กลุ่มที่ 3 และ 4 เป็นกลุ่มที่ได้รับสารสกัดเอทานอลจากใบสนขี้มด และได้รับสารสกัด embelin จากใบสนขี้มดตามลำดับ ซึ่งได้ทำการศึกษาในแผล 3 ชนิด คือ แผลที่ถูกตัด (excision wound) แผลที่เป็นรอยเชือด (incision wound) และแผลที่มีเนื้อตาย (dead space wound) โดยแผลที่ถูกตัด (excision wound) หนูจะถูกทำเกิดแผลขนาด 500 ตารางมิลลิเมตร และให้หนูแต่ละกลุ่มทายา ointment ดังนี้ กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุมไม่ได้รับอะไร กลุ่มที่ 2 ทายา Framycetin ointment กลุ่มที่ 3 ทา 0.2% (w/w) gel ของสารสกัดเอทานอลจากใบสนขี้มด (สารสกัดหยาบ 200 มก. ผสมกับ 100 ก. sodium alginate) กลุ่มที่ 4 ได้รับ 0.2% (w/w) gel ของสารสกัด embelin จากใบสนขี้มด (embelin 100 มก. ผสมกับ 50 ก. Sodium alginate) ทาที่แผลทุกวันๆ ละ 1 ครั้ง จนกว่าแผลจะปิด ซึ่งใช้เวลาทดลองทั้งหมด 16 วัน จากผลการทดลองพบว่ากลุ่มที่ได้รับยาทาจากสารสกัดเอทานอลของใบสนขี้มด และสาร embelin สามารถรักษาแผลโดยทำให้แผลปิดได้ 97.00 ± 2.61 และ 98.50 ± 1.64% ในวันที่ 16 ซึ่งใกล้เคียงกับยามาตรฐาน Framycetin ที่ทำให้แผลปิด 99.17 ± 0.75% ในขณะที่การศึกษาในแผลที่เป็นรอยถูกเชือด (incision wound) ก็ได้รับยาทาเช่นเดียวกับกลุ่ม excision wound โดยทาทุกวันจนกว่าแผลจะหาย พบว่ากลุ่มที่ได้รับยาทาจากสารสกัดเอทานอล และสาร embelin จากใบสนขี้มด จะมีผลทำให้ความยืดหยุ่นของบาดแผล (tensile strength) และ breaking strength สูงขึ้น ซึ่งใกล้เคียงกับยามาตราฐาน Framycetin และในแผลที่มีเนื้อตาย (dead space wound) ทำการทดลองโดยให้หนูกลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุมได้รับ 1 มล./กก. ของ 1% gum tragacanth ป้อนทางสายยาง กลุ่มที่ 2 และ 3 เป็นกลุ่มที่ได้รับสารแขวนลอยของสารสกัดใบสนขี้มด 30 มก./มล. ผสมกับ 1% (w/v) gum tragacanth และสารแขวนลอยของสาร embelin 4 มก./มล. ผสมกับ 1% (w/v) gum tragacanth ป้อนทางสายยาง ขนาด 30 มก./มล. และ 4 มก./มล. ตามลำดับ พบว่าหนูกลุ่มที่ได้รับสารสกัดจากใบสนขี้มด และสาร embelin จะมีการเพิ่มขึ้นของเนื้อเยื่อ (granulation tissue) และความยืดหยุ่นของบาดแผล (tensile strength) สูงขึ้น ได้ดีกว่ากลุ่มควบคุม

           ฤทธิ์ปกป้องระบบประสาทต่อการขาดเลือดไปเลี้ยงที่สมอง มีการศึกษาวิจัยในหนูขาวเพศผู้ 60 ตัว แบ่งออกเป็น 6 กลุ่มๆ ละ 10 ตัว กลุ่มที่ 1-3 ต้องทำ sham operation คือ การผ่าตัดเปิดเส้นเลือด carotid artery เพื่อใส่ลวดเข้าไปแต่ลวดยังไม่ได้ใส่ กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่ม sham + vehicle คือ กลุ่มที่ได้รับ 1% Tween 80 ในน้ำกลั่น นาน 30 วัน + sham operated กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่ม sham + ER-100 คือ กลุ่มที่ได้รับสารสกัดเอทานอลของผลสนขี้มด 100 มก./กก. ป้อนทางปากนาน 30 วัน + sham operated กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่ม sham + ER 200 คือ กลุ่มที่ได้รับสารสกัดเอทานอลของผลสนขี้มด 200 มก./กก. ป้อนทางปากนาน 30 วัน + sham operated กลุ่มที่ 4-6 ต้องเหนี่ยวนำให้เกิด middle cerebreal artery occlusion (MCAO) คือ ทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองส่วนกลางจนถึงสมองส่วนหน้า และมีผลให้เกิดการขาดเลือดไปเลี้ยงที่สมอง กลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่ม MCAO + vehicle คือ กลุ่มที่ได้รับ 1% Tween 80 ในน้ำกลั่นนาน 30 วัน + MCAO กลุ่มที่ 5 เป็นกลุ่ม MCAO + ER-100 คือ กลุ่มที่ได้รับสารเอทานอลของผลสนขี้มด 100 มก./กก. ป้อนทางปากนาน 30 วัน + MCAO กลุ่มที่ 6 เป็นกลุ่ม MCAO + ER-200 คือ กลุ่มที่ได้รับสารสกัดเอทานอลของผลสนขี้มด 200 มก./กก. ป้อนทางปากนาน 30 วัน + MCAO พบว่าในกลุ่มที่ทำให้เกิดการขาดเลือดไปเลี้ยงที่สมอง (กลุ่มที่ 4, 5, 6) ระดับ glutathione (GSH), glutathione peroxidase (GPx), glutathione reductase (GR) และ glutathione-S-transferase (GS+) ในสมองส่วน hippocampus สมองส่วนหน้าลดลง และการทำงานของกล้ามเนื้อ (grip strength) ลดลง ในขณะที่ lactate dehydrogenase (LDH) ในเลือด และสารอนุมูลอิสระ thiobarbituric acid reactive substance (TBARS) ในสมองส่วน hippocampus และสมองส่วนหน้าเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับ sham operation (กลุ่ม 1, 2, 3) นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มที่ได้รับสารสกัดเอทานอลของสนขี้มด จะช่วยเพิ่มการทำงานของ grip strength เพิ่มระดับ GSH, GPx, GR และ GST ลดระดับ LDH ในเลือด ระดับ TBARS ในสมองส่วน hippocampus และสมองส่วนหน้า เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ได้รับ MCAO และ vehicle group

การศึกษาทางพิษวิทยาของสนขี้มด

มีการทดสอบความเป็นพิษของเมล็ดสนขี้มด เมื่อฉีดสารสกัดเอทานอล 50% จากเมล็ดสนขี้มด เข้าที่ช่องท้องของหนูถีบจักร พบว่าขนาดที่ทำให้หนูทดลองตายเป็นจำนวนครึ่งหนึ่ง (LD50)  มีค่าเท่ากับ 750 มิลลิกรัม/กิโลกรัม

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้สนขี้มด มาเป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ นั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดีที่ระบุไวในตำรับตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในขนาด และปริมาณที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ติดต่อกันนานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้สนขี้มดเป็นสมุนไพรในการบำบัดรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง สนขี้มด
  1. เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. “ส้มกุ้ง”. หนังสือสมุนไพร บำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. หน้า 152.
  2. ผลการปกป้อง ระบบประสาทของสารสกัดเอทานอลของผลส้มกุ้งต่อการขาดเลือดไปเลี้ยงที่สมองของหนู. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
  3. รศ.ดร.พรชุลี อาธวดำรุง. ชุดเครื่องมือ ประมวลคำศัพท์สมุนไพรไทย. มหาวิทยาลัยนเรศวร. สิงหาคม 2561. หน้า 164
  4. เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. “ส้มกุ้ง”. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด. หน้า 174.
  5. ฤทธิ์การรักษาแผลของสารสกัดจากใบส้มกุ้ง. ข่าวความเคลื่อนไหวสมุนไพร. สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหิดล.