หัวร้อยรู ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย

หัวร้อยรู งานวิจัยและสรรคุณ 17 ข้อ

ชื่อสมุนไพร หัวร้อยรู
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น ป่าช้าผีมด (ภาคอีสาน), ตาสิมา, คาลูบูตาสิมา (ภาคใต้, มลายู), กระเช้าผีมด (สุราษฎร์ธานี), ปุมเป้า (ตราด), ร้อยงู (ปัตตานี), กาฝากหัวเสือ (นราธิวาส)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hydnophytum formicarum Jack
ชื่อสามัญ Ant plant
วงศ์ RUBIACEAE

ถิ่นกำเนิดหัวร้อยรู

หัวร้อยรู เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียโดย มีแหล่งกระจายพันธุ์ในประเทศอินเดีย และในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่เมียนม่าห์ ถึงอินโดนีเซียรวมถึงในหมู่เกาะแปซิฟิก และนิวกินี เป็น โดยมักจะพบในป่าดงดิบทั่วไป ส่วนในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ

ประโยชน์และสรรพคุณหัวร้อยรู 

  1. ใช้บำรุงหัวใจ
  2. แก้โรคปอด
  3. ช่วยขับชีพจร
  4. แก้ปวดศีรษะ
  5. แก้พิษในข้อในกระดูก
  6. แก้เบาหวาน
  7. แก้พิษประดง
  8. แก้ข้อเข่าข้อเท้าบวม
  9. ช่วยบำรุงน้ำนมในสตรีหลังคลอด
  10. แก้มะเร็ง
  11. แก้ท้องร่วง
  12. ช่วยขับพยาธิ
  13. ช่วยดับพิษร้อน
  14. ใช้ถอนพิษไข้
  15. แก้พิษไข้
  16. ใช้พาฬแก้พิษอักเสบ บวมช้ำ
  17. แก้น้ำเหลืองเสีย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้บำรุงหัวใจ แก้พิษประดง แก้พิษในข้อในกระดูก แก้ข้อเข่าเท้าบวม แก้ปวดศีรษะ บำรุงน้ำนมสตรีหลังคลอด โดยใช้หัวหัวร้อยรู แห้งฝานเป็นแผ่นมาต้มกับน้ำดื่ม ใช้แก้เบาหวาน โดยนำหัวร้อยรูมาผสมกับต้นกำแพงเจ็ดชั้น หัวข้าวเย็นเหนือ หัวข้าวเย็นใต้ แก่นสัก หญ้ากันชาดทั้งต้น และรากทองพันชั่ แล้วนำมาต้มเป็นน้ำดื่ม


ลักษณะทั่วของไปหัวร้อยรู

หัวร้อยรูจัดเป็นพืชจำพวกฝาชนิดมีหัว ซึ่งเป็นไม้ที่อิงอาศัยเกาะตามต้นไม้อื่น ลำต้นสูง 25-60 เซนติเมตร มีลำต้นเป็นแบบอวบน้ำ โดยส่วนโคนต้นจะขยายใหญ่เป็นรูปกลมป้อม หรือ โป่งพอง ต้นแก่บางต้นอาจจะมีหัวกลมโตขนาดเท่าลูกมะพร้าว ภายในหัวเป็นรู พรุนไปทั่วหัว สีของเนื้อเป็นสีน้ำตาลเข้มเนื้อนิ่ม ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามเป็นรูปหอกกว้าง หรือ รูปวงรี โคนใบสอบ ปลายใบมน กว้าง 2-7 เซนติเมตร และยา 4-15 เซนติเมตร แผ่นใบอวบน้ำหนาเรียบเนียน ผิวเรียบเกลี้ยงทั้งสองด้าน และมีก้านใบสั้น ประมาณ 2-5 มิลลิเมตร ดอกออกเป็นดอกเดี่ยวโดยจะออกเป็นกระจุก 2-5 ดอก ตามง่ามใบที่อยู่บนกิ่ง และบริเวณรอบ ลักษณะดอกมีขนาดเล็ก กลีบดอกมี 4 กลีบ เป็นแฉกสีขาว เชื่อมติดกันเป็นหลอดไม่มีก้านชูอับเรณู และไม่มีก้านดอก ผลเป็นผลสดรูปไข่กลับ หรือ รูปรี ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีส้ม หรือ สีแดง ผลมีขนาดเล็กมาก กว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-7 มิลลิเมตร

หัวร้อยรู

การขยายพันธุ์หัวร้อยรู

หัวร้อยรู สามารถขยายพันธุ์ได้โดยวิธีการเพาะเมล็ด การปักชำ และการตอนกิ่ง แต่วิธีที่จะทำให้เกิดหัวจากการขยายพันธุ์มีเพียงการเพาะเมล็ดเท่านั้น ส่วนวิธีการปักชำ และตอนกิ่งพันธุ์ที่ได้จะไม่สามารถพัฒนาให้เป็นหัวได้ ดังนั้นหากต้องการขยายพันธุ์หัวร้อยรู เพื่อให้ได้หัวนั้นต้องใช้วิธีเพาะเมล็ดแล้วนำต้นกล้าที่ได้ไปปลูกเท่านั้น ส่วนวิธีการเพาะเมล็ด และวิธีการปลูกนั้นก็สามารถทำได้ เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ด และปลูกพืชชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้

องค์ประกอบทางเคมีหัวร้อยรู 

มีผลการศึกษาวิจัยถึงองค์ประกอบทางเคมีของหัวร้อยรู พบว่ามีสาระสำคัญที่อยู่ในหัวร้อยรู ได้แก่ สารกลุ่ม flavonoids และ phenolic compounds เช่น isoliquiritigenin, butin, protocatechualdehyde, butein รวมถึงสารกลุ่ม phytosterol เช่น stigmasterol  β-silosterol และยังพบ Shapinic acid อีกด้วย

โครงสร้างหัวร้อยรู

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของหัวร้อยรู 

มีผลการศึกษาวิจัยทางเภสัชวิทยาของสารสกัดจากหัวร้อยรู ที่สกัดจากตัวทำละลายต่างๆ ในต่างประเทศหลายฉบับพบว่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ ฤทธิ์ต้านการอักเสบ และมีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็ง เป็นต้น

การศึกษาทางพิษวิทยาของหัวร้อยรู 

ไม่มีข้อมูล

 

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

ในการใช้หัวร้อยรู เพื่อเป็นสมุนไพรทั้งในรูปแบบสมุนไพรเชิงเดี่ยว หรือ ใช้เป็นเครื่องยาหรือส่วนประกอบของตำรับยาต่างๆ ก็ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้เครื่องยาที่ถูกจัดเตรียมโดยผู้เชี่ยวชาญ หรือ หาซื้อตามห้างร้านที่น่าเชื่อถือ และได้รับอนุญาตจาก อย. และควรใช้ในปริมาณที่พอดีที่ระบุไว้ในตำรับตำราต่างๆ ไม่ควรใช้เกินขนาด หรือ ใช้ติดเนื่องกันเป็นระยาเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังรวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำก่อนจะได้หัวร้อยรูเป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง หัวร้อยรู
  1. วีระชัย ณ นคร. 2546. สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ เล่ม 7. โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮาส์.กรุงเทพฯ.
  2. เยาวพรรณ  สนธิกุล, ดวงแขฑิตา กาญจนโสภา, เบญมาศ สมวงศ์, สุรพล ฐิติธนากุล. ผลขอวัสดุเพาะและวัสดุปลูกต่อการงอกของเมล็ด และการเจริญเติบโตของหัวร้อยรู. วารสารแก่นเกษตร ปีที่ 47. ฉบับพิเศษ 1. 2562. หน้า 1425-1430
  3. หัวร้อยรู. ฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.thaicudedrug.com/main.php?action=viewpage&pid=148
  4. สาระสำคัญที่สกัดได้จากหัวร้อยรู มีอะไรบ้าง. กระดานถาม-ตอบ. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asp?id=6130
  5. Itharat, A., T.Supavita, P.Jusanit, P.Singchangchai, P. Subchareon, G.Deevisad, P.Ubonkaw, P. Ratanasuwan,V. Kajpunyapong, andR. Muangsrinun. 1999. Survey of Medicinal Plants and Local Folk Wisdom in Southern Thailand: Case Study at Talebun National Parks. Prince of Songkla University, Songkla, pp. 82–115.
  6. PrachayasitikulS B. P., A.Worachartcheewan, C. Isarankura-Na-Ayudhya, S.Ruchirawat, and V. Prachayasittikul.2008 Antimicrobial and Antioxidative Activities of Bioactive Constituents from Hydnophytumformicarum Jack.Molecules. 13; 904-921.
  7. Ueda, J.Y., Y. Tezuka, A.H. Banskota, Q. Le Tran, and Q.K. Tran. 2002. Antiproliferative activity of Vietnamese medicinal plants. Biol. Pharmaceut. Bull., 25: 753-760
  8. Beckstrom-Sternberg, S.M., J.A. Duke, and K.K. Wain. 1994. The ethnobotany database. ACEDB Version 4.3, Data Version July, 1994.
  9. Nguyen, M.T.T., S.Awale, Y.Tezuka, Q.L.Tran, H. Watanabe,and S.Kadota. 2004. Xanthine oxidase inhibitory activity of Vietnamese medicinal plants. Biol. Pharm. Bull., 27: 1414-1421.