กระเบา ประโยชน์ดีๆสรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

กระเบา งานวิจัยและสรรพคุณ 12 ข้อ

ชื่อสมุนไพร กระเบา
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น กระเบาน้ำ, กระเบาเบ้าแข็ง, แก้วกาหลง (ภาคกลาง), เบา (ภาคใต้), กระตงดง (เชียงใหม่), ดงกระเบา (ลำปาง), หัวค่าง (ประจวบคีรีขันธ์), กุลากาหลง (ปัตตานี), กระเบาตึก (เขมร), ตั๋วฮ่งจี๊ (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hydnocarpus anthelminthicus Pierre ex Laness.
ชื่อสามัญ Chaulmoogra
วงศ์ Flacourtiaceae

ถิ่นกำเนิดกระเบา 

กระเบา เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย แถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณประเทศ พม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา, มาเลเซีย และมีการกระจายพันธุ์ไปยับบริเวณใกล้เคียง โดยจะสามารถพบได้ตามเขาหินปูน ป่าดิบ และตามชายป่าริมน้ำทั่วไป ที่มีความสูงไม่เกิน 1300 เมตร จากระดับน้ำทะเล สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ

ประโยชน์และสรรพคุณกระเบา

  1. แก้เสมหะเป็นพิษ
  2. ช่วยดับพิษทั้งปวง
  3. รักษาบาดแผลต่างๆ
  4. ใช้ฆ่าพยาธิผิวหนัง
  5. ใช้รักษาแผลสด
  6. ใช้ฆ่าพยาธิบาดแผล
  7. รักษากลากเกลื้อน
  8. แก้มะเร็ง
  9. รักษาอีสุกอีใส
  10. แก้คุดทะราด
  11. แก้ปวดบวมตามข้อ
  12. แก้โรคเรื้อน

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้แก้เสมหะเป็นพิษ ดับพิษต่างๆ รักษาบาดแผล โดยใช้ราก และเนื้อไม้มาต้มกับน้ำดื่ม ใช้ฆ่าพยาธิบาดแผล รักษากลากเกลื้อน รักษาแผลสด โดยใช้ใบสดกระเบา มาตำให้ละเอียดแล้วพอกบริเวณที่เป็นแผล ใช้ทางรักษาโรคผิวหนังต่างๆ โรคเรื้อน กุฏฐังคุดทะราดกลากเกลื้อน แก้ปวดบวมตามข้อ โดยใช้ รากและเนื้อไม้ใช้แก้เสมหะเป็นพิษ ใช้แก้โรเรื้อนโดยใช้น้ำมันที่บีบจากเมล็ด 3 มล. น้ำนม 30 มล. น้ำเชื่อม 40 มล. น้ำ 160 มล.แล้วนำทั้งหมดต้มผสมกัน ใช้ดื่มหลังอาหารวันละ 3 เวลา ใช้รักษาอีสุกอีใส โดยใช้กระเบา 50 กรัม และกระเทียม 20 กรัม นำมาตำให้ละเอียดแล้วผสมกับน้ำ 100 cc. จากนั้นนำมาต้มให้เดือดปล่อยให้เย็น แล้วจึงนำมาใช้ทาบริเวณที่เป็นแผลอีสุกอีใส


ลักษณะทั่วไปของกระเบา

กระเบา จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ประมาณ 10-20 เมตร ลำต้นเปลาตรง รูปทรงสูงโปร่ง ไม่ผลัดใบ เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีเทา หรือ เทาดำ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับออกตามกิ่งโดยจะออกหนาทึบ ใบเป็นรูปหอกแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมสอบเรียว โคนใบสอบหรือมน ขอบใบเรียบ เนื้อใบแข็งกรอบ เป็นสีเขียวเข้ม หลังใบเป็นมัน ส่วนท้องใบไม่เป็นมัน และมีสีอ่อนกว่ามีเส้นแขนงใบเห็นได้ชัด ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-20 เซนติเมตร ดอกจะเป็นชนิดแยกเพศอยู่ต่างต้นกัน โดยดอกตัวผู้จะออกแบบเดี่ยวๆ ตามซอกใบซึ่งลักษณะดอกจะมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ และมีขนอ่อนนุ่มปกคลุมทั้งสองด้าน ซึ่งกลิ่นของดอกตัวผู้ของกระเบาใหญ่ จะหอมมาก เรียกกันว่า “แก้วกาหลง” และมีความยาวของก้านดอกประมาณ 1.5-3 ซม. ส่วนดอกตัวเมียจะออกตามซอกใบเป็นช่อสั้นๆ โดยแต่ละช่อจะมีดอกย่อย 5-10 ดอก มีกลีบเลี้ยง และกลีบดอกเหมือนดอกตัวผู้ แต่บริเวณตรงปลายเกสรตัวเมียจะมี 5 แฉก บริเวณรังไข่เป็นรูปไข่กับ และจะมีขนสั้นๆ คลุมอยู่ ผลเป็นรูปทรงกลม ผลมีขนาดกว้างประมาณ 6-12 เซนติเมตร ผิวเรียบเปลือกผลหนาแข็งเป็นสีน้ำตาล ผิดผลมีขนสั้นๆ คล้ายกำมะหยี่สีน้ำตาลคลุมอยู่ ในเนื้อผลเป็นสีขาวอมเหลือง มีเมล็ดสีดำอยู่ประมาณ 30-50 เมล็ด ส่วนเมล็ดมีลักษณะรูปรี หรือ รูปไข่เบี้ยว ปลายมนทั้งสองข้าง กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร

กระเบา

การขยายพันธุ์กระเบา

กระเบาสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด สำหรับวิธีการเพาะเมล็ด และวิธีการปลูกก็สามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ด และปลูกไม้ยืนต้นชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ แต่ในปัจจุบันการขยายพันธุ์ของกระเบาส่วนใหญ่จะเป็นการขยายพันธุ์ในธรรมชาติมากกว่าการนำมาปลูกโดยมนุษย์ เพราะต้นกระเบา เป็นไม้ยืนต้นที่มีความสูงมากและไม่ค่อยเป็นที่นิยม จึงทำให้การใช้ประโยชน์จากกระเบาจะเป็นการไปเก็บจากธรรมชาติมากกว่าการปลูกใช้เอง

กระเบา

องค์ประกอบทางเคมี 

มีผลการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีจากส่วนต่างๆ ของกระเบา พบว่ามีสารสำคัญหลายชนิด เช่น เมล็ดและใบสดมีสาร Hydrocyanic acid (ซึ่งเป็นสารที่มีความเป็นพิษ) ส่วนน้ำมันที่บีบได้จากเมล็ดเรียกว่า น้ำมันกระเบา (Chaulmoogra oil หรือ Hydnocarpus oil) พบสาร chaulmoogric acid, hydnocarpic acid, palmitic acid, oleic acid, Linolenic acid, Cyclopentenylglycine, Alepric acid, Aleprolic acid และ Aleprylic acid, Gorlic acid

            นอกจากนี้เนื้อกระเบา ยังมีคุณค่าทางโภชนาการดังนี้

คุณค่าทางโภชนาการของเนื้อกระเบา (100 กรัม)

  • แคลเซียม                                  60.92               มิลลิกรัม
  • โซเดียม                                     1.48                 มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม                             573.39             มิลลิกรัม
  • แมกนีเซียม                                65.24               มิลลิกรัม
  • โครเมียม                                    0.24                 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก                                   1.98                 มิลลิกรัม

 โครงสร้างกระเบา 

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของกระเบา

ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ มีผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านแบคทีเรียของน้ำมันกระเบา โดยการเตรียมความเข้มข้นต่างๆ ของน้ำมันกระเบาด้วยสารก่ออิมัลชัน (span 20 และ tween 80) แล้วนำมาทดสอบกับแบคทีเรีย 14 ชนิด และรา 1 ชนิด โดยวิธี broth dlilution ผลการทดสอบแสดงถึงค่า mirimum bactericidal concenteation (MBC) ของน้ำมันกระเบาที่ร้อยละ 20-45 ซึ่งผล MBC ต่อ S.aureus และ S.epidermidis ที่ร้อยละ 27 ส่วนผลการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งระบุว่า น้ำมันเมล็ดกระเบา สารสกัดเอธานอล และสารสกัดน้ำจากเนื้อเมล็ด สามารถยับยั้งเชื้อ Streptococcus pneumonia, S. Pyogenes, Haemophilus influenza, Mycobacterium tuberculosis, Trichophyton rubrum, T. mantagrophytes, Candida  albicans และ Aspergillus niger ได้ 

            ฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ต้านการอักเสบพบว่า สารสกัดเอธานอลจากเปลือกเมล็ดมีฤทธิ์ต้านการอักเสบดีกว่าสารสกัดเอธานอลจากเนื้อเมล็ด ส่วนน้ำมันเมล็ดกระเบา สารสกัดน้ำจากเปลือกเมล็ด และสารสกัดน้ำจากเนื้อเมล็ดมีแนวโน้มเพิ่มการอักเสบ

            นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของกระเบาอีกหลายฉบับ โดยระบุว่ามีฤทธิ์ยับยั้งการบีบตัวของมดลูก ฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อเรียบ ฤทธิ์ยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ฤทธิ์ฆ่าพยาธิ ฤทธิ์กระตุ้นการสร้างเม็ดสีของผิว เป็นต้น

การศึกษาทางพิษวิทยาของกระเบา

มีการศึกษาทางพิษวิทยาพบว่า ใบ และเมล็ดมีความเป็นพิษ ซึ่งมี cyanogenetic glycoside ที่เป็นพิษต่อมนุษย์

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. เมล็ดกระเบาส่วนมากในตำรายาต่างๆ จะนำมาใช้เป็นยาภายนอก แต่หากต้องการใช้ผสมกับตำราอื่นเพื่อรับประทาน จะต้องมีวิธีการกำจัดพิษในเมล็ดก่อนที่จะนำมาใช้ โดยผู้เชี่ยวชาญ หรือ อาจหาซื้อตามร้านค้าที่เชื่อถือได้ และได้รับอนุญาตจาก อย. และห้ามที่สำคัญรับประทานเกินจากขนาดที่กำหนด
  2. น้ำมันกระเบา ได้จากการบีบเมล็ด ห้ามนำมาใช้โดยไม่ผ่านความร้อนเนื่องจากมีสารไซยาไนต์ซึ่งเป็นพิษต่อกล้ามเนื้อ ระบบประสาท และถึงแก่ความตายได้หากรับประทานเป็นจำนวนมาก
  3. เด็กสตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องก่อนจะใช้กระเบาเป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ ตามตำรับตำรายาต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

เอกสารอ้างอิง กระเบา
  1. ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์. หนังสือสมุนไพร ไทย เล่ม 1. “กระเบาใหญ่ (Kra Bao Yai)”. หน้า 34.
  2. สุรางค์  ลีละวัฒน์ และคนอื่นๆ. (2555). การศึกษา และพัฒนาผลิตภัณฑ์จากต้นกระเบา (Hydnocarpus anthelminthicus Pierre ex Laness): รายงานการวิจัย (Research and Development of Natural Products from Hydnocarpus anthelminthicus Pierre ex Laness). กรุงเทพฯ:สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ. 234 หน้า.
  3. วิทยา บุญวรพัฒน์. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “กระเบาน้ำ”. หน้า 40
  4. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. “กระเบา ”. หน้า 122.
  5. จันทร์จิรา ต้องไม้.ธีระรัตน์ เกษสถิตย์. ฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ของน้ำมันกระเบา. โครงการพิเศษปริญญาเภสัชศาสตร์บัณฑิตคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล. 2556.
  6. หพญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, รศ.ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, อาจารย์กัญจนา ดีวิเศษ. นังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “กระเบาใหญ่”. หน้า 61.
  7. กระเบา. กลุ่มยาแก้โรคเรื้อน. สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด. โครงการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีฯ (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_21.htm