แห้ม ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆ และข้อมูลงานวิจัย

แห้ม งานวิจัยและสรรพคุณ 12 ข้อ

ชื่อสมุนไพร แห้ม
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น แฮ่ม (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Coscinium fenestratum (Goetgh.) Colebr.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Menispermum fenestratum Gaetn., Coscinium wallichianum Miers, Coscinium blumeanum act. Non Miers ex Hook. F. & Thomson, Coscinium maingayi Pierre, Coscinium usitatum Pierre
ชื่อสามัญ Faise calumba, Ceylon calumba root.
วงศ์ MENISPERMACEAE

ถิ่นกำเนิดแห้ม

แห้ม เป็นพืชที่อยู่วงศ์เดียวกันกับ บอระเพ็ด และขมิ้นเครือ มีถิ่นกำเนิดบริเวณเขตร้อนของภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศ ลาว พม่า ไทย เวียดนาม กัมพูชา บังคลาเทศ ศรีลังกา รวมถึงทางตอนใต้ของอินเดีย โดยจะพบตามป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น และป่าดงดิบ ของประเทศดังกล่าว สำหรับในประเทศไทยยังไม่มีการปลูกในเชิงพาณิชย์ แต่พบได้ตามป่าลึกในภาคเหนือ ส่วนที่นำมาใช้เป็นสมุนไพรกันนั้นส่วนมากมักจะนำเข้ามาจาก ลาว และพม่า เป็นส่วนมาก

ประโยชน์และสรรพคุณแห้ม

  1. ใช้รักษาโรคดีซ่าน
  2. แก้ไข้
  3. เป็นยาเจริญอาหาร
  4. ช่วยย่อยอาหาร
  5. แก้บิด
  6. แก้ลำไส้อักเสบ
  7. ช่วยบำรุงโลหิต
  8. แก้ขับระดู
  9. แก้ตาแดง
  10. แก้ตาอักเสบ
  11. ช่วยรักษาแผลเปื่อยมีหนอง
  12. แก้ผื่นคันตามผิวหนัง

รูปแบบและขนาดวิธีใช้

ใช้ แก้ไข้ แก้ดีซ่าน แก้บิด แก้ลำไส้อักเสบ บำรุงโลหิต ขับระดูในสตรี ช่วยเจริญอาหาร และช่วยย่อยอาหาร โดยใช้เนื้อไม้ หรือ รากแห้ม มาบดกับน้ำดื่ม หรือ ใช้ดองเหล้าโรงดื่ม อาจใช้ใบบดเป็นผงกินกับน้ำร้อนก็ได้ ใช้แก้ผดผื่นคันตามผิวหนัง รักษาแผลเปื่อยแผลมีหนอง โดยใช้เนื้อไม้ และราก บดเป็นผงใช้ผสมน้ำทาบริเวณที่เป็น


ลักษณะทั่วไปของแห้ม

แห้ม จัดเป็นไม้เถาขนาดใหญ่คล้ายต้นสะค้าน ผิวภายนอกเป็นสีน้ำตาลเหลือง ส่วนเนื้อไม้เป็นสีเหลืองมีรูพรุน ไม่มีกลิ่นมีรสขม และมีน้ำยางเป็นสีเหลืองเช่นกัน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ใบรูปไข่ หรือ รูปไข่กว้าง โดยใบกว้างประมาณ 8-23 ซม. และยาวประมาณ 11-33 ซม. ฐานใบกว้าง รูปทรงกลม หรือ ตัดตรง หรือ รูปหัวใจ ปลายใบเรียวแหลม ผิวใบด้านบนเรียบ เส้นกลางใบ และเส้นใบฝังในแผ่นใบ (ไม่นูน) เส้นใบออกจากแห่งเดียวกันเป็นรูปฝ่ามือ (palmate) ผิวใบด้านล่างมีขนสั้นหนาแน่นสีขาว แผ่นใบลักษณะหนา และเหนียวคล้ายหนัง ก้านใบยาว 3-16 ซม. โดยจะติดถึงจากขอบใบ 0.8-2.7 ซม. ดอกออกเป็นช่อแบบกระจะ (raccme) แต่ละช่อยาว 5-11 ซม. ออกมีละช่อ หรือ 2-3 ช่อ ใบประดับเป็นรูปลิมแคบ ยาว 4-5 มม. ส่วนดอกย่อยที่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6-7 มม.ก้านดอกยาว 10-30 มม. ดอกตัวผู้ ไม่มีก้านดอก หรือ ก้านสั้นราว 1 มม. เกสรตัวผู้มี 6 อัน ส่วนดอกตัวเมีย มีกลีบเลี้ยงคล้ายคลึงกับลักษณะของดอกตัวผู้ มีรังไข่ 3 อัน รูปรีโค้ง ยาว 2 มม. มีขนยาว ก้านชูยอดเกสรคล้ายเส้นด้าย ผลมีลักษณะทรงกลม สีน้ำตาล สีเหลือง หรือ สีส้ม และมีขนสั้นปกคลุม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5-3 ซม. เปลือกผลเมื่อแก่จะแห้งแข็งและหนาประมาณ 1 มม. เมล็ดมีสีขาว รูปโค้ง

แห้ม

การขยายพันธุ์แห้ม

แห้ม สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการใช้เมล็ด และการปักชำเถา แต่โดยส่วนมากจะเป็นการขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดในธรรมชาติ แต่ในลาว และพม่าพบว่ามีการใช้เถาปักชำเพื่อนำมาปลูก และตัดจำหน่ายบ้างแล้ว สำหรับวิธีการขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดมาเพาะ และการปักชำเถานั้นสามารถทำได้เช่นเดียวกันกับการเพาะเมล็ด และการปักชำเถา ของพรรณไม้ชนิดอื่นๆ หรือ การปักชำไม้เถาชนิดอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้านี้ 

แห้ม

องค์ประกอบทางเคมี

ผลมีการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีจากเถาของแห้ม ที่มีการนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรพบสารสำคัญ เช่น berberin, hentriacontane, sitosterol glucoside, oleic acid และ palmitic acid เป็นต้น

โครงสร้างแห้ม

ที่มา : Wikipedia

การศึกษาทางเภสัชวิทยาของแห้ม

ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด มีการศึกษาฤทธิ์ของสมุนไพรแห้ม ในการลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูขาวเบาหวาน และหนูปกติ พบว่าสมุนไพรแห้ม ขนาด 0.5 และ 1 กรัม/กิโลกรัม น้ำหนักตัว สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูเบาหวานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้สมุนไพรแฮ่มไม่ลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูปกติ และไม่มีผลต่อภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างเฉียบพลัน ทั้งในหนูเบาหวาน และหนูปกติ ยังไม่มีการศึกษาในคนที่ยืนยันผลการลดน้ำตาลในเลือด

           ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งระบุไว้ว่า ลำต้น (เนื้อไม้) ของแห้ม (coscinium tenestratum) มีฤทธิ์ opthaimopathy, inflammations, wounds, uicers, skin diseases, abdominal disorders, jaundice, diabetes, tetanus, fever และ debillty ส่วนสารสกัดจากลำต้น (เนื้อไม้) ของแห้ม (Codcinium fanestratum) ออกฤทธิ์ต้านเชื้อมาลาเรีย แก้ท้องเสีย และแก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย

การศึกษาทางพิษวิทยาของแห้ม

มีการศึกษาวิจัยทางพิษวิทยา ในหนูถีบจักร โดยเมื่อป้อนสารสกัดแฮ่ม ด้วยเอทานอล 50% ในขนาดที่สูงถึง 800 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ไม่พบความผิดปกติใดๆ และความเข้มข้นของสารสกัดที่ทำให้หนูตายครึ่งหนึ่ง (LD50) เมื่อกินสารสกัด เท่ากับ 1200 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ส่วนการทดลองการศึกษาความเป็นพิษแบบกึ่งเฉียบพลันพบว่าในหนูขาว เมื่อป้อนสารสกัดจากแห้มให้หนูขาว ขนาด 100, 200, 300 และ 400 มิลลิกรัม/กิโลกรัม นาน 30 วัน ไม่พบอาการพิษ และการตายของหนู ค่าเอนไซม์ของตับไม่เปลี่ยนแปลง ไม่พบพยาธิสภาพของโครงสร้างระดับจุลกายวิภาคของไต หัวใจ ปอด และตับอ่อน แต่พบว่ามีการเพิ่มจำนวนของ vacuoles ในเซลล์ตับเป็นจำนวนมาก และมีการเพิ่มจำนวนชั้นของ germ cells ใน seminiferous tubules เมื่อป้อนสารสกัดด้วยน้ำขนาด 5 กรัม/กิโลกรัม ไม่ทำให้หนูตาย และในขนาด 2.5 กรัม/กิโลกรัม/วัน ให้กินนาน 90 วัน ไม่พบความผิดปกติใดๆ ไม่มีผลต่อระบบประสาท และการเคลื่อนไหว แต่มีค่าทางโลหิตวิทยาบางตัวเปลี่ยนแปลงไปจากค่าปกติ  

           ส่วนข้อมูลจากสถาบันวิจัยสมุนไพรได้มีการระบุผลการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันในสัตว์ทดลอง พบว่า เมื่อป้อนสารสกัดแห้ม ในขนาด 40 กรัมต่อกิโลกรัม จะทำให้เกิดความเป็นพิษเฉียบพลัน ส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้หายใจไม่สะดวก การเคลื่อนไหวลดลง และทำให้สัตว์ทดลองตาย

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

  1. ในแห้ม มีสารเบอบีรีน (berberine) ซึ่งเป็นสารสำคัญ และสารดังกล่าวมีข้อควรระวังถึงผลข้างเคียงต่อหัวใจ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการหายใจขัดได้ ดังนั้น จึงควรระมัดระวังในการกินอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เพราะอาจมีพิษต่อระบบเลือด ตับ และหัวใจได้
  2. ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยง หรือ ควรระมัดระวังในการใช้แห้มเป็นพิเศษ เพราะแห้มมีเกลือแร่ และโพแทสเซียม สูงอีกทั้ง การรับประทานสมุนไพรแห้มเป็นจำนวนมากจะส่งผลทำให้ตับอักเสบได้
  3. การรับประทานแห้มเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดนั้น ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม และไม่ควรรับประทานต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานเพราะอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างรวดเร็ว และอาจทำให้เกิดอาการช็อก นอกจากนี้ยังอาจจะส่งผลเสียต่อตับ และไตได้อีกด้วย
  4. สตรีมีครรภ์ไม่ควรรับประทานแห้ม เพราะในตำรายาไทยระบุว่าแห้มมีฤทธิ์ขับระดู

 

เอกสารอ้างอิง แห้ม
  1. ประนอม เดชวิศิษฎ์สกุล. ลักษณะทางเภสัชเวทของแห้ม สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. 11 หน้า
  2. เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. “แห้ม ”. หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. หน้า 176.
  3. วงศ์สถิต ฉั่วสกุล.แห้ม (แฮ่ม) และขมิ้นเครือ. จุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่ 24. ฉบับที่ 2. มกราคม 2550. หน้า 18-21
  4. สมุนไพรแฮ้ม. กระดานถาม-ตอบ.สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplamt.mahidol.ac.th/user/replg.asp?id=5432.
  5. แฮ้ม.กระดานถาม-ตอบ. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล (ออนไลน์) เข้าถึงได้จาก http://www.medplant.mahidol.ac.th/user/reply.asg?id=5348
  6. Forman LL. Menispermaceae.ln:Smitinand T. Larsen K, eds. Flora of Thailand, Vol. 5 Part 3. Bangkok:The Chutima Press.1991:300-65.
  1. Nguyen MT, Awale S, Tezuka Y, Tran QL.Watanade H, Kadota S.Xanthine oxidase inhibitory of Vietnamese medicinai paints, Bioi Pharm Buli 2004:27(9):1414-21.
  2. Nair GM, Narasimhan S, Shlburaj S, Abraham TK, Antibacterial effects of Coscinium fenestratum. Fitoherapy 2005;76:585-7.
  3. The Forest Herbarium, Royal Forest Department. Flora of Thailand 5,3.1991:334-335.